ThaiPublica > คนในข่าว > ‘เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ‘ เปิดเส้นทางกรมสรรพสามิต มุ่ง ESG สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าสู่ Net Zero

‘เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ‘ เปิดเส้นทางกรมสรรพสามิต มุ่ง ESG สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าสู่ Net Zero

30 กันยายน 2024


ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต

“วันนี้เราก้าวมาไกล จากกรมเหล้า บุหรี่มาเป็น กรม ESG อย่างแท้จริง ทางเดินผ่านมาขรุขระแน่นอน ช่วงเริ่มต้นมีความยาก เรามาได้ไกล และเราต้องเดินหน้าต่อไป ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้น ESG สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทย สู่ความยั่งยืน”

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวปิดท้ายการแถลงข่าว “สรรพสามิต กรม ESG เปลี่ยนผ่านชุมชน และประเทศ เดินหน้าสู่ Net Zero” ในฐานะอธิบดีกรมสรรพสามิต ก่อนจะไปรับตำแหน่งอธิบดีกรมธนารักษ์ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 อนุมัติการแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 9 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ และสับเปลี่ยนหมุนเวียน

  • “เอกนิติ” ขับเคลื่อน ‘สรรพสามิต’ รับเทรนด์โลก สร้างมาตรฐานภาษี ESG ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโตยั่งยืน
  • “เอกนิติ” ชูยุทธศาสตร์ “EASE Excise” ปรับสรรพสามิตสู่ “กรม ESG”
  • ภาษีสรรพสามิตขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มุ่ง ESG

    ดร.เอกนิติ กล่าวว่า ขอเล่าถึงสิ่งที่ สรรพสามิต กรม ESG ได้ทำ เพื่อเปลี่ยนผ่านชุมชน และขับเคลื่อนประเทศไทยเดินหน้าสู่ net zero

    “เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 เราได้ประกาศว่า เราไม่ได้มีเพียง เหล้า และบุหรี่ เราคือ กรม ESG” ดร.เอกนิติกล่าวและว่า ในวันนั้นคําว่า ESG คนก็อาจจะยังไม่ค่อยคุ้นเคย E คือ Environment สิ่งแวดล้อม S คือ Social สังคม G คือ Governance ธรรมาภิบาล วันนี้เป็นคำที่ทุกคนใช้ไปแล้ว กรมสรรพสามิตเดินหน้ามาต่อเนื่อง กลายเป็น กรม ESG

    ดร.เอกนิติกล่าวว่า ความท้าทายมีหลายด้าน โดยในด้านสิ่งแวดล้อม เห็นได้ชัดถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป วันนั้นมีการพูดถึงว่าโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยติดอันดับ 9 ของโลกในด้านความผันผวนและการได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ เหตุการณ์ภาคเหนือที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ และยังเกิดอยู่ ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ถ้าไม่ทําอะไรปล่อยให้โลกเป็นแบบนี้จะเกิดปัญหาขึ้นอย่างแน่นอนและจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ กรมสรรพสามิตจึงตั้งเป้าหมายว่าจะเป็น กรม ESG

    ในขณะเดียวกันโลกเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปมากมาย digital เปลี่ยนไปเร็วหรือว่าที่คิดมาก Generative AI เป็นเรื่องที่ใหม่มาก กรมสรรพสามิตได้ใช้ AI สร้างพนักงานดิจิทัลขึ้น ชื่อว่า น้องมิตต์ หรือ Smitt ซึ่งได้เรียนรู้ พ.ร.บ.สรรพสามิตด้วย Generative AI เพื่อจะมาทำหน้าที่ตอบคำถามเรื่องกรมสรรพสามิต เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับเปลี่ยนกระบวนการ

    “เรากรมสรรพสามิต 2 ปีที่ผ่านมา สองปีกับประมาณ 4 เดือนที่ผ่านมา ขับเคลื่อนโดยปรับเปลี่ยน เราใช้เป้าประสงค์ (purpose) ขับเคลื่อนองค์กร เราไม่ใช่กรมจัดเก็บภาษีเหล้า บุหรี่อย่างเดียว เราเป็นกรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล ESG สร้างมาตรฐานสากล แล้วก็เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน” ดร.เอกนิติกล่าว

    ดร.เอกนิติกล่าวว่า เมื่อมีเป้าประสงค์ ก็ทำเป้าหมายให้ชัด คือ 3 ตรง ประกอบด้วย 1) เก็บภาษีให้ตรงเป้า ออกนโยบายภาษีให้ตรงเป้า 2) ปราบปรามให้ตรงกลุ่ม 3) บริการให้ตรงใจ ซึ่งมีสองใจ คือ ใจผู้เสียภาษี และใจลูกน้อง แล้วก็ทำเรื่อง ESG โดยมีกลยุทธ์ที่เรียกว่ากลยุทธ์ง่าย ย่อมาจาก EASE

    E ตัวแรกคือ ESG/BCG การยกระดับสินค้าของสรรพสามิต สิ่งที่ทำลายสิ่งแวดล้อม สรรพสามิตจะเก็บภาษี อะไรไม่ทําลายสิ่งแวดล้อมช่วยโลก จะลดการเก็บภาษี เช่น เอทานอลที่นำไปผลิต bio-plastics ได้ ซึ่งเป็นพิกัดใหม่ที่เสนอคณะรัฐมนตรีไปแล้ว เพื่อที่จะทําให้ลดโลกร้อน นเป็นตัวอย่างการยกระดับสินค้าบริการ สรรพสามิตไม่ได้เก็บแค่เหล้า บุหรี่

    A Agile เป็นการยกระดับตรงกลาง คือ คน นำ agile ways of working มาใช้ สรรพสามิตได้มีการอบรมฝึกสอนการทำ AI, Data Analytic ทําให้คนสรรพสามิตเก่งขึ้น

    S Standardization ยกระดับมาตรฐาน มาตรฐานการปราบปราม มีการปราบปรามออนไลน์ ยกระดับการให้บริการ(service standard) ยกระดับนำ digital transformation มีการพัฒนา น้องมิตต์

    ส่วน ESG จะยกระดับ ESG “ซึ่งวันนี้เราจะประกาศสรรพสามิต ปักหมุด net zero ปี 2050 เราจะยกระดับ และจะทําให้เป็นรูปธรรม”

    และสุดท้ายคือ E End-to-End ยกระดับการบริการแบบไร้รอยต่อ โดยคำนึงถึง UX หรือ User Experience ประสบการณ์ของผู้ใช้งานปัจจุบันสรรพสามิตได้พัฒนาเว็บไซต์ใหม่ ที่เน้นการนำผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลางมาเป็น User Experience มาช่วยให้ความเห็น การใช้งานเว็บไซต์สรรพสามิต ตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ว่าการเข้ามาลงทะเบียนขายเหล้าหรือเข้ามาลงทะเบียนผลิตเหล้า ซึ่งในเว็บไซต์มีแผนที่ให้บริการว่าจะต้องทำอย่างไร และมีน้อง Smitt ช่วยตอบ “ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เรายกระดับมาสองปีที่ผ่านมาในทุกด้าน ด้านสินค้าและบริการ ด้านคน ด้านกระบวนงานและด้านการให้บริการ”

    ดร.เอกนิติ กล่าวว่า จากการขับเคลื่อนกันอย่างมากในช่วงสองปีกว่า ผลที่ได้คือ การเก็บภาษีในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมากรมสรรพสามิต เก็บรายได้เท่ากับ 482,000 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 10.66% ขณะที่เศรษฐกิจไทยโต 2-3% เมื่อหักลบภาษีน้ำมัน EV จากเป้าหมายที่ได้รับมา ก็เก็บสูงกว่าเป้า 1.06%

    “เป้าหลังหักน้ํามัน หัก EV ยังมีมาตรการต่างๆ 520,000 ล้านบาท สรรพสามิตมั่นใจว่าเก็บได้แน่นอน น่าจะเกินเป้าที่กระทรวงการคลังมอบหมายด้วย เพราะ 482,000 ล้านบาทคือ 11 เดือนสูงกว่าปีก่อน 10.66% แม้เป้าจะสูง แต่ก็น่าจะเกินเป้า” ดร.เอกนิติกล่าวและว่าเป้าหมายการจัดเก็บในปีหน้า คือ 600,000 ล้านบาท บนสมติฐานที่ไม่มีเรื่องมาตรการน้ำมัน

    ด้านนโยบายกรมสรรพสามิตได้นำ ESG มาเป็นหัวใจในการทํางาน ด้าน E Environment สิ่งแวดล้อม ได้ทําเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า มาตรการ EV 3.0, EV 3.5 รวมทั้งวางระบบ carbon tax ในประเทศ และได้อนุญาตให้ใช้เอทานอลในอุตสาหกรรมอื่น เช่น Bio Ethylene เกิดพิกัดใหม่เป็นพลาสติกชีวภาพ

    ด้าน S Social สังคม ได้มีมาตรการภาษีความหวาน มีมาตรการสนับสนุนสุราขนาดเล็กและขนาดกลาง “ซึ่งมีแชมป์จากโครงการหนึ่งชุมชนหนึ่งสรรพสามิตแชมเปี้ยน มีการจับคู่กับอาหาร ยกระดับมูลค่าเพิ่ม ที่มาจากความริเริ่มของสายงานปราบปราม” รวมทั้งมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีรถรถยนต์เพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุ

    ด้าน G Governance ธรรมาภิบาล สรรพสามิตเปิดให้ open government ให้ประชาชนมาร่วมตรวจสอบ และติดตามราคาไวน์ ตรวจสอบบุหรี่ปลอม รวมทั้งมีการออกแบบ digital transformation ทุกอัน ทําให้การบริการประชาชน การทํางานของเจ้าหน้าที่ การพัฒนาทักษะบุคลากร ที่เรียกว่า “ทักษะ DAD คือ D ตัวแรก Digital, A AI และ D Data Analytics เป็นการสอนทักษะอนาคตให้กับบุคลากร และมีการออกแบบ E-Service โดยนำ User Experience มาใช้ในทุกจุดที่มีปฏิสัมพันธ์กับประชาชน (Touch Point) ตั้งแต่ต้นจนจบ “ซึ่งเป็นการยกระดับธรรมาภิบาล”

    ดร.เอกนิติกล่าวว่า การพัฒนานโยบาย ESG ด้าน Environment ครอบคลุม รถยนต์ไฟฟ้าด้วย มาตรการ EV 3, EV 3.5 ส่งผลให้ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าปีที่แล้วสูงขึ้น 685%

    ดร.เอกนิติกล่าวว่า แต่หัวใจเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องยานยนต์ไฟฟ้า หัวใจของเรื่องคือ คนที่จะมาเซ็น MoU กับสรรพสามิตใน EV 3.0, EV 3.5 ทั้งหมด 32 ราย ค่ายรถยนต์ต่างๆ มีเงื่อนไขว่าจะต้องมาผลิตรถที่เมืองไทย ถ่ายทอดเทคโนโลยี แล้วก็ต้องเอาชิ้นส่วนผลิตที่เมืองไทย ปัจจุบันมีการลงทุนแล้วประมาณ 80,000 ล้านบาท คือสิ่งที่เกิดขึ้น 32 รายของผู้ประกอบการรถยนต์ที่มารับสิทธิประโยชน์ EV 3.0 และ EV 3.5 เฉพาะเข้ามาผลิตแล้วก็ชิ้นส่วนต่างๆ ก็เริ่มเข้ามาการลงทุน

    “แต่หัวใจสุดท้าย คือ รถ EV ย่อ มาจากคําว่า ZEV หรือ Zero Emission Vehicle เราสามารถคำนวณได้ว่าการที่คนเปลี่ยนเป็นรถ EV ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปแล้วทั้งหมด 344,196 ตันคาร์บอนเทียบเท่า นี่คือผลในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่จับต้องได้เป็นรูปธรรม” ดร.เอกนิติกล่าว

    เตรียม Carbon Tax หนุนเป้าหมายประเทศ

    ด้าน Carbon Tax รัฐมนตรีกระทรวงการคลังได้ลงนามนำเสนอคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว ประเทศไทยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกที่คิดเป็นคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 372 ล้านตัน โดยมาจากภาคพลังงานและขนส่งประมาณ 70% และเมื่อลงลึกในรายละเอียดใน 70% ของภาคพลังงานและขนส่ง เป็นสินค้าที่สรรพสามิตเก็บอยู่แล้วถึง 37% “เป็นพิกัดสรรพสามิตที่เก็บอยู่แล้วถึง 37% โดยเฉพาะ น้ำมันประเภทต่างๆ”

    “สิ่งที่เราเสนอ คือ ประเทศไทยประกาศกับสาธารณชน ประกาศกับโลกไปแล้วว่า ประเทศไทยเราจะเข้าสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน carbon neutrality ภายในปี 2050 และจะก้าวสู่ net zero ในปี 2065 ซึ่งประกาศเป็นสนธิที่สัญญาระหว่างประเทศในการประชุม COP 26 และยังประกาศอีกด้วยว่าเราจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30-40% ในปี 2030 หรืออีก 6 ปีจากนี้ แต่ประเทศไทย ยังไม่ได้ทำเพิ่มมากนัก” ดร.เอกนิติกล่าว

    ดร.เอกนิติกล่าวว่า สรรพสามิตทํางานอย่างใกล้ชิดกับกรมโลกร้อน ที่กําลังเสนอพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะมีมาตรการคาร์บอนภาคบังคับ อาจจะมีผลในปี 2572 อย่างไรก็ตามกฎหมายยังไม่ผ่านสภา

    “แต่สรรพสามิตทำได้ทันที โดยจะแปลงภาษีน้ำมันส่วนหนึ่งมาลดการปล่อยก๊าซในระยะสั้น ด้วยหลักการเดียวกับที่เคยใช้เพื่อเปลี่ยนรถยนต์ที่เก็บภาษีรถยนต์ตามกระบอกสูบ แต่ครั้งนี้เป็นการเก็บรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อสิ่งแวดล้อม” ดร.เอกนิติกล่าว

    ดร.เอกนิติกล่าวว่า ขณะเดียวไทยถูกบีบจากโลก EU จะเริ่มเก็บภาษี CBAM วันที่ 1 มกราคม 2569 หรืออีกปีครึ่งเท่านั้น จากนั้นสหราชอาณาจักรจะเป็นรายต่อไปที่เริ่มเก็บภาษีภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน สินค้าหลายชนิดจะต้องรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แล้วมีการปรับที่พรมแดน แต่มีเงื่อนไขว่า หากประเทศไหนมีการเก็บแล้ว ก็สามารถหักลบได้ “นี่คือที่มาที่เราลุกขึ้นมาทำภาษีคาร์บอน”

    สำหรับรูปแบบของภาษีคาร์บอน ดร.เอกนิติกล่าวว่า ภาษีคาร์บอนตามมาตรฐานโลกระบุว่า สินค้าน้ํามันแต่ละประเภท ทั้ง เบนซิน ดีเซล น้ํามันก๊าซ น้ํามันเตา ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร ที่อ้างอิงจากนักวิทยาศาสตร์โดย UNFCC ดังนั้นภาษีคาร์บอนทั้งโลกใช้มาตรฐานเดียวกันแล้วนำค่าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาคูณด้วยราคาคาร์บอน ซึ่งกําหนดโดยรัฐบาล

    ดร.เอกนิติกล่าวว่า สิงคโปร์เป็นชาติแรกในอาเซียนที่เริ่มเก็บภาษีคาร์บอนในราคาเริ่มต้น 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 3-4 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ปัจจุบันปรับขึ้นไปที่ 25 ดอลลาร์สิงคโปร์ ประเทศไทยก็จะเริ่มเก็บเช่นกัน โดยจากการศึกษาร่วมกับ ADB ได้ผลว่า ว่าควรจะเริ่มเก็บในราคาต่ำก่อน เพื่อให้ประชาชนปรับตัว โดยตั้งเป้าไว้ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอน ประมาณ 3-4 ดอลลาร์สหรัฐฯ ใกล้เคียงสิงคโปร์ ประเทศไทยก็จะเป็นประเทศที่สองในอาเซียนที่มีภาษีคาร์บอน

    “จาก น้ํามันเบนซินที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 0.002237347 นำมาคูณกับ 200 บาทต่อตันคาร์บอน ก็จะได้แค่ 45 สตางค์ ถูกมาก นอกจากนี้กรมสรรพสามิตได้รวมมือกับผู้ประกอบการปั๊มน้ํามันรายใหญ่ แสดงข้อมูลให้ผู้ไปเติมน้ํามันรู้ว่า ได้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากน้อยแค่ไหน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน หลังจากที่มีภาษีคาร์บอนออกมาแล้ว” ดร.เอกนิติกล่าว

    อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีมีนโยบายว่า จะไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ดังนั้นกรมสรรพสามิตจะแปลงภาษีสรรพสามิตน้ํามัน ให้มีภาษีคาร์บอนรวมอยู่ในนั้นในช่วงแรก โดย ดร.เอกนิติยกตัวอย่าง ว่า ปัจจุบันการเติมน้ํามันดีเซลเสียภาษีสรรพสามิต 6.44 บาทต่อลิตร ซึ่งใน 6.44 บาทต่อลิตร ก็จะแปลงเป็นภาษีคาร์บอน โดยนำการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0.0026 ตันคาร์บอนของดีเซลคูณด้วย 200 บาท จะได้เท่ากับ 54 สตางค์ซึ่ง 54 สตางค์จะอยู่ในภาษีสรรพสามิตน้ํามันอยู่แล้ว ราคาน้ํามันจะไม่ได้รับผลกระทบ

    แต่การร่วมมือกับผู้ประกอบการปั๊มน้ำมัน จะมีการรายงานว่าผู้ที่เติมน้ำมันปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร ผู้ประกอบการปั๊มน้ำมันอาจให้คะแนน(point) เพื่อจูงใจให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และจะมีนักเศรษฐศาสตร์มาคำนวณว่าแรงจูงใจแบบไหน ที่จะทําให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยที่ยังไม่กระทบประชาชน

    “นี่คือสิ่งที่กรมสรรพสามิตเองเสนอเป็นเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นจะไม่กระทบราคาน้ํามันแน่นอน แล้วขณะเดียวกันผู้ประกอบการนำใบเสร็จที่ซื้อน้ํามันดีเซลไปหลอมเหล็กหรือซีเมนต์แล้วส่งออกไปยุโรป ไปเจรจาหักกลบ กับ CBAM ที่จะเริ่มเก็บเงิน นี่คือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ ถ้าเราไม่ทําตรงนี้ ก็ถูกเก็บภาษี” ดร.เอกนิติกล่าว

    ดร.เอกนิติกล่าวว่า การเก็บภาษีคาร์บอนสามารถทำได้ทันทีเพียงเปลี่ยนกฎกระทรวง ไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ แปลงการเก็บภาษีน้ำมันไปผูกกับคาร์บอน ตามมาตรฐานสากล แต่ในระยะต่อไปจะเก็บภาษีเท่าไร ต้องรอให้พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ พ.ร.บ.โลกร้อน ออกมาอย่างชัดเจนก่อน เพื่อให้มีทิศทางเดียวกัน ประกอบกับการกำหนดราคาคาร์บอนต้องมาจากพ.ร.บ.โลกร้อน ซึ่งกรมสรรพสามิตต้องหารือร่วมกับกรมโลกร้อนเช่นกัน

    ปัจจุบัน CBAM กำหนดการเก็บภาษีจาก 5 หมวดสินค้า คือ ปุ๋ย ซีเมนต์ เหล็ก อลูมิเนียม ไฟฟ้าและไฮโดรเจน สินค้าไทยส่งออกหลักคือ เหล็ก กับ ซีเมนต์ การเก็บภาษีคาร์บอนก็จะช่วยได้ แต่ปัจจุบันกําลังเจรจากับ CBAM ว่าจะหักลบได้เท่าไร เพราะยังออกมาตรฐานมาไม่ชัด สิงคโปร์เองก็เจรจาอยู่เช่นกัน ฉะนั้นสองกลุ่มนี้จะได้ประโยชน์

    นอกจากนี้ยังส่งเสริม การนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ หรือ Bio Ethylene ราคาในตลาดโลกสูงกว่าเม็ดพลาสติกปกติประมาณ 2-3 เท่า กรมสรรพสามิตได้เสนอพิกัดใหม่และจะเก็บภาษี 0% เพื่อส่งเสริมพลาสติกชีวภาพ และได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีแล้ว

    เปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจชุมชน

    ในด้านสังคม กรมสรรพสามิตยังขับเคลื่อนภาษีความหวานอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเก็บภาษีจากปริมาณน้ําตาลที่ใส่ในเครื่องดื่ม โดยปริมาณน้ำตาลที่เกิน 14 กรัมต่อลิตร เก็บภาษีความหวาน 5 บาท น้ำตาลที่เกิน 10 กรัมต่อลิตร เก็บภาษี 3 บาท เกิน 8 กรัมต่อลิตรเก็บ 1 บาท แต่ถ้าต่ำกว่า 6 กรัมต่อลิตรไม่มีการเก็บภาษี จากการเก็บภาษีความหวาน พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ผลิต ปัจจุบันผู้ผลิตที่ใส่น้ำตาลเกิน 14 กรัมต่อลิตร จากที่เคยมีปริมาณการผลิต 819 ล้านลิตร ลดลงเหลือ 46 ล้านลิตร แต่กรมสรรพสามิตจะเพิ่มขึ้นเป็นอัตราเร่ง

