
วันที่ 13 กันยายน 2567 สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้จัดงานเสวนาเนื่องในโอกาสดำเนินงานขึ้นสู่ปีที่ 14 ในหัวข้อ “Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก…Power of Partnership จับมือไว้ ไปด้วยกัน” โดยมีการแสดงปาฐกถาพิเศษจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “ท้องถิ่นที่สากล: อนาคตประเทศไทย Globally Competitive Localism: Future of Thailand”, ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในหัวข้อ “คนจนลดลง ภาพลวงตาของไทย ทางออกคือ? Move Forward, Just Do It”, ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในหัวข้อ “สร้างเศรษฐกิจฐานรากอย่างมีส่วนร่วม…Big Heart Big Impact” พร้อมกับเสวนา “Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน” จากต้นแบบความสำเร็จการร่วมมือระหว่างองค์กรกับคนตัวเล็ก เพื่อพัฒนาต่อยอดและขับเคลื่อนพลังท้องถิ่น ให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ต่อเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างมีศักยภาพ โดยนายบวร วรรณศรีผู้จัดการรัฐกิจชุมชนสัมพันธ์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด, นายชาญ อุทธิยะ ที่ปรึกษาสมาคมเพื่อการเรียนรู้ป่าชุมชนจังหวัดลำปาง, นายชยานนท์ ทรัพยากร ผู้จัดการฝ่ายวางแผนองค์กร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, นายอภิศักดิ์ แซ่หลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลัลณ์ลลิล โบโอเทค จำกัด, นายสมชาย อาภรณ์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน สายงานพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs Startup, นางสาวสุวภี อุ่มไกร รองประธานกล่มวิสาหกิจชมชนสวนบัวโฮมสเตย์, นายประเสริฐ ปิ่นนาค พนักงานพัฒนาลูกค้า 8 ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), นางสาวสิริกาญจน์ รุ่งแจ้ง วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 บ้านเต่าไหเหนือ, นายมนัทพงศ์ เซ่งฮวด วิสาหกิจชุมชนกระจูดวรรณี และ รศ. ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย กลุ่มเลน้อยคราฟ
………….
เสวนา “Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน” ในตอนนี้เป็นความร่วมมือระหว่างนายมนัทพงศ์ เซ่งฮวด วิสาหกิจชุมชนกระจูดวรรณี และรศ. ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย กลุ่มเลน้อยคราฟ

โมเดลแก้จน “กระจูดวรรณี”
นายมนัทพงศ์ เซ่งฮวด วิสาหกิจชุมชนกระจูดวรรณี กล่าวว่า ปัญหาเดิมของวิสาหกิจชุมชนกระจูดวรรณีคือ ชาวบ้านขายกระจูดได้ราคาถูก ไม่มีแรงจูงใจ ทำงานทั้งวันสานเสื่อกระจูดได้ 100 บาทต่อผืน ยังไม่นับต้นทุนต่างๆ และต่อให้ทำงานทั้งวันก็ไม่มีโอกาสรวย ไม่มีเงินเก็บ
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จึงทำโครงการวิจัยและพัฒนาการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ โดยเลือกพื้นที่จังหวัดพัทลุง เพื่อพัฒนาโมเดลแก้จน หรือ “กระจูดแก้จน” เป็นโครงการนำร่องในพื้นที่ ทั้งด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมให้ชาวบ้านพัฒนาการออกแบบ ต่อยอดทุนความคิด ทุนสร้างสรรค์ นำเอาความรู้ที่สะสมมารุ่นต่อรุ่นมาสร้างความแปลกใหม่ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ที่สำคัญ สินค้าต้องพัฒนาขึ้นมาโดยยึดหลักการสร้างแบรนด์และดีไซน์ ส่งเสริมอัตลักษณ์สินค้า
“ถ้าเราไม่ต่อยอดองค์ความรู้ จะมีแต่ผู้สูงอายุสานเสื่อ อาชีพนี้จะค่อยๆ หายไป เพราะคนรุ่นใหม่ไม่สานต่อ ไม่สามารถสร้างอาชีพได้ ครัวเรือนอยู่รอดไม่ได้”
“เรากลับมาศึกษาว่าชาวบ้านมีความพร้อมด้านไหนบ้าง ภูมิปัญญาขาดอะไรก็มาแก้ไข ศึกษาวัตถุดิบ พอเห็นว่ากระจูดไม่เพียงพอก็ส่งเสริมให้เขาปลูกเพิ่มเติม พัฒนาเรื่องการปลูก ส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชน และเป็นพี่เลี้ยงให้หลายโครงการ อย่างกระจูดแก้จน ส่งเสริมให้กลุ่มอาชีพชาวบ้านยากจนมาเรียนรู้และบ่มเพาะทักษะต่างๆ”
