ThaiPublica > คนในข่าว > “กมลภพ วีระพละ” ภารกิจ ธอส. ยุคเศรษฐกิจโตต่ำ ต้อง ‘รักษาบ้านให้คนไทย’ และ ‘อัดฉีดอสังหาฯ’

“กมลภพ วีระพละ” ภารกิจ ธอส. ยุคเศรษฐกิจโตต่ำ ต้อง ‘รักษาบ้านให้คนไทย’ และ ‘อัดฉีดอสังหาฯ’

31 กรกฎาคม 2024


นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

สิ้นปี 2566 (28 ธันวาคม 2566) นายกมลภพ วีระพละ รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) คนที่ 14 ต่อจากนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการคนที่ 13 ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ตั้งแต่ปี 2559 ธอส. เริ่มใช้สโลแกน “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ทว่าท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่การเติบโตประมาณ 2% ในปัจจุบัน นายกมลภพ มองว่า ธอส. ต้องไม่ใช่แค่ทำให้คนไทยมีบ้าน แต่ต้อง “รักษาบ้านให้คนไทย” ควบคู่ไปกับการดำเนินตามนโยบายรัฐบาล ในฐานะรัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ตาม พ.ร.บ. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496

สิ่งที่ ธอส. ดำเนินการจึงประกอบด้วย 2 ขา คือ (1) การดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล และ (2) การดำเนินธุรกิจสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการทำให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ ขณะเดียวกันยังมีแรงกดดันเรื่องความยั่งยืน (sustainability) ทั้งมิติสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งเป็นประเด็นที่ธนาคารของรัฐก็ต้องทำควบคู่กันไป

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า สัมภาษณ์กับ นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธอส. ถึงผลการดำเนินงานต่างๆ ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ความท้าทายในการบริหาร ตลอดจนบทบาทธอส.ต่อเศรษฐกิจ และการเงินสีเขียว

บทบาท ธอส. ต่อเศรษฐกิจไทย inject เงิน กระตุ้นภาคอสังหาฯ

ในฐานะธนาคารของรัฐ จำเป็นที่จะต้องเป็นแขนขารองรับนโยบายในบางช่วงบางตอนที่จำเป็น ตัวอย่างเช่น หลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ณ เวลานั้น ธอส. เป็นเครื่องมือช่วยฟื้นฟูธุรกิจที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ จากนั้นผ่านมารัฐบาลมาหลายยุค บทบาทของ ธอส. มีตั้งแต่การประนอมหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับลูกค้าผู้กู้เงินซื้อบ้าน และการออกโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่สอดรับกับนโยบายรัฐบาล

“ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ภาคเอกชนจะระมัดระวังการปล่อย (สินเชื่อ) มากขึ้น ยิ่งเศรษฐกิจชะลอตัว เรายิ่งต้องมีส่วนสนับสนุนให้ภาคอสังหาขยายตัว…เป็นหน้าที่ ธอส. ต้องมีส่วนร่วมสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เราใส่เงินผ่านสินเชื่อที่อยู่อาศัย ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นพื้นฐานสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้”

ในภาพใหญ่ นายกมลภพ กล่าวว่า ธอส.ปล่อยสินเชื่อให้แก้ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ (developer) ในกลุ่มบ้านที่สร้างแล้วแต่เหลือในสต็อก เพื่อให้ผู้พัฒนาโครงการสามารถเดินต่อไปได้และพัฒนาโครงการใหม่ๆ ให้เศรษฐกิจขยายตัว ไม่หยุดนิ่ง

“การปล่อยสินเชื่อในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ตั้งเป้าไม่ต่ำกว่า 170,000 ล้านบาท ทำให้ ธอส. พุ่งเป้าไปที่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง รวมถึงกลุ่มที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ นอกจากนี้ ธอส. ได้ปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้าที่วงเงินมากกว่า 10 ล้านบาทเพิ่ม เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีเงื่อนไขการให้สินเชื่อที่รัดกุมมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าภายใต้ภาวะเศรษฐกิจดังกล่าวและสถานการณ์หนี้เสีย (NPL) ธอส.ต้องเข้าไปช่วยทุกกลุ่ม”

