ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > ประยุทธ์ ยันทหารไม่ยุ่งการเมือง

ประยุทธ์ ยันทหารไม่ยุ่งการเมือง

20 กันยายน 2014


บริบท

เจตนารมณ์ของ ผบ.ทบ.

ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ยังคงดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ได้กล่าวย้ำเจตนารมณ์ของของตนไว้หลายครั้งว่าทั้งตนและทหารจะไม่เข้ามายุ่งกับการเมือง อาทิ

 

“กองทัพบกพยายาม…ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะการแก้ไขปัญหาการเมืองด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ อาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนไทยด้วยกันเอง…ซึ่งทางกองทัพไม่อยากเห็นภาพเช่นนั้นเกิดขึ้น” กล่าวโดยพันเอกหญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ซึ่งแถลงถึงเจตนารมณ์ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ต่อสถานการณ์การเมืองขณะนั้น ผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556

 

“ถ้า (รัฐบาล) ทำงานได้ก็ทำไปกันไป ประเทศชาติก็ต้องทำงาน…ตนไม่ไปยุ่งกับใคร ไม่ไปยุ่งกับรัฐบาล” คำกล่าวของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ภายหลังการประกาศกฎอัยการศึกในช่วงเวลา 03.00 น. และเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงทุกฝ่าย ณ สโมสรทหารบก คำกล่าวนี้ของ พล.อ. ประยุทธ์เป็นการปฏิเสธการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ก่อนการทำ “รัฐประหาร” เพียง 2 วัน

 

ทั้งนี้ สถานการณ์ทางการเมืองในเวลานั้นได้เริ่มมีการชุมนุมคู่ขนานจากทั้งฝ่ายคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้งและไม่สามารถหาทางออกได้ จนทำให้เกรงว่าจะมีการทำรัฐประหารโดยทหารเกิดขึ้นดังเช่นวันที่ 19 กันยายน 2549

 

วิเคราะห์ข้อมูล

ภายหลังนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ อีกทั้งยังมีการประกาศ Shutdown Bangkok จะทำการปิดพื้นที่ 7 จุดสำคัญ ในกรุงเทพฯ ในวันที่ 13 มกราคม 2557

 

ในวันที่ 21 มกราคม 2557 รัฐบาลชั่วคราวประกาศใช้พระราชกำหนด สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ทหารเริ่มเข้ามามีบทบาทในการดูแลและควบคุมสถานการณ์การชุมนุม

 

หลังจากนั้น สถานการณ์ความรุนแรงจากเหตุการณ์ชุมนุมยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการปิดล้อมเขตเลือกตั้งจนทำให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็น "โมฆะ" อีกทั้งนายกฯ รักษาการ นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ในคดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนสี ไม่ชอบโดยกฎหมาย และเริ่มมีการชุมนุมคู่ขนานจากทางฝั่ง นปช.

 

ทำให้วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ได้ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร กองทัพบกจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์เป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.) และมีคำสั่งยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่รัฐบาลชุดก่อนตั้งขึ้น

 

กอ.รส.มีการออกประกาศ คำสั่ง และขอความร่วมมือในหลายเรื่อง เช่น ขอให้ระงับการแพร่ภาพออกอากาศโทรทัศน์ดาวเทียมและวิทยุชุมชน ขอความร่วมมือให้มีการระัดระวังในการเสนอเนื้อหาต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ต

 

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ได้เรียกตัวแทนจาก 7 ฝ่ายเข้าร่วมประชุมเพื่อหาทางออกให้ประเทศ ที่สโมสรกองทัพบก วิภาวดีฯ ตามประกาศ กอ.รส.ประกาศฉบับ 6/2557  เชิญบุคคลสำคัญร่วมประชุม 21 พ.ค. 2557 ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้แทนรัฐบาล ผู้แทนวุฒิสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้แทนพรรคเพื่อไทย ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ ผู้แทน กปปส. และผู้แทน นปช.

