ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > ทักษิณ กับวาทกรรม “โจรกระจอก”

ทักษิณ กับวาทกรรม “โจรกระจอก”

18 กันยายน 2014


บริบท

หลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ โดยเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นใน 4 จังหวัดภาคใต้  ได้แก่ จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.นาทวี อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2556 ได้เพิ่มอีกหนึ่งอำเภอคือ อ.สะเดา โดยมีเหตุการณ์ลอบทำร้าย วางเพลิง วางระเบิด และจลาจล เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจะมีความเคลื่อนไหวในลักษณะต้องการแบ่งแยกดินแดนบริเวณปัตตานีมาเป็นเวลานาน แต่ความไม่สงบดังกล่าวเริ่มบานปลายขึ้นหลัง พ.ศ. 2547

 

กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเริ่มต้นสร้างสถานการณ์ขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2544 เมื่อขบวนการเริ่มมีความพร้อม แกนนำคนสำคัญรายหนึ่งได้สั่งการให้แนวร่วมเลิกใช้วิธีนำเงินที่รวบรวมได้จากสมาชิกไปซื้ออาวุธปืนมาใช้ในการแบ่งแยกดินแดน แต่ให้ใช้ยุทธวิธีที่เรียกว่า "ปืนของรัฐคือปืนของเรา" แทน จากนั้นจึงเริ่มมีเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนของทางราชการครั้งสำคัญๆ รวม 5 ครั้ง และครั้งใหญ่ที่สุดคือการปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็งนั่นเอง

 

วิเคราะห์ข้อมูล

คำว่า "โจร" ตามความหมายจากราชบัณฑิตยสถาน หมายความว่า ผู้ร้ายที่ลักขโมยหรือปล้นสะดมทรัพย์สินผู้อื่นเป็นต้น

 

หลังจากเกิดเหตุการณ์นั้น ต่างมีผู้วิพากษ์วิจารณ์มากมายและตั้งคำถามเกี่ยวกับคำพูดของนายกฯ ทักษิณว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้เกิดจาก “โจรกระจอก” จริงหรือไม่ เพราะมีเหตุการณ์ปล้นปืนอีก 4 ครั้ง หลังปี 2544 คือ

 

  • คดีปล้นปืน 33 กระบอก จากอุทยานแห่งชาติบางลาง อ.ธารโต และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2545
  • คดีปล้นปืนจำนวน 19 กระบอก จากหน่วยทักษิณพัฒนาที่ 5 อ.ธารโต จ.ยะลา เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2546
  • คดีปล้นปืนจำนวน 13 กระบอก จากหน่วยทักษิณพัฒนาที่ 12 อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2546
  • และคดีปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ค่ายปิเหล็ง" ต.ปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาสเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547

 

ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ปล้นปืนถึงในค่ายทหารเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนัก และยากที่จะเชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มโจรในพื้นที่ซึ่งเคยถูกเรียกขานว่าเป็นแค่ "โจรกระจอก" แม้แต่ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งลงพื้นที่ไปสืบสวนสอบสวนคดีนี้สมัยเป็นรองอธิบดี ก็ยังยอมรับว่า เคยตั้งทฤษฎีว่ารัฐปล้นเองอยู่เหมือนกัน

 

"ตอนแรกเราใช้วิธีล่อซื้อปืน แต่ทำไปหลายครั้งก็ไม่เจอปืนที่ปล้น กลายเป็นว่าไปเพิ่มปัจจัยการซื้อขายปืนในพื้นที่มากขึ้นไปอีก ตอนหลังก็เลยเปลี่ยนวิธี" พ.ต.อ.ทวี กล่าว

 

และเมื่อสืบสวนลึกลงไป สมมติฐานของดีเอสไอก็เปลี่ยนแปลง สรุปว่าน่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มบุคคลที่เป็นเครือข่ายเดียวกัน และเป็นองค์กรขนาดใหญ่ เพราะสามารถลงมือก่อเหตุได้โดยใช้เวลาไม่นาน มียุทธวิธี แบ่งหน้าที่กันทำงาน มีการข่าว และชำนาญเส้นทาง ข้อมูลของดีเอสไอในเวลาต่อมาซึ่งได้จากการสืบสวน สอบปากคำพยานและผู้ต้องหาโดยใช้เครื่องมือทางนิติวิทยาศาสตร์ร่วมด้วย ทั้งยังมีพยานเอกสารและพยานวัตถุรองรับ ชี้ชัดว่า การปล้นปืนเป็นหนึ่งในยุทธวิธีของขบวนการก่อความไม่สงบที่มีเจตนาแบ่งแยกดินแดน ซึ่งใช้เวลาบ่มเพาะ ฟักตัว และเติบโตอย่างแยบยลมายาวนานนับสิบปี