    สิ่งที่กรมสรรพสามิตทำอีกด้านหนึ่งคือ ชุมชน เศรษฐกิจชุมชน โดยลดภาษีสุราแช่พื้นบ้าน เช่น อุ กระแช่ สาโท ตามนโยบายของรัฐบาล ในอัตราภาษี 0% ส่งผลให้สุราชุมชนโตขึ้น 16% และสามารถส่งเสริมเศรษฐกิจ ถือเป็นบทบาทสําคัญในพื้นที่ “เราขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยประสิทธิภาพ เราเอาผู้ประกอบการ สรรพสามิตพื้นที่ที่ได้รางวัล ลงไปช่วย ซึ่งไม่ใช่ช่วยในด้านประกอบการอย่างเดียว แต่มีเรื่อง ESG ยกตัวอย่างในด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ส่าเหล้าเอาไปเลี้ยงหมู และจับมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมใช้มูลหมูไปผลิตพลังงานเชื้อเพลิงชีวมวล และใช้ไฟฟ้าที่ได้มาผลิตสุรา”

    นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมการดูแลพนักงานให้มีความเป็นอยู่ที่ดี รวมไปถึงการส่งเสริมธรรมาภิบาลที่ดี ทำให้มีการทำบัญชีที่ถูกต้อง เสียภาษีถูกต้อง และใช้บัญชีที่ถูกต้องให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน จากการที่สรรพสามิตได้ร่วมมือกับสถาบันการเงิน “นี่คือการขับเคลื่อนสนับสนุนชุมชนด้วยภาษีสรรพสามิต”

    กรมสรรพสามิตยังได้คำนึงถึงสังคมสูงวัย โดยเตรียมมาตรการที่จะเสนอต่อรัฐมนตรีประจำกระทรวง โดยจะเก็บภาษี 0% จากรถตู้ที่ดัดแปลงใช้เนื้อที่ในรถเป็นอุปกรณ์ยกคนพิการ เพื่อการดูแลคนสูงวัย จากเดิมรถตู้ 10 ที่นั่งดัดแปลงยกที่นั่งออกต้องเสียภาษีสรรพสามิต 25-40% อย่างไรก็ตามรถตู้ที่บริการคนพิการและผู้สูงวัย ต้องผ่านการรับรองจากกระทรวงพัฒนาสังคมและหน่วยงานด้านการรักษาพยาบาล

    ดร.เอกนิติกล่าวต่อถึงนโยบายการปราบปรามให้ตรงกลุ่มว่า ได้มีจัดตั้งศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์ เพื่อปราบปรามผู้กระทำผิดผ่านเครือข่ายออนไลน์ โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 66 – ส.ค. 67) ผลการปราบปราม มีจำนวนคดี 31,067 คดี สูงขึ้นกว่าปีก่อน 27.41%

    “กรมสรรพสามิตได้ทำความร่วมมือกับกรมการปกครอง จับมือกับทหารบก ทหารเรือจับเรือน้ำมันเถื่อน กรมการขนส่งทางบก ซึ่งรถน้ำมันเถื่อน สามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าเป็นรถของใคร อยู่ที่ไหน และยังจับมือกับไปรษณีย์ไทย ผู้ให้บริการขนส่งเอกชน หน่วยงานต่างๆ เพื่อที่จะปราบปรามออนไลน์ ผลที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาเราส่งรายได้นําส่งผ่านจากการปราบปรามเพิ่มขึ้น 41% คดีที่จับได้เพิ่มขึ้น 27%” ดร.เอกนิติกล่าว

    กรมสรรพสามิตยังมุ่งบริการที่ตรงใจ ผ่านเว็บไซต์ที่พัฒนาจาก User Experience มีข้อมูล และ ขั้นตอนให้ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้บริการตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นถึงขั้นสุดท้าย เรื่องจดทะเบียน ก็มี D-Licence มีการตรวจสอบราคาไวน์ มี iLab ตรวจสอบที่สามารถติดตามผลได้ ในด้านการชำระภาษีมี My Tax Account ต่อเนื่องจากบัญชีที่มีกับกรมสรรพากร และในที่สุดจะเชื่อมกันได้ และเรื่อง E-Stamp สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นเหล้าปลอมหรือไม่ ประชาชนจะได้ปลอดภัย

    “เรามีการวัดความพึงพอใจ ซึ่งปรากฎว่าได้คะแนนความพึงพอใจเกิน 90% สิ่งที่ยืนยันว่ากรมสรรพสามิตเราเดินมาถูกทาง คือ การได้รับรางวัลต่างๆ เช่น รางวัลผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี 2566 รางวัลองค์กรไอที ในระดับนานาชาติ ASOCIO Award 2022 สาขา Digital Government Awards ระดับดีเด่น 2565 ซึ่งรางวัล ASOCIO Award 2022 นี้เป็น รางวัลระดับเอเชียโอเชียเนีย และยังมี รางวัล Thailand Cybersecurity Excellence Awards 2022 ดีเด่นสาขา บริการภาครัฐสำคัญ 2565 สิ่งที่ทําให้น้องๆสรรพสามิตดีใจ คือสองปีที่เราลุกขึ้นมาทําเรื่องต่างๆ เราได้ 17 รางวัล” ดร.เอกนิติกล่าว

    กรมสรรพสามิตยังมีโรงเรียนสรรพสามิตออนไลน์ จะมีทั้ง Current Skill ที่การสอนปราบปราม จากบุคลากรภายในเป็นผู้สอน ส่วน Future Skill มี DAD คือ Digital,AIT, Data และมี Digital Skill อีกทั้งยังมี design thinking มาจากกระบวนการภายใน Agile

    “ส่วนเรื่องคน เรามีเป้าชัดเจนว่า เก่ง ดี มีความสุข มี OKR(Objective Key Results) ที่สามารถดูเป็นรายพื้นที่ได้ว่า เก่ง ดี มีความสุข พื้นที่ไหนไม่มีความสุข พื้นที่ไหนต้องการเรื่องเก่ง กรมสรรพสามิตวิเคราะห์พบว่า สิ่งที่คนสรรพสามิตต้องการที่สุด คือ มีความสุข จึงมีกิจกรรมต่างๆเพื่อให้คนเรามีความสุขมากขึ้น” ดร.เอกนิติกล่าว

    ขับเคลื่อนจากคนในสร้างต้นแบบกรม ESG

    ดร.เอกนิติกล่าวว่า กรมสรรพสามิตมีการประเมิน ESG Rating ของกรม โดยใช้แนวทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้บุคคลภายนอก คือ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด เพื่อทำให้กรมสรรพสามิตเป็นกรม ESG ต้นแบบอย่างแท้จริง และประกาศก้าวสู่ net zero ได้

    ในด้านสังคม สรรพสามิตพื้นที่มี ESG ในใจ มีการส่งเสริมสุราชุมชน จัดการประกวดระดับภาค ระดับจังหวัด และระดับประเทศ มีรางวัลหนึ่งชุมชนหนึ่งสรรพสามิตแชมเปี้ยน การประกวดไม่ใช่แค่การทําสุราแต่อีกครึ่งหนึ่งมาจากสรรพสามิตพื้นที่เข้าไปช่วย ซึ่งจะได้รับรางวัลคู่กัน “เป็นบทบาทสรรพสามิตยุคใหม่ ที่ทําได้ทุกอย่าง”

    ส่วนเรื่อง zero waste คนสรรพสามิตได้พัฒนาเครื่องทำลายบุหรี่ของกลาง แทนการเผาทิ้งที่มีการปล่อยกคาร์บอนไดออกไซด์ เครื่องนี้สามารถแยกยาเส้น กับก้นกรอง ออกจากกัน ซึ่งก้นกรองนำไปทำกระถางต้นไม้ ส่วนยาเส้นนำไปทําน้ําหมักยาฆ่าแมลง ที่น่าประทับใจคือ ยังใช้น้ำหมักจากยาเส้นมาย้อมผ้าลายไทย

    ผู้พัฒนาเครื่องปั่นบุหรี่

    เจ้าของความคิดใช้น้้ำหมักยาเส้นย้อมผ้า

    “น้องสรรพสามิตภาค 9 คิดขึ้นเอง และตอนนี้คนมาสั่งซื้อผ้าเยอะ นี่คือเป็น zero waste จริงๆ คิดจากกรมสรรพสามิตไม่ใช่ผมคิด น้องๆกรมสรรพสามิตคิด ตอนนี้กรมสรรพสามิตได้ทําเครื่องปั่นบุหรี่แจกทุกภาคแล้ว” ดร.เอกนิติกล่าว

    ด้าน Governance กรมสรรพสามิตได้พัฒนา การสแกน Stamp เพื่อตรวจสอบว่าเป็นเหล้าปลอม บุหรี่ปลอมหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องสุขภาพรวมทั้งจัดการเรื่องร้องเรียน zero waste ที่สำคัญกรมสรรพสามิตได้รางวัลนวัตกรรมดีเด่นแห่งชาติเรื่อง ESG

    เดินหน้าสู่ Net Zero ปี 2050

    ดร.เอกนิติกล่าวว่า กรมสรรพสามิตเดินหน้าสู่ net zero ด้วยการวัดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของกรม เพื่อคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งเป้าหมายและกลยุทธ์ที่ชัดเจน ประกอบด้วย มุมมองทางการเงิน เพื่อวัดว่าจะประหยัดพลังงานได้เท่าไร จะลดต้นทุนให้ประเทศเท่าไร มุมมองลูกค้า จะเปิดโอกาสให้เข้าสู่ supply chain มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสเข้าตลาดที่ใหญ่ขึ้น มุมมอง
    กระบวนการภายใน มีใช้วัสดุที่ยั่งยืน ปรับปรุงการขนส่ง เปลี่ยนไปใช้การดำเนินงานที่ไม่มีเอกสาร จัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ
    และมุมมองการเรียนรู้ ให้ความรู้และฝึกอบรมพนักงาน “คนข้างในจะต้องซึมซับกับเรื่อง ESG” และมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

    “เรามี ESG One Day และประกวดว่าแต่ละวัน ทำอะไรในเรื่อง ESG ทําอะไรบ้าง เป็นการดำเนินการภายใน เพื่อสร้างให้เกิดจากข้างใน” ดร.เอกนิติกล่าว

    ดร.เอกนิติกล่าวว่า กรมสรรพสามิตปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 12,848 ตัน ซึ่ง 67% มาจากการใช้พลังงานไฟฟ้า 19.5% มาจากการใช้น้ํามัน 12.2% มาจากการใช้แอร์ 8.3% ที่เหลือคือการจัดการของเสีย

    “ประเทศไทยเราประกาศว่า ภายในปี 2030 จะลดก๊าซเรือนกระจกได้ 30-30% แต่กรมสรรพสามิตทําแผนแล้วว่าเราจะลด 50% แม้ปล่อย 12,848 ตันเทียบกับ 312 ล้านตันคาร์บอน ห่างมาก แต่เราต้องทําให้ได้ ประเทศไทยประกาศ net zero ปี 2065 กรมสรรพสามิตจะทำให้ได้ในปี 2050 เท่ากับ EU” ดร.เอกนิติกล่าว

    กรมสรรพสามิตมีการวางแผนอย่างชัดเจน ตามมาตรฐานสากล มีการวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามเกณฑ์ Science Based Targets initiative (SBTi) ทั้ง scope 1 การปล่อยจากกิจกรรมของกรมโดยตรงคือ การใช้น้ํามัน รถยนต์ส่วนกลางจะเปลี่ยนเป็น EV การใช้สารทำความเย็นจะเป็นเปลี่ยน R32 ให้หมด ส่วน scope2 จะเป็นการใช้ไฟฟ้ามาเป็นโซลาร์ เปลี่ยน smart lighting จะเปลี่ยนคอมพิวเตอร์(PC) เป็น แล็ปท็อป ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า PC มาก

    ส่วนการจัดการของเสียจะกําจัดให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการทำงานแบบ paperless และส่งเสริมพันธมิตรไปสู่ green supply chain เพื่อให้เปิดโอกาสตลาดมากขึ้น ซึ่งจะเริ่มจากน้ํามันก่อน ในเรื่องภาษี คาร์บอน

    “เราประกาศ net zero เราจะทำให้ได้ ภายใน 2050 เราเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย เราต้องช่วยกัน เราผ่านมาเยอะ มีอุปสรรคเยอะ ต้องให้เครดิตพี่ๆน้องๆสรรพสามิต” ดร.เอกนิติกล่าว