ตัวอย่างโครงการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐที่สำคัญ ดังนี้

  • โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ (โครงการบ้านล้านหลัง ระยะ 3) กรอบวงเงินสินเชื่อรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน โดยให้สิทธิกับผู้ที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 25,000 บาทเข้าร่วมโครงการเป็นลำดับแรก เริ่มเปิดให้บริการสินเชื่อตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 มียอดสินเชื่อลูกค้าทำนิติกรรมสะสม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 13,680 บัญชี วงเงิน 14,080.52 ล้านบาท
  • โครงการบ้านเอื้ออาทร เป็นการแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง รวมถึงข้าราชการชั้นผู้น้อยและพนักงานหน่วยงานของรัฐ รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการเคหะแห่งชาติจัดสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาที่สามารถรับภาระได้ โดยมียอดสินเชื่อลูกค้าทำนิติกรรมสะสม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 224,400 บัญชี เป็นเงิน 90,794.68 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ ได้แก่ โครงการบ้านคนไทยประชารัฐบนที่ดินราชพัสดุ, มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน, โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2566, โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับลูกค้ารายย่อย, โครงการ Financial Literacy สำหรับผู้สูงอายุ ปี 2566, โครงการสินเชื่อชำระหนี้ค่าไถ่ถอนการขายฝากที่อยู่อาศัย, สินเชื่อสำหรับผู้มีรายได้น้อย, โครงการบ้าน ธอส. เพื่อสานรัก ปี 2566, โครงการบ้าน ธอส. เพื่อคุณ ปี 2566, โครงการบ้าน ธอส. เพื่อสานสุข ปี 2566 และ โครงการบ้าน ธอส. เพื่อสร้างสุข ปี 2566

  • ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล และ ก.คลัง มุ่งสู่ Sustainable Bank
  • ธอส. แจงผลงาน 4 เดือนแรกปี 2567 ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 47,784 ล้านบาท
  • ยืดอายุผู้กู้สูงสุด 85 ปี จ่ายงวดน้อยลง เหลือเงินในกระเป๋า

    นายกมลภพกล่าวถึงพันธกิจของ ธอส. ว่าด้วยนโยบายที่ต้องการให้คนไทยมีบ้านและช่วยรักษาบ้านให้คนไทยว่าจะเน้นไปที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก ด้วยบทบาทหน้าที่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ยิ่งต้องให้ความสนใจ และต้องปรับเงื่อนไขให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ได้มากที่สุด

    “เราดูแล เราผ่อนปรนเงื่อนไขให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้เขาเข้าสู่แหล่งเงินทุนได้ ด้วยของพนักงานเรา ถ้ามีลูกค้าเข้ามา เราก็พยายามปล่อยให้ได้ ถ้าไม่ได้ ก็จะแนะนำว่าจะต้องเตรียมเอกสารหรือทำอะไร ถ้าไม่หนักจริงๆ ก็กู้ได้ ไม่มีนโยบายไม่ให้กู้”

    วิธีการของ ธอส. ที่ช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้นคือ ขยายเวลาอายุผู้กู้ออกไปเป็น 80 ปีสำหรับบุคคลทั่วไป และ 85 ปีสำหรับข้าราชการเกษียณอายุจากเดิมไม่เกิน 70 ปี หรือ 75 ปี ตามลำดับ

    นายกมลภพ กล่าวต่อว่าการขยายระยะเวลาการให้กู้ดังกล่าว จะทำให้เงินงวดในการผ่อนชำระรายเดือนของลูกค้าลดลง ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มศักยภาพในการผ่อนชำระเงินงวด และช่วยลูกค้าให้ยังคงสามารถรักษาบ้านของตนเองไว้ได้ต่อไป

    นายกมลภพ กล่าวต่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้แนวทางพิจารณาการผ่อนปรนหนี้ตามศักยภาพของลูกหนี้ ซึ่ง ธอส. เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว โดยเบื้องต้นอาจจะคิดดอกเบี้ยเพียง 0% ต่อเนื่อง 4 เดือน หรือให้ชำระขั้นต่ำที่ 1,000 บาท โดยเริ่มดำเนินการร่วมกับบุคลากรในกองทัพอากาศ และจะขยายไปอีก 3 เหล่าทัพในอนาคต

