สุนิสา กาญจนกุล รายงาน
สภาวะน้ำ-อากาศสุดขั้ว (hydroclimate whiplash) เป็นกลุ่มคำที่นักวิทยาศาสตร์เริ่มนำมาใช้เมื่อปี 2017 แต่เพิ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง
สภาวะน้ำ-อากาศสุดขั้วคือการผันผวนอย่างรวดเร็ว จากสภาพอากาศที่ฉ่ำชื้นอย่างรุนแรงไปสู่ความร้อนแล้งสุดขีด เช่น จากฝนตกรุนแรงจนน้ำท่วมเปลี่ยนเป็นอากาศร้อนจนเกิดภัยแล้งหรือไฟป่า
นักวิจัยสรุปสาเหตุว่าเป็นผลจากการที่ “ฟองน้ำบรรยากาศ (atmospheric sponge)” กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ชั้นบรรยากาศมีความสามารถในการระเหย ดูดซับไอน้ำ และปล่อยน้ำมากกว่าเดิม และคาดว่าสถานการณ์จะรุนแรงขึ้นอีกในเมื่อภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไป

โลกยิ่งร้อน สภาพอากาศยิ่งสุดขั้ว
งานวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ใน Nature วารสารวิชาการซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ ระบุว่าตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา บันทึกสภาพอากาศทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าสภาวะน้ำ-อากาศสุดขั้วได้เพิ่มความถี่จาก 31 % เป็น 66 %
โดยทีมนักวิจัยที่นำโดยแดเนียล สเวน นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) ทำการศึกษาเอกสารทางวิทยาศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมาจำนวนหลายร้อยฉบับด้วยกัน และพบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้อัตราเร่งของการเกิดสภาวะน้ำ-อากาศสุดขั้วเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหากภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไป
ทั้งนี้แบบจำลองสภาพภูมิอากาศแสดงความเป็นไปได้ว่า สภาวะน้ำ-อากาศสุดขั้วจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า หากอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น 3 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม
ตัวอย่างที่เห็นชัด
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับรัฐแคลิฟอร์เนียอาจถือเป็นตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนของสภาวะน้ำ-อากาศสุดขั้วซึ่งอีกหลายเมืองอาจต้องเผชิญในเร็ววันนี้
หลังจากที่ต้องเผชิญกับภัยแล้งอย่างรุนแรงมานานหลายปี อยู่ๆ แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ (Atmospheric River) ซึ่งเป็นแถบของไอน้ำปริมาณมหาศาลที่มีความยาวนับพันกิโลเมตรจำนวนหลายสิบสายก็ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในแคลิฟอร์เนียด้วยปริมาณน้ำฝนที่มากจนทำลายสถิติในช่วงฤดูหนาวปี 2022-2023 ทำให้เมืองบนภูเขาแทบจะถูกฝังไว้ใต้หิมะ กระแสน้ำที่เกิดจากฝนและหิมะละลายไหลท่วมหุบเขาต่างๆ และทำให้เกิดแผ่นดินถล่มหลายร้อยแห่ง
วิบากกรรมของแคลิฟอร์เนียยังไม่จบแค่นั้น ในปี 2024 ก็เกิดฤดูหนาวที่เปียกชื้นซ้ำอีกเป็นครั้งที่สองในพื้นที่ทางตอนใต้ของรัฐ ส่งผลให้หญ้างอกงาม พุ่มไม้ขนาดเล็กอุดมสมบูรณ์ และยังเป็นปีที่ฤดูร้อนมีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์อีกด้วย
ถึงต้นปี 2025 พืชพรรณเหล่านั้นก็แห้งกรอบและกลายเป็นเชื้อไฟชั้นดีสำหรับไฟป่าที่ปะทุขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนียและลุกลามอย่างรวดเร็ว “ไฟป่าอีตัน” เผาผลาญพื้นที่ไปมากกว่า 35,400 ไร่ ทำลายบ้านเรือนแหลกราญไปราวๆ 7,000 หลัง ขณะที่ “ไฟป่าพาลิเซดส์” เผาทำลายพื้นที่ 58,000 ไร่ และบ้านเรือนกว่า 5,000 หลัง
แม้ว่าแคลิฟอร์เนียจะเป็นกรณีศึกษาที่โดดเด่น แต่สภาวะน้ำ-อากาศสุดขั้วนั้นเป็นปัญหาระดับโลก ขณะที่แอฟริกาเหนือ เอเชียใต้ และแปซิฟิกเขตร้อน มีโอกาสเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด แต่แทบทุกภูมิภาคของโลกก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
สาเหตุเบื้องหลัง
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยฝีมือมนุษย์คือสาเหตุเบื้องหลังการเร่งความเร็วของสภาวะน้ำ-อากาศสุดขั้ว โดยสิ่งที่เป็นเสมือนตัวขับเคลื่อนหลักคือ “การขยายตัวของฟองน้ำบรรยากาศ”
