ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > ปมที่ดินเขายายเที่ยง

ปมที่ดินเขายายเที่ยง

6 กันยายน 2014


บริบท 

 

 

วิเคราะห์ข้อมูล

วันที่ 25 ธันวาคม 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ ยืนยันว่าที่ดินของตนบนเขายายเที่ยงไม่ได้รุกล้ำเขตป่าสงวนฯ แต่แถลงในวันที่ 27 ธันวาคม 2549 กลับต่างออกไป

 

เมื่อมีผู้สื่อข่าวถามว่าแรกเริ่มที่เข้าไปใช้พื้นที่ทราบหรือไม่ว่าอาจจะมีปัญหาเรื่อง ข้อกฎหมายตามมาทีหลัง พล.อ.สุรยุทธ์ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า

       
“มันก็เป็นพื้นที่อย่างนี้อยู่แล้ว เราก็ทราบดีว่าเป็นพื้นที่ที่ยังอยู่ก้ำกึ่ง แต่ก็ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามขั้นตอน คือได้จ่ายเงินให้กับชาวบ้าน เพื่อเข้าไปขอให้พื้นที่ เราไม่ได้เป็นเจ้าของสิทธิและผู้ที่ถือสิทธิอันนั้นก็ยังมีอยู่ แล้วเราก็ไปทำประโยชน์ต่อเนื่อง คือไปปลูกต้นไม้ ไปทำพื้นที่ เพราะแต่เดิมไม่ได้ทำในด้านเกษตรกรรม ปล่อยให้เป็นพื้นที่หญ้าคา แต่เราก็เข้าไปค่อยๆ ปรับปรุงพื้นที่ จนเป็นสภาพอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบันว่า มีผลไม้มีต้นไม้ต่างๆ”        

 

ในวันเดียวกันนั้น (27 ธันวาคม 49) เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า จากการสอบถามเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนในจ.นครราชสีมา ได้ความว่า พื้นที่บ้านพักของพล.อ.สุรยุทธ์ อยู่ในเขตป่าสงวนแน่นอน แต่ไม่แน่ใจว่าอยู่ในป่าลุ่มน้ำชั้น 1 เอ หรือ 1 บี

 

แต่อยู่ในจุดที่เรียกว่าเป็นแหล่งต้นน้ำลำตะคองที่มาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเตียน เขาเขื่อนลั่น เขายายเที่ยง ท้องที่ ม.6 ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว ก่อนหน้านี้เมื่อปี 36 ชาวบ้านเคยเข้าไปทำกิน และเรียกร้องให้กรมป่าไม้ออกเอกสารสิทธิ

 

จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการออกเอกสารสิทธิให้ กระทั่งทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีโครงการโรงไฟฟ้าสูบกลับลำตะคอง จึงกันชาวบ้านออกจากพื้นที่เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ด้วยการหาพื้นที่ทำกินให้รายละ 3.5 ไร่ตั้งเป็นหมู่บ้านป่าไม้ แต่ไม่มีสิทธิ์ครอบครองตามกฎหมาย ที่ผ่านมาชาวบ้านมีการซื้อขายที่ดินกันแบบปากเปล่า ต่อกันเป็นทอดๆ กรณีที่ดินบ้านพักของพล.อ.สุรยทธ์ อาจอยู่ในกรณีนี้

 

ด้านนายชัยฤกษ์ ดิษฐอำนาจ อธิบดีกรมที่ดิน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับการดูแลที่ดินทั่วประเทศแบ่งเป็นดังนี้ กรมที่ดินจะดูแลที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นโฉนด หรือ นส.3 ก เท่านั้น

 

แต่ที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

  • ที่ดินสาธารณะที่อยู่ในความดูแลขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
  • ที่ดินป่าสงวนเสื่อมโทรมซึ่งอยู่ในการดูแลของกรมป่าไม้
  • ที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์

 

ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติที่ผ่านมา ประชาชนสามารถเข้าไปถือครองที่ดินทั้ง 3 ประเภทใช้ทำกินได้ โดยนอกจากจะจ่ายภาษีบำรุงที่ดินแล้ว ยังต้องจ่ายค่าเช่าให้กับหน่วยงานที่ดูแลที่ดินดังกล่าวด้วย ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์กำหนดว่าพื้นที่ชนิดไหนให้เช่าใช้ประโยชน์ได้

 

เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ ทำให้นายคุ้มพงษ์ ภูมิภูเขียวกับพวกรวม 12 คน ร้องทุกข์กล่าวโทษกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ให้ดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2550 และวันถัดมา กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ยื่นข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

 

และแม้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติ ไม่รับพิจารณาคำร้อง ของกลุ่มคนวันเสาร์ฯ แต่สาเหตุที่ ป.ป.ช. ปฏิเสธคดีดังกล่าวเนื่องมาจากคดีขาดอายุความ มิใช่เหตุผลว่าพล.อ.สุรยุทธ์ ไม่มีความผิดในการครอบครองที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากนายก ล้านรงค์ กล่าวว่า สำหรับกรณีของพล.อ.สุรฤทธิ์ ที่เป็นผู้ขายที่ดินให้แก่พ.อ.หญิงท่านผู้หญิงจิตรวดี จุลานนท์ นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตามคำร้องของนายสุดชาย ด้วย พล.อ.สุรฤทธิ์เพิ่งพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในปี 2549 จึงยังอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช.ที่ จะดำเนินการได้

