Hesse004
เฮอร์มาน เฮสเส (Hermann Hesse) เขียนนวนิยายเรื่องเดเมียน (Demian) เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ช่วงเวลาที่โลกเก่ากำลังล่มสลายรอการเปลี่ยนผ่านสู่โลกใหม่ที่ยังไม่ชัดเจน
…ช่วงเวลานั้น คือ สงครามโลกครั้งที่ 1 …จุดเริ่มต้นของความสับสนแห่งยุคสมัย
Demian (ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1919) ถูกเขียนขึ้นในช่วงเวลาที่ยุโรปกำลังเผชิญกับความปั่นป่วนที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
ยุคนี้ คือ ปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914–1918) โลกเก่าของศตวรรษที่ 19 ซึ่งมั่นคงและเป็นระเบียบกำลังพังทลายลง…ขณะที่โลกใหม่ยังไม่ปรากฏชัดเจนและเต็มไปด้วยความสับสน ความสูญเสีย และวิกฤติทางศีลธรรม
ในช่วงเวลานั้น เยอรมนีเปลี่ยนผ่านจากจักรวรรดิไกเซอร์สู่สาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic) การล่มสลายของจักรวรรดิไม่เพียงเป็นการสิ้นสุดของระบบการปกครอง แต่ยังเป็นการสั่นคลอนคุณค่าทางศีลธรรมและศาสนาแบบเดิม
…คนรุ่นใหม่ในเวลานั้นต้องเผชิญกับคำถามที่ว่า
“ชีวิตซึ่งปราศจากกรอบศีลธรรมแบบเดิมควรดำเนินไปในทิศทางไหน?”
ขณะเดียวกัน กระแสทางศิลปะและวรรณกรรมของยุคนั้น เช่น Expressionism เข้ามามีบทบาท เน้นการแสดงออกทางอารมณ์ส่วนลึก
การตั้งคำถามต่อค่านิยมทางสังคม และ การแสวงหาความหมายชีวิตในโลกที่ปราศจากระเบียบ …แนวคิดจิตวิทยาของ คาร์ล ยุง โดยเฉพาะเรื่อง “การเผชิญหน้ากับเงา (Shadow)” กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับงานวรรณกรรมจำนวนมาก รวมถึง Demian ด้วย
การเปลี่ยนผ่านของช่วงวัย: จากความไร้เดียงสาสู่ความตระหนักรู้
หนึ่งในหัวใจสำคัญของ Demian คือ กระบวนการเติบโตของ Emil Sinclair ตัวละครเอกที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กสู่ความเป็นผู้ใหญ่
“สองโลก สองอาณาจักร” เป็นสัญลักษณ์ที่เฮสเสใช้สื่อถึง โลกแห่งความดี ศีลธรรม ความบริสุทธิ์ (Light) กับ โลกแห่งความมืด ความปรารถนา และสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ (Darkness)
ช่วงวัยเด็กของ Sinclair ถูกครอบงำด้วยโลกแห่งความดีงามตามกรอบของครอบครัวและศาสนา แต่เมื่อเติบโตขึ้น เขาพบว่าโลกแห่งความมืดไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ถูกสอนมาเสมอไป
…การพบกับ Max Demian คือ จุดเปลี่ยนสำคัญ
Demian คือ ตัวแทนของ”วิญญาณขบถ” ผู้ที่ตั้งคำถามต่อกรอบศีลธรรมและเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนควรเผชิญหน้ากับความจริงของตัวเอง แม้กระทั่งด้านมืดในใจที่สังคมมองว่าเลวร้าย
สำหรับผม การอ่าน Demian อีกครั้ง ในวัยใกล้ 50 ปี ทำให้เข้าใจได้ชัดเจนว่า การเติบโตไม่ใช่เพียงการเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นกระบวนการยอมรับความซับซ้อนของชีวิตและตัวตน
