ThaiPublica > ประเด็นร้อน > ความฝันของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ สร้างสังคมไทยแห่งโอกาส > “โอกาสของเด็กไทย” ที่หายไปจาก “การขาดการลงทุน”

“โอกาสของเด็กไทย” ที่หายไปจาก “การขาดการลงทุน”

18 ตุลาคม 2024


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในซีรีส์ ‘ความฝันของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ สร้างสังคมไทยแห่งโอกาส’ ซึ่งเขียนโดย 9 นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยปรับเปลี่ยนเพื่อให้เท่าทันต่อโลกและบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจและสังคม เปิดโอกาสให้กับทุกคนอย่างเสมอภาคให้ก้าวไปสู่อนาคตที่ทุกคนใฝ่ฝัน

จากประสบการณ์ของผมเองในระหว่างที่เรียนอยู่ตั้งแต่ชั้นมัธยม มหาวิทยาลัย จนถึงช่วงจบมาทำงาน กลุ่มเพื่อนๆ นักเรียนรุ่นเดียวกันมีความสนใจในสาขาวิชาค่อนข้างหลากหลายทาง โดยเฉพาะความสนใจด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งที่เห็นมาตลอดกลายเป็นว่า คนเก่งจำนวนมากกลับเลือกเรียนสาขาการแพทย์เพื่อเป็นหมอด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป ทั้งความชอบ เหตุผลด้านครอบครัว หรือด้านโอกาสและความมั่นคงทางการเงิน คณะยอดนิยมอีกคณะหนึ่งคงเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่เมื่อจบออกมาทำงาน หลายคนที่มีผลการเรียนดีในลำดับต้นๆ ของคณะออกมาทำงานในภาคบริการ เช่น สถาบันการเงิน บริษัทให้คำปรึกษา ซึ่งไม่ได้ใช้ความสามารถด้านวิศวะที่เรียนมาโดยตรง หรือคนจบสายวิทยาศาสตร์ในมัธยมบางส่วนก็เลือกเรียนต่อในสาขาการเงินและบัญชีแทน ซึ่งผมเองก็เป็นหนึ่งในคนกลุ่มนี้เหมือนกัน

สถานการณ์แบบนี้ชวนให้เรากลับมาตั้งคำถามว่า ความฝันของเด็กไทยเมื่อเรียนจบออกมาแล้วเขาอยากทำงานอะไร และมีทางเลือกที่นำไปสู่อาชีพเหล่านั้นมากขนาดไหน คงอดที่จะเปรียบเทียบให้เห็นภาพไม่ได้ว่า หลายประเทศในโลกที่แบรนด์ซึ่งเป็นที่ภาคภูมิใจของตนเอง และเป็นบริษัทในฝันของเด็กในประเทศ เช่น แบรนด์ญี่ปุ่นอย่างโตโยต้า โซนี่ มิตซูบิชิ แบรนด์เกาหลี เช่น ซัมซุง ฮุนได แอลจี หรือแบรนด์อเมริกาอย่าง Apple, Tesla และ Google งานที่หลากหลายก็ทำให้เด็กทุกคนใช้ความสามารถตามความสนใจของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เป็นการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ และยังเป็นการสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในทางอ้อม เห็นภาพแบบนี้แล้วคงเป็นความฝันหนึ่งที่อยากเห็นเด็กไทยเองมีโอกาสในการเลือกเรียนและทำงานที่หลากหลายเหมือนในต่างประเทศ โดยเด็กเก่งไม่ต้องยึดติดอยู่กับอาชีพไม่กี่อาชีพเท่านั้น

งานศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ในอดีตให้ข้อสรุปหนึ่งที่น่าสนใจว่า กลไกที่สำคัญที่ส่งผลต่อการขยายตัวของตลาดแรงงานในประเทศกำลังพัฒนา จะเกิดขึ้นผ่านการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศจากบริษัทข้ามชาติ ซึ่งส่งผลบวกต่อตลาดแรงงานทั้งมิติด้านการเติบโตของการจ้างงาน (Craigwell, 2006) และค่าจ้างที่สูงกว่าจากผลิตภาพที่สูงกว่า การบริหารจัดการที่ดีกว่า และช่วยให้บริษัทในประเทศมีการพัฒนาผลิตภาพที่สูงขึ้นได้ (Girma, Greenaway, & Wakelin, 2001; Lejarraga & Ragoussis, 2018) ทั้งสองช่องทางเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่นำไปสู่ทางเลือกและโอกาสที่ดีขึ้นของเด็กไทย

บทความนี้ชวนสำรวจสาเหตุ ที่ทำให้โอกาสในการทำงานของเด็กไทยถูกจำกัด ซึ่งส่วนหนึ่งมีที่มาจากการลงทุนที่ต่ำเกินไปในระบบเศรษฐกิจไทย ทำให้ไม่สามารถสร้างบริษัทชั้นนำของโลกขึ้นมาได้

ไทยขาดนวัตกรรม เพราะขาดการลงทุน…

แน่นอนว่าบริษัทและนวัตกรรมใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้ย่อมต้องเกิดจากการลงทุนภาคเอกชนเพื่อวิจัย พัฒนา และสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาในประเทศ สถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันเมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะพบว่า การลงทุนในประเทศไทยนั้นต่ำมาก โดยการลงทุนภาคเอกชนในประเทศปรับตัวลดลงอย่างมากตั้งแต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 และในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 22.6% ต่อ GDP โดยต่ำกว่าประเทศรายได้ปานกลางค่อนสูง (upper middle income countries) ที่การลงทุนอยู่ที่ระดับ 35.9% ต่อ GDP

นอกจากมิติการลงทุนในประเทศ ความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศก็ลดลงเช่นกัน โดยพบว่าไทยเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่นักลงทุนต่างชาติอยากเข้ามาลงทุนเป็นลำดับต้นๆ และการพัฒนาผ่านการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจหลักของไทยในอดีต โดยการลงทุนทางตรงจากต่างชาติ (FDI) นับเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจพัฒนาจากเศรษฐกิจในภาคเกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรมและเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะในช่วงหลังจากมีข้อตกลง Plaza Accord ปี 2528 การลงทุนทางตรงจากญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยญี่ปุ่นเริ่มมีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก โดยส่วนใหญ่เป็นโรงงานรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้ากับอุปกรณ์ไฟฟ้า จนทำให้สินค้ากลุ่มนี้กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยในปัจจุบัน แต่ในวันนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่แบบนั้นอีกแล้ว เพราะสัดส่วนการลงทุนทางตรงที่ไทยได้รับเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านกำลังตกลงเรื่อยๆ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่แรงส่งจากการลงทุนและผลิตภาพการผลิตของไทยแทบไม่ได้พัฒนาขึ้นเท่าไรนัก

รูปที่ 1 : สัดส่วนการลงทุนภาคเอกชนในไทยต่อ GDP อยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคและประเทศกลุ่ม upper middle income ตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 1997

ที่มา : World Bank, คำนวณโดยผู้เขียน

รูปที่ 2 : สัดส่วนการลงทุนทางตรงสุทธิจากต่างประเทศมายังประเทศไทยเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านปรับตัวลดต่ำลงเรื่อยๆ

ที่มา : IMF, คำนวณโดยผู้เขียน

ลงทุนต่ำแก้ได้หรือไม่

การลงทุนที่ต่ำในไทยอาจเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ในภาพรวมการลงทุนที่ต่ำย่อมเกิดจากการที่บริษัทต่างๆ คาดว่าประโยชน์ที่ได้เทียบกับต้นทุนจะต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับการไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ซึ่งอาจเกิดจากทั้งขนาดตลาดในประเทศที่ลดลง และปัญหาอื่นๆ เช่น การคอร์รัปชันเพื่อผูกขาดที่ง่ายและให้ประโยชน์สูงกว่า เป็นต้น เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นมีแบบสำรวจที่น่าสนใจคือแบบสำรวจนักลงทุนญี่ปุ่นของบริษัท Jetro ปี 2023 ที่เข้ามาลงทุนในไทย

โดย 5 ปัจจัยที่นักลงทุนกังวลมากที่สุดและเป็นอุปสรรคเกี่ยวกับไทย คือ (1) ต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น (72.8%) (2) ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและสังคม (58.3%) (3) นโยบายที่ไม่ชัดเจนของรัฐบาล (32.9%) (4) อัตราการลาออกที่สูงในตลาดแรงงาน (32.0%) และ (5) การขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานมีฝีมือ (31.3%)

จากข้อมูลนี้ทำให้เห็นภาพว่า ในความจริงแล้ว อุปสรรคในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติมีส่วนที่ภาครัฐสามารถเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาได้ โดยกลไกที่รัฐทำได้ คือ การแก้ไขผ่านการพัฒนาปัจจัยเชิงสถาบันอย่างเป็นระบบ และหนึ่งในวิธีที่มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย คือ การก่อตั้งองค์กรเพื่อส่งเสริมการลงทุน (investment promotion agencies) เพื่อช่วยลดต้นทุนการในการเข้ามาลงทุนในประเทศ และดึงดูดให้มีการลงทุนมากขึ้น โดยหลักการในการสร้างองกรค์ลักษณะนี้ คือ 1) เพื่อแก้ไขปัญหาข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ (information asymmetries) โดยนักลงทุนต่างประเทศมักมีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนเกี่ยวกับทั้งธุรกิจในประเทศ กฎระเบียบ และสถานการณ์การลงทุนในภาพรวม 2) เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านการทำธุรกรรมเช่น ขั้นตอนการออกใบอนุญาต การช่วยติดต่อประสานงานกับภาครัฐ หรือการเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ เช่น เตรียมแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการของบริษัทที่จะเข้ามาลงทุน

วิธีการนี้เป็นหนึ่งในทางเลือกการพัฒนานวัตกรรม ผ่านการดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างประเทศ และเรียนรู้ต่อยอดจากเทคโนโลยีของบริษัทเหล่านั้น แทนการให้คนในประเทศเริ่มต้นลงทุนใหม่เอง อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพขององกรค์ส่งเสริมการลงทุนยังถูกตั้งคำถาม โดยไม่ใช่ทุกแห่งที่จะสามารถทำภารกิจนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ หลายงานวิจัยในอดีตไม่พบความสัมพันธ์ที่ชัดเจน ส่งผลให้ภาครัฐหลายประเทศไม่ให้ความสำคัญในการพัฒนาสถาบันส่งเสริมการลงทุนที่เป็นระบบอย่างจริงจัง และเลือกใช้วิธีการที่ง่ายกว่า เช่น การลดภาษีซึ่งได้ผลแต่อาจไม่ยั่งยืน

พัฒนาสถาบันเพื่อสร้างการลงทุนอย่างยั่งยืน

งานวิจัยหลายชิ้นรวมถึงงานศึกษาของธนาคารโลก (World Bank) ได้สร้างข้อสรุปที่น่าสนใจเกี่ยวกับลักษณะขององค์กรส่งเสริมการลงทุน ที่ประสบความสำเร็จไว้จากตัวอย่างในหลายประเทศ ซึ่งอาจเป็นแนวทางให้ประเทศไทยสามารถนำมาปรับปรุงและปรับใช้กับแนวทางส่งเสริมการลงทุนในประเทศได้ การพิจารณาตั้งองค์กรการส่งเสริมการลงทุนมีประเด็นที่ต้องพิจารณาในหลายมิติ ทั้งรูปแบบของสถาบัน กลยุทธ์การดำเนินงาน โครงสร้างขององค์กร และบริการที่ต้องการทำให้ลงทุน ซึ่งมีข้อสังเกตจากงานศึกษาที่สำคัญ คือ

1) รูปแบบของสถาบัน : โดยองค์กรการส่งเสริมการลงทุนต้องเลือกว่าจะอยู่ภายใต้ภาครัฐ joint private-public หรือเอกชน โดยพบว่าส่วนใหญ่กว่า 80% ขององค์กรนี้เป็นองค์กรของรัฐ และครึ่งหนึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ทำให้ที่มาของรายได้กว่า 70% มาจากการสนับสนุนจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม งานศึกษากลับพบว่า องค์กรส่งเสริมการลงทุนที่มีอิสระในการดำเนินงานและมีความสัมพันธ์กับภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง จะดำเนินการได้มีประสิทธิภาพมากกว่า โดยองกรค์ที่ประสบความสำเร็จมักเป็น องค์กร (semi) private organization มากกว่าหน่วยงานของรัฐหรืออยู่ภายใต้สังกัดกระทรวง มีกรรมการบริหารที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้มีความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ที่ชัดเจนกว่า โดยอาจมีบริษัทเอกชนเข้าร่วมเป็นกรรมการบริหารในองค์กร และสามารถดำเนินงานได้แม้นโยบายจากภาครัฐจะเปลี่ยนแปลงไป หรือมีความวุ่นวายทางการเมือง

2) ขอบเขตของหน้าที่ : โดยเลือกระหว่างการส่งเสริมการลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศ งานศึกษาพบว่าหน้าที่ขององค์กรชัดเจนในการดึงดูดเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะช่วยให้องค์กรสามารถสื่อสารเป้าหมายกับนักลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในหลายครั้งการกำหนดหน้าที่ที่มากเกินไปเช่น ต้องสนับสนุนการลงทุนในประเทศไปพร้อมกับอาจทำให้เกิดปัญหา conflict of interest ได้ หรือเป็นลักษณะของงานที่ต้องใช้ทักษะที่ต่างกันในการดำเนินการ

3) การเลือกพนักงานและกำหนดเป้าหมายองค์กร : องค์กรส่งเสริมการลงทุนต้องมีการกำหนดงบประมาณที่ใช้ และคุณสมบัติของพนักงานที่ต้องการ โดยข้อมูลจะพบว่าองค์กรการส่งเสริมการลงทุนในประเทศพัฒนาแล้วที่ประสบความสำเร็จ มักจะให้ผลตอบแทนต่อพนักงานที่สูงกว่า และพนักงานกว่าครึ่งหนึ่งจะมีประสบการณ์จากการทำงานในภาคเอกชน ต่างจากองค์กรในประเทศกำลังพัฒนาที่มักให้ผลตอบแทนพนักงานต่ำ และใช้คนที่มีประสบการณ์จากการทำงานในภาครัฐ โดยงานศึกษาพบว่า องค์กรที่มีการกำหนดวิธีการดำเนินงานและตัวชี้วัดผลงาน (KPIs) ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ในระยะยาว รวมถึงการจ่ายผลตอบแทนกับพนักงานที่สูงกว่า จะสามารถดึงดูดการลงทุนได้มากกว่า

