ThaiPublica > เกาะกระแส > “สงครามเย็นทางเศรษฐกิจ” จีน-สหรัฐฯ จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อทุกประเทศในโลก

“สงครามเย็นทางเศรษฐกิจ” จีน-สหรัฐฯ จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อทุกประเทศในโลก

14 เมษายน 2025


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.porttechnology.org/news/turning-point-reached-in-us-china-trade-war/

เมื่อวันพฤหัส 10 เมษายน 2568 รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรวมเป็นทั้งหมด 145% ในขณะที่ชะลอการเก็บ “ภาษีตอบโต้” หรือนักเศรษฐศาสตร์บางคนเรียกว่า “ภาษีเจรจา” (negotiating tariff) ต่อชาติอื่นๆ ออกไปอีก 90 ปี ส่วนจีนตอบโต้ด้วยการเพิ่มภาษีสินค้าสหรัฐฯเป็น 125% ทำให้การค้าจีนกับสหรัฐฯ มูลค่ารวมกันปีหนึ่ง 582 พันล้านดอลลาร์ อาจลดลงมาเหลือครึ่งหนึ่ง

กระทบต่อผู้บริโภคและธุรกิจ

บทความของ The Wall Street Journal เรื่อง US-China Battle Spares No One กล่าวว่า 23 ปีหลังจากที่จีนเป็นสมาชิก WTO การเข้าถึงสินค้าราคาถูก คือสิ่งที่ฝังตัวอยู่ในเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญแก่ผู้บริโภค ปี 2024 สินค้าจีนมีสัดส่วน 13% ของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ ที่ประกอบด้วยสมาร์ทโฟน ของเด็กเล่น และชิ้นส่วนอุตสาหกรรม ส่วนธุรกิจสหรัฐฯก็มีความเชื่อในการทำธุรกิจที่ว่า อาศัยจีนทำการผลิต แต่การออกแบบ การตลาด และการจัดจำหน่าย ยังดำเนินการโดยบริษัทอเมริกัน

ช่วงรัฐบาลทรัมป์สมัยแรก 2017-2020 ธุรกิจสหรัฐฯ จำนวนมาก เริ่มปรับตัวกับสภาพความเป็นจริงของอัตราภาษีสูงขึ้น แต่หากอัตราภาษีทรัมป์ใหม่ที่สูง ยังคงใช้อยู่ตลอดไป ธุรกิจสหรัฐฯจะสูญเสียการเข้าถึงการผลิตสินค้าในจีน รวมทั้งผลกระทบต่อผู้บริโภคคนอเมริกัน ที่จะต้องจ่ายเงินซื้อสินค้านำเข้าราคาแพงขึ้น

ส่วนจีน สงครามการค้าเต็มรูปแบบกับสหรัฐฯ หมายถึงการถูกปิดประตูสู่ตลาดผู้บริโภคใหญ่สุดของโลก ในขณะที่เศรษฐกิจจีนต้องอาศัยการส่งออกเพื่อการเติบโต ชดเชยกับภาวะฟองสบู่แตกของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการลังเลและระมัดระวังการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคคนจีน

“การแยกตัว” ของมหาอำนาจเศรษฐกิจ

นักเศรษฐศาสตร์ Deutsche Bank แจ้งไปยังลูกค้าธนาคารว่า “โลกกำลังอยู่บนเส้นทางการแยกตัวทางเศรษฐกิจแบบไร้ระเบียบ ของสองมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก” แต่ท่ามกลางความวิตกกังวล เศรษฐกิจของสองประเทศมีเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด เป็นเวลาหลายสิบปี คนอเมริกันใช้เงินจำนวนมากซื้อสินค้าผลิตจากจีน สหรัฐฯได้ของราคาถูก ส่วนจีนนำเงินที่ได้ไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และยกระดับฐานะเศรษฐกิจให้สูงขึ้น

แต่ความสัมพันธ์ของสองประเทศก็สร้างความตึงเครียดสูง เช่น เมืองที่เคยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการผลิต ก็สูญเสียการจ้างงาน และสหรัฐฯขาดดุลการค้ามากขึ้น ปี 2024 สหรัฐฯส่งออกสินค้าไปจีน 143.5 พันล้านดอลลาร์ แต่นำเข้าสินค้าจากจีน 438.9 พันล้านดอลลาร์ นโยบายของทรัมป์ต้องการอาศัยภาษี มาจัดการปัญหาการขาดดุลการค้าแบบครั้งเดียวจบ และเชื่อว่าจะดึงอุตสาหกรรมการผลิตกลับมาสหรัฐฯ

ส่วนจีน การหาตลาดใหม่มาชดเชยตลาดสหรัฐฯก็เป็นเรื่องยาก เพราะทุกประเทศต่างก็ไม่พอใจต่อการไหลบ่าสินค้านำเข้าจากจีน แต่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า ความเสี่ยงของสงครามการค้าต่อจีน ไม่ใช่เรื่องปัญหาเฉพาะหน้าของจีน แต่เป็นปัญหา “โมเดลเศรษฐกิจ” ของจีน ความรุ่งเรืองของจีนมาจากการทุ่มเทเงินทุนจำนวนมาก ในการลงทุนสร้างโรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน ภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการส่งออก