 

ในเบื้องต้น รัฐบาลมองว่าการสร้างสถานการณ์ดังกล่าวเป็นฝีมือของโจรหลังจากตำรวจเสียชีวิตไป 14 นาย ในการโจมตีหลายครั้งซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลานาน 7 เดือน  พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ปฏิเสธถึงบทบาทของศาสนาในการโจมตีดังกล่าว เพราะตำรวจที่เสียชีวิตไปหลายคนนั้นเป็นมุสลิมด้วย และกล่าวว่า

 

"ไม่มีการแบ่งแยกดินแดน ไม่มีผู้ก่อการร้ายอุดมการณ์ มีแต่โจรกระจอก”

 

4 มกราคม 2547 เกิดเหตุเผาโรงเรียน 18 แห่ง ในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเชื่อว่าเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจเพื่อปล้นปืนจากค่ายปิเหล็ง ทำให้ทหารเสียชีวิต 4 นาย  และได้อาวุธปืนไปกว่า 314 กระบอก รัฐบาลเสียหน้าอย่างมาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ไม่พอใจเป็นอย่างมาก ตำหนิทหารที่ไม่ระมัดระวัง และถึงกับพูดว่า

 

"ถ้าคุณมีกองทหารทั้งกองพันอยู่ที่นั้น แต่คุณก็ยังไม่ระวังตัว ถ้าอย่างนั้นก็สมควรตาย”

 

ผศ. ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เขียนไว้ในงาน “ความรุนแรงเชิงโครงสร้างหรือโครงสร้างความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 2 ปี” (พ.ศ. 2547-2548) ว่า เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในรอบ 13 ปีดังกล่าว ถ้านับเอาเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544-2548 อันเป็นปีเริ่มต้นของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมโจมตีตึก World Trade Center ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติที่เรียกว่าอัลกออิดะห์

 

เราจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงตั้งแต่ปีดังกล่าวจนถึงปี พ.ศ. 2548 เกิดขึ้นถึง 3,828 ครั้ง หรือร้อยละ 89 ของเหตุการณ์ในรอบ 13 ปี นัยสำคัญของการพิจารณาแบ่งช่วงเวลาของเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะข้อสมมุติฐานที่ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะมาจากทั้งสาเหตุที่เป็นปัจจัยภายในและภายนอก

 

กล่าวในอีกแง่หนึ่ง สถานการณ์สากล ปัญหาอุดมการณ์ทางศาสนา อาจจะมีผลกระทบตามมาอย่างมากต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ประกอบกับปัจจัยภายในที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่สำคัญในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยรัฐบาลมีการยุบเลิกหน่วยงานประสานนโยบายในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก็คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

 

ปัจจัยทั้งสองอาจจะมีผลต่อความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมาก โดยมีเหตุปัจจัยอื่นที่เป็นตัวเสริม เช่น ปัญหาความไม่เป็นธรรมโดยรัฐ ปัญหาเศรษฐกิจสังคม ความยากจนด้อยโอกาส และปัญหาการศึกษา รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ เช่น ปัญหายาเสพติด เศรษฐกิจนอกระบบและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เป็นต้น ปัจจัยที่ก่อให้เกิดกระแสความรุนแรงนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งจะต้องนำมาพิจารณาวิเคราะห์โดยละเอียด เพื่อเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นและกำหนดตัวแบบทางนโยบาย ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี ในการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม

 

สรุป 

จากการวิเคราะห์ของนักวิชาการและตำรวจข้างต้นพบว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ก่อการไม่ใช่แค่ “โจร” อย่างที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กล่าวไว้ เนื่องจากมีการดำเนินการที่มีการวางแผนและมีการทำเป็นขบวนการมากกว่าโจรทั่วไป และยังมีเรื่องศาสนา-เชื้อชาติมาเกี่ยวข้องด้วย

 

ดังนั้นทำให้คำพูดที่ว่า "ไม่มีการแบ่งแยกดินแดน ไม่มีผู้ก่อการร้ายอุดมการณ์ มีแต่โจรกระจอก" ของพ.ต.ท.ทักษิณ จึงอยู่ในเกณฑ์ "เป็นเท็จ"

ป้ายคำ :