ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > รถไฟความเร็วสูงของ ชัชชาติ

รถไฟความเร็วสูงของ ชัชชาติ

24 กรกฎาคม 2014


 

จากงบประมาณ 2 ล้านล้าน

โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่มีกรอบระยะเวลาลงทุน 7 ปี (2557-2563) เป็นโครงการของรัฐบาลเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของประเทศ เชื่อมต่อเส้นทางการเดินทางและขนส่งระหว่างภูมิภาคและประเทศใกล้เคียง ด้วยการขยายและพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่เป็นหลัก รวมถึงการลงทุนทางถนนและท่าเรือน้ำลึก

 

จากตัวโครงการทั้งหลายยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความคุ้มค่าของการลงทุน และมีกระแสคัดค้านจากหลายภาคส่วน เพราะไม่แน่ใจว่าจะตอบโจทย์การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุนโลจิสติกส์และต้นทุนการขนส่งสินค้าที่แท้จริงหรือไม่ และจากงบประมาณ 2 ล้านล้านตรงนี้ได้มีการแยกออกมาว่างบประมาณที่ใช้ในเรื่องระบบรางเป็นงบประมาณกว่า 80% ของงบประมาณทั้งหมด

 

วิเคราะห์ข้อมูล

รถไฟฟ้า VS รถไฟความเร็วสูง 

เมื่อดูประกอบกับ เอกสารประกอบการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติให้อานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. … จะทำให้เห็นตัวเลขชัดเจนขึ้นว่าในส่วนของรถไฟความเร็วสูง อยู่ในแผนพัฒนาโครงข่ายเชื่อมต่อภูมิภาค มีตัวเลขงบประมาณอยู่ที่ 994,430.90 ล้านบาท โดย เป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 โครงการ เป็นโครงการรถไฟรางคู่ 2 โครงการ และโครงการสร้างทางหลวงพิเศษ 3 โครงการ วงเงินสำหรับรถไฟความเร็วสูงทั้งหมดคิดเป็น 783,229.9 ล้านบาท ส่วนงบประมาณในส่วนของการสร้างรถไฟฟ้า อยู่ในส่วนของแผนพัฒนาระบบขนส่งในเขตเมือง มีตัวเลขงบอยู่ที่ 472,448.12 ล้านบาท

 

และได้มีการสรุปสัดส่วนการใช้งบ 2 ล้านล้านออกมาในโลกออนไลน์ ว่ากามีการใช้งบในส่วน รถไฟความเร็วสูง 783,553 ล้านบาท คิดเป็น 39.2%  รถไฟฟ้า 456,662 ล้านบาท คิดเป็น 22.8%

 

ถนนทางหลวง 241,080 ล้านบาท คิดเป็น 12.1%  ถนนทางหลวงชนบท 34,309 ล้านบาท คิดเป็น 1.7%  สถานีขนส่งสินค้า 14,093 ล้านบาท คิดเป็น 0.7%  ท่าเรือ 29,581 ล้านบาท คิดเป็น 1.5%  ด่านศุลกากร 12,545 ล้านบาท คิดเป็น 0.6%
ปรับปรุงระบบรถไฟ (เพิ่มเครื่องกั้น ซ่อมบำรุงรางที่เสียหาย) 23,236 ล้านบาท คิดเป็น 1.2%  รถไฟทางคู่ และทางคู่เส้นทางใหม่ 383,891 ล้านบาท คิดเป็น 19.2%  ค่าสำรองเผื่อฉุกเฉิน (ความผันผวนราคาวัสดุ การติดตามและประเมินผล) 21,050 ล้านบาท คิดเป็น 1.0% ซึ่งแม้ตัวเลขจะคลาดเคลื่อนจากในเอกสารประกอบร่างพระราชบัญญัติไปบ้าง แต่ก็มีความใกล้เคียง

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นก่อนหน้านี้ในปี 2554 ได้มีตัวเลขประมาณการงบประมาณการสร้างรถไฟฟ้า 10 สายในเขตกรุงเทพว่ารวมๆ แล้วจะต้องใช้งบลงทุนประมาณ 668,593 ล้านบาท (รวมค่าเวนคืน-ก่อสร้าง-งานระบบ)
 

เส้นทางรถไฟ 29 จังหวัด

 

ผังโครงการรถไฟความเร็วสูง

 

สำหรับเส้นทางที่กระทรวงคมนาคมเตรียมเร่งรัดก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงมี 4 เส้นทาง ตัดผ่าน 29 จังหวัด ประกอบด้วย 

  • เส้นทางที่ 1 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ผ่านจังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก  อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่
  • เส้นทางที่ 2 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ผ่านจังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ข่อนแก่น อุดรธานี และหนองคาย
  • เส้นทางที่ 3 กรุงเทพฯ-หัวหิน-ปาดังเบซาร์ ผ่านจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา 
  • เส้นทางที่ 4 กรุงเทพฯ-ระยอง ผ่านจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง 

 

สรุป

จากข้อมูลต่างๆ ข้างต้นแล้วจะเห็นได้ว่า เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับตัวเลขจริง ซึ่งรถไฟความเร็วสูงใช้งบประมาณ 783,553 ล้านบาท คิดเป็น 39.2% รถไฟฟ้า 456,662 ล้านบาท คิดเป็น 22.8% กับสิ่งที่นายชัชชาติพูดว่า “…รถไฟ ในกรุงเทพฯ 4 แสนล้าน (งบประมาณการสร้างรถไฟฟ้า) แต่ 4 แสนล้านจังหวัดเดียว 7 แสนล้าน (งบประมาณในการสร้างรถไฟความเร็วสูง) นี่มัน 29 จังหวัด คนกรุงเทพฯ ก็จะชินกับรถไฟในกรุงเทพฯ แต่รถไฟความเร็วสูงคนค้านกันเยอะ” ก็จะเห็นว่ามีความตรงกันอยู่ ดังนั้น คำพูดนี้จึงอยู่ในเกณฑ์ที่ “เป็นจริง”

ป้ายคำ :