แต่ถึงตอนนี้ นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า จีนต้องปรับสมดุลเศรษฐกิจ โดยหันมาส่งเสริมการบริโภคภายใน ไม่เช่นนั้น การเติบโตจะชะงักลง การปรับสมดุลเศรษฐกิจดังกล่าวหมายถึงการจัดสรรทรัพยากรมากขึ้นแก่ครัวเรือน แทนการทุ่มเทให้แก่โรงงาน ปฏิรูประบบประกันสังคม และกอบกู้รัฐบาลท้องถิ่น ที่มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

เมื่อจีน-สหรัฐฯร่วมมือกัน โลกรุ่งเรือง

บทวิเคราะห์ของ New York Times เรื่อง “ความรุ่งเรืองและตกต่ำของการร่วมทุนที่ประสบความสำเร็จมากสุดของโลก” กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 25 ปี ที่ความรุ่งเรืองของสหรัฐฯกับของจีน มาจากการบูรณาการเป็นโครงการร่วมทุนครั้งใหญ่ สหรัฐฯมองจีนเป็นผู้ผลิตสินค้าสนองร้านค้าขายของที่อาศัยผลิตปริมาณจำนวนมาก เป็นสินค้าโรงงานราคาถูก ส่วนธุรกิจแบรนด์เนมอาศัยประโยชน์จากจีน เป็นแหล่งลดต้นทุนการผลิต ที่ค่าแรงถูก และคนงานห้ามตั้งสหภาพแรงงาน

การจ้างงานของโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้คนจีนหลายร้อยล้านคนหลุดพ้นความยากจน ผู้นำจีนนำรายได้จากการส่งออกไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯหลายล้านล้านดอลลาร์ ทำให้สหรัฐฯสามารถกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และยังสามามารถใช้จ่ายเงินเกินรายรับ แต่พรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ในสหรัฐฯเห็นตรงกันว่า จีนคือคู่แข่งทางภูมิรัฐศาสตร์ และเป็นภัยต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของคนชั้นกลางอเมริกัน ส่วนจีนกล่าวหาว่า สหรัฐฯมีแผนที่จะขัดขวางการขึ้นเป็นมหาอำนาจของจีน

เมื่อสหรัฐฯและจีนหาทางลดการพึ่งพากันและกันให้น้อยลง บรรดาธุรกิจในโลกก็ต้องปรับตัวในเรื่อง “ห่วงโซ่อุปทาน”

สงครามการค้าที่เริ่มต้นด้วยการเพิ่มภาษี และจำกัดการส่งออก ตั้งแต่เทคโนโลยีก้าวหน้า จนถึงแร่หายาก ทำให้บริษัทอเมริกันย้ายการผลิตจากจีน ไปประเทศที่เสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์น้อยกว่า ส่วนธุรกิจจีนหันมาทำธุรกิจกับพันธมิตรและประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น Yasheng Huang นักเศรษฐศาสตร์ MIT ให้ความเห็นว่า

“จีนและสหรัฐฯเป็นตัวอย่างเศรษฐกิจ ที่เสริมกันและกัน แต่จริงๆแล้ว สองประเทศเหมือนคนที่แต่งงานกัน โดยที่ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายนับถือศาสนาอะไร”

แต่การหย่าขาดจากกันก็อาจไม่ใช่ทางออก เพราะเศรษฐกิจเกี่ยวพันกันและกัน จีนยกระดับจากการผลิตรองเท้าและเสื้อผ้า มาเป็นอุตสาหกรรมก้าวหน้า ที่จะมีส่วนสำคัญต่อการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ Apple ผลิต iPhone แทบทั้งหมดในจีน แม้จะย้ายการผลิตบางส่วนมาอินเดีย จีนเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าใหญ่สุดของโลก 3 ใน 4 ของห่วงโซ่การผลิตพลังงานแสงแดดอยู่ในจีน
สหรัฐฯเป็นตลาดผู้บริโภคใหญ่สุดของจีน แต่จีนก็เป็นแหล่งรายได้สำคัญของบริษัทชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแบรนด์เนม ผู้ผลิตรถยนต์ตะวันตก ผู้ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง เช่น Caterpillar และ John Deere ผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์ชั้นนำมีรายได้ 2 ใน 3 จากยอดขายและใบอนุญาตการผลิตในจีน

ที่มาภาพ : World Geodemo

จุดเริ่มต้นสู่ชาติที่มีแรงงาน 800 ล้านคน

จีนเปิดประเทศบูรณาการกับเศรษฐกิจโลกในปี 1978 แต่จุดสำคัญเกิดขึ้นในปี 2001 เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ทำให้การส่งออกสินค้าจีนเข้าถึงตลาดโลก โดยแลกเปลี่ยนกับจีนจะเปิดตลาดภายในให้กับคู่แข่งต่างชาติ ประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน ประกาศว่า จีนไม่เพียงแต่จะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯมากขึ้น แต่จะนำเข้าค่านิยมสำคัญของประชาธิปไตยด้วย คือ “เสรีภาพทางเศรษฐกิจ