 

ในขณะนั้นหลายสำนักข่าวค้นหาตัวนายเบ้า หรือปัจจุบันคือหลวงพ่อเบ้า เลขานุการเจ้าคณะตำบลระเริง อ.วังน้ำเขียวอัคคจิตโต เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงกรณีที่ดินผืนดังกล่าว โดยหลวงพ่อเปิดเผยว่า ตนทราบดีว่าทางราชการให้ที่ดินใช้เพียงทำกินเท่านั้น แต่ขณะนั้นครอบครัวต้องการใช้เงินจึงได้ขายที่ดินไป ซึ่งที่ดินแปลงที่ตนครอบครองมีใบ ภบท.5 เป็นเอกสารยืนยันการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ไร่ละ 3.50 บาท/ปี อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

ในการเปิดอภิปรายปัญหาคุณธรรมและจริยธรรมการบริหารงานของรัฐบาล กรณีที่ดินเขายายเที่ยงได้เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูก น.ต.ประสงค์ สุนศิริ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาและส่งเสริมการสร้าง คุณธรรม และจริยธรรมนักการเมืองข้า ราชการ และประชาชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หยิบยกขึ้นมาอภิปราย ซึ่งพล.อ.สุรยุทธ์ ได้มอบให้นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นผู้ชี้แจงในกรณีนี้

 

เบื้องต้น นายธีรภัทร์ ได้ชี้แจงว่า นายกฯไม่มีเจตนา บุกรุกที่ดินป่าสงวน แห่งชาติ และไม่ทราบว่าที่ดินผืนดังกล่าวมีปัญหา คาบเกี่ยว เพราะที่ดินมีลักษณะเป็นชุมชน มีวัด และมีมัสยิด รวมทั้งไม่มีป้าย หรือมีเครื่องหมายใดๆ ระบุว่าเป็นเขตพื้นที่ป่าสงวนฯ โดยที่ดินแปลงดังกล่าวชาวบ้านเข้ามาทำกินก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ก่อน ที่ทางการจะประกาศเป็นเขตป่าสงวนฯ

 

ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม 2552 อธิบดีอัยการฝ่ายคดีเขต 3 มีคำสั่งไม่ฟ้องตามพนักงานสอบสวนเมื่อ และมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้ให้ความเห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้อง ด้วยเหตุผลขาดเจตนาการกระทำความผิด เนื่องมีการซื้อที่ดินต่อจากนายเบ้า สินนอก และบุตรเขย  ซึ่งได้รับสิทธิ์การครอบครองเพื่อทำการเกษตร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2518 แต่นายเบ้าไม่ได้รับกรรมสิทธิ์จึงไม่มีอำนาจซื้อ-ขาย คดีจึงสิ้นสุด

 

อย่างไรก็ตามอัยการจังหวัดสีคิ้ว ได้มีหนังสือ แจ้งให้ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) ดำเนินการเรียกคืนที่ดินดังกล่าวจากพล.อ.สุรยุทธ์ ซึ่งอดีตนายกฯ ก็ยินยอมคืนที่ดิน พร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างแต่โดยดี

 

และเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2553 พล.อ.นินนาท เบี้ยวไข่มุข นายทหารคนสนิท พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ให้สัมภาษณ์ไทยรัฐออนไลน์ว่า

 

ที่ผ่านมา พล.อ.สุรยุทธ์ ​ทราบตั้งแต่ตอนซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาแล้วว่า อย่างไรก็ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของ แต่ที่ซื้อมานั้น ก็เพื่อต้องการใช้สิทธิในการทำประโยชน์​ในพื้นที่ … หากทางราชการมีความต้องการที่ดินแปลงนี้คืน พล.อ.สุรยุทธ์ ก็พร้อมที่จะคืนให้ทันที เพราะ พล.อ.สุรยุทธ์ มีความเคารพในกติกาของบ้านเมืองอยู่แล้ว”  

 

สรุป

จากข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดจากปาก พล.อ.สุรยุทธ์ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2549 พยานบุคคล และพยานแวดล้อมบ่งชี้ว่าที่ดินผืนดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนฯ ในความดูแลของกรมป่าไม้ และพล.อ.สุรยุทธ์เองก็ทราบดีว่าที่ดินผืนดังกล่าวไม่สามารถซื้อขายได้ เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิ์ มีเพียงใบเสียภาษี ภ.บ.ท.5 เท่านั้น ซึ่งพล.อ.สุรยุทธ์ไม่สามารถใช้แสดงความเป็นเจ้าของที่ดินผืนดังกล่าวได้

 

ดั้งนั้นจากคำพูดของพล.อ.สุรยุทธ์ ที่ว่า “ไม่ได้เป็นการรุกล้ำ (พื้นที่กรมป่าไม้ กรณีที่ดินเขายายเที่ยง)” นั้นจึงอยู่ในเกณฑ์ “เป็นเท็จ”

ป้ายคำ :