ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > “อีสท์ วอเตอร์” เซ็นสัญญาเช่าที่ราชพัสดุกับสกพอ. ผลิตน้ำประปาขาย “สนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบิน” 29 ปี

“อีสท์ วอเตอร์” เซ็นสัญญาเช่าที่ราชพัสดุกับสกพอ. ผลิตน้ำประปาขาย “สนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบิน” 29 ปี

4 ธันวาคม 2020


“อีสท์ วอเตอร์-สกพอ.” เซ็นสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ 29 ปี 6 เดือน ผลิตน้ำประปา-บำบัดน้ำเสียให้ “สนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบิน” ภายใต้วงเงินลงทุน 1,066 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2563 นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ “อีสท์ วอเตอร์” ได้ร่วมลงนามในสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ เพื่อใช้ประกอบกิจการงานระบบประปา และบำบัดน้ำเสีย สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ

นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นโครงการเอกชนร่วมลงทุน หรือ PPP ที่ได้มีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยสัญญาร่วมลงทุนได้กำหนดไว้ให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐเป็นผู้จัดหาสาธารณูปโภคประปา และระบบบำบัดน้ำเสียที่ต้องใช้ในพื้นที่โครงการ ฯ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล เนื่องจากสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยและเป็นศูนย์กลางด้านการบินในอนาคต

ทั้งนี้ กองทัพเรือและ สกพอ. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการใช้น้ำอย่างประหยัดภายในพื้นที่โครงการ จึงได้กำหนดให้มีขอบเขตของการนำน้ำกลับมารีไซเคิล ซึ่งได้ระบุไว้ในเอกสารการคัดเลือกผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อประกอบกิจการสาธารณูปโภคนอกเหนือจากงานระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย โดย สกพอ. ได้มอบหมายให้กองทัพเรือในฐานะหน่วยงานร่วมเจ้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก และหน่วยงานที่ใช้ประโยชน์พื้นที่อยู่เดิม ดำเนินการคัดเลือกได้บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ “อีสท์ วอเตอร์” เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้เช่าที่ราชพัสดุ ในเขตส่งเสริมฯ พื้นที่ 35 ไร่ เพื่อประกอบกิจการด้านงานระบบประปา ระบบน้ำเสีย ระบบการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่หรือน้ำรีไซเคิล ตลอดระยะเวลาสัญญา 29 ปี 6 เดือน ซึ่งเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร สร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อันจะเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทย มีขีดความสามารถในการแข่งขันในฐานะประตูเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย

นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อีสท์ วอเตอร์

ด้านนายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ “อีสท์ วอเตอร์” กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่มีการลงนามในสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อเดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำครบวงจรทั้งระบบ ซึ่งจะรองรับการใช้น้ำที่เกิดจากการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกได้เป็นอย่างดี ด้วยศักยภาพและความเชี่ยวชาญของอีสท์ วอเตอร์ ซึ่งมีความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่การเป็น “Total Water Solutions” จะช่วยสร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อรองรับการเติบโตของทุกภาคส่วนตามนโยบายโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

“สำหรับการบริหารจัดการแหล่งน้ำดิบที่จะนำมาใช้ในพื้นที่ สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ทาง อีสท์ วอเตอร์ ได้จัดเตรียมระบบท่อส่งน้ำดิบ จากหนองปลาไหล – ดอกกราย – มาบตาพุด – สัตหีบ สามารถส่งจ่ายน้ำดิบได้มากถึง 318 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือ ประมาณ 0.87 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน อีกทั้งยังได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมการวางท่อส่งน้ำมาบตาพุด – สัตหีบ เส้นที่ 2 เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต และสามารถเพิ่มศักยภาพการส่งจ่ายน้ำดิบในอีก 10 ปีข้าง ได้อย่างเพียงพอต่อความต้อง” นายจิรายุทธ กล่าว

นายจิรายุทธ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อีสท์ วอเตอร์ ได้มีการออกแบบระบบผลิตน้ำประปา ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขนาดกำลังการผลิต 20,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งเป็นการผลิตน้ำประปาที่สะอาดมีคุณภาพระดับสากล ลดการใช้พื้นที่ติดตั้ง มีกำลังการผลิตได้ตามความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น ออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียให้เหมาะกับโครงการที่เป็นการพัฒนาพื้นที่ในระยะยาว รองรับน้ำเสีย 16,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็นการบริหารจัดการน้ำเสียที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบสนามบิน โดยอีสท์ วอเตอร์ สกพอ. และกองทัพเรือ ให้ความสำคัญกับเรื่องของการบริหารจัดการน้ำเสียในพื้นที่สนามบินฯ เป็นอย่างมาก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนและชุมชนโดยรอบสนามบิน ควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนในระบบนิเวศ โดยสร้างระบบน้ำรีไซเคิลกำลังการผลิต 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะมีการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในระบบทำความเย็นกลาง เน้นย้ำให้เห็นถึงการเป็นผู้นำในด้านการบริหารจัดการน้ำครบวงจร และใส่ใจในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง ซึ่งอีสท์ วอเตอร์ จะใช้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร สร้างความมั่นคงและเสถียรภาพด้านน้ำ รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนของโครงการอีอีซี ในอนาคต

นายโชคชัย ปัญญายงค์ ที่ปรึกษาพิเศษโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

นายโชคชัย ปัญญายงค์ ที่ปรึกษาพิเศษโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่อีสท์ วอเตอร์ เข้ามาลงทุนในที่ดินราชพัสดุคิดเป็นวงเงินประมาณ 1,066 ล้านบาท เพื่อผลิตน้ำประปาขายให้บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) นำไปจัดสรรต่อให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา โดยมีเงื่อนไขว่าทางอีสท์ วอเตอร์ จะเก็บค่าน้ำประปาจาก UTA แพงกว่าที่ขายให้กับนิคมอุตสาหกรรมทั่วไปไม่ได้ นอกจากนี้ทางอีสท์ วอเตอร์ ยังต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับรัฐ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) จ่ายค่าเช่าที่ดินราชพัสดุ 114,000 บาทต่อเดือน และปรับค่าเช่าเพิ่ม 9% ทุก ๆ 3 ปี 2) จ่ายส่วนแบ่งรายได้ หรือ Revenue Sharing ในอัตรา 7% ของรายได้จากการขายน้ำประปา และ 3) จ่ายค่าจัดประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุตลอด 29 ปี คิดเป็นเงินประมาณ 18-20 ล้านบาท โดยมีอัตราผลตอบแทนต่อการลงทุน หรือ IRR อยู่ที่ 12% และระยะเวลาคืนทุนประมาณ 8 ปี

อนึ่ง โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในโครงการอีอีซี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาเพื่อรองรับการขนส่งทางอากาศ การขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า และกิจการเชิงพาณิชย์ ตลอดจนส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและ Logistic & Aviation Hub และการเป็นศูนย์กลาง “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่มีความสำคัญ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการจัดการระบบสาธารณูปโภคที่มีมาตรฐาน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีความทันสมัยระดับสากล ทั้งนี้ ระบบการบริหารจัดการน้ำถือเป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคที่ได้ดำเนินการ โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนาสนามบินให้มีความสัมพันธ์เป็นมิตรกับชุมชน ส่งเสริมสุขภาวะของประชาชน สภาพแวดล้อม และระบบนิเวศ ตามหลักการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน