ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > สมยศ ปฏิเสธซ้อมผู้ต้องหา คดีเกาะเต่า

สมยศ ปฏิเสธซ้อมผู้ต้องหา คดีเกาะเต่า

7 ธันวาคม 2014


นาทีที่ 1:26

 

บริบท

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจพบศพสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ  น.ส.ฮานนาห์ วิเธอร์ริดจ์ และนายเดวิด มิลเลอร์ บริเวณหาดทรายรี เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี โดยเจ้าหน้าที่ได้เก็บหลักฐานและนำศพส่งชันสูตรที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ

 

ในวันที่ 17 กันยายน 2557 ผลการผ่าชันสูตรพบว่า นายเดวิดเสียชีวิตจากการถูกของแข็งกระแทกอย่างรุนแรงที่ศีรษะ ประกอบกับมีน้ำขังในปอด จึงสันนิษฐานว่านายเดวิดเสียชีวิตจากการจมน้ำร่วมด้วย และคาดว่าผู้เสียชีวิตมีการต่อสู้ป้องกันตัว เนื่องจากพบว่าด้านหลังมือทั้งสองข้างของนายเดวิดมีรอยฟกช้ำ ส่วนที่แผ่นหลังมีรอยถลอกจากการถูกลากย้ายศพ แต่ไม่พบคราบอสุจิในตัวแต่อย่างใด

 

ส่วนผลชันสูตรศพนางสาวฮานนาห์ พบว่าเสียชีวิตจากการถูกทำร้ายด้วยของแข็งมีคม โดยกระแทกอย่างแรงเข้าที่ศีรษะ พบคราบอสุจิลักษณะผสมในร่างกาย ส่วนเส้นผมหรือเส้นขนสีทองที่พบอยู่ในมือข้างขวาของผู้เสียชีวิต ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบและสกัดผลดีเอ็นเอ เพื่อส่งให้กับสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ นำไปเทียบเคียงกับดีเอ็นเอของกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่พนักงานสอบสวนรวบรวมไว้

 

เนื่องจากเกาะเต่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง การมีเหตุฉกรรจ์เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่จึงส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ทำให้คดีนี้เป็นที่จับตามองของหลายฝ่าย ทั้งประชาชน นักท่องเที่ยว สื่อไทย และสื่อต่างประเทศ

 

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีการสืบสวนและเรียกสอบปากคำผู้ต้องสงสัย คือ นายคริสโตเฟอร์ อลัน แวร์ เพื่อนของนายเดวิด รวมทั้งแรงงานต่างชาติบริเวณใกล้เคียง ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2557 ผลตรวจดีเอ็นเอจากก้นบุหรี่ที่พบในที่เกิดเหตุ พบว่าตรงกับคราบอสุจิในร่างกายของนางสาวฮานนาห์ โดยบ่งชี้ว่าผู้ก่อเหตุเป็นชาวเอเชีย

 

จากการสอบปากคำผู้ที่อยู่บริเวณดังกล่าว พบว่าในวันเกิดเหตุมีกลุ่มชายนั่งเล่นกีตาร์อยู่ริมชายหาดใกล้จุดเกิดเหตุ และในการตรวจสอบกล้องวงจรปิด เวลา 03.44 น. พบชายชาวเอเชียวิ่งไปในทิศทางเดียวกับจุดเกิดเหตุ อีกประมาณ 50 นาที กล้องบันทึกภาพชายคนดังกล่าวเดินไปยังจุดเกิดเหตุอีกครั้ง จึงคาดว่าชายคนดังกล่าวอาจเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเป็นพยานปากสำคัญในคดีนี้

 

 

หลายสัปดาห์ต่อมาเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่าง DNA จากคนในพื้นที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ต่อมา วันที่ 23 กันยายน 2557 นาย ฌอน แมคแอนนา หนุ่มชาวสกอต เพื่อนของนายเดวิด เปิดเผยเรื่องราวของเขาในเฟซบุ๊กว่าถูกมาเฟียท้องถิ่น 2 คน ขู่ฆ่า และคิดว่าทั้งสองมีส่วนรู้เห็นต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ เจ้าหน้าที่จึงมุ่งเป้าไปที่ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น แต่ผลตรวจดีเอ็นเอไม่ตรงกับในที่เกิดเหตุ

 

และในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาเป็นแรงงานสัญชาติเมียนมาร์ 3 คน ซึ่งในวันถัดมาสองในสามผู้ต้องหาก็รับสารภาพว่าก่อเหตุฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษทั้งสองคน ในวันที่ 3 ตุลาคม 2557 จึงมีการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ

 

อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวได้มีการตั้งข้อสังเกตในสังคมออนไลน์ว่าการจับกุมผู้ต้องหาชาวเมียนมาร์นั้นอาจเป็นการ “จับแพะ” และในขั้นตอนการสอบสวนผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจมีการใช้ความรุนแรงกับผู้ต้องหาจนต้องรับสารภาพ เป็นเหตุให้มีการจัดแถลงผลการชันสูตร และ พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกมายืนยันว่าไม่มีการทำร้ายร่างกายให้ผู้ต้องหารับสารภาพแต่อย่างใด การทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามขั้นตอน และการตรวจสอบหลักฐานเป็นไปตามหลักนิติวิทยา

 

วิเคราะห์ข้อมูล

ภายหลังจับกุมตัวสองผู้ต้องหาชาวเมียนมาร์ คือนายเวพิว หรือวิน อายุ 21 ปี และนายซอลิน หรือโซเรน อายุ 21 ปี ได้มีการเข้าสอบปากคำผู้ต้องหาเพิ่มเติม และเพื่อความเป็นธรรมจึงมีการตั้งคณะทำงานจากสถานทูตเมียนมาร์ประจำประเทศไทยเข้าร่วมรับฟังการสอบสวนด้วย

 

วันที่ 10 ตุลาคม 2557 โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ รายงานข่าวการเข้าฟังการสอบปากคำนายซอลิน และนายวิน ของคณะทำงานสถานทูตเมียนมาร์ประจำประเทศไทย โดยคณะทำงานและทีมทนายของไทยและเมียนมาร์ยืนยันว่า ผู้ต้องหายังไม่มีการกลับคำให้การและไม่มีการถอนคำให้การเดิม แต่ผู้ต้องหาทั้งสองยอมรับว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกาย

 

ในวันที่ 20 ตุลาคม 2557 รายงานข่าวจากผู้จัดการออนไลน์ รายงานภายหลังการประชุมของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ร่วมกับผู้เกี่ยวข้องกรณีมีผู้ร้องเรียนว่ามีการซ้อมทรมาน 2 ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมดดังกล่าว 

 

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง แถลงว่า ได้รับข้อมูลจาก พ.ต.อ. ประชุม เรืองทอง ผกก.สภ.เกาะพะงันว่า คดีดังกล่าวมีชุดสืบสวนทั้งระดับพื้นที่และจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติจำนวนหลายชุด ยืนยันว่าเมื่อจับกุมผู้ต้องหาได้แล้วไม่มีการซ้อมทรมาน แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าการซ้อมทรมานเกิดขึ้นในขั้นตอนใด ดังนั้น วันที่ 27 ต.ค. เวลา 10.00 น. อนุกรรมการฯจะเชิญตัวแทนจากชุดสืบสวนทั้งหมด รวมทั้ง พล.ต.ต. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รรท. รอง ผบช.น. และ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รอง ผบช.ภาค 8 มาชี้แจงอีกครั้ง

 

นพ.นิรันดร์เปิดเผยข้อมูล การลงพื้นที่เกิดเหตุของเจ้าหน้าที่ กสม. ร่วมกับคุณหญิง พญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.นิติวิทยาศาสตร์ และพูดคุยกับผู้ต้องหา ได้ข้อมูลตรงกันว่าเจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมซ้อม ทุบตี ทำร้าย มีการใช้ถุงพลาสติกคลุมหัว จากการตรวจร่างกายเบื้องต้นพบจุดกดเจ็บที่หน้าอกของผู้ต้องหา 1 ราย ยังไม่ทราบว่าเป็นอาการเจ็บของกระดูกหรือกล้ามเนื้อ อนุกรรมการฯ จึงจะทำจดหมายถึงผู้บัญชาการเรือนจำ ขอให้มีการเอ็กซเรย์อีกครั้ง เมื่อถามว่าเป็นการซ้อมเพื่อให้รับสารภาพจริงหรือไม่ ซึ่ง นพ.นิรันดร์กล่าวว่า เขาบอกว่าถูกซ้อม แต่เราไม่รู้ว่ามีการกระทำอย่างที่กล่าวหาหรือไม่

 

21 ตุลาคม 2557 ตามการรายงานของไทยรัฐออนไลน์ และบางกอกโพสต์ออนไลน์ ระบุว่า นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความอาวุโส พร้อมด้วยทีมทนายความจากสำนักงานสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ 3 คน ล่ามแปลภาษา 1 คน และแพทย์ เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายชนินทร์ เลี้ยงสุวรรณ ผู้บัญชาการเรือนจำอำเภอเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อขออนุญาตเข้าไปสอบปากคำผู้ต้องหาทั้งสอง

 

นายรัษฎาเปิดเผยว่า ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมผ่านสภาทนายความ และลงชื่อในหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้ทนายความนำไปยื่นต่ออัยการจังหวัดเกาะสมุย โดยผู้ต้องหาทั้งสองคนเรียกร้องขอความเป็นธรรม 3 เรื่อง คือ

 

1. ขอปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาว่าไม่ได้เป็นคนผิด และลงมือฆ่านักท่องเที่ยว

2. ถูกล่ามแปลถีบที่หน้าอกและถูกตำรวจทำร้ายร่างกายบังคับให้รับสารภาพ

3. ขอความเป็นธรรมต่ออัยการจังหวัดเกาะสมุย เพื่อพิจารณาในการไต่สวนก่อนส่งฟ้องศาลเพื่อตัดสิน

 

ด้านนายธนู เอกโชติ ทนายความจากสภาทนาย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ วันที่สืบพยานโจทก์พบข้อพิรุธจากสองผู้ต้องหาที่เปลี่ยนตัวทนายที่ตำรวจจัดมาให้ และเปลี่ยนให้เป็นทนายความจากสภาทนาย และวันนี้จึงเดินทางลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งและผลปรากฏตามที่สองผู้ต้องหาให้การในวันนี้ (21 ต.ค. 57)

 

นายรัษฎากล่าวว่า หลังจากที่ใช้เวลาสอบปากคำสองผู้ต้องหานานกว่า 5 ชั่วโมง ได้ข้อมูลที่แท้จริง โดยผู้ต้องหาให้การกับสภาทนายความว่า ที่รับสารภาพเพราะถูกทำร้ายร่างกาย และถูกบังคับให้รับสารภาพ โดยล่ามที่ตำรวจนำมาเป็นล่ามคนละภาษากัน และถูกล่ามใช้เท้าถีบ พร้อมยึดเงินของสองผู้ต้องหาไปด้วย และถูกตำรวจซ้อมให้รับสารภาพที่เกาะเต่าหลังจากเกิดเหตุได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ดังนั้น ผู้ต้องหาได้ขอโอกาสให้กระบวนการยุติธรรมได้ให้โอกาสกับผู้ต้องหาในการตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วน และให้ตำรวจตรวจสอบพร้อมสอบปากคำเสียใหม่ เพื่อให้เป็นข้อเท็จจริงและเป็นที่ประจักษ์ต่อประชาชนที่กำลังติดตามข่าวต่อเนื่อง

 

During their talk, Mr Ratsada said, the suspects said they had been forced to confess to the rape of Witheridge and the killing of her and Miller. They also demanded that the court-appointed Rohingya interpreterbe changed, as he had abused both men. They also said they were not confident in his translation and interpretation of their statements.

 

"The suspects said they were assaulted by the translator while he was translating and the police were asking the interpreter questions," he said. "But, to be fair, we will listen to the interpreter too. We will listen to the facts from all sides."

 

ทั้งนี้สำนักข่าวบีบีซี รายงานถึงกรณีที่สองผู้ต้องหากลับคำให้การ ปฏิเสธการรับสารภาพ อีกทั้งระบุว่ามีการทำร้ายร่างกายสองผู้ต้องหา ตามรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

 

Two Burmese men accused of killing two British tourists on the Thai island of Koh Tao have retracted their confessions, their lawyers have said.

 

The pair now say they did not commit the murders and did not see what happened, according to their lawyers.

 

Thailand's National Human Rights Commission said on Monday that it had found evidence that the two suspects, Zaw Lin and Win Zaw Htun, both 21, were physically abused by the police.

 

ต่อมาในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 มติชนออนไลน์รายงานว่า อนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและ กสม. ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง กรณีมูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนายื่นคำร้องต่อ กสม. ขอให้ตรวจสอบกรณีผู้ต้องหาคดีฆ่าสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพ

 

แต่ทางทีมสอบสวนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติปฏิเสธที่จะร่วมประชุม โดยให้เหตุผลว่า ขณะนี้การสืบสวนสอบสวนในคดีเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการและศาล หากมาให้ข้อเท็จจริงกับหน่วยงานอื่นอาจมีผลต่อรูปคดีและอาจมีผลกับผู้เสียหายได้ ประกอบกับอนุกรรมการฯ มีหนังสือไปถึงเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมเพื่อให้มาชี้แจงในวันที่ 3 พฤศจิกายน เป็นระยะเวลากระชั้นชิดเกินไป ไม่สามารถเตรียมข้อเท็จจริงมาชี้แจงได้ทัน จึงขอเลื่อนการชี้แจงออกไปก่อน

 

และในวันเดียวกัน สภาทนายความพร้อมด้วยครอบครัวผู้ต้องหาชาวพม่าคดีเกาะเต่า เข้ายื่นหนังสือต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมประชุมร่วมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรณีที่มีการร้องเรียนเรื่องตำรวจซ้อมทรมานผู้ต้องหา

 

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 รายงานข่าวจากไทยรัฐออนไลน์ ระบุว่า นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ในฐานะหัวหน้าทีมทนายความของผู้ต้องหาชาวเมียนมาร์ในคดีเกาะเต่า เปิดเผยถึงกรณีพนักงานสอบสวนเข้าพบสองผู้ต้องหาชาวเมียนมาร์เพื่อสอบปากคำเมื่อเย็นวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยระบุว่าผู้ต้องหาทั้งสองก็ยังยืนยันตามเดิม ว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของสองนักท่องเที่ยวแต่อย่างใด และยังยืนยันด้วยว่า เมื่อถึงชั้นศาลแล้วก็จะยังให้การตามเดิม เพื่อยืนยันในเรื่องความบริสุทธิ์ใจ

 

สำหรับการเดินทางเข้าสอบปากคำผู้ต้องหาเพิ่มเติมในครั้งนี้ เป็นไปตามคำสั่งของอัยการ ที่สั่งให้ตำรวจมาสอบปากคำเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่ผู้ต้องหายืนยันว่าไม่ได้ลงมือกระทำความผิด ซึ่งทั้งสองก็ระบุว่าไม่ได้ลงมือข่มขืน ฆ่า หรือลักทรัพย์ ผู้เสียชีวิต และอีกประเด็นหนึ่ง คือ การถูกทารุณให้ยอมรับสารภาพ ซึ่งผู้ต้องหาก็ยอมรับว่าถูกเจ้าหน้าที่บางนายกระทำจริง จนต้องยอมรับสารภาพออกมาเพื่อเอาตัวรอด ซึ่งนับจากนี้ในส่วนของทีมทนายความผู้ต้องหาก็จะได้รอฟังคำสั่งของอัยการต่อไป

 

และเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2557 ก่อนหน้าอัยการทำสำนวนส่งฟ้องคดี 1 วัน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.ต.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(รองผบช.น.)  ได้เข้าชี้แจงกับ กสม. แล้วภายหลังเลื่อนชี้แจงไป 5 ครั้ง โดย พล.ต.ต.สุวัฒน์ กล่าวว่าได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) ให้ไปช่วยทำคดีฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ซึ่งตนก็ได้ดำเนินการตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และกระบวนการสืบสวนจับกุมผู้ต้องหานั้น ยืนยันว่าได้ดำเนินการตามหลักวิชาการไม่ได้มีการซ้อมทรมานผู้ต้องหาแต่อย่างใด

 

นอกจากนี้ การสืบสวนสอบสวนในคดีนี้มีการระดมทุกหน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ทั้งระดับจังหวัด ระดับภูธร และระดับภาค อาทิ สภอ.เกาะพงัน ตำรวจน้ำ ตำรวจท่องเที่ยว เป็นต้น แต่ทั้งนี้ พล.ต.ต.สุวัฒน์ ก็ยังยืนยันว่าทุกหน่วยงานที่ทำคดีนี้ได้ใช้แนวทางตามหลักวิชาการในการสืบสวนสอบสวนจับกุมและไม่ได้มีการใช้ความรุนแรงต่อผู้ต้องหา

 

ด้าน นพ.นิรันดร์ ได้กล่าวถึง ผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการฯ ที่พบว่ามีรอยจุดกดเจ็บบนตัว 2 ผู้ต้องหานั้น เรื่องนี้ทางอนุกรรมการฯจะนำข้อเท็จจริงจากที่ได้ตรวจสอบและรับฟังคำชี้แจงจาก 2 ผู้ต้องหาและจากเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน นอกจากนี้อนุกรรมการฯ ยังได้ขอเอกสารการแต่งตั้งชุดสืบสวนและบันทึกการจับกุมไปที่สตช. เพื่อนำข้อเท็จจริงมาประกอบก่อนจะเขียนรายงานของอนุกรรมการฯต่อไป ทั้งนี้ทางอนุกรรมการฯได้ยังได้แจ้งไปยังสตช.ว่าควรที่จะตั้งกรรมการสอบกรณีนี้โดยตรงด้วย เนื่องจากมีการร้องเรียนเข้ามาแล้ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สังคมว่าสตช.มีความโปร่งใส

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2558 เว็บไซต์มติชนออนไลน์ อ้างอิงรายงานข่าวจากเดลี่เมล์ถึงการให้ปากคำของ 2 ผู้ต้องหาในระหว่างพิจารณาคดี โดยนายไวเพียว หนึ่งในผู้ต้องหาชาวเมียนมา ให้การถึงรายละเอียดการทำร้ายร่างกาย และการบังคับให้รับสารภาพจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย

 

ตำรวจยังได้เตะเขาเข้าที่หลัง ชกหน้า และตบหน้าเขา ด้วย โดยตำรวจนอกเครื่องแบบยศอาวุโสบอกว่า"นายยังหนุ่ม แค่บอกไปว่านายทำเท่านั้น จะได้ติดคุกไม่กี่ปี แต่ถ้านายไม่ยอมสารภาพ สุดท้ายนายก็จะถูกฆ่า" และว่า ตำรวจบอกผมว่า  พวกเขาสามารถช่วยผมได้ ผมจึงเซ็นเอกสารจำนวนมากไป

 

สรุป

จากคำให้การของสองผู้ต้องหากับฝ่ายต่างๆ ที่เข้าพูดคุยกับผู้ต้องหา ระบุรายละเอียดชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่มีการใช้ถุงพลาสติกคลุมหัวและทำร้ายร่างกาย โดยให้รายละเอียดว่าล่ามที่เจ้าหน้าที่นำมาเป็นผู้ใช้เท้าถีบหน้าอกผู้ต้องหา และมีการบังคับให้รับสารภาพ ผนวกกับการตรวจร่างกาย ข้อมูลบ่งชี้ว่าผู้ต้องหาถูกทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ โดยผลตรวจพบจุดกดเจ็บที่หน้าอกของผู้ต้องหา 1 ราย ยังไม่ทราบว่าเป็นอาการเจ็บของกระดูกหรือกล้ามเนื้อ

 

ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 ที่ทางอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและ กสม. ได้เชิญหน่วยงานต่างๆ เข้าชี้แจงกรณีมีการร้องเรียนถึงการทำร้ายให้ผู้ต้องหารับสารภาพ แต่ทางทีมสอบสวนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติปฏิเสธที่จะร่วมประชุม และวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปสอบสวนผู้ต้องหาระบุว่า ทั้งสองยังคงยืนยันความบริสุทธิ์ และรับว่ามีเจ้าหน้าที่บางรายทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ เช่นเดิม

 

และเนื่องจากในวันที่ 3 ธันวาคม 2557 พล.ต.ต.สุวัฒน์ ได้เข้าชี้แจงกับ กสม. โดยยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำตามขั้นตอน ตามหลักวิชาการ ไม่มีการซ้อมผู้ต้องหาแต่อย่างใด

 

กรณีดังกล่าว มีผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการฯ ที่พบว่ามีรอยจุดกดเจ็บบนตัว 2 ผู้ต้องหาออกมา นพ. นิรันดร์ ยังคงยืนยันที่จะทำการสืบสวนเรื่องดังกล่าวต่อไป พร้อมทั้งแจ้งไปยังสตช.ว่าควรที่จะตั้งกรรมการสอบกรณีนี้โดยตรงด้วย เนื่องจากมีการร้องเรียนเข้ามาแล้ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สังคมว่าสตช.มีความโปร่งใส

 

อย่างไรก็ตามแม้การให้ปากคำในชั้นศาลจะมีผู้ต้องหาระบุชัดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยทำร้ายร่ายกาย และข่มขู่ให้รับสารภาพ แต่เนื่องจากคดียั้งไม่ถึงที่สุด ดังนั้น คำกล่าวของ พล.ต.อ. สมยศ ที่ว่า “ …ไม่ใช่ตำรวจรับฟังแค่คำรับสารภาพผู้ต้องหา ไม่ได้ซ้อมผู้ต้องหา กว่าจะดำเนินคดีต้องรอผลตรวจเปรียบเทียบดีเอ็นเอก่อนขออำนาจศาลอนุมัติจับกุมผู้ต้องหา” จึงอยู่ในเกณฑ์  “ยังพิสูจน์ไม่ได้”

ป้ายคำ :