แรงกดดันของผู้บริโภคที่มีการร้องเรียนเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัยในสินค้าได้เสียงดังขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ผู้ผลิตและผู้ค้าต้องปรับตัวให้ได้มาตรฐานทั้งระดับโลกและระดับประเทศ
การพัฒนาค่อยๆดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในเรื่องพืชผักผลไม้ที่มีหลายหน่วยงานที่เกียวข้องเข้ามาตรวจสอบมาตรฐาน จึงทำให้ภาคเอกชนและผู้ผลิตที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องปรับตัว และเป็นความร่วมมือที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต่อไป
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา กระแสการบริโภคนิยมได้พลิกสังคมเกษตรกรรมแบบครัวเรือนเป็นเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว เน้นการผลิตเพื่อขาย เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาต่างๆ อาทิ สารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน ส่งผกระทบต่อทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ เหลือเป็นขยะอาหาร เกษตรกรถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง
ในปัจจุบันที่ผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นควรแก้ไขตั้งแต่ต้นน้ำการผลิตคือตัวเกษตรกร ภาคเอกชนอย่างโมเดิร์นเทรด หนึ่งในผู้ยื่นผลผลิตสู่มือผู้บริโภคหลายราย จากที่เคยเป็นผู้รับซื้อจากพ่อค้าคนกลาง จึงขยับตัวเข้าสู่ภาคการผลิตต้นน้ำโดยตรง (Direct Sourcing)
นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองประธานกรรมการ แผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า การเข้าไปรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรงเป็นการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งเรื่องความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่ได้ขายผลผลิตในราคาที่แน่นอนและพอใจ มาตรฐานสินค้าที่ปลอดสารเคมีส่งตรงถึงมือผู้บริโภค และเรื่องสิ่งแวดล้อมในการลดอัตราการเกิดขยะอาหาร

แก้ที่ต้นน้ำ ปั้นสมาร์ทฟาร์มเมอร์
นางสาวพรเพ็ญ นาถพิริยรัตน์ รองประธานกรรมการฝ่ายกำกับดูแลคุณภาพสินค้า เทสโก้ โลตัส บอกเล่าถึงการทำ Direct Sourcing ว่า ที่ผ่านมาสินค้าเกษตรที่พ่อค้าคนกลางส่งขายให้กับศูนย์กระจายสินค้าเทสโก้ โลตัส มักถูกตีกลับประมาณ 60-70% คิดเป็นมูลค่าหลายล้านบาทที่เกษตรกรต้องสูญเสีย เพราะสินค้า โดยเฉพาะผักผลไม้ คุณภาพไม่ผ่านเกณฑ์และมีช่วงเวลาการเก็บสั้น ดังนั้นการรับซื้อสินค้าโดยตรงจากเกษตรกรจึงเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุด
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การรับซื้อผลผลิตของโลตัสในแบบ Direct Sourcing ทำได้ประมาณ 95% ของสินค้าเกษตรที่โลตัสรับมาจำหน่าย โดยกระบวนการจะเริ่มตั้งแต่การเข้าไปพูดคุยกับเกษตรกรเพื่อปรับทัศนคติในการเพาะปลูก คือ ผลผลิตต้องมีคุณภาพ ไม่มีสารเคมีตกค้าง เข้าไปช่วยวางแผนการเพาะปลูก เพื่อให้ผลผลิตออกมาในช่วงที่ตลาดมีความต้องการ ช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ทั้งหมด ไม่ต้องสูญเสีย และได้ราคาดี และในระยะต่อไป เกษตรกรต้องคงคุณภาพผลผลิตที่ดีนี้ให้ได้ จึงมีการสนับสนุนในเรื่องมาตรฐาน GAP ร่วมด้วย
“ต้องยอมรับว่าไม่ง่าย และไม่ใช่ทุกที่ที่เราเข้าไปจะประสบความสำเร็จ การเข้าไปเริ่มแรกจะยากที่สุดในการพูดคุยเพื่อเปลี่ยนแนวคิดการเพาะปลูก แต่ก็ต้องยอมรับอีกเหมืนกันว่าในหลายพื้นที่ที่เราประสบความสำเร็จได้เพราะในพื้นที่มีเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดใหม่ๆ กล้าคิด กล้าทำ ซึ่งช่วยให้เกิดการขยายเครือข่ายไปสู่เกษตรกรอื่นๆ ในพื้นที่ อย่างที่นี่เราก็ได้คุณเซียง (นางสาวพีรดา) เป็นกำลังสำคัญ เป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกรรายย่อยเข้ามาศึกษาเรียนรู้” นางสาวพรเพ็ญกล่าว
ที่หมู่บ้านแม่โถ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ แหล่งปลูกมะเขือเทศแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย การปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำให้เกษตรกรเผชิญภาวะราคาผลผลิตตกต่ำ ปัญหาด้านสุขภาพจากการใช้สารเคมี และในแต่ละปีมีมะเขือเทศถูกตีกลับเป็นจำนวนมากเนื่องจากคุณภาพไม่ผ่านเกณฑ์ผู้รับซื้อรายใหญ่อย่างโมเดิร์นเทรด
นางสาวพีรดา สิมะนธาธร เจ้าของไร่มะเขือเทศรายแรกในแม่โถที่เริ่มส่งสินค้าโดยตรงให้กับเทสโก้ โลตัส กล่าวว่า หลังจากเรียนจบปริญญาโทจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็กลับมาใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรที่หมู่บ้านแม่โถบ้านเกิด และอยากพัฒนาไร่มะเขือเทศของครอบครัวที่มีอยู่กว่า 40 ไร่ให้ดีขึ้น เนื่องจากระยะหลังตนเริ่มสังเกตอาการเจ็บป่วยที่บ่อยขึ้นของคนในครอบครัว ซึ่งพบว่ามีต้นตอมาจากการใช้สารเคมีมากเกินไปในการทำการเกษตร
“เมื่อปัญหาเกิดจากการใช้ปุ๋ยใช้ยาที่ไม่ถูกต้องก็ต้องทำให้ถูกต้อง ซึ่งพอดีกับที่เทสโก้เข้ามา อย่างแรกเลยคือเขาจะเข้ามาดูเรื่องของคุณภาพ ใช้คำว่าจะปลูกผักอย่างไรให้ได้คุณภาพ ได้มาตรฐานและความปลอดภัยของเขา โดยเฉพาะเรื่องการใช้ปุ๋ยใช้ยา เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาครอบครัวเริ่มใช้ปุ๋ยชีวภาพเข้ามาช่วย ซึ่งช่วยลดต้นทุน ลดปัจจัยการผลิต ได้สินค้าจำนวนมากพอ และได้ความปลอดภัยของลูกค้าด้วย”
นางสาวพีรดากล่าวต่อไปว่า ในเรื่องของการตลาด เริ่มแรก การขายผลผลิตในแต่ละครั้งไม่มีการวางแผนด้านการตลาดเลย ทำให้ประสบปัญหาสินค้าล้นตลาด ซึ่งสิ่งที่เทสโก้เข้ามาช่วยคือการวางระบบการตลาด วางแผนการผลิต ทำให้ไม่มีผลผลิตที่เป็นส่วนเกินของตลาดอีก

