สฤณี อาชวานันทกุล
ก่อนหน้านี้ผู้เขียนเคยพูดถึงบทบาทที่ขาดไม่ได้ของ “การออม” ในการจัดการกลุ่มการเงินชุมชนให้ยั่งยืน และพูดถึงการสร้างแรงจูงใจให้คนออมมากกว่าเดิม โดยใช้ข้อค้นพบจากเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
หันกลับมาดูภาคการเงินกระแสหลัก การที่บ่อเกิดของวิกฤตการเงินส่วนหนึ่งปรากฏในพฤติกรรมไร้ความรับผิดชอบของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ เรื่อยไปถึงกรณีอื้อฉาวหลายครั้งติดกัน ตั้งแต่การฮั้วอัตราดอกเบี้ยไลบอร์ ปล่อยให้ผู้มีอิทธิพลฟอกเงินและหนีภาษี ฯลฯ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของสาธารณะต่อสถาบันการเงินกระแสหลักเสื่อมถอยอย่างรุนแรงและลงลึกขึ้นเรื่อยๆ
ไม่น่าแปลกใจที่เสียงเรียกร้องให้รัฐปฏิรูปภาคการเงินทั้งระบบ หรืออย่างน้อยก็ให้ธนาคารกระแสหลัก “รับผิดชอบต่อสังคม” จะดังกระหึ่มอย่างไม่เคยดังมาก่อน แม้ว่าในเมืองไทยจะยังแผ่วเบาเพราะสื่อมวลชนไม่สนใจติดตามเรื่องนี้กันเท่าที่ควร
ในยุคที่ธนาคารต้องเร่งกอบกู้ความไว้วางใจจากประชาชน รูปธรรมของ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ยิ่งต้องสะท้อนจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสินเชื่อ เงินโอน และเงินฝาก สามผลิตภัณฑ์ที่กระทบกับชีวิตของผู้คนจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี นักการเงินและสถาบันการเงินโดยรวมยังมองไม่ค่อยเห็นความรับผิดชอบของตัวเองในการออกแบบผลิตภัณฑ์ หลายคนเน้นแต่การรณรงค์ส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการทางการเงินแสดงความรับผิดชอบ เช่น มาชำระหนี้ตรงเวลา ไม่นำสินเชื่อไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ฯลฯ
เทียบกับรถยนต์ การรณรงค์เรียกร้องให้ผู้บริโภคมีความรู้ทางการเงินแต่เพียงมิติเดียว โดยไม่ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลและความรับผิดชอบของธนาคารเอง ก็เปรียบเสมือนการรณรงค์ให้คนขับรถอย่างปลอดภัย เช่น แคมเปญเมาไม่ขับ ฯลฯ เพียงด้านเดียว โดยไม่สนใจว่ามาตรฐานการผลิตรถยนต์ของผู้ผลิตเป็นอย่างไร ควรมีกฎหมายกำหนดมาตรฐานหรือไม่ เช่น บังคับให้ผู้ผลิตทุกรายติดตั้งถุงลมนิรภัย และเข็มขัดนิรภัยในรถยนต์ทุกคัน
“ถุงลมนิรภัย” กับ “เข็มขัดนิรภัย” ในภาคการเงินใช่ว่าจะไม่มีหรือมีไม่ได้ แต่มองออกยากว่ามันคืออะไร เหตุเพราะผลิตภัณฑ์ทางการเงินล้วนจับต้องไม่ได้ เมื่อเกิดความเสียหายก็มักจะถูกมองว่าเป็นปัญหาของผู้ใช้ฝ่ายเดียว (เช่น ใช้หนี้ไม่ได้เพราะใช้จ่ายเกินตัว) ผู้ให้บริการไม่เกี่ยว
นักการเงินจำนวนไม่น้อยมองว่าถุงลมนิรภัยกับเข็มขัดนิรภัยในภาคธนาคารนั้นป่วยการจะคิดว่ามีหน้าตาอย่างไรเพราะมันไม่จำเป็นต้องมี พวกเขามองว่าสถาบันการเงินที่มุ่งแสวงกำไรสูงสุดในความหมายของธุรกิจกระแสหลักล้วนแต่ต้องปล่อยสินเชื่อและรับเงินฝากอย่างรับผิดชอบอยู่แล้ว
พูดง่ายๆ คือ สถาบันการเงินมีแรงจูงใจที่จะออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินมาอย่างดีแล้ว ลูกค้าเองนั่นแหละต้องรู้จักใช้ให้เป็น มีวินัยทางการเงิน ฯลฯ
การมองว่าปัญหามักจะเกิดจากการที่ลูกค้าขาดความรู้ทางการเงิน (financial literacy) โดยเฉพาะความรู้เรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างถูกต้อง ส่งผลให้สถาบันการเงินหลายแห่งที่มีเจตนาดีเริ่มจัดทำโครงการ “ให้ความรู้ทางการเงิน” แก่ประชาชนเฉพาะกลุ่มหรือในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะกิจกรรมหนึ่งของโครงการ “แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือซีเอสอาร์ของธนาคาร เช่น โครงการอบรมความรู้ทางการเงินกับเด็กมัธยม