นักวิทยาศาสตร์ผู้ทำการวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศคือผู้บัญญัติคำนิยามใหม่เพื่ออธิบายแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังความผันผวนของสภาพอากาศเหล่านี้ “การขยายตัวของฟองน้ำบรรยากาศ” คือความสามารถที่เพิ่มขึ้นของชั้นบรรยากาศในการระเหย ดูดซับไอน้ำและปล่อยออกมาเป็นฝนที่ตกลงสู่พื้นโลก โดยทุกองศาเซลเซียสที่โลกอุ่นขึ้น บรรยากาศจะสามารถกักเก็บไอน้ำได้มากขึ้นถึง 7 %
ขณะที่สเวนแสดงความกังวลใจว่า “ปัญหาก็คือฟองน้ำมีการเติบโตขึ้นแบบทวีคูณเหมือนกับดอกเบี้ยทบต้นของธนาคาร โดยอัตราการขยายตัวจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามสัดส่วนของระดับความร้อนแต่ละเสี้ยวองศา”
ผลกระทบที่ตามมาของการเกิดสภาวะน้ำ-อากาศสุดขั้วในทุกอาณาบริเวณทั่วโลกนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่ผลกระทบที่สุดโต่งอย่างเช่นอุทกภัยและภัยแล้งเท่านั้น แต่ยังมีอันตรายยิบย่อยเล็กๆ น้อยๆ อื่นๆ ที่เป็นผลข้างเคียงจากสภาวะน้ำ-อากาศสุดขั้วด้วย ตัวอย่างเช่น การเกิดดินถล่มจากไหล่เขาที่อิ่มน้ำมากเกินไปเพราะไฟป่าทำลายพืชที่มีรากช่วยยึดดินและดูดซับน้ำฝน การเปลี่ยนแปลงของวงจรน้ำหลาก-น้ำแล้ง ฯลฯ
สเวนกล่าวว่า ทุกๆ เศษเสี้ยวองศาของระดับความร้อนที่สูงขึ้น จะยิ่งเพิ่มอำนาจการทำลายล้างของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น
ชั้นบรรยากาศกระหายน้ำมากกว่าเดิม
ทั้งนี้ การศึกษาเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่จะพิจารณาแต่เรื่องปริมาณไอน้ำที่ตกลงมาในรูปของฝน หิมะและลูกเห็บเท่านั้น ไม่ค่อยให้ความสนใจกับเรื่องการการระเหยของไอน้ำที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
แต่เมื่อเรารู้ว่าชั้นบรรยากาศของโลกเก่งกาจเรื่องการระเหย ดูดซับไอน้ำและปล่อยน้ำมากกว่าเดิม เราก็จะเข้าใจปัญหาเรื่องสภาวะน้ำ-อากาศสุดขั้วได้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น
ถ้าอยากเห็นภาพที่ชัดเจน ลองนึกถึงคำบรรยายของโนอาห์ ดิฟเฟนบาวจ์ นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่บอกว่า ตอนนี้ชั้นบรรยากาศของโลกมีลักษณะที่ “หิวกระหายน้ำมากขึ้นกว่าเดิม”
ชั้นบรรยากาศที่กระหายน้ำกว่าเดิมจะดึงน้ำออกจากพืชและผืนดินมากขึ้น ส่งผลให้สภาพความแห้งแล้งรุนแรงขึ้นนอกเหนือจากการขาดฝน แต่เมื่อถึงเวลาปล่อยน้ำออกมา ปริมาณก็จะมากขึ้นด้วยเช่นกัน จนอาจกลายเป็นอุทกภัยได้
นักวิจัยกล่าวว่าสภาวะน้ำ-อากาศสุดขั้วทำให้การจัดการน้ำยุ่งยากซับซ้อนกว่าเดิม เพราะจะไม่สามารถพิจารณาปัญหาเรื่องน้ำท่วมและภัยแล้งแยกออกจากกันได้อีกต่อไป แต่ต้องหาวิธีจัดการร่วมที่เป็นองค์รวมมากขึ้น
เพื่อปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะต้องมีการทบทวนวิธีการจัดการน้ำ โครงสร้างพื้นฐาน และกลยุทธ์การอนุรักษ์เสียใหม่ โดยผู้กำหนดนโยบายการรับมือและชุมชนจะต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับความท้าทายของสภาวะน้ำ-อากาศสุดขั้ว เพื่อจะได้รังสรรค์มาตรการและแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมกว่าเดิม
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.theguardian.com/environment/2025/jan/15/climate-whiplash-events-increasing-exponentially-around-world
https://geographical.co.uk/climate-change/geo-explainer-what-is-hydroclimate-whiplash
https://phys.org/news/2025-01-links-dry-atmosphere-sponge-ability.html
https://newsroom.ucla.edu/releases/floods-droughts-fires-hydroclimate-whiplash-speeding-up-globally
https://www.earth.com/news/climate-whiplash-from-floods-to-droughts-and-wildfires/?utm_source=Live+Audience&utm_campaign=6ea8442008-nature-briefing-daily-20250113&utm_medium=email&utm_term=0_b27a691814-6ea8442008-498965269