    “เจตนารมณ์ไม่ได้อยากให้เป็นหนี้จนแก้จนเฒ่า แต่วัตถุประสงค์คือ การปรับโครงสร้างหนี้ เช่น จ่ายงวดผ่อนเดือนละ 3,000 บาท เต็มที่ขยายจน 70 ปี ก็ยัง 3,000 บาท วิธีเดียวที่จะลดภาระงวดผ่อนลงอีก 500 บาท หรือ 1,000 บาท คือขยายระยะเวลา ยืดออกไปอีกเราเลยทลายกำแพงนี้ เราจุดประกายให้กับธนาคารทุกแห่ง คุณทำแบบนี้สิ มีแต่ช่วยผู้ประสบปัญหาให้ลดภาระลงได้”

    “แต่จากข้อมูล ถ้าลูกค้ามีความสามารถในการชำระหนี้ เขาก็เทหมด อย่างเงินกู้ 30 ปี ค่าเฉลี่ยไม่เกิน 12 ปีหมด ไม่มีใครอยากเป็นหนี้จนอายุ 80”

    ‘โรงเรียนการเงิน’ ทางแก้จุดอ่อนคนกู้ไม่ผ่าน-ไม่มี statement

    อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของ ธอส. คือการไม่ปฏิเสธคนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมักจะไม่มีหลักฐานรายรับทางการเงินและรายการเดินบัญชีธนาคาร (statement)

    “ลูกค้าที่กู้ไม่ได้มีเพนพ้อยส่วนใหญ่คือไม่มี statement ไม่เคยเดินบัญชี อาชีพอิสระรับเงินสดจ่ายเงินสด เพนพ้อยผู้มีรายได้น้อย ไม่ค่อยมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่ามีเงินจริงหรือเปล่า บางคนรับเงินสด เขาอาจมีเงินเก็บใส่กระป๋องที่บ้าน”

    ธอส. จึงจัดตั้ง “โรงเรียนการเงิน” เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มที่มีข้อจำกัดสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น โดยเป็นโครงการสินเชื่อสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ประกอบอาชีพประจำหรืออาชีพอิสระ ผู้ที่ไม่มีเอกสารแสดงรายได้ชัดเจน ผู้ที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อ และนักศึกษาจบใหม่ที่ยังไม่มีประวัติ แต่ต้องเข้าร่วมโครงการ และต้องฝากเงินอย่างสม่ำเสมอไม่น้อยกว่าเงินงวด ตามวงเงินที่ลูกค้าสามารถกู้ได้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 12 เดือน (ทุกบัญชีรวมกัน) เพื่อนำหลักฐานการออมเงินดังกล่าวมาใช้สำหรับยื่นขอสินเชื่อกับ ธอส. ในอนาคต

    “นี่คือแนวทางดูแลลูกค้าเป้าหมายที่ยื่นกู้แล้วยังไม่ผ่าน เวลากู้ไม่ผ่าน แทนที่จะบ๊ายบาย ไม่ใช่ ให้มาเข้าโรงเรียนการเงินก่อน เราไม่เคยปล่่อยพวกเขาไปไหน ดูแลเพื่อให้เขามีบ้านได้จริง”

    ทั้งนี้ โรงเรียนการเงิน เป็นฟังก์ชั่นหนึ่งในแอปพลิเคชั่น GHB ALL GEN ที่มีฐานผู้ใช้งานกว่า 1.3 ล้านราย

    นายกมลภพ กล่าวต่อว่า โรงเรียนการเงินเป็นการสอนเรื่องการเงินเบื้องต้น ตั้งแต่รายรับ รายจ่าย การออม เงินฝาก ดอกเบี้ย แล้วนำเงินมาฝากกับ ธอส. เพื่อเป็นหลักฐานยืนยัน ที่สำคัญคือต้องทำผ่านเทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยตั้งเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 30,000 คน

