ThaiPublica > เกาะกระแส > “ปิยะชาติ อิศรภักดี” ถอดรหัสโลก 2025 เปลี่ยนผ่าน 4ต. สู่ความท้าทาย “ต่อยอดและเติบโต” กับโอกาสประเทศไทย

“ปิยะชาติ อิศรภักดี” ถอดรหัสโลก 2025 เปลี่ยนผ่าน 4ต. สู่ความท้าทาย “ต่อยอดและเติบโต” กับโอกาสประเทศไทย

10 กุมภาพันธ์ 2025


นายปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแบรนดิ แอนด์ คอมพานีส์ (BRANDi)

“ปิยะชาติ อิศรภักดี” ฉายภาพทิศทางโลก 2025 จากความเสี่ยง 4ต (ตื่นตูม แตกแยก ตีบตัน ตกต่ำ) สู่ความท้าทาย 2ต (ต่อยอดและเติบโต) ผ่านการเปลี่ยนผ่าน 7 มิติ ตั้งแต่ระดับโลกถึงไทย ธุรกิจถึงผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 บริษัท แบรนดิ แอนด์ คอมพานีส์ จำกัด ร่วมกับ BRANDi Institute of Systematic Transformation (BiOST) จัดงาน FUTURE-READY 2025 ภายใต้ธีม Ready for the Unknown Horizon โดย นายปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทแบรนดิ แอนด์ คอมพานีส์ จำกัด ร่วมบรรยายหัวข้อ FUTURE-READY Economy

ตื่นตูม แตกแยก ตีบตัน ตกต่ำ: ทิศทางโลก2025?

เริ่มจากประเด็นพาดหัวข่าวของโลกในปี 2025 นายปิยะชาติ อธิบายว่า Global Headlines หรือปัญหาระดับโลกที่มิอาจแก้ได้ชั่วข้ามคืน แบ่งออกเป็น 2T หลัก ได้แก่ T-Trump และ T-Tech ซึ่งทุกภาคส่วนควรตระหนักและเตรียมพร้อมรับมือ โดยสรุปออกมาเป็นประเด็น 4
ต.

  • ตื่นตูม (Panic): จากการเปลี่ยนแปลงของการเมืองโลกระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมถึง ทรัมป์ 2.0 และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาพใหญ่ของทั้งโลก
  • แตกแยก (Fragmentation): จากความขัดแย้งระหว่างประเทศมากที่สุด ที่นำไปสู่สงครามซึ่งนับว่าเป็นจำนวนมากที่สุดในรอบ 79 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489
  • ตีบตัน (Stagnation): จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในทุกภาคอุตสาหกรรมรื่องที่คุยมากที่สุดใน World Economic Forum Annual Meeting 2025 ที่ Davos
  • ตกต่ำ (Degradation): ของสิ่งแวดล้อมของโลกจากการกระทำของมนุษย์ ที่อาจนำไปสู่การเพิ่มของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอีก 1.8 องศาเซลเซียส

แต่สิ่งเหล่านี้ก็สามารถรับมือได้ด้วยการสร้างอนาคตไปถึงระดับแก่นองค์กร หรือ Core-level ผ่าน 3 วิธีคิด คือ

    1) Discover the Core: ค้นหาจุดแข็ง การช่วยองค์กร หน่วยงานและประเทศหา Core Competency ของตัวเอง
    2) Empower the Core: เผชิญหน้ากับความท้าทาย และความเสี่ยง
    3) Grow from the Core: การใช้สิ่งที่เรามีอยู่ให้เป็น Competitive Advantage

ดังนั้น เมื่อตระหนักถึงปัญหาและวิธีการรับมือแล้ว สิ่งที่ขาดไปไม่ได้คือการลงมือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

จากภูมิรัฐศาสตร์ ถึงสงคราม supply chain

นายปิยะชาติ กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านตั้งแต่ภาพเล็กไปจนถึงภาพใหญ่ หรือที่เรียกว่า 7 Transition

(1) Geopolitics Transition จากความพยายามปกป้องผลประโยชน์ประเทศของตนเองผ่านกลไกต่างๆ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจแบบ Tri-Globalization (US/China/EU) ซึ่งเน้นการพาตัวเองและ Position ในจุดที่เหมาะสมของบริบทภูมิรัฐศาสตร์

นายปิยะชาติ อธิบายว่า หลายประเทศพยายามกลับไปสู่แนวคิด protectionism เพื่อปกป้องและหาโอกาสในการเติบโตที่ยั่งยืน และปกป้องความเข้มแข็งจากภายนอก เช่น การเพิ่มภาษีนำเข้า-ส่งออก แต่ไม่ใช่ทุกประเทศที่มีองค์ประกอบในการทํา protectionism และประสบความสําเร็จ

ขณะเดียวกัน หลายประเทศก็พยายามสร้างความร่วมมือในภูมิภาค เพื่อสร้างอํานาจในการต่อรองทางเศรษฐกิจใในยามที่ต้องเจรจาการค้า

(2) Economic Transition ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการค้า เพื่อปกป้องซัพพลายเชนของตนเอง ทำให้เกิดการผลิตที่ต้นทุนถูกแต่คุณภาพดี

“พูดถึงไอโฟนในมุมอุตสาหกรรมคือ ไอโฟนไม่ได้มาจากอเมริกาทั้งหมด มันมีองค์ประกอบอื่นๆ เช่น มันถูกดีไซน์ในอเมริกา ชิปที่ไต้หวัน เครื่องจักรในกลุ่มยุโรป แพคเกจจิ้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะถ้าเขาไม่สามารถบริหารจัดการตรงนี้ได้ ต้นทุนของเขาจะสูงขึ้น และไอโฟนจะไม่สามารถสร้างกําไรได้”