…เราเติบโตขึ้นเมื่อเรารู้จักตั้งคำถามกับสิ่งที่เคยเชื่อ และยอมรับว่าโลกไม่ได้เป็นเพียงสีขาวหรือดำ หากแต่เต็มไปด้วยเฉดสีเทาระหว่างกลาง
การทำความเข้าใจโลก: โลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและความจริงที่แตกต่าง
Demian สอนให้เรารู้ว่าความเข้าใจโลกต้องเริ่มจากการเข้าใจตัวเอง Sinclair เริ่มต้นชีวิตด้วยการเชื่อในศีลธรรมแบบคริสเตียน แต่เมื่อเขาเติบโตขึ้น เขากลับพบว่าความเชื่อนั้นไม่เพียงพอที่จะอธิบายโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง
แต่ละช่วงชีวิตของ Sinclair ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญหน้ากับการบูลลี่ในวัยเด็ก… ความรู้สึกแปลกแยกในโรงเรียน หรือแม้แต่ความรักและการสูญเสีย สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาค่อย ๆ เข้าใจว่า ความดีและความเลวไม่ได้ถูกกำหนดอย่างตายตัว
ที่สำคัญ เฮสเสสะท้อนผ่าน Sinclair ว่าความแข็งแกร่งภายในไม่ใช่สิ่งที่มีมาตั้งแต่เกิด…แต่มันเป็นผลลัพธ์ของการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดและด้านมืดในตนเอง
การเปลี่ยนผ่านของ Sinclair คือ การเดินทางที่ไม่ใช่แค่ภายนอก แต่เป็นการเดินทางในจิตวิญญาณ
เรื่องราวของเทพเจ้า Abraxas: การยอมรับโลกทั้งสองด้าน
Abraxas คือ เทพที่รวมทั้งความดีและความชั่วไว้ในตัวเอง ตรงกันข้ามกับแนวคิดศาสนาแบบดั้งเดิมที่แบ่งโลกเป็นสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันอย่างชัดเจน
การปรากฏของ Abraxas ในเรื่องเปรียบเสมือน คำประกาศอิสรภาพทางจิตวิญญาณ
Sinclair ต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับทั้งด้านสว่างและด้านมืดของตัวเอง เพราะความสมบูรณ์ของชีวิตไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากละเลยส่วนใดส่วนหนึ่ง
สำหรับผม Abraxas สะท้อนถึงเส้นทางปัจเจกของมนุษย์แต่ละคน
ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความขัดแย้ง เราทุกคนต่างมี”ตราที่หน้าผาก” เป็นสัญลักษณ์ของการเดินทางที่แตกต่างกัน
การยอมรับ Abraxas คือ การยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของโลกและตนเอง ซึ่งเป็นก้าวแรกของการเติบโตที่แท้จริง
มุมมองในวัยใกล้ 50 ปี: เส้นทางปัจเจกและการยอมรับตัวเอง
การอ่าน Demian ในวัยนี้ทำให้ผมเห็นมิติที่แตกต่างจากเมื่อครั้งอ่านในวัยหนุ่ม …วัยหนุ่ม ผมอ่านเรื่องนี้เป็นเพียงการต่อสู้เพื่อค้นหาตัวเอง… แต่ในวัยนี้ มันคือการยอมรับความเป็นจริงของโลกและความซับซ้อนของชีวิต
เฮสเสบอกเราว่า การเป็นปัจเจกไม่ใช่เรื่องง่าย มันหมายถึงการเดินบนเส้นทางที่อาจโดดเดี่ยวและขัดแย้งกับสังคม แต่ขณะเดียวกันมัน คือ เส้นทางที่นำไปสู่ความเป็นอิสระทางจิตวิญญาณอย่างแท้จริง
สุดท้าย “ตราบนหน้าผาก” ที่ Sinclair เห็น อาจเป็นเพียงเครื่องเตือนใจว่า เราต้องกล้าที่จะเป็นตัวเองในโลกที่พยายามจะทำให้เรากลายเป็นเหมือนคนอื่น