ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > ประยุทธ์โต้ ไม่ได้ปิดกั้นสื่อออนไลน์

ประยุทธ์โต้ ไม่ได้ปิดกั้นสื่อออนไลน์

5 สิงหาคม 2014


ในถ้อยแถลง

 

 

ในการแถลง พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงแนวทางการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ โดยอธิบายเหตุในการเข้ามาบริหารประเทศของ คสช. และการประการศกฎอัยการศึก ว่ามีความจำเป็นเนื่องจากบ้านเมืองอยู่ในภาวะระส่ำระส่าย มีการแตกแยกทางความคิด

 

โดยอธิบายถึงการประกาศห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิวนั้น มีความมุ่งหมายเพื่อให้ คสช. สามารถจัดระเบียบและดูแลความสงบเรียบร้อยเพื่อให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ส่วนในเรื่องของการเชิญบุคคลมารายงานตัว มีการอธิบายว่าเป็นความจำเป็นต้องเชิญผู้ที่อยู่ในความขัดแย้งทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น แกนนำ ผู้สนับสนุน นักวิชาการ และอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงหรือโดยอ้อมที่เกิดขึ้นได้ รวมทั้งบุคคลบางคนที่อาจมีอิทธิพลในเชิงสัญลักษณ์ ในการระดมมวลชนสร้างความขัดแย้งขึ้นมาอีก ซึ่งเป็นการเชิญมาเพื่อพูดคุย ปรับทัศนะ โดยจะไม่กักตัวไว้เกิน 7 วัน

 

การประกาศห้ามชุมนุมเกิน 5 คนนั้น เนื่องจากอยู่ในระยะแรกของการปฏิบัติงาน เพื่อความสงบสุขและปลอดภัยจึงไม่สามารถให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมาสร้างความขัดแย้งหรือต่อต้านได้ และกล่าวต่อไปว่า ในช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา การชุมนุมต่างๆ มีการใช้สื่อเป็นเครื่องมือบิดเบือน ปลุกระดม และสร้างความเกลียดชัง ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาตามลำดับ มีการสร้างความเข้าใจผิดจนทำให้เกิดความสับสนต่อความเข้าใจของประชาชน ทำให้ทาง คสช. ต้องระงับสื่อบางแหล่งเป็นการชั่วคราว แต่ยังคงย้ำว่าไม่มีนโยบายปิดกั้นสื่อออนไลน์แต่อย่างใด

 

“การเผยแพร่ความคิดเห็นของนักวิชาการและผู้ที่ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงที่มีข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้เกิดความสับสนในสังคม ทำให้การแก้ไขปัญหายุ่งยากขึ้นไปอีก จึงจำเป็นต้องมีการระงับสื่อดังกล่าวเป็นการชั่วคราว อย่างไรก็ดี คสช. ไม่ได้มีนโยบายปิดกั้นสื่อสังคมออนไลน์แต่อย่างใด”

 

และประเด็นสุดท้ายในแถลงการณ์นี้ เป็นเรื่องของแนวทางการบริหารประเทศของ คสช. ทั้งด้านการจัดทำงบประมาณประจำปี 2558 ที่มีการวางกรอบซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ย้ำชัดว่าทาง คสช. ให้ความสำคัญกับวินัยการคลัง การทำงานที่สามารถตรวจสอบได้ และกล่าวถึงการจัดทำแผนขั้นตอน (โรดแมป) การนำประเทศไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืนปราศจากความขัดแย้ง

 

วิเคราะห์ข้อมูล

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 12/2557

จากประกาศของ คสช. ฉบับที่ 12 มีเนื้อหาดังนี้

เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือน อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และสถานการณ์ความขัดแย้งขยายตัว จนส่งผลประทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ในการนำความสงบสุขกลับคืนสู่สังคมโดยเร็ว จึงขอความร่วมมือจากสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารเป็นไปอย่างถูกต้องปราศจากความเข้าใจผิด ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งขยายตัว จึงขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสื่อสังคมออนไลน์ ระงับการให้บริการในการส่งข้อความยั่วยุ ปลุกระดม สร้างความไม่น่าเชื่อถือ ไม่เคารพกฎหมาย ต่อต้านการปฏิบัติงาน คสช. หากยังมีการดำเนินการ คสช.จะระงับการให้บริการทันทีและเรียกตัวผู้กระทำมาดำเนินการตามกฎหมาย

 

จากประกาศ คสช. ฉบับที่ 12 เป็นผลให้ สื่อออนไลน์หลายเว็บไซต์ถูกปิดไป ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ประชาไท ที่ต้องย้ายฐานข้อมูลเว็บไซต์ไประยะหนึ่ง เนื่องจากถูกกีดกันจากทางผู้ดูแลระบบ แต่ในปัจจุบันสามารถเข้าใช้ได้ตามปกติแล้ว เว็บไซต์รวมบทความ และงานวิชาการต่างอย่างเว็บไซต์มหาลัยเที่ยงคืน เว็บไซต์ Thailand-Human Rights Watch ฯลฯ 

 

จากรายงานเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) นายสุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า "หลังจากที่ คณะรักษาความสงบห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งให้กระทรวงไอซีทีดูแลและสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

 

กระทรวงไอซีทีได้ร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติกองทับบก และผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรททางเทคโนโลยี สำนักงานอัยการสูงสุด ตั้งคณะทำงานกำกับดูแลการใช้อินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ขึ้น

 

ภาพที่ปรากฎบนหน้าจอที่ถูกปิดกั้น

 

โดยจะทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลการใช้เว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อพบการฝ่าฝืนตามประกาศกระทรวงไอซีที จะดำเนินการปิดกั้น และส่งข้อมูลให้คณะทำงานด้านฝ่ายสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดที่ส่งลิงค์ข้อความที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เข้าสู่ศาลทหารดำเนินการต่อผู้ที่กระทำความผิด โดยระวางโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.ประกาศของกฏอัยการศึกทันที"

 

เบื้องต้นนายสุรชัยเปิดเผยว่า กระทรวงไอซีทีได้ปิดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหายุงยงปั่นป่วนสร้างความแตกแยกขัดต่อประกาศ คสช. ซึ่งระหว่างวันที่ 20 พ.ค. 57 – 27 พ.ค. 57 ได้ดำเนินการปิดไปแล้วทั้งสิ้น 219 เว็บไซต์ และเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ได้เกิดเหตุเฟซบุ๊กล่มไประยะหนึ่ง เป็นข้อกังขาแก่หลายต่อหลายคนว่าอาจเป็นการสั่งปิดของ คสช. อย่างไรก็ตาม คสช. ได้ออกมาปฏิเสธกรณีดังกล่าว และแจงว่าเป็นเรื่องความบกพร่องของระบบ

 

 

ตามข้อมูลงานวิจัยของ "เครือข่ายพลเมืองเน็ต" ที่ได้ทดสอบการเข้าถึงเว็บไซต์ในประเทศไทยระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม – 26 มิถุนายน 2557 โดยใช้การทดสอบหลายวิธีตามแนวทางการเข้าใช้อินเทอร์เน็ตของบุคคลทั่วไปและวิเคราะห์การรวมศูนย์ของโครงสร้างพื้นฐานในการคัดกรองเนื้อหา โดยวัดด้วยเว็บเบราว์เซอร์ VPN และ Proxy บนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่อไปนี้: 3BB (client-based and proxy-based tests), INET (VPN-based tests), ServeNet (VPN-based tests), CAT (proxy-based tests) และ TOT (proxy-based tests)

 

 

และในวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 กระทรวงไอซีทีจัดการประชุม "คณะทำงานกำกับดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์" เพื่อประสานความร่วมมือและเน้นย้ำกับ "ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต" (Internet Service Provider: ISP) ให้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการปิดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม หมิ่นประมาท และเป็นภัยต่อความมั่นคงตามประกาศ คสช

 

ด้าน พล.ต.ต. พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงไอซีที และหัวหน้าคณะทำงานกำกับควบคุมสื่อตามประกาศของ คสช. เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกระทรวงไอซีทีได้ประสานงานไปยังสำนักงานผู้ให้บริการเว็บไซต์เฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูบ และแอปลิเคชันไลน์ เพื่อขอความร่วมมือในการระงับการเข้าถึง หรือบล็อกเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาขัดต่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 12, 17 และ 26 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2553

 

 

สำหรับประกาศ คสช. ฉบับที่ 97 ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 เรื่องการให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่เนื้อหาภายในระบุถึงข้อห้ามและข้อจำกัดในการเผยแพร่เนื้อหาของสื่อออนไลน์ โดยการสร้างข้อจำกัดเป็นไปในกรอบกว้างๆ อาทิ ห้ามวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. ห้ามเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในราชอาณาจักร เป็นต้น

 

ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้จะถูกระงับการให้บริการหรือถูกสั่งห้ามเผยแพร่ทันที ข้อห้ามเหล่านี้ล้วนเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการใช้สื่อออนไลน์เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เมื่อมีประกาศฉบับนี้ออกมา ได้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ทำให้ คสช. สั่งยกเลิกประกาศฉบับนี้ไปในที่สุด

 

สรุป

เนื่องจากมีรายงานว่า คสช. ได้ทำการปิดเว็บไซต์อันเป็นสื่อสังคมออนไลน์ไปแล้วกว่า 200 เว็บไซต์ และมีการพยายามที่จะแทรกแซง หรือระงับการใช้เว็บไซต์หลักที่ประชาชนในประเทศนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย อย่างเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ยูทูบ และแอปลิเคชันไลน์ ซึ่งสื่อสังคมออนไลน์หล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล หรือมีบางส่วนเป็นข้อมูลส่วนบุคคล

 

อีกทั้งถ้อยแถลงข้างต้นของ พล.อ. ประยุทธ์ ขัดกับคำพูดของปลัดกระทวงไอซีที ที่แถลงในชั่วโมงแรกที่เฟซบุ๊กถูกปิด และคำสัมภาษณ์ของทอร์ ออดแลนด์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารของเทเลนอร์ เอเชีย (บริษัทแม่ของดีแทค) ที่เผยว่าได้รับการประสานขอความร่วมมือจากทาง คสช. ให้ทางดีแทคปิดกั้นการใช้งานเฟซบุ๊กชั่วคราว

 

ดังนั้นคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ ที่ว่า “คสช.ไม่ได้มีนโยบายปิดกั้นสื่อสังคมออนไลน์แต่อย่างใด” นั้นขัดกับการปฏิบัติงานของกระทรวงไอซีที ที่ได้รับคำสั่งจาก คสช. ให้กระทรวงไอซีทีดูแลและสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ และดำเนินการระงับการเข้าถึง/การใช้งานเว็บไซต์ต่างๆ คำแถลงดังกล่าวจึง “เป็นเท็จ”

ป้ายคำ :