    “ทุกคนเก่งเรื่องแอปบอกว่าคนต่างจังหวัดไม่ใช้แอป ไม่จริง ผมจำได้ว่าตอนเราเริ่มให้ชำระเงินผ่านแอป มีคนถามว่าผู้มีรายได้น้อยใช้มือถือเป็นหรือ แต่ตอนนี้ 90% ของลูกค้าชำระผ่านแอปหมด ทั้งที่เขามีรายได้น้อย เพียงแต่สอนให้ง่ายๆ ไม่ต้องมานั่งจด ไม่กู้ไม่เป็นไร ถ้ากู้ก็มีเครดิต”

    “บัญชีจะบอกเองว่ารายรับรายจ่ายเหลือเท่าไร ผ่านไป 6 เดือน แอปก็ประมวลผลได้ว่าถ้าทำแบบนี้อีก 6-12 เดือน เขาจะกู้ได้เท่าไร และ transaction เป็น statement เราก็ให้กู้ได้”

    นายกมลภพ กล่าวต่อว่า ข้อดีของโรงเรียนการเงินคือสร้างวินัยทางการเงินให้คนรู้จักออม ยิ่งกว่านั้นเป็นเงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง ทำให้คนเห็นว่าได้ดอกเบี้ยจริง และอยากเก็บออมเงินไปเรื่อยๆ

    นอกจากนี้กลุ่มนักศึกษาจบใหม่หรือที่เป็นหนี้ กยศ. คนขายลอตเตอรี่ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือพ่อค้าแม่ค้าในตลาด ธอส. เห็นว่าบางคนมีวินัยทางการเงิน และมีไม่น้อยที่มีเงินสดเก็บไว้ เช่น คนขายลอตเตอรี่มี cash flow เดือนละสองครั้ง จึงอยากให้แต้มต่อกับคนกลุ่มนี้โดยให้เข้าโครงการโรงเรียนการเงิน สร้างเครดิตให้ตัวเองและมีบ้านเป็นของตัวเอง

    2.4 แสนล้าน เป้าหมาย 3 ปี Green Finance

    สำหรับจุดเริ่มต้นในมิติการเงินสีเขียว (Green Finance) เดือนธันวาคม 2565 ได้มีการระดมทุนด้านความยั่งยืนครั้งแรก ออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) 8,500 ล้าน โดยนำเงินที่ได้จากการระดมทุนมาจัดสรรชำระหนี้คืนบางส่วนในโครงการเพื่อพัฒนาสังคม (social project) จำนวน 7,650 ล้านบาท และอีก 850 ล้านบาทมาปล่อยกู้ในโครงการเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (green project) ส่วนปี 2566 ออกพันธบัตรเพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) 4,000 ล้านบาท

    ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 ธอส. สามารถปล่อยสินเชื่อได้รวมกว่า 90,000 ล้านบาท หรือ 40% ของเป้าหมาย และตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2567 จะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 242,544 ล้านบาท ผ่านสินเชื่อ 4 โครงการ คือ

  • สินเชื่อ Solar Roof สำหรับลูกค้าที่ต้องการซื้ออุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย ที่เป็น Solar Roof เท่านั้น
  • สินเชื่อบ้านเบอร์ 5 สำหรับลูกค้าที่ต้องการซื้อที่ดินพร้อมอาคาร โครงการบ้านจัดสรรที่ผ่านการรับรองคุณสมบัติบ้านเบอร์ 5 จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ  ปลูกสร้าง หรือ ซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้าง โดยใช้แบบบ้านประหยัดพลังงาน ที่ผ่านการรับรองบ้านเบอร์ 5 จาก กฟผ.
  • สินเชื่อบ้านอยู่เย็น เป็นสุข สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อ ปลูกสร้าง และปรับปรุงที่อยู่อาศัยที่ช่วยประหยัดพลังงาน
  • โครงการสินเชื่อเพื่ออาคารคาร์บอนต่ำ ปี 2567 สำหรับผู้ประกอบการที่ก่อสร้างที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงาน
  • นายกมลภพ กล่าวต่อว่า ปี 2567 ธอส. ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อกรีน 10,000 ล้านบาท และกำหนดเกณฑ์ว่าสินเชื่อที่ปล่อยทั้งหมด ต้องเป็น ‘กรีน’ ไม่น้อยกว่า 21%

    อย่างไรก็ดี ในประเด็น ‘กรีน’ ธอส. จะไปจับกับผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เป็นส่วนใหญ่ โดยเน้นไปที่วัสดุคาร์บอนต่ำ หรือเป็นบ้านประหยัดพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุผนัง หลังคา โครงสร้าง/การออกแบบ อุปกรณ์และวัสดุอื่นๆ และอุปกรณ์พลังงานทดแทน ส่วนคนทั่วไปจะกู้เงินทำโซลาร์รูฟและบ้านประหยัดพลังงาน

    ส่วนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร (Decarbonization) ธอส. มีโครงการจัดทำหลังคาจอดรถพลังงานแสงอาทิตย์ เสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 และโครงการจัดทำระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2566 สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 35.37 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

    ตลอดจนใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกรรม เช่น Loan Documentation Process ลงนามสัญญาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การลดการจัดทำแคชเชียร์เช็คเงินกู้ และการจัดเก็บ Copy File Electronic แทนเอกสารสิทธิต้นฉบับ โดยปี 2567 มีสัดส่วนธุรกรรมทางออนไลน์ (Digital Transaction) คิดเป็น 89.75% ของธุรกรรมทั้งหมด

    เข้าถึงแหล่งทุนผ่านเทคโนโลยี

    นายกมลภพ ย้ำว่า บทบาทการลดความเหลื่อมล้ำคือการทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม และต้องมีช่องทางที่ให้คนเข้าถึงได้โดยสะดวกด้วย

    “ที่สร้างความเหลื่อมล้ำอย่างมาก เพราะไปกู้ร้อยละ 20 ต่อเดือน ขาหนึ่งเราก็ต้องทำให้เขาเข้าถึงได้ผ่านแอป ให้รู้ว่ามีช่องทางได้เงินกู้ ไม่ใช่อยากได้เงินกู้ซื้อบ้าน 500,000 บาท ก็ต้องไปกู้เงินนอกระบบ แทนที่จะสะสมเงิน อดใจรอหน่อยปีหน้าก็ซื้อได้แล้ว ธอส. ดอกเบี้ยไม่ถึง 3% ต่อปี ความเหลื่อมล้ำอยู่ตรงนั้น การสนับสนุนให้คนสร้างหนี้ บางทีมันก็จำเป็นที่จะต้องมีหนี้ หมายความว่าถ้าเขาซื้อบ้านได้ก็ไม่ต้องเสียค่าเช่า ที่จ่ายอยู่ก็เอามาผ่อนเป็นบ้านของตัวเองได้”

    “แต่ถ้าเขาไม่พร้อมที่จะกู้ ก็ไม่พึงจะกู้ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะเป็นการสร้างภาระในอนาคต แต่การให้ความสำคัญกับโรงเรียนการเงินและวินัยทางการเงินและเริ่มต้นจากการออมที่ดีน่าจะเรื่องสำคัญกว่า”

    “โจทย์ใหญ่คือทำให้เขาเข้าถึงให้ได้ เป็นไกด์ไลน์ของ World Bank บอกว่า ความเหลื่อมล้ำของโลกกว้างขึ้นเรื่อยๆ วิธีการลดสำคัญคือ ต้องให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านโมบาย ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเข้าถึง”

    “ผมเลยศึกษาและขายไอเดียให้พนักงานและทีม เขาก็ช่วยต่อยอด มีโรงเรียนการเงิน เราสร้าง financial literacy ผ่านแอปเพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยข้างล่าง สร้างเขาให้มีความพร้อม คนสมัยนี้ต้องเห็นในเชิงประจักษ์เท่านั้น ถ้ามีเงินออมจริง ดอกเบี้ยเข้าจริง หน่วยงานรัฐก็ไว้วางใจได้ที่จะใช้บริการ ทำให้ทุกคนมีวินัยทางการเงินเร็วขึ้นและเห็นผลง่ายขึ้น ถ้าเราไม่ทำ ผมไม่รู้ว่าใครจะริเริ่มทำเรื่องนี้” นายกมลภพกล่าว

