“สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” พื้นที่นำร่องในการผลักดันคลัสเตอร์อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำโดยมีภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาครัฐในรูปแบบ PPP (Public-Private-People Partnerships) กับเป้าหมายหลักคือสร้างความยั่งยืนให้ภาคอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

เหตุผลที่ SCG ปักหมุดสระบุรีเนื่องจากจังหวัดสระบุรีเป็นแหล่งผลิตปูนซีเมนต์ใหญ่ที่สุดในประเทศคิดเป็นร้อยละ 80 ของกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ของไทย ขณะเดียวกัน เอสซีจีในฐานะผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ของประเทศ ต้องมุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืน โดยเฉพาะเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และความเป็นกลางทางคาร์บอน จึงต้องเร่งปลดล็อกและเพิ่มศักยภาพให้จังหวัดสระบุรีสามารถคลายกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนเทคโนโลยีหรือการบริหารจัดการ
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ภารกิจของเอสซีจีคือการเร่งเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำซึ่งเริ่มต้นจากการระดมสมองผู้เกี่ยวข้องกว่า 500 คนในงาน ESG Symposium 2023 ออกมาเป็นข้อเสนอ 4 แนวทางในการกู้วิกฤติโลกเดือดซึ่งมีความคืบหน้าที่สำคัญ เช่น ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ ให้เป็นปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ส่งเสริมเกษตรกรให้มีอาชีพ-รายได้เพิ่มด้วยการปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนสนับสนุนการทำนาเปียกสลับแห้ง ลดใช้น้ำ ใช้ปุ๋ย และลดคาร์บอน ผลักดันการจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านการขยายผลตาลเดี่ยวโมเดล รวมทั้งขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะ ถังขยะเปียกลดโลกร้อน เสริมแกร่งเครือข่ายป่าชุมชน 38 แห่ง ต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ติดตั้ง solar carport ที่ศูนย์ราชการ จ.สระบุรี
โดยสระบุรีแซนด์บ็อกซ์เป็นหนึ่งในข้อเสนอของภาคเอกชน ที่เน้นทำงานแบบบูรณาการ (open collaboration) มี 3 หัวใจหลัก คือ
นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า “การเปลี่ยนจังหวัดสระบุรี เมืองอุตสาหกรรมของประเทศ ให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทยเป็นเรื่องท้าทายมาก แต่เราก็ทำได้ด้วยโมเดล PPP หรือ public-private partnership ที่ทุกภาคส่วนเห็นเป้าหมายเดียวกันและพร้อมขับเคลื่อนไปด้วยกัน เห็นชัดจากการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้จัดการวัสดุเหลือใช้ทั่วทั้งจังหวัด”
พร้อมยกตัวอย่างโครงการต่างๆ เช่น โครงการธนาคารขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนชุมชนคัดแยกขยะครัวเรือนตั้งแต่ต้นทางปัจจุบันดำเนินการครบทั้ง 108 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกิดเป็นกองทุนธนาคารขยะ 123 กองทุน ขณะเดียวกันช่วยลดภาระงบประมาณการจัดเก็บและขนย้ายขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกด้วย โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน มีคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) จำนวน 3,495 ตัน CO2 เทียบเท่า สร้างรายได้ให้ชุมชนเกือบ 1 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์ เพื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ได้ปลดล็อกด้วยการให้ความรู้แก่เกษตรกรเป็นตัวกลางเชื่อมให้ภาคอุตสาหกรรมมารับซื้อ สร้างความมั่นใจในด้านรายได้ให้เกษตรกร ปัจจุบันปลูกแล้วกว่า 100 ไร่ ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี คาดว่าสามารถแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนได้ 2,100 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกร 2.5 ล้านบาทต่อปีลดการปล่อยคาร์บอนได้ 2,500 ตัน CO2 เทียบเท่า
ทั้งนี้ สระบุรีแซนด์บ็อกซ์เข้าร่วมโครงการ “Transitioning Industrial Clusters” ขององค์กรระดับโลก World Economic Forum โดยเป็นคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมแรกของไทยที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจมีการจ้างงาน พร้อมกับลดคาร์บอนและมี 3 ภาคีหลักที่เป็นผู้ก่อตั้งและผลักดันจนเกิดความคืบหน้า ได้แก่ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรีและจังหวัดสระบุรี ทั้งยังทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆ กว่า 20 องค์กรและ 7 กระทรวง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน 5 ด้านตาม Nationally Determined Contributions (NDCs) ได้แก่ พลังงานและการขนส่ง กระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ การจัดการของเสียเกษตรกรรมรวมทั้งการใช้ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและป่าไม้

นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวว่า ฐานกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ของประเทศกว่าร้อยละ 80 อยู่ที่สระบุรี ทำให้เป็นเสมือนบ้านของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จึงร่วมกับทุกภาคส่วนเร่งเปลี่ยนสระบุรีให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย เริ่มจากพัฒนาปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก) ที่ลดการปล่อยคาร์บอนจากการผลิต และสนับสนุนให้ใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์สูงถึงกว่าร้อยละ 80 ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 1,169,673 ตัน CO2 (ข้อมูลสะสมมกราคม 2565 ถึงมีนาคม 2567)
นายชนะให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยตั้งเป้าเป็นประเทศแรกในเอเชียที่จะไม่มีปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ภายในปี 2568 อีกทั้งมีแผนการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำประเภทใหม่ๆ ที่ลดการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตได้มากขึ้น
นายชนะกล่าวถึงแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดว่า ทุกภาคส่วนได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย Princeton ซึ่งมีความชำนาญและเครื่องมือในการจัดทำแผน energy transition ของสหรัฐอเมริกาโดยร่วมกันประเมินเส้นฐาน (baseline) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและกำหนด energy roadmap ของ จ.สระบุรี รวมถึงประเมินแนวทางการใช้พื้นที่ของจังหวัดฯ ทำเป็น solar PV พลังงานสะอาดเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและลดค่าใช้จ่ายดำเนินงาน

นายชนะกล่าวต่อว่า ภาครัฐควรเร่งพัฒนา green infrastructure รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของประเทศ โดยศึกษากระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงานของจีน ที่มีการแบ่งลำดับขั้นตามความพร้อมของแต่ละอุตสาหกรรม รวมถึงตัวอย่างของไต้หวันที่มีโครงสร้างไฟฟ้าแบบการประมูลรายวัน ซึ่งปัจจุบันมีความร่วมมือกับทั้ง 2 ประเทศในการพัฒนา Grid Modernization ในสระบุรีแซนด์บ็อกซ์
ด้านนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านของผู้ประกอบการรายย่อยว่า “ความท้าทายของผู้ประกอบการรายย่อยไทยต่อจากนี้ คือการปรับธุรกิจให้เข้ากับกฎเกณฑ์ใหม่ ที่เกิดจากประเด็นความห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป เช่น Thailand Taxonomy มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย หรือ CBAM มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรปซึ่งเป็นเสมือนกำแพงทางการค้า ธุรกิจที่ปรับตัวได้ก่อนจะก้าวข้ามข้อจำกัดดังกล่าว และพาธุรกิจอยู่รอดได้เร็ว”

นายแสงชัยกล่าวต่อว่า สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยได้สนับสนุน SMEs ให้เข้าถึงความรู้มาตรฐานใหม่ๆ เทคโนโลยีกระบวนการผลิตเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม แหล่งเงินทุนสีเขียวทั้งในและนอกประเทศสำหรับใช้ในการปรับธุรกิจ เน้นสร้างกลไกเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ เพิ่มโอกาสเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากมาตรการต่างๆ ทั้งด้านการเงิน ส่งเสริมความรู้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม การทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนั้น ยังต้องขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อช่วย SMEs ให้ร่วมยกระดับเศรษฐกิจฐานรากสู่ความยั่งยืน