ThaiPublica > เกาะกระแส > มติบอร์ดแข่งขันทางการค้ามาเลเซีย อนุมัติ CP ควบรวมกิจการ เทสโก้สโตรส์

มติบอร์ดแข่งขันทางการค้ามาเลเซีย อนุมัติ CP ควบรวมกิจการ เทสโก้สโตรส์

12 พฤศจิกายน 2020


บอร์ดแข่งขันทางการค้า มาเลเซีย ไฟเขียวซีพีควบรวมกิจการเทสโก้สโตรส์ ในมาเลเซีย สอดคล้องมติกขค.ประเทศไทย ถือผลสรุปตามมาตรฐานสากล

รายงานข่าวจากเครือซีพีระบุว่า วันนี้(11 พฤศจิกายน 2563) คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของมาเลเซีย ประกาศผลอนุมัติการควบรวมเทสโก้สโตรส์ ในมาเลเซีย โดยมีเงื่อนไขสอดคล้องกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า(กขค.)ประเทศไทย โดยยกมาตรฐานสากลในการพิจารณา เงื่อนไขที่ทางคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของมาเลเซีย ให้ความสำคัญมีความสอดคล้องกับคณะกรรมการ กขค.ประเทศไทยคือ การสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี โดยต้องเพิ่มสัดส่วนคู่ค้าเอสเอ็มอี อย่างน้อย 10% เป็นเวลา 5 ปี ต้องสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่นให้มีโอกาสขยายตลาดในต่างประเทศ

นอกจากนี้ เงื่อนไขสำคัญที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามาเลเซียให้ความสำคัญคือ การคงไว้ซึ่งเงื่อนไขที่ให้กับคู่ค้า จะต้องคงไว้เหมือนเดิม ยกเว้นจะให้ข้อเสนอที่ดีกว่า โดยสิ่งที่มาเลเซียเพิ่มขึ้นมาคือ ประเด็นพนักงานในโลตัสสโตรส์ ขอจำกัดจำนวนพนักงานต่างชาติที่มีทักษะในระดับต่ำ (Low-Skill Working) ไม่เกิน 15% เน้นใช้คนท้องถิ่น หากจำเป็นต้องเพิ่มพนักงานจากต่างชาติ ขอเป็นผู้เชี่ยวชาญสูง หรือมีทักษะสูง เพื่อดึงคนเก่งเข้าประเทศมาเลเซีย เป็นต้น และการอนุมัติครั้งนี้เป็นการเพิ่มการลงทุนในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย

ทั้งนี้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าในประเทศมาเลเซีย และคณะกรรมการกขค.ของประเทศไทย เป็นผู้กำหนดมาตรฐาน และ เงื่อนไข เพื่อให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพ จากนั้นทุกบริษัทที่เกี่ยวข้องจะต้องนำมติดังกล่าวนี้ไปเข้าที่ประชุมคณะกรรมการของแต่ละบริษัท และย้ำเตือนถึงความเป็นมืออาชีพในกระบวนการ เพราะดีลการซื้อขายครั้งนี้เป็นระดับอินเตอร์ และเกี่ยวข้องกับหลายประเทศ

สำหรับผลการพิจารณาของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามาเลเซีย และมติคณะกรรมการ กขค.ประเทศไทย ได้คลายข้อกังวลของคณะกรรมการ ไม่ว่าเสียงข้างมากหรือข้างน้อย เพราะทุกคนมีสิทธิออกความเห็นในที่ประชุมครบถ้วนแล้ว และนำความเห็นของกรรมการทุกท่าน มาสรุปเป็นมติ

ที่ผ่านมามีการเสนอข่าวการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปต่างประเทศ แต่ดีล เทสโก้ โลตัส ครั้งนี้ เดิมถูกบริษัทอังกฤษซื้อไป ขณะนี้ได้ซื้อกลับคืนมา และตอนที่เทสโก้ โลตัส เป็นของอังกฤษ และมีส่วนแบ่งตลาดเท่าเดิม ก็ไม่มีใครแย้งว่ามีอำนาจเหนือตลาด แต่พอกลับมาเป็นของคนไทยในส่วนแบ่งตลาดเท่าเดิม กลับมีบางกลุ่มออกมาไม่เห็นด้วยกับมติ นอกจากนี้สินค้าของซีพีส่วนใหญ่เป็นของสด ในขณะที่สินค้าในเทสโก โลตัสกว่า 80% ไม่ใช่ของสด จึงยากที่จะครอบงำตลาด ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีได้ประโยชน์เป็นอย่างมากจากเงื่อนไขของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของทั้งสองประเทศ

ทั้งนี้ ประเทศมาเลเซีย นายวาน สุไฮมี ไซดี นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเคนางา อินเวสเมนต์ กล่าวว่า “เศรษฐกิจมาเลเซียพึ่งพาการค้า กำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากยังไม่มีสัญญานการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ของอุปสงค์ และ กิจกรรมธุรกิจ โดยคาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียปีนี้จะหดตัว 4-6% การที่มีการลงทุนขนาดใหญ่เกิดขึ้นในปีนี้ ในมาเลเซียจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นอย่างดี โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก ที่จะรักษาคู่ค้าให้สามารถทำธุรกิจได้ต่อเนื่องอย่างเป็นปกติ และ เพิ่มการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอีกด้วย”

อย่างไรก็ตามหลังมีผลสรุปการอนุมัติให้ซื้อกิจการทั้งสองประเทศในครั้งนี้ บริษัทต่าง ๆ ต้องนำเงื่อนไขกลับไปพิจารณา ว่าจะเห็นชอบกับเงื่อนไขหรือไม่ บริษัทในเครือซีพีได้สิทธิในบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด ซึ่งประกอบธุรกิจค้าปลีก ภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในไทย รวมทั้งซื้อหุ้นบริษัท Tesco Stores (Malaysia) Sdn.Bhd. ซึ่งประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco ในประเทศมาเลเซีย จะเดินหน้าต่อไปในทิศทางใด ล้วนเกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจและผู้ประกอบการคู่ค้า รวมถึงการรักษาการจ้างงาน

“การซื้อขายครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนวิกฤติโควิด แต่ซื้อมาราคาแพง ก็ยากในการทำให้เกิดกำไร และเป็นการลงทุนในช่วงที่มีความเสี่ยงเอกชนเป็นผู้รับโดยตรง จึงถือเป็นความท้าทายอย่างมากของผู้ประมูลชนะ ซึ่งจะต้องดำเนินการแบบมืออาชีพ เพื่อให้ธุรกิจที่ซื้อกิจการมาอยู่รอด และดีลนี้ถือเป็นดีลอินเตอร์ที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นในทุกภาคส่วน”