กิจกรรมอบรมความรู้ทางการเงินมักจะทำแบบม้วนเดียวจบ เช่น จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสองวัน สถาบันการเงินส่วนใหญ่ไม่วัดผลลัพธ์หรือไม่สนใจจะวัด อย่างมากก็วัดแต่เพียงว่าจัดอบรมไปแล้วกี่รุ่นกี่คน ไม่ได้ไปติดตามผลว่าผู้ผ่านการอบรมจัดการเงินได้ดีกว่าก่อนมาอบรมหรือไม่
ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นคือ การให้ความรู้ทางการเงินในฐานะกิจกรรมซึ่งเป็นเอกเทศจากธุรกิจหลักเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการให้คนจัดการเงินเป็น สถาบันการเงินควรออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างรับผิดชอบด้วย นั่นหมายถึงการบูรณาการความรู้ทางการเงินให้เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทาง
ยกตัวอย่างเช่น ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ของสถาบันการเงินอาจจับมือกับฝ่ายการตลาด สอดแทรกหลักการใช้บัตรเครดิตอย่างพอดีเวลามีคนมาสมัครบัตรเครดิต ชี้ความสำคัญของเงินออมแต่ละประเภทเวลาทำแคมเปญการตลาด หรือออกแบบเอกสารโฆษณาผลิตภัณฑ์สินเชื่อทุกประเภทใหม่ แสดงตารางการชำระหนี้แต่ละงวดอย่างชัดเจน และเปิดเผยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (effective interest rate) ที่ลูกค้าต้องจ่าย ไม่ใช่โหมแคมเปญ “0% หกเดือน” ตัวโต แต่ซ่อนดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจิปาถะไว้ใต้ดอกจันทน์ขนาดจิ๋วที่ไม่มีใครอ่านออกหรืออยากอ่าน ขณะที่ฝ่ายซีเอสอาร์ก็ก้มหน้าก้มตาจัดโครงการรับปรึกษาปัญหาหนี้สินต่อไป

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะจากสำนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม มองว่ารัฐต้องเข้ามามีบทบาทนำในการกำหนดมาตรฐานเหล่านี้ เนื่องจากมนุษย์เราโดยธรรมชาติสายตาสั้น และคนทั่วไปที่ไม่ใช่นักการเงินไม่มีวันเข้าใจเงื่อนไขทางการเงินที่สลับซับซ้อนได้เลย
ริชาร์ด เธเลอร์ (Richard Thaler) นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมชั้นนำ ผู้ออกแบบโครงการ “Save More Tomorrow” (ออมเพิ่มในวันพรุ่ง) ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการทำให้คนออมมากขึ้น อธิบายในหนังสือชั้นยอดเรื่อง Nudge (สะกิด) ที่เขาเขียนร่วมกับ แคส ซันสตีน (Cass Sunstein) ผู้เชี่ยวชาญกฏหมายและที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโอบามา ว่า “ความจริงที่น่าหดหู่คือ การจะให้คนเข้าใจจริงๆ นั้นเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับการตัดสินใจทางการเงินเรื่องใหญ่ๆ ของเรา”
เธเลอร์บอกว่า ในเมื่อคนจบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์อย่างเขายังรู้สึกงุนงงกับบริการทางการเงิน ความพยายามที่จะให้คนธรรมดาเข้าใจผลิตภัณฑ์ทางการเงินจึงไม่น่าจะใช่วิธีที่ถูกต้อง แทนที่จะให้ความรู้ ผู้ดำเนินนโยบายควรเน้นวิธีที่จะ “ทำให้โลกการเงินง่ายขึ้น” สำหรับประชาชน วางกรอบการตัดสินใจทางการเงินให้รอบคอบและเข้าใจง่าย กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินฝัง “ค่าตั้งต้นที่มีเหตุมีผล” (sensible default option) เอาไว้ ประชาชนที่ไม่รู้เรื่องหรือไม่อยากเลือกจะได้ได้ในสิ่งที่ “รู้เรื่องทางการเงิน” (financially literate) แล้ว
ยกตัวอย่างเช่น ชาวสวีเดนมีสิทธิเลือกลงทุนในกองทุนบำนาญหลายกอง แต่ถ้าไม่อยากเลือกหรือรู้สึกปวดหัวไม่รู้จะเลือกอะไร พวกเขาก็สามารถลงทุนในกองทุนค่าธรรมเนียมต่ำของรัฐ อันเป็น “ค่าตั้งต้น” ที่ถูกออกแบบมาอย่างดี ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ชาวสวีเดนกว่าร้อยละ 90 เลือก
ประเด็นหลักของเธเลอร์คือ การเลือกใช้บริการทางการเงินที่เหมาะสมกับคนแต่ละคนไม่ควรต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจทางการเงินระดับสูง รัฐควรวางมาตรฐาน “ค่าตั้งต้นที่มีเหตุมีผล” สำหรับผลิตภัณฑ์หลักๆ ของภาคการเงิน เพื่อประโยชน์ของประชาชน
