ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > สมหมายเผยเศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาวะ “ชะงักงัน”

สมหมายเผยเศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาวะ “ชะงักงัน”

19 พฤศจิกายน 2014


วิเคราะห์ข้อมูล

 

ตามรายงานข่าวของกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ประจำวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ได้ลงความเห็นของนายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ที่กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ใกล้เคียงกับภาวะชะงักงัน คือ เศรษฐกิจแทบไม่มีการเติบโต ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำ ที่สำคัญคือ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคแม้ดีขึ้น แต่ยังไม่มีเงินมาจับจ่ายใช้สอย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำด้วย

 

“นิยามของคำว่า stagflation (ภาวะชะงักงัน) คือ เศรษฐกิจเติบโตใกล้ 0% และเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ พูดง่ายๆ คือ เศรษฐกิจไม่โต และมีภาวะเงินฝืด ซึ่งเศรษฐกิจไทยเองก็น่าจะใกล้เคียงกับคำนี้ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า เราจะออกจากภาวะนี้ได้อย่างไร” นายอมรเทพกล่าว

 

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2557 ไทยรัฐออนไลน์ยกผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 28 แห่ง จำนวน 46 คน เรื่อง “ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 9-21 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา สรุปได้ว่า 

 

เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังอยู่ในสถานะที่อ่อนแอเป็นอย่างมาก แนวโน้มเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า โดยปัจจัยขับเคลื่อนการฟื้นตัวที่สำคัญคือการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และการลงทุนภาคเอกชน ส่วนการบริโภคภาคเอกชน และภาคการส่งออก จะขยายตัวค่อนข้างช้ากว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ  อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในภาวะถดถอยและเคลื่อนเข้าสู่จุดต่ำสุดของวัฏจักรเศรษฐกิจ

 

และเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานข่าวการเปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายผู้บริโภคในช่วงเทศกาลวันลอยกระทงในปี 2557 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,307 ตัวอย่างทั่วประเทศ โดยนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิยาลัยหอการค้าไทย 

 

ซึ่งจากผลสำรวจสะท้อนว่า เทศกาลลอยกระทงปี 2557 บรรยากาศยังไม่ค่อยคึกคักเท่าที่ควร สืนเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงชะงักงัน แม้จะมีเม็ดเงินไปช่วยเหลือชาวนา แต่เม็ดเงินยังไม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากนัก ประกอบกับการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลยังไม่เต็มที่ และงบประมาณซ่อมสร้าง หรืองบประมาณค้างท่อ ยังไม่ออกมาเต็มที่ หอการค้าไทยจึงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะขยายตัว 1.3-1.5 เท่านั้น

 

เมื่อย้อนกลับไปดูรายงานสภาวะเศรษฐกิจประเทศไทย ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในแต่ละเดือนตลอดปี 2557 ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงสิงหาคม ระบุว่าในช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีตัวเลขอัตราเงินเฟ้อไม่สูง แต่จากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ตัวเลขการว่างงานและหนี้ครัวเรือนมีการปรับตัวสูงขึ้น การใช้จ่ายภาคเอกชนมีการหดตัว สลับคงที่ ตัวเลขภาคการส่งออกอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวก็ประสบปัญหานักท่องเที่ยวลดลง

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังสถานการทางการเมืองเริ่มคลีคลาย เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง การลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่กระจายไปในทุกภาคส่วน อีกทั้งในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม การบริโภคภาคเอกชนเร่งตัวขึ้นมากจากสถานการณ์การเมืองที่มีความชัด แต่กลับมีแน้วโน้มอ่อนตัวลงอีกครั้งในเดือนสิงหาคม อีกทั้งตัวเลขหนี้ครัวเรือนยังพุ่งสูงในระดับ 80% ของจีดีพี 

 

และรายงานของสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานเศรษฐกิจใน 2 ไตรมาสแรก สรุปได้ว่า จากภาวะทางการเมืองในประเทศ ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยในปี 2557 มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ เนื่องจากการหดตัวของภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสแรก สถานการณ์ทางการเมืองส่งผลต่อความวิตกกังวลของนักลงทุน ทำให้ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว

 

มีการประเมิณว่า การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การขยายตัวยังมีแนวโน้มต่ำกว่าศักยภาพการบริหารงบประมาณของรัฐ เนื่องจากข้อจํากัดสําคัญ 4 ประการ คือ

(1) การขยายตัวของการส่งออกยังมีข้อจํากัดจากการฟื้นตัวอย่างล่าช้าของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าส่งออกที่ลดลง

(2) การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวยังต้องใช้เวลา และตลาดท่องเที่ยวมีการแข่งขันกันมากขึ้น ทําให้นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งเปลี่ยนจุดหมายการเดินทางท่องเที่ยว

(3) การขยายตัวของการลงทุนยังมีข้อจํากัดจากการใช้กําลังการผลิตที่ยังอยู่ในระดับต่ำและความล่าช้าในการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรก

(4) การจําหน่ายและการผลิตรถยนต์ยังคงปรับตัวลดลงจากฐานการจําหน่ายที่สูงในปีก่อน  ในขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

 

จะเห็นได้ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในตั้งแต่ต้นปี 2557 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน (ตุลาคม 2557) การใช้จ่ายภาคเอกชน การลงทุน ตัวเลขการส่งออก ฯลฯ อันเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศมีการชะลอตัวไปจนถึงหดตัว แม้ภายหลังที่สถานการทางการเมืองคลี่คลาย ปัจจัยเหล่านี้จะมีการฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ

 

สรุป

 

จากคำกล่าวของนายสมหมายที่่ว่า  "ตอนนี้เศรษฐกิจไทยผงกหัวขึ้นแล้ว แต่ยังมีเชื้อของภาวะเศรษฐกิจชะงักงันซบเซา หรือ stagnation…"  นั้นมีข้อสนับสนุนจากหลายๆ ฝ่าย ทั้งจากความเห็นของนายอมรเทพ ที่กล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ไม่มีการเจริญเติบโต ว่าอยู่ในสภาวะที่ใกล้เคียงกับการ “ชะงักงัน”  

 

โพลสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า” ที่เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 9-21 ตุลาคม 2557 มีข้อสรุปว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะอ่อนแอ แม้จะมีแนวโน้มฟื้นตัวแต่เศรษฐกิจโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะถดถอยจนถึงขึ้นเคลื่อนเข้าสู่จุดต่ำสุดของวัฏจักรเศรษฐกิจ

 

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนในเทศการลอยกระทง 2557 ได้มีการกล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่อยู่ในภาวะ “ชะงักงัน” บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยไม่คึกคักเท่าที่ควร

 

ผนวกกับรายงานภาวะเศรษฐกิจของประเทศจากธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า แม้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มขยายตัว แต่ในภาคเอกชนยังคงมีการจับจ่ายในระดับต่ำ ประชาชนเป็นหนี้ครัวเรือนสูง การลงทุนยังไม่กระจายตัว และมีการเติบโตของเงินเฟ้อในระดับต่ำ สัญญาณเหล่านี้เป็นไปตามนิยามของภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน ดังนั้น คำพูดของนายสมหมายข้างต้นจึงอยู่ในเกณฑ์ที่ “เป็นจริง”

 

ป้ายคำ :