4) บริการที่ให้กับนักลงทุน : โดยองค์กรส่งเสริมการลงทุนต้องเน้นการพัฒนาการให้บริการที่มีประสิทธิภาพและครบถ้วน ซึ่งแบ่งออกเป็นการให้บริการก่อนขั้นตอนก่อนการลงทุน คือ การหาโอกาสกับบริษัทในประเทศ การให้การวิเคราะห์เกี่ยวกับตลาดและอุตสาหกรรมในประเทศ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับตลาดแรงงาน บริการด้านการให้ข้อมูล คือ การมีถังข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับชื่อ ที่อยู่ และรายละเอียดของธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ และบริการหลังการตัดสินใจลงทุน เช่น การให้ความช่วยเหลือในการขอใบอนุญาต ขั้นตอนทางกฎหมาย ใบอนุญาตในการทำงาน ซึ่งจากการสำรวจนักลงทุนพบว่า บริการที่สำคัญที่สุดสามลำดับแรก คือ 1) Efforts to improve the business environment in the country 2) Preinvestment information 3) Assistance in setting up โดยงานศึกษา Global Investment Promotion Best Practices ของ World Bank ในปี 2012 พบความสัมพันธ์ที่เป็นบวกระหว่างดัชนีคุณภาพขององค์กรส่งเสริมการลงทุน และจำนวนการเข้ามาลงทุนเฉลี่ยจากต่างชาติในช่วงปี 2000-2010

ในอีกทางหนึ่ง อุปสรรคและความท้าทายที่ทำให้องค์กรส่งเสริมการลงทุนมักดำเนินการได้ไม่ประสบความสำเร็จ คือ 1) การให้บริการที่ไม่ต่อเนื่อง โดยเน้นเฉพาะการให้บริการในช่วงดึงดูดการลงทุน ในขณะที่หลังจากการลงทุนหรือการขยายการลงทุนถูกละเลย 2) มีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากเกินไป ซึ่งใช้ทักษะที่ต่างกันในการดำเนินการ เช่น ในประเทศกำลังพัฒนา องค์กรต้องทำหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนในนประเทศ ส่งเสริมการส่งออก ส่งเสริม public private partnership ด้วย ซึ่งทำให้ผลจากการดึงดูดการลงทุนต่างประเทศน้อยกว่า 3) ขาดทิศทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับเป้าหมายที่ต้องการสนับสนุน โดยกว่าครึ่งมีอุตสาหกรรมเป้าหมายมากกว่า 8 อุตสาหกรรม 4) ขาดการสนับสนุนด้านเงินทุนที่เพียงพอ โดยองค์กรส่งเสริมการลงทุนกว่าครึ่งขาดการสนับสนุนจากรัฐที่เพียงพอและขาดทรัพยากรบุคคล รวมทั้งเผชิญกับปัญหาคอร์รัปชันในองค์กร และขาดความร่วมมือระหว่างสถาบันเศรษฐกิจในประเทศที่เพียงพอ

รูปที่ 3 : หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่ให้บริการในขั้นตอนดึงดูดการลงทุน แต่ขาดบริการหลังจากนั้น โดยเฉพาะในช่วงส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมในประเทศ

ที่มา : Helibron and Aranda-Larrey 2020 (computations based on World Bank Group 2017 Global IPA Survey)

รูปที่ 4 หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนกว่าครึ่งหนึ่งมีอุตสาหกรรมเป้าหมายมากกว่า 8 อุตสาหกรรม

Source : World Bank Group 2017 Global IPA Survey

ส่งเสริมการลงทุนใน “Quality FDI” และสร้างกลไกส่งผ่านเทคโนโลยี

แน่นอนว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการส่งเสริมการลงทุนไม่ได้สิ้นสุดแค่การดึงดูดให้ต่างชาติมาตั้งฐานการผลิตแล้วจบไป แต่เป็นกระบวนการที่จะสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศ ซึ่งองค์กรส่งเสริมการลงทุนมักละเลยไป อาจแบ่งเป็น 2 นโยบายที่ควรพิจารณาควบคู่กันในการตั้งเป้าหมาย คือ

1) การดึงดูดการลงทุนควรเน้นไปที่การดึงดูด “Quality FDI” มากกว่า “Quantity FDI” องค์กรการส่งเสริมการลงทุนในระยะหลังมีลักษณะการดึงดูดที่ proactive มากขึ้นและเน้นการดึงดูดใน research-based sector โดยมีเกือบทุกองค์กรมีการตั้งเป้าหมายรูปแบบและ sector ของนักลงทุนที่ต้องการ พร้อมกับมีการทำ market research อย่างไรก็ตาม เป้าหมายยังคงมีลักษณะเป็นการตั้งเป้าหมายต่อเนื่องจากในอดีตมากกว่าการตั้งเป้าหมายในกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต ในระยะข้างหน้าการตั้งเป้าหมายเพื่อการลงทุนที่มีคุณภาพควรคำนึงถึง