แต่บริษัทอเมริกันต้องการเข้าถึงจีน ด้วยเหตุผลง่ายๆคือ โรงงานของจีนสามารถผลิตสินค้าได้ถูกกว่าทุกแห่งในโลก นักธุรกิจอเมริกันคนหนึ่งกล่าวกับรัฐสภาสหรัฐฯว่า จีนสามารถผลิตสินค้าที่ครอบครัวคนใช้แรงงานสามารถซื้อได้

หลังจาก 20 ปีที่จีนเป็นสมาชิก WTO สหรัฐฯนำเข้าจากจีนเพิ่ม 5 เท่า เป็น 504 พันล้านดอลลาร์ต่อปี Walmart ตั้งศูนย์การจัดซื้อที่เสิ่นเจิ้น ปี 2003 Walmart นำเข้าจากจีนมูลค่า 15 พันล้านดอลลาร์ ถึงปี 2013 เพิ่มเป็น 49 พันล้านดอลลาร์

รายงานการศึกษาบอกว่า สินค้าจีนช่วยประหยัดกำลังซื้อให้ครอบเรือนอเมริกัน เฉลี่ยปีหนึ่งครอบครัวละ 1,500 ดอลลาร์

แต่การนำเข้าจากจีนก็ทำให้เกิดคนอเมริกัน ที่ถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง เมืองที่ครั้งหนึ่งรุ่งเรืองจากโรงงานการผลิต กลายเป็นเมืองที่ไร้งานทำ และผู้คนเกิดการสิ้นหวัง ปี 1999-2011 สินค้าจีนราคาถูกทำให้งานอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯหายไป 1 ล้านงาน หากนับงานทั้งระบบเศรษฐกิจจะหายไป 2 ล้านงาน ความไม่พอใจของคนอเมริกันทำให้ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกในปี 2017

อันตรายของสงครามเย็นทางเศรษฐกิจ

สงครามการค้าจีนกับสหรัฐฯกำลังเป็นปัจจัยที่กำหนดความสัมพันธ์ของประเทศยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจของโลก การใช้มาตรการภาษีที่สูงกลายเป็น new normal ไปแล้ว สิ่งนี้ทำให้การตัดสินใจลงทุนและการจัดหาชิ้นส่วนการผลิตของธุรกิจ เกิดการบิดเบือน ธุรกิจการค้าของสองประเทศยักษ์ใหญ่ ก็อ่อนตัวลงมาก

ในขอบเขตระดับโลก สงครามการค้าคือปัจจัยเสี่ยงที่สุดของเศรษฐกิจโลก ปัจจัยที่จะฉุดรั้งการค้าโลกให้ตกต่ำ ประเทศต่างๆไม่สามารถจะประมาทต่อผลกระทบระยะยาวของสงครามการค้า ที่มีต่อระบบธรรมาภิบาลของเศรษฐกิจโลก เช่น สงครามการค้าเป็นก้าวแรกของ “กับดักธุไซดิเดส” (Thucydides Trap) หรือไม่ ที่สงครามเกิดขึ้นจากมหาอำนาจเดิมถูกท้าทายจากมหาอำนาจใหม่ หากไม่ใช่ “สงครามเย็นทางเศรษฐกิจ” คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นแท้จริง จนนำไปสู่การแยกตัวทางเศรษฐกิจ (decoupling) ของสองมหาอำนาจ

WTO ออกแถลงการณ์ชี้ชัดว่า ความขัดแย้งทางการค้าจีน-สหรัฐฯ จะมีผลกระทบต่อประเทศอื่น โดยเฉพาะต่อประเทศกำลังพัฒนา สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือการค้าโลกจะถูกแบ่งแยกออกตามเส้นแบ่งทางภูมิรัฐศาสตร์ การแบ่งการค้าโลกออกเป็น “สองค่าย” จะนำไปสู่มูลค่าการค้าโลกที่ลดลง 7%

สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ จะทำให้เกิดผลเลวร้ายตามมาอีกมากมาย ระบบการค้าโลกที่มีพื้นฐานบนกฎระเบียบแบบพหุภาคี (rule-based multilateral system) จะถูกแทนที่โดยวิธีการทวิภาคีที่อาศัยอำนาจบาตรใหญ่ หมายความว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของโลกจะขึ้นกับ “กฎป่าเถือน” (Law of the Jungle) ไม่มีกฎระเบียบที่จะกำหนดการกระทำของประเทศต่างๆ แต่อาศัยกำลังมาทำให้ตัวเองได้ในสิ่งที่ต้องการ

เอกสารประกอบ

US – China Battle Spares No One, April 11, 2025, The Wall Street Journal
The Rise and Fall of the World’s Most Successful Joint Venture, November 14, 2023, nytimes.com