 

ทว่า ผลการประชุมยังไม่เป็นที่ยุติ จึงมีการเรียกประชุมอีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 การประชุมดำเนินไปหลายชั่วโมงแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป จนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้สอบถาม นายชัยเกษม นิติสิริ รมว. ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาล ว่า ตกลงรัฐบาลยืนยันไม่ลาออกทั้งรายบุคคลและทั้งคณะใช้หรือไม่ ซึ่งนายชัยเกษมระบุว่า นาทีนี้ไม่ลาออก พล.อ.ประยุทธ์ จึงบอกว่า “ ถ้างั้นตั้งแต่นาทีนี้ผมตัดสินใจยึดอำนาจการปกครอง ” 

 

จากนั้น จึงได้ทำการควบคุมตัวผู้ร่วมประชุมทั้งหมดไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และต่อมา เวลา 16.30 น. พล.อ. ประยุทธ์ประกาศตั้ง "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" (National Peace and Order Maintaining Council หรือ คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการทันที รวมถึงให้กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) หมดอำนาจ แต่คำสั่งต่าง ๆ ยังคงมีผลอยู่

 

ในวันเดียวกันทหารได้ทำการปิดเส้นทาง 9 เส้นทาง ได้แก่

  1. ถ.ราชดำเนินนอก ตั้งแต่แยกผ่านฟ้า- แยกพระรูปฯ (กองทัพภาคที่ 1)
  2. ถ.ลูกหลวง ตั้งแต่แยกประชาเกษม – แยกสะพานเทวกรรม
  3.  ถ.กรุงเกษม ตั้งแต่แยกประชาเกษม – แยกสะพานเทวกรรม
  4. จักรพรรดิพงษ์ ผ่านแยก จปร. ขึ้นสะพานพระราม 8 ได้ 2 ช่องทาง และลงจากสะพานพระราม 8 ทางตรงผ่านแยก จปร. ได้ 2 ช่องทาง
  5. ถ.ราชดำเนินกลาง ตั้งแต่แยกคอกวัว – ป้อมมหากาฬ สามารถวิ่งจากแยกคอกวัวมุ่งหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ 1 ช่องทาง เพื่อเลี้ยวซ้าย เข้า ถ.ดินสอ ไปโรงเรียนสตรีวิทยา(เฉพาะรถที่รับส่งนักเรียน)
  6. ถ.พิษณุโลก ตั้งแต่แยกนางเลิ้ง– แยกวังแดง
  7. ถ.พระราม 5 ตั้งแต่แยกวัดเบญฯ – สะพานอรทัย
  8. ถ.แจ้งวัฒนะ ตั้งแต่หน้าที่ทำการไปรษณีย์ไทย – อาคารเอ ศูนย์ราชการ
  9. ถ.อุทยาน (อักษะ) ปิดการจราจรตลอดทั้งสาย

 

เย็นวันนั้นเจ้าหน้าที่ทหารได้นำกำลังเข้าควบคุมพื้นที่ของกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. และนปช. เจรจากับแกนนำของแต่ละกลุ่ม มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ และผู้ชุมนุม นปช. ตามรายงานข่าวจาก Thai PBS เผยว่ามีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ 2 ราย

 

 

และประกาศ คสช. ฉบับที่ 10 เรื่องให้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยหัวหน้า คสช.จะทำหน้าที่จนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรี และยังวางตัวสมาชิกสั่งการกระทรวงและส่วนราชการที่เทียบเท่าสำหรับงานบริหารประเทศ ซึ่งสมาชิกทั้งหมดเป็นคนของกองทัพ 

 

 

วันที่ 24 พฤษภาคม 2557 คสช. ยุบวุฒิสภาที่มีอยู่และให้หัวหน้าคณะมีอำนาจนิติบัญญัติ ทั้งยังดำเนินการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกหลายตำแหน่ง

 