    1) การดึงดูดการลงทุนที่มีนวัตกรรมและเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี
    2) การดึงดูดการลงทุนที่ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานที่มีคุณภาพ
    3) การดึงดูดการลงทุนที่ส่งเสริมและต่อยอดจากห่วงโซ่การผลิตในประเทศ

    ตัวอย่างที่น่าสนใจ ในกรณีของไทย คือ การดึงดูดการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า ที่แม้จะเป็นเทคโนโลยีใหม่แต่ซัพพลายเชนส่วนใหญ่ถูกใช้ผ่านการนำเข้าจากจีน ทำให้แรงงานและผู้ประกอบการไทยไม่ได้ประโยชน์มากนัก และยังสร้างผลกระทบทางลบกับผู้ประกอบการเดิมที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาปภายใน(ICE) ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของไทยด้วย

2) การลงทุนต้องสร้างการส่งผ่านเทคโนโลยี และ spillover effect ต่ออุตสาหกรรมเดิมในประเทศ (backward linkages) โดยภาครัฐสามารถสนับสนุนได้ผ่านทั้งการให้แรงจูงใจทางภาษีเพื่อให้มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ การให้บริการจับคู่ธุรกิจที่เหมาะสม และการสร้างฐานข้อมูลของซัพพลายเออร์ในประเทศของแต่ละอุตสาหกรรมไว้อย่างเป็นระบบ ตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์มีการใช้นโยบาย Local Industry Upgrading Program (LIUP) เพื่อให้เกิดการพัฒนาของซัพพลายเออร์ท้องถิ่นผ่านความสัมพันธ์ระยะยาวกับบริษัทต่างประเทศ ซึ่งซัพพลายเออร์ท้องถิ่นจะได้มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาสินค้าใหม่ รวมทั้งขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา หรือในกรณีของไต้หวันมีการทำระบบ center-satellite factory system ตั้งแต่ปี 1984 เพื่อช่วยลดปัญหาเรื่องอุปสรรคในการร่วมมือกันระหว่างบริษัท

บทบาทของภาครัฐจึงควรเร่งพัฒนาสถาบันเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการลงทุน โดย World Bank ให้คำแนะนำสามเสาหลักที่ภาครัฐควรดำเนินการ คือ 1) การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์และเซกเตอร์ที่จะเน้นเติบโต 2) การออกแบบสถาบันอย่างเป็นระบบ 3) การให้บริการกับนักลงทุนอย่างมีคุณภาพ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่กล่าวถึงมา

อย่างไรก็ตาม องค์กรลักษณะนี้เป็นเพียงหนึ่งในกลไกที่ช่วยส่งเสริมให้ประเทศเกิดการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ประเทศไทยเองยังมีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเชิงสถาบันที่ใหญ่กว่า ทั้งประเด็นด้านกฎระเบียบ ปัญหาการคอร์รัปชัน ความไม่แน่นอนทางการเมือง การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และปัญหาการศึกษา ซึ่งล้วนแล้วแต่มีการปรับตัวที่แย่ลงในช่วงที่ผ่านมา และเป็นอุปสรรคในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ การพัฒนากลไกเชิงสถาบันและสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมให้กับผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค จะนำไปสู่การปรับตัวที่ดีขึ้นของการลงทุน เศรษฐกิจ และท้ายที่สุด สร้างโอกาสและทางเลือกให้กับเด็กรุ่นใหม่ในการเลือกทำงานในบริษัทใหม่ๆ ที่หลากหลายและเป็นบริษัทชั้นนำของโลกได้