    ปัจจุบัน ธอส. มี 3 แอปพลิเคชั่นสำหรับลูกค้า และอีก 1 ช่องทางติดต่อผ่านไลน์ คือ (1) แอป GHB ALL GEN (2) แอป GHB ALL Be Friend (3) GHB ALL HOME และ (4) GHB Buddy ผ่านไลน์

    ภารกิจ ‘รักษาบ้าน’ ท่ามกลางลูกค้าหนีหนี้

    ประเด็นหนึ่งที่ นายกมลภพ กล่าวถึงคือหนี้เสีย ซึ่งทำให้สโลแกนของธนาคารไม่ใช่แค่ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” แต่ต้อง “รักษาบ้านให้คนไทย” เพราะลูกค้าจำนวนมากติดปัญหาเรื่องการผ่อนชำระ และธนาคารก็ติดข้อจำกัดเรื่องการทวงหนีิ้ตามกฎหมาย

    “อยากเชิญชวนลูกค้าของเรา ถ้ามีปัญหาเรื่องการผ่อนชำระ ขอให้มาติดต่อ เรามีมาตรการที่จะช่วยให้ประคับประคองกันไป ไม่พยายามไปยึดบ้าน แต่รักษาบ้านให้”

    นายกมลภพ กล่าวต่อว่า “ตอนนี้มีข้อจำกัดเยอะ บางทีเราโทรศัพท์ผ่านคอลเซ็นเตอร์ เขาไม่รับสาย ไปกดหน้าบ้านก็ติดกฎหมายการทวงหนี้ ตามหนี้ก็ไม่ได้ แต่วัตถุประสงค์ไม่ได้ตามหนี้ เราเอามาตรการช่วยเหลือให้เขามาดูหน่อย บางทีส่งข้อความไปก็ไม่อ่าน บางครั้งคนก็ไม่เชื่อ…เรารักษาบ้านให้”

    จากรายงานของธนาคาร พบว่า ธอส. ได้จัดงานมหกรรมแก้ไขหนี้และไกล่เกลี่ยภาคครัวเรือน ณ ธอส. สาขานครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 สำหรับกลุ่มลูกค้ากลุ่มต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (SM) และลูกค้าสถานะ NPL ของ ธอส. ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ส่งผลให้ไม่สามารถผ่อนชำระเงินงวดได้ตามปกติ ให้เข้ามาขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้สามารถช่วยเหลือลูกค้าให้ยังคงรักษาบ้านของตนเองมากกว่า 100 ราย

    “เราทำมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ กับสถาบันตุลาการ เหตุผลคือสร้างความเชื่อมั่น บางทีในฐานะลูกหนี้เขามาติดต่อเจ้าหนี้ ก็ไม่รู้ว่าเจ้าหนี้เอาเปรียบหรือเปล่า แต่เราพยายามบอกว่าสถาบันศาลรับเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้ ถ้าไม่ลงตัว เดี๋ยวเราจัดและให้ศาลส่งเจ้าหน้าที่เป็นคนกลาง อย่างน้อยที่สุดให้ลูกค้ามั่นใจว่าเป็นธรรมแน่ๆ การส่งสัญญาณให้เขามั่นใจว่า ธอส. ไม่เอาเปรียบเขาแน่ๆ และให้ความเป็นธรรม หวังว่าลูกค้าจะมั่นใจและกล้ามาเจอเรา”

    เมื่อถามทิ้งท้ายว่า ตั้งแต่รับตำแหน่งมา ทำงานเป็นอย่างไร ถึงเป้าหมายไหม นายกมลภพ ตอบพร้อมหัวเราะว่า “ยังนอนไม่หลับอยู่เลย มีภาระที่ต้องทำเยอะ ธนาคารไม่ใช่แค่ปล่อยสินเชื่อ มันมีหลายเรื่อง”