“ค่าตั้งต้นที่มีเหตุมีผล” จึงเปรียบเสมือน “ถุงลมนิรภัย” และ “เข็มขัดนิรภัย” ในภาคการเงิน
ประเด็นใหญ่ที่ยังไม่อยู่ในวิวาทะว่าด้วย “ความรับผิดชอบ” ของภาคการเงินไทย
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ “รู้เรื่องทางการเงิน”: สลากออมสิน กองทุนเด็ก และเว็บเปรียบเทียบบัตรเครดิต
สลากออมสิน
นานก่อนที่เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจะค้นพบแง่มุมน่าสนใจในสันดานมนุษย์ที่เกี่ยวกับเงิน สถาบันการเงินจำนวนไม่น้อยก็ออกแบบและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ “รู้เรื่องทางการเงิน” นั่นคือ ทำให้ผู้ใช้บริการได้ประโยชน์โดยไม่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจอะไรมาก
ธนาคารออมสินซึ่งมีส่วนแบ่งเงินฝากเป็นอันดับหนึ่งในระบบธนาคาร (ร้อยละ 14 ในปี 2554) และเป็นผู้นำด้านเงินฝากมายาวนาน จำหน่าย “สลากออมสิน” ต่อเนื่องยาวนานกว่า 60 ปี มียอดเงินฝากสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ 36 ของเงินฝากทั้งหมดของธนาคาร (ดูกราฟ)
โครงสร้างเงินรับฝากของธนาคารออมสิน ที่มา: รายงานประจำปี 2554 ผลิตภัณฑ์แบบสลากออมสินมีชื่อเรียกทางวิชาการว่า “เงินฝากที่ผูกโยงกับรางวัล” (prize-linked savings) และทำงานบนหลักการง่ายๆ แต่ได้ผลดีอย่างยิ่ง คือเอาความอยากชิงโชคของคน มาสร้างแรงจูงใจให้ออมเงิน โดยเฉพาะในสังคมแบบไทยที่นิยมการชิงโชค
การผสมการชิงโชคเข้ากับการออมนั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 300 ปี งานวิจัยจำนวนมากวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จนได้ข้อสรุปว่า สลากออมสินที่ประสบความสำเร็จล้วนมอบโอกาสให้คนได้รางวัลจริงๆ และมีรางวัลหลายระดับ นอกจากนี้ยังมอบรางวัลที่ตั้งอยู่บนฐานกิจกรรมด้วย ไม่ใช่ผูกกับยอดเงินฝากเพียงอย่างเดียว เช่น ได้รางวัลพิเศษถ้าออมอย่างสม่ำเสมอ หรือเปิดบัญชีเงินฝากประจำกับธนาคาร
กองทุนเด็ก
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ “รู้เรื่องทางการเงิน” ในของตัวมันเองโดยไม่เรียกร้องให้ผู้บริโภครู้อะไร คือ “กองทุนเด็ก” (Child Trust Fund) ของอังกฤษ ซึ่งรัฐมอบ “เงินก้นถุง” (Child Benefit) ให้กับเด็กทุกคนในรูปคูปองที่นำไปซื้อหุ้นกู้จากผู้ให้บริการเอกชน หุ้นกู้นี้จะครบกำหนดชำระ (ขึ้นเงินได้) เมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ ประโยชน์ของกองทุนนี้นอกจากจะทำให้เด็กทุกคนมีเงินก้นถุงแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิผลของการสอนวิชาความรู้ทางการเงินชั้นประถมอีกด้วย – ครูสามารถพูดถึงเงินของเด็กๆ ได้โดยตรง เพราะพวกเขาเป็นเจ้าของเงิน ไม่ต้องยกตัวอย่างสมมุติหรือพูดถึงค่าขนมที่พ่อแม่มีสิทธิจะให้หรือไม่ให้ก็ได้
ที่มาภาพ http://img.thisismoney.co.uk/i/pix/2008/04/BabyFundMM_470x260.jpg เว็บเปรียบเทียบบัตรเครดิต
ความคิดที่ใช้หลัก “ค่าตั้งต้นที่มีเหตุมีผล” ของเธเลอร์เรื่องหนึ่งคือ เขาเสนอให้บริษัทบัตรเครดิตต่างๆ จัดทำเอกสารที่ดาวน์โหลดได้จากเว็บสองชิ้นให้กับลูกค้าทุกคนปีละครั้ง โดยใช้มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลเหมือนกัน เอกสารชิ้นแรกจะอธิบายกฏการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ ของบริษัทอย่างชัดเจน ชิ้นที่สองจะไล่เรียงรายการที่รูดบัตร ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่ลูกค้าคนนั้นจ่ายจริง ลูกค้าคนนั้นจะสามารถอัพโหลดเอกสารชิ้นนี้บน “เว็บวิเคราะห์บัตรเครดิต” ที่เธเลอร์เชื่อว่าจะเกิดถ้าหากรัฐหรือบริษัทบัตรเครดิตซื้อไอเดียเขาไปทำ โปรแกรมบนเว็บนั้นจะ “อ่าน” ข้อมูลที่ลูกค้าอัพโหลด แล้วแนะนำบัตรเครดิตที่เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของเขาให้โดยอัตโนมัติ