“พอชาวบ้านเห็นว่าเราทำแล้วดี ก็เริ่มเข้ามาขอคำแนะนำ และเกิดการบอกต่อ ทำให้ตอนนี้มีลูกไร่ที่ดูแลอยู่ประมาณ 200 ราย ก็มีการนำความรู้ที่ได้มาสอนให้เกษตรกรปรับวิธีการเพาะปลูก ให้นำปุ๋ยชีวภาพเข้ามาช่วย ลดการฉีดยาฆ่าแมลง หันไปใช้ปุ๋ยหมักที่ทำขึ้นเองจากเศษอาหาร เศษมะเขือเทศ กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ใช้เศษฟางข้าวนำมาหมักกับแกลบ กากน้ำตาลทำเป็นหัวเชื้อ เมื่อก่อนการปลูกมะเขือเทศครั้งหนึ่งเราใช้เงินค่าปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง 40,000 บาท/ไร่ แต่พอเราหันมาใช้ปุ๋ยหมักลงทุนเพียงแค่ 20,000 บาท/ไร่ สุขภาพของทุกคนก็ดีขึ้นด้วย” นางสาวพีรดากล่าว
Direct Sourcing ยืดอายุสินค้า ลดขยะอาหาร
ด้านนายชาคริตกล่าวเสริมว่า จากการทำ Direct Sourcing นอกจากจะสร้างประโยชน์ต่อเกษตรกร จากการสั่งซื้อที่แน่นอนกว่า 360 ตัน/ปี ทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางรายได้และมีรายได้เพิ่มเฉลี่ยกว่าปีละ 1 ล้านบาท และยังส่งผลดีต่อทางเทสโก้ คือ ผลผลิตเก็บไว้ได้นานขึ้น
กรณีมะเขือเทศจากแม่โถนี้ Direct Sourcing เริ่มตั้งแต่ให้คำแนะนำด้านการเพาะปลูก รวมถึงการวางแผนการสั่งซื้อล่วงหน้า จึงทำให้เกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกและบริหารต้นทุนได้ ซึ่งช่วยเพิ่มความสดของมะเขือเทศได้ยาวนานถึง 6 วัน จากเดิมที่อยู่ได้ 5 วัน ลูกค้าของเทสโก้ โลตัส ก็ได้ผลผลิตที่สดใหม่มากขึ้นอีก 1 วัน และได้ขนาดของมะเขือเทศที่ดีที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าคือ 9-18 ลูกต่อกิโลกรัม ขณะที่ชุมชนและสิ่งแวดล้อมจะได้รับประโยชน์จากการลดการสูญเสียมะเขือเทศ อันเกิดจากสินค้าไม่ได้มาตรฐานไปได้กว่าปีละ 30 ตัน ซึ่งส่วนนี้ก็กลับไปเป็นรายได้ของเกษตรกร
“Shelf life ของพืชแต่ละชนิดต่างกัน สำหรับมะเขือเทศมีประมาณ 6-7 วัน เราจะนับวันตัด เมื่อก่อนเขาตัดแล้วรอคนซื้อ แต่ปัจจุบันคนที่มารับสินค้าจะบอกเวลาที่แน่นอน เขาก็จะตัดตั้งแต่ตี 4 เสร็จแล้วจะมีกระบวนการในการคัดแยก ผู้ขนส่งก็จะมารับตรงนี้ไปที่อ.สารภีเพื่อบรรจุถุง ช่วงบ่ายๆ ก็สามารถที่จะส่งสินค้าไปได้เลย ก็จะมีอายุเก็บไว้ได้ 5-6 วัน ทางสโตร์ก็สบายใจขายของได้นานขึ้น แต่นอกจากที่แม่โถก็มีมะเขือเทศจากที่อื่นๆ ที่จะช่วยให้กระจายสินค้าได้ทั่วประเทศ” นายชาคริตกล่าว
นายชาคริตระบุว่า สิ่งที่ต้องทำกับคู่ค้าคือการคุยกัน ตกลงกันตั้งแต่ก่อนปลูก บางครั้งก็ต้องให้เกษตรกรรอ เช่น ช่วงเทศกาลกินเจที่ผ่านมา ที่เริ่มต้นในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม แต่หากปลูกตามปกติจะพร้อมเก็บเกี่ยวต้นเดือนตุลาคม ก็ต้องคุยให้เขารออีก 2 สัปดาห์ เพื่อให้ออกผลผลิตพอดีกับเทศกาลกินเจซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดต้องการมาก นอกจากนี้ ทางเทสโก้ฯ ยังรับซื้อผักอื่นๆ ที่เกษตรกรปลูกระหว่างพักดินด้วย
“สิ่งสำคัญคือการยืนยันว่าปลูกแล้วเขาขายได้ แต่ต้องทำตามขั้นตอน เราจะประมาณการไว้อยู่แล้ว บอกชาวบ้านว่ารอได้ไหม รอไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ก็จะไปขอรายอื่น เพราะเราต้องการผักเยอะสุดในช่วงกินเจ และตอนปลูกเราขอมาดูด้วยนะว่าไม่ใช้สารเคมี แรกๆ ก็พบว่าเขาปลูกมะเขือเทศปีละ 3 ครอป ซึ่งดินจะเริ่มเสียก็ต้องเริ่มใช้ปุ๋ยเคมี ตามหลักการหากปลูก 2 ครอปแล้ว จะต้องคั่นด้วยผักอย่างอื่น ก็มีการแนะนำไป ตอนนี้เขาปลูก 3 ครอป เป็นมะเขือเทศ 2 ครอป ที่เขาได้ราคาดี ส่วนอีก 1 ครอป เป็นกะหล่ำปลี ซึ่งเราก็รับซื้อ เพื่อให้ดินปรับสภาพ แล้วพอครอปต่อไปในปีต่อไป ก็เริ่มปลูกมะเขือเทศใหม่ ก็จะทำให้ดินมีคุณภาพดีตลอด” นายชาคริตกล่าว
ผู้บริโภคมั่นใจผักไร้สารตกค้าง
นางสาวพรเพ็ญอธิบายถึงกระบวนคัดกรองสินค้าว่า สิ่งที่กำหนดกับเกษตรกรก็คือ ทางเทสโก้ฯ ต้องไม่มีสารเคมีในสินค้า ทีมนักวิชาการที่เข้าไปจะให้ความรู้เรื่องการพ่นยาและระยะเวลาเก็บเกี่ยว ซึ่งเกษตรกรต้องรอจนปริมาณสารตกค้างลดลงจนเหลือ 0 ภายในระยะเวลาที่กำหนด จึงยืนยันได้ว่าไม่มีสารเคมีตกค้าง แต่ไม่ใช่การไม่ใช้สารเคมีเลย และเสริมด้วยมาตรฐาน GAP
“เรื่องมาตรฐาน GAP ก็จะคอยช่วยว่าต้องทำอย่างไรบ้าง จะมีเจ้าหน้าที่ที่คอยติดต่อกับทางภาครัฐ ส่วนนี้เป็นงานของเรา เป็นต้นทุนการดำเนินงานทั่วไปไม่ใช่ต้นทุนสินค้า เราอยากได้สินค้าเราก็ต้องลงทุนเพื่อให้ได้สินค้ามา เกษตรกรไม่ทำเราก็ต้องเดินไปหา เราต้องการให้เขาทำก็ต้องช่วยเขาทำ ในกรณีมีงานที่เข้ามาตรวจคุณภาพสินค้าแล้วพบว่าเกษตรกรใช้ยาฆ่าแมลง บางทีก็ต้องมีบทลงโทษ คือ หยุดซื้อ”
“อาจจะนึกภาพว่าเราต้องมาคอยดูแลเขา แต่จริงๆ แล้วศักยภาพในการปลูกของเกษตรกรมีเยอะมากอยู่แล้ว เราแค่เพียงเปลี่ยนทัศนคติเขามากกว่าว่า ครอปแรกจะยากที่สุด แต่เมื่อทำได้แล้วเขาจะทำตามเรา ฉะนั้น เรามาเป็นคล้ายๆ กับคนแนะนำ แต่การปลูกเป็นของเขาเลย” นางสาวพรเพ็ญกล่าว
นางสาวพรเพ็ญกล่าวต่อไปว่า นอกจากการทำ Direct Sourcing ที่ทำให้มั่นใจได้ว่าผลผลิตที่นำมาวางจำหน่ายไร้สารเคมีตกค้าง ทางเทสโก้ โลตัส ยังนำผลผลิตอีกส่วนแยกเป็น เทสโก้ ออร์แกนิก ตามโครงการกำลังใจในพระดำริฯ ของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ให้ผู้ต้องขังมาทำการเกษตร เพื่อที่วันหนึ่งที่พ้นโทษจะได้มีอาชีพ
ทั้งนี้ นอกจากจะมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรองว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นออร์แกนิกแล้ว ทางเทสโก้ฯ มีมาตรฐานของตนเองในการประเมิน โดยใช้ได้ใบรับรองด้านออร์แกนิกมาจากอังกฤษ ซึ่งสาขาที่มีสินค้าเทสโก้ ออร์แกนิก วางขายมี 19 สาขา
“นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ของเรามี QR code เราสามารถตรวจดูเส้นทางการผลิต รู้ว่าใครเป็นคนผลิต เริ่มตัดวันไหน และเดี๋ยวนี้เราเริ่มเติมสูตรอาหารเข้าไป สมัยก่อนเรามี QR code แต่บอกที่มาไม่ได้ เราบอกได้แต่วันรับซื้อ แต่ตอนนี้เราระบุได้ถึงวันเก็บเกี่ยว สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น”