นายมนัทพงศ์กล่าวต่อว่า วิสาหกิจฯ ได้เข้าไปสอนเด็กในสถานพินิจ เพื่อให้มีรายได้ระหว่างอยู่ในสถานพินิจ เมื่อออกข้างนอกจะได้มีอาชีพ เอาทักษะไปใช้สร้างรายได้
“เราพัฒนาจากเสื่อธรรมดาเป็นเสื่อส่งออกหลายประเทศ ปัจจุบันส่งออกไปญี่ปุ่น จีน สต็อกโฮล์ม ฝรั่งเศส มีความหลากหลายมากขึ้น โมเดิร์นมากขึ้น เจาะกลุ่มวัยรุ่นวัยทำงาน ต่อยอดไปกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง และมีวางจำหน่ายในคิงเพาเวอร์ ไอคอนสยาม พารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลชิดลม”
“เราต่อยอดกระเป๋าหลักร้อยเป็นหลักพัน ขายเฟอร์นิเจอร์หลักหมื่นให้กลุ่มโรงแรม จากชาวบ้านสานเสื่อผืนละ 100 ขายไม่ได้ พอดีไซน์ใหม่เป็นวอลเปเปอร์ขายตารางเมตรละ 1500 บาท”
นายมนัทพงศ์ย้ำว่า การพัฒนาต้องเน้นการมีส่วนร่วม ให้ชุมชนมีความพร้อมและความภาคภูมิใจ ผ่านดึงกลุ่มลูกหลานมากทำงานมากขึ้น ทั้งด้านการตลาด การสื่อสาร การตลาดออนไลน์ ฯลฯ
“เราต้องทำที่บ้านให้ดีที่สุด เลยเปิดบ้านให้คนมาเที่ยว เปิดที่พักโฮมสเตย์ให้มาซื้อสินค้าและเรียนรู้ภูมิปัญญาชุมชน กลายเป็นนักท่องเที่ยวจ่ายเงินมาซื้อสินค้า ซื้อข้าว ของกินของฝากกลับไป มีรายได้กลับมามากขึ้นในชุมชน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ”
เมื่อวิสาหกิจชุมชนกระจูดวรรณีประสบความสำเร็จ จึงสร้างการมีส่วนร่วมโดยดึงเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนอีก 5 เครือข่ายเข้ามาทำงานร่วมกัน ทำให้สมาชิกกว่า 250 ครัวเรือนที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

‘เลน้อยคราฟ’ พลังความร่วมมือ บพท. และ ม.ทักษิณ
‘กลุ่มเลน้อยคราฟ’ หนึ่งในกลุ่มเครือข่ายที่ได้เข้าร่วมโครงการกระจูดแก้จน เป็นอีกตัวอย่างของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย รศ. ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย ตัวแทนกลุ่มเลน้อยคราฟ และอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า กลุ่มเลน้อยคราฟตั้งอยู่ที่ชุมชนทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โดยเป็นการรวมตัวกันของผู้มีรายได้น้อย และมีการทำเพจ นำสินค้าไปขายในช่องทางออนไลน์ ไลฟ์สด จนทุกวันนี้เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น
รศ. ดร.พรพันธุ์เล่าว่า แม้ชุมชนจะมีภูมิปัญญาการจักสาน แต่ราคากระจูดในพื้นที่กลับขายได้ราคาต่ำ จากที่เคยขายได้ 55-60 บาทต่อกรัม เหลือ 10 บาทต่อกรัม อีกทั้งชาวบ้านในพื้นที่เป็นผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน และประสบปัญญาหนี้นอกระบบ
รศ. ดร.พรพันธุ์กล่าวต่อว่า ทีมวิจัยลงพื้นที่ดูคนจนในพื้นที่ และเห็นบางครอบครัวที่กลับมาจน บางครอบครัวแตกแยก ลูกเอาหลานมาให้พ่อแม่ที่สูงอายุเลี้ยง หรือคนพิการที่ต้องขายกระจูดราคาถูก
บพท. จึงร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่อย่างมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตและรายได้ให้ชาวบ้านในพื้นที่ โดยนำโมเดลวิสาหกิจชุมชนกระจูดวรรณีที่ประสบความสำเร็จมาแล้วมาเป็นพี่เลี้ยง
“ปีที่ 1 ได้กระจูดวรรณีเป็นพี่เลี้ยง ปีที่ 2 ให้เขาสอนกันเองและจดวิสาหกิจ ปีที่ 3 ใช้นักพัฒนาในพื้นที่เป็นกลุ่ม ปีที่ 4 เริ่มค้นหากลุ่มที่หลากหลาย และใช้ตลาดนำการผลิต ใช้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการตลาด ทำให้สินค้าขายได้”
หัวใจสำคัญคือ การใช้ตลาดนำการผลิต โดยพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด แม้กลุ่มเลน้อยคราฟจะต้องการสร้างสินค้าสีเขียว (green product) แต่ตลาดต้องการสินค้าที่มีสีสัน ก็เป็นความท้าทายว่าจะพัฒนาสินค้าอย่างไร
“ตอนนี้ใช้กระจูดที่สานจากกระเป๋าเป็นเส้นใยกระจูดที่ทำออกมาเป็นผ้า และเศษเหลือจากเส้นใยทำเป็นวอลเปเปอร์ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ก็ต้องไปควบคู่กันด้วย พัฒนาเส้นใยใหม่ๆ จากวัชพืชด้วย”
“เราต้องต่อสู้กับวิธีคิดของผู้บริโภคด้วย…เราจะลองอีกปีว่า ถ้าเราใช้ตลาดนำการผลิตและมีเครือข่ายสนับสนุนสินค้า มันจะไปได้ไหม และปีนี้พัฒนาต่อยอดกระจูด เพื่อให้เป็นธนาคารกระจูดสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยทักษิณ”