ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > มาร์คยัน รายได้ต่อหัว 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปรับตัวสูงขึ้น

มาร์คยัน รายได้ต่อหัว 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปรับตัวสูงขึ้น

5 กันยายน 2014


บริบท

เหตุความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ยืดเยื้อมานาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจภายในพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2547 ความรุนแรงในพื้นทีเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อการเข้ามาลงทุน และการประกอบกิจการต่างๆ ของคนในพื้นที่ อีกทั้งต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ผนวกกับความผันผวนทางเศรษฐกิจยิ่งส่งผลให้อัตรารายได้ของประชากรลดลง

 

ในส่วนของโครงสร้างเศรษฐกิจและการกระจายรายได้  โครงสร้างการผลิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ พึ่งพาผลผลิตด้านการเกษตรไม่กี่ชนิด เช่น ยางพารา น้ำมันปาล์ม และประมง 

 

แต่หลังปี 2547 จนถึงปี 2555 เศรษฐกิจในภาคการเกษตรจากที่เคยขยายตัวในระดับสูง กลับซบเซาลง มีเพียงนอกภาคการเกษตรที่ยังคงขยายตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมในภาครัฐ หรือรายจ่ายการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งการพัฒนาการศึกษาและสาธารณสุขอันเป็นกิจกรรมในภาครัฐ

 

ทำให้มูลค่าการผลิตทางเศรษฐกิจนอกภาคเกษตรมีขนาดใหญ่กว่าภาคเกษตรกรรมเล็กน้อย โดยเฉพาะ การขายปลีกและขายส่ง การบริหารราชการแผ่นดิน การป้องกันประเทศและการศึกษา การอุตสาหกรรม การขนส่งและคมนาคม อย่างไรก็ตามแรงงานภาคเกษตรกรรมยังเป็นคนส่วนใหญ่ และมีจำนวนมากกว่า แรงงานนอกภาคเกษตรกรรม

 

วิเคราะห์ข้อมูล

เมื่อสืบค้นข้อมูลจากสำนักงานสถิติแหล่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พบว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัว และรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของประชากรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนได้มีการปรับตัวสูงขึ้น ตั้งแต่ปี 2552-2554 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ บริหารงานอยู่ 

 

จังหวัด รายได้ต่อหัว (บาท/ปี) รายได้ต่อครัวเรือน (บาท/ปี)
2552 2553 2554 2552 2554
ยะลา 83,408  118,120  134,254  19,619  21,859 
นาราธิวาส 57,464  78,150  89,774 บ 11,244  16,834 
ปัตตานี 60,485  69,198  76,310 บ 13,511  16,122 
ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชี้ให้เห็นว่าความยืดเยื้อเรื้อรังของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผลกระทบอย่างมากในทางเศรษฐกิจ และรายงานข่าวจากคมชัดลึกออนไลน์ ประจำวันที่ 15 กันยายน 2555 สรุปได้ว่า

 

แม้จะมีการทุ่มงบประมาณจากทางภาครัฐเข้ามาสนับสนุนการลงทุน แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อย งบประมาณส่วนใหญ่เป็นงบประมาณทางการทหารเพื่อควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ในปีช่วงปี 2552- 2553 เศรษฐกิจในพื้นที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อปี ขยับเพิ่มจากช่วงปีก่อนหน้า ที่มีการขยายตัวเพียงร้อยละ 1.4 ต่อปี

 

ทั้งนี้การขยายตัวของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ คือในช่วงปี 2545-2546 ที่มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.0 ต่อปี

 

กราฟแสดงอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ โดยพิจารณาจากผลผลิตจังหวัด ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใติ

ข้อมูลจาก ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

 

  • ปี 2550 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการผลิตโดยเฉพาะน้ำมัน กระแสภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก และการยกระดับความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้
  • ปี 2551 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น
  • ปี 2552-2553 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ขยายตัวในระดับร้อยละ 2.1 ต่อปี เนื่องจากการใช้จ่ายงบประมาณทางการทหารที่เพิ่มขึ้นและเริ่มมีการใช้แผนพัฒนาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
  • ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2555 ผลผลิตภาคการเกษตรจากที่เคยขยายตัวในระดับสูง กลับขยายตัวอยู่ในระดับต่ำสลับกับการหดตัวหรือการเติบโตในอัตราลบ ในขณะที่เศรษฐกิจ “นอกภคการเกษตร” ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรม หรือการใช้จ่ายในภาครัฐ โดยเฉพาะการจ้างงานในภาครัฐ ซึ่งเกิดจาการขยายตัวของกองกำลัง และความต้องการบุคลากรในภาครัฐ โดยการขยายกำลังพลในหมู่คนท้องถิ่น นอกจากนี้เป็นการจ้างงานแรงงานรับจ้าง และภาคการบริการ

 

สำหรับโครงสร้างแรงงานและอาชีพที่น่าจับตา คือ การขยายตัวในภาคการค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดย่อม ซึ่งอาจจะเป็นพลวัตที่สำคัญทางโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมและประชากรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่มีสถานการณ์ความรุนแรง

 

กราฟแสดงการเติบโตทางเศรษฐกิจรายปีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

ข้อมูลจาก ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

 

กล่าวได้ว่าการที่ระบบเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดยังมีอัตราการขยายตัวอยู่ นั้นสืบเนื่องมาจากมี “รายจ่ายภาครัฐ” หนุนอยู่ แต่ผลลัพธ์ในการยกระดับรายได้และพัฒนาคุณภาพคุณภาพชีวิตไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจหลักหรือโครงสร้างการผลิตที่แท้จริงในภาคการเกษตรไม่ได้ขยายตัวไปด้วย”

 

ด้าน นายพฤทธิพงศ์ พงศ์ ศรีมาจันทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้ ได้ให้สัมภาษณ์คมชัดลึก ออนไลน์ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจการลงทุนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ยังอยู่ในสภาวะซบเซาแบบคงที่ เนื่องจากเศรษฐกิจในพื้นที่จะขยับได้หรือไม่นั้น ผลกระทบจากเหตุความไม่สงบชายแดนภาคใต้ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญ ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อยู่ โอกาสที่จะเกิดการขยายตัวย่อมเป็นไปได้ยาก

 

สรุป

จากข้อมูลรายได้เฉลี่ยต่อหัว รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน จะเห็นว่า รายได้เฉลี่ยของประชากรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้านรายงานข่าวจากคมชัดลึกออนไลน์ และผลการวิจัยจาก ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ได้ชี้ให้เห็นว่าในช่วงปี 2552-2554 เศรษฐกิจมีการขยายตัวจริง (เพียงเล็กน้อย) 

 

แต่ทั้งนี้ท้ายงานวิจัยระบุว่า “ระบบเศรษฐกิจใน 3จังหวัดยังมีอัตราการขยายตัวอยู่ นั้นสืบเนื่องมาจากมี 'รายจ่ายภาครัฐ' หนุนอยู่ แต่ผลลัพธ์ในการยกระดับรายได้และพัฒนาคุณภาพคุณภาพชีวิตไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย”

 

และตามคำให้สัมภาษณ์ของ นายพฤทธิพงศ์ เศรษฐกิจการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น “ซบเซา” แบบคงที่ จึงพิจารณาได้ว่า แม้จะมีอัตราของรายได้ต่อหัว และรายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น สนับสนุนคำพูที่ว่ารายได้ของหลายๆ หมู่บ้านเพิ่มขึ้น แต่ความพยายามยกระดับรายได้ครั้งนี้ยังไม่ถือว่าประสบผลสำเร็จตามที่อดีตนายกฯ กล่าว

 

ทั้งนี้เนื่องจากไม่ทราบว่านายอภิสิทธิ์ยกข้อมูลมาจากแหล่งใด แต่พบว่ามีความจริงอยู่ในส่วนที่รายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องของการประสบความสำเร็จในการดำเนินงานนั้นดูตามรายงาน และการให้สัมภาษณ์ของนายพฤทธิพงศ์ประกอบแล้วยังถือว่าไม่

 

ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า “ก็พบว่าการพยายามที่จะยกระดับรายได้ของพี่น้องประชาชนใน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีความก้าวหน้าไป มีความสำเร็จด้วยดี…รายได้ของหลาย ๆ หมู่บ้านนั้นก็เพิ่มขึ้นอยู่ในประมาณร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 20” ของนายอภิสิทธิ์ อยู่ในเกณฑ์ “ยังพิสูจน์ไม่ได้”

ป้ายคำ :