คสช. (คลิกดูโครงสร้างคสช.ที่นี่) ได้เข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารประเทศอยู่ 2 เดือน และในวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ต่อมา วันที่ 31 กรกฎาคม 2557 โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

 

ภาพโครงสร้างบริหารประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว

 

ทั้งนี้ สนช. มีจำนวนทั้งสิ้น 200 คน (เนื่องจากมีการไม่ขอรับตำแหน่งและการยื่นลาออก จำนวน สนช. ในปัจจุบันจึงอยู่ที่ 192 คน) เป็นข้าราชการทหาร ทั้งที่ยังอยู่ในราชการและเกษียณอายุราชการไปแล้ว จำนวน 105 คน ตำรวจ 11 คน นอกนั้นเป็นนักธุรกิจชื่อดัง นักวิชาการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) (รายชื่อ สนช.)

 

กราฟเปรียบเที่ยบสัดส่วนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมติชน

(รายละเอียดเพิ่มเติมจาก มติชน คลิก)

 

ในวันที่ 21 สิงหาคม 2557 สนช. มีมติเป็นเอกฉันท์ 191 เสียง จากสมาชิกในที่ประชุม 194 คน ลงมติให้ พล.อ. ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี และในวันที่ 25 สิงหาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ได้เข้ารับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย

 

และเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 122/2557 เรื่อง แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช.โดยปรับผังให้มีผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช.ได้ไม่เกิน 15 คน 2 ในนั้นเป็นพลเรือนที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และด้านเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช.ดังเดิม 

 

ซึ่งตามการวิเคราะห์โดยหมัดเล็ก ในคอลัมน์คาบลูกคาบดอก ของไทยรัฐได้ชี้ให้เห็นว่า แม้จะมีการแจงจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล ว่า คสช. จะลดเพดานอำนาจลงและให้บทบาทการทำงานอยู่ที่รัฐบาลหรือ สนช. มากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว คสช. ก็ยังมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวในการบริหารปกครองประเทศอยู่ดี การตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งสมาชิก สนช. หรือการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็ยังอยู่ภายใต้อำนาจของ คสช. ที่กำหนดยุทธศาสตร์และคัดเลือกพลังคนทำงาน

 

สรุป

จากข้อมูลข้างต้น ตั้งแต่ที่ทหารเข้ามาจับตาสถานการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 ตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนกระทั่งประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 และประกาศ “รัฐประหาร” ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการจัดตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งทำให้อำนาจหน้าที่ในการบริหารประเทศอยู่ในมือกองทัพทั้งหมด

 

แม้จะมีการปรับโครงสร้าง คสช. แต่เมื่อสังเกตจากบุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งแล้ว อาจเป็นผู้มาเสริมความเข้มแข็งให้ คสช. มากกว่า รวมไปถึงเรื่องกฎอัยการศึกที่ยังคงไม่ถูกยกเลิก แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 4 เดือน แล้วก็ตาม

 

กระทั่งมีการจัดตั้ง สนช. โครงสร้างการปฏิบัติงานในการบริหารราชการแผ่นดินก็ยังคงเต็มไปด้วยรายชื่อของคนในกองทัพ ซึ่งรายชื่อทหารใน สนช. มีจำนวนถึง 102 คน จากสมาชิก สนช. ทั้งหมด 192 คน เรื่อยมาจนถึงมติ สนช. ในวันที่ 21 สิงหาคม 2557 ที่เลือก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย

 

ดั้งนั้น คำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ว่า “ทหารไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และไม่ได้อยู่เบื้องหลังการดำเนินการใด ๆ ทางการเมือง ซึ่งควรยุติการวิพากษ์วิจารณ์ว่าทหารจะปฏิวัติรัฐประหารเพราะไม่ใช่เวลาที่จะมาวิพากษ์วิจารณ์กัน” จึงอยู่ในเกณฑ์ที่ “เป็นเท็จ”

ป้ายคำ :