“ส่วนคนที่อยู่ในภาคผู้ผลิตหรือจุดต้นน้ำ จะบอกกับตัวเองว่า ทําไมเราต้องเป็นต้นน้ำตลอด ทั้งที่ฉันอยู่ในจุดที่เป็นทั้ง value chain ได้ นั่นทําให้ช่วง 10 ปีหลังมีแบรนด์ Made in China”

‘มนุษย์-เอไอ’ โลกใหม่สองผสาน

(3) Societal Transition จากความเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ นำมาสู่ความท้าทายในตลาดแรงงานของโลก อีกทั้กทักษะการทำงานของคนไม่ตรงกับความต้องการของตลาด อาจทำให้ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้น เพราะต้องแบกรับกับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุ ดังนั้นประเทศต้องการ New Economic Model ที่ช่วยให้เด็กและผู้สูงอายุได้เรียนรู้ทักษะใหม่และสร้างรายได้

นายปิยะชาติกล่าวต่อว่า ช่วงปี 2019 โลกเริ่มเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยมากขึ้น กระทั่งปี 2025 ที่คนวัยทำงานราว 1.7 ล้านล้านคนจะหลุดออกจากระบบการทำงานมากขึ้นเพราะสกิลและทักษะเดิมจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป หรือคนที่เคยเป็น ‘เดอะแบก’ ประจำครอบครัวจะมีโอกาสเติบโตในแง่ของการทำงานน้อยลง ยิ่งกว่านั้นจะมีเครื่องมือบางอย่างที่สามารถทดแทนทักษะ-สกิลของงปรงงงาน ทำให้ได้ผลผลิตงานที่ต้นทุนน้อยกว่า

(4) Technological Transition โดยเน้นไปที่การ Empower คุณค่าของมนุษย์เพื่อนำ AI ไปใช้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

“ณ วันนี้ เทคโนโลยีมันแยกออกจากสังคมไม่ได้ ในอดีตมันเพิ่ม productivity เข้าไปในทุกอย่าง ต่อมาตั้งแต่อินเทอร์เน็ตเข้ามา มันเพิ่มสิ่งที่เรียกว่า social เข้าไป เราอยากทําอะไรก็ถามคนรอบข้าง ยอดไลก์สำคัญเสมอ ซึ่งมันเป็นจุดที่มาเจอกันระหว่างการตัดสินใจใระหว่าง functional กับ emotional และส่งผลต่อธุรกิจในอนาคตอย่างไอเอ”

นายปิยะชาติ กล่าวต่อว่า ประโยคที่ว่า “เราจะไม่ถูกเอไอแทนที่” ไม่น่ากลัวเท่า “เราจะไม่ถูกคนที่ใช้เอไอแทนที่” แต่คำถามคือ คนที่ใช้เอไออย่างมีประสิทธิภาพมีเยอะขนาดไหนไหน ซึ่งในไทยยังไม่ได้มีมากขนาดนั้น

จุดยืนประเทศไทยในเวทีโลก

(5) Environmental Transition การเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อมและสภาวะภูมิอากาศโลกคือ การมองหากลไกการตลาดที่เน้นที่เป็นมิตรต่อโลก เน้นการใช้พลังงานสะอาด และในกระบวนการต่างๆ ของธุรกิจ และทำให้ทุกแอคชั่นทางเศรษฐกิจต้อง ‘Planet Positive Action’

(6) Human Capital Transition ควรส่งเสริมการสร้างความรวมมือระหว่างมนุษย์และ AI (Collaborativeness) เพื่อสร้างเป้าหมายร่วมกัน (Common Goals)

“ที่ผ่านมา โจทย์ใหญ่ของระบบการศึกษาคือทำให้คนเก่งในเชิงลึก ต่อมาบอกว่าเราต้องรู้กว้างและลึก แต่ถ้้าคุณไม่รู้จักคำว่า work hard คุณจะไร้ซึ่ง work smart ได้ ดังนั้นต้อง work hard ให้รู้ว่ามันกว้างและลึกอย่างไร โลกในอนาคตจะท้าทายเพราะคุณต้องร่วมมือกับคนและเอไอที่มีทักษะนี้”

(7) New World Order Transition คือการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริงระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อที่จะนำจุดแข็งของทุกภาคส่วนมาต่อยอดและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

นายปิยะชาติ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยต้องเปลี่ยนจาก 4ต. (ตื่นตูม แตกแยก ตีบตัน ตกต่ำ) ให้เป็น 2ต. คือ ต่อยอดและเติบโต โดยเฉพาะในเวทีโลกที่ต้องวางจุดยืนให้ชัดว่า…

“ประเทศไทยจะเป็นเพื่อนกับทุกคนหรือเป็น favourite กับใครบางคน จะ priority สิ่งที่ต้องทำหรือ maximize ทุกเรื่อง จะสร้างเทคโนโลยีเอง หรือเอามาปรับใช้กับบริบทที่มี และจะปลูกฝังคนของเราอย่างไร”

นายปิยะชาติ ทิ้งท้ายว่า องค์กรไทยต้องค้นหา Global Solutions ที่สามารถปรับใช้ให้เข้ากับบริบทท้องถิ่นได้ และตอบให้ได้ว่า “เราเก่งอะไร และควรเดินไปในทิศทางใดเพื่อสร้างความยั่งยืนบนเวทีโลก” โดยต้องคำนึงถึงสมดุลของ คน (People), โลก (Planet) และ ผลกำไร (Profit)