
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 สถาบันคลังสมองของชาติจัดงานสัมมนาวิชาการและการประชุมระดมสมองสถาบันอุดมศึกษาและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs): การดำเนินงานและความร่วมมือเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยช่วงเช้า นาย Stefanos Fotiou Director ของ Environment and Development Division, Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (ESCAP) สหประชาชาติ ได้บรรยายในหัวข้อ “SDGs สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ (Localizing the SDGs)”
นายStefanos เริ่มต้นเล่าว่าการพัฒนาที่ความยั่งยืนได้เริ่มกันมาหลายทศวรรษแล้วตั้งแต่ปี 1971 ที่หลายประเทศเริ่มเห็นข้อจำกัดของการเติบโต โดยเฉพาะในแง่ของทรัพยากรและจำเป็นต้องหาแนวทางใหม่ๆของการพัฒนา ซึ่งภายหลังพัฒนามาเป็นเป้าหมาย SDGs ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม คำถามที่สำคัญคือ 40 ปีที่ผ่านมาเราพัฒนาอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้องและยั่งยืนหรือไม่?
“จากตัวเลขสถิติหลายตัวจะเห็นว่าเรายังไม่ได้อยู่ในเส้นทางนั้นชัดเจนมากนัก ช่วงที่ผ่านมา 60% ของระบบนิเวศน์ยังได้รับความเสียหาย ปัญหาโลกร้อนก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเรายังไม่ทำอะไรอุณหภูมิของโลกจะร้อนขึ้นแตะ 3 องศาได้จากจำนวนผู้บริโภคชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น 2,000-3,000 ล้านคน ภายในปี 2040 และจะต้องสูบทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อีกปีละ 140,000 ล้านตันต่อปี ด้วยสิ่งเหล่านี้ทำให้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2558 เหล่าผู้นำของโลกก็ได้ตกลงรับวาระการพัฒนาใหม่ คือการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ามาปฏิบัติ ต่อจากเป้าหมายสหษวรรษที่จบไปด้วยเป้าหมาย 17 เป้าหมาย”
นายStefanos กล่าวต่อว่าหลังจากเริ่มดำเนินการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนใหม่มาสักระยะ แต่หากหันมาดูในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังพบว่าหลายเป้าหมายไม่ใช่แค่ดำเนินการช้าเกินไป แต่กลับดำเนินการไปผิดทิศผิดทางด้วยซ้ำ และทำให้ต้องหากรอบแนวคิดใหม่ในการมองและดำเนินการ ซึ่ง ESCAP ได้นำเสนอแนวทางการนำ SDGs มาดำเนินการในพื้นที่หรือ Localizing SDGs จากนโยบายระดับโลกสู่การปฏิบัติจริงโดยมีหลักคิด 3 ประการคือ Rethink, Refocus และ Re-prioritize
เริ่มต้นจากการคิดและเข้าใจใหม่ หรือ Rethinking ว่าการตัดสินใจจริงๆเกิดขึ้นที่ปัจเจกบุคคลในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ผู้บริโภคว่าจะเดินทางอย่างไร บริโภคอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไร หรือธุรกิจจะใช้พลังงานอะไร รูปแบบไหน และการตัดสินใจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับพื้นที่ย่อมจะส่งผลขึ้นไประบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมในภาพใหญ่ ดังนั้นการพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องเข้าใจความเชื่อมโยงของพื้นที่และนโยบายระดับชาติตรงนี้และนำมากำหนดทางเลือกที่เหมาะสมในการดำเนินชีวิตหรือการผลิต หรือนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน
หลังจากเข้าใจความเชื่อมโยงแล้วก็ต้องหันมาหาจุดเน้น หรือ Refocus ว่าควรทำอะไร เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยความท้าทายหลักคือต้องเข้าใจว่าบางครั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และโจทย์คือจะเน้นนโยบายอย่างไรที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น และผลกระทบต่อส่งแวดล้อมลดลง
สุดท้ายคือการกำหนดความสำคัญใหม่ หรือ Re-Prioritize ว่าควรจะต้องทำอะไรก่อนหลังและเชื่อมโยงนโยบายในมิติต่างๆเข้าด้วยกันอย่างไร เช่น ด้านการเงิน เทคโนโลยี การค้า ฯลฯ
“ดังนั้นถามว่าทำไมต้อง Localizing SDGs เพราะจริงๆแล้วต้องเข้าใจว่าการพัฒนาทุกอย่างต้องเริ่มต้นขึ้นจากการกระทำระดับพื้นที่ ไม่ใช่ระดับนโยบายของชาติ ซึ่งการเน้นลงไปที่การดำเนินการในพื้นที่จะช่วยให้เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่มากถูกแตกย่อยให้ทั้งจับต้องได้และสื่อสารความสำเร็จได้ง่าย รวมไปถึงว่าตัวเป้าหมายเองหลายอันก็กำนดการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างชัดเจนตั้งแต่แรก”
สำหรับทางออกในเชิงรูปธรรมของการ Localizing นายStefanos กล่าวว่ามีหลายทางออก เริ่มตั้งแต่แนวคิดเรื่อง Circular Economy ที่พยายามใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านการนำกลับมาใช้ใหม่ในห่วงโซ่การผลิตต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงออกแบบใหม่ๆเพื่อรองรับการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการแบ่งปันทรัพยากรหรือบริการบางอย่างมาใช้ร่วมกัน (Shared Services) อีกแนวคิดหนึ่งคือ Nexus Approaches ที่จะใช้ความเชื่อมโยงและการพึ่งพากันของเป้าหมายต่างๆ มาร่วมกำหนดนโยบาย เช่น เรื่องน้ำ พลังงานสะอาด และระบบนิเวศน์ ซึ่งจะช่วยสร้างแรงเสริมระหว่างกันโดยไม่ต้องดำเนินการแต่ละเป้าหมายแยกจากกันอย่างชัดเจน สุดท้ายคือแนวคิดของ System’s Thinking ซึ่งเป็นวิธีวิจัยที่ ESCAP คิดค้นขึ้นเพื่อวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของเป้าหมายทั้ง 17 เป้าหมายและกำหนดทิศทาง รวมไปถึงจุดแข็งของการพัฒนาในแต่ละประเทศว่าควรเริ่มต้นจากจุดไหนที่จะสามารถส่งผลกระทบไปยังเป้าหมายอื่นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายStefanos กล่าวสรุปว่าการเข้าใจหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องเปลี่ยนจุดเริ่มต้นใหม่ หลายคนมักจะคิดว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดจากส่วนร่วมของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมล้อม แต่ในความเป็นจริงทั้ง 3 ส่วนมีปฏิสัมพันธ์กันอยู่ในระบบขนาดใหญ่เดียวกัน กล่าวคือการทำลายธรรมชาติย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ สังคมที่ไม่เท่าเทียมก็ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน ดังนั้นความเข้าใจความเชื่อมโยงของระบบต่างๆและการนำการปฏิบัติไปสู่พื้นที่ ไม่ใช่การปรับแผนระดับชาติลงมา แม้ว่าจะเป็นทางที่ยากและแคบ แต่ตนคิดว่าเป็นทางเดียวที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้