ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > SME เตรียมตัวให้ดี มีเงินให้กู้

SME เตรียมตัวให้ดี มีเงินให้กู้

17 กุมภาพันธ์ 2018


ปัจจุบันทางเลือกในการหาสภาพคล่องให้กับธุรกิจมีมากมาย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมหรือ SME (Small and Medium Enterprise) ที่ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีมาตรการและโครงการออกมาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกให้กับ SME เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ยังคงถือเป็นแหล่งเงินทุนหลักของ SME ในรูปแบบของสินเชื่อ เพียงแต่เนื่องจากการให้สินเชื่อของธนาคารต้องรอบคอบตามหลักการของการบริหารความเสี่ยง และอาจใช้เวลาพอสมควรในการพิจารณาอนุมัติ SME จึงควรมีการเตรียมตัวเพื่อให้สินเชื่อได้รับการพิจารณาอนุมัติโดยง่าย ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเพราะเป็นการเตรียมตัวบนพื้นฐานของกิจการที่มี โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้

ขอสินเชื่อให้ตรงศักยภาพ

การให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จะพิจารณาผู้กู้บนพื้นฐานสำคัญ 3 ประการ ประการแรก คือ ประวัติทางการเงิน เช่น ประวัติการผ่อนชำระหนี้ที่มีมาก่อน ประการที่สอง คือ ประวัติธุรกิจ ผลการดำเนินงาน ประการที่สาม คือ หลักประกัน เพราะการขอสินเชื่อแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ย่อมทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความมั่นใจว่า ความเสี่ยงจากการปล่อยกู้จะได้รับการชดเชยจากหลักทรัพย์ส่วนหนึ่ง

นอกจากนี้ ธนาคารจะพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้ตรงกับประเภทธุรกิจ รวมไปถึงการให้วงเงินที่สอดคล้องกับเป้าหมายการขอสินเชื่อ ดังนั้น SME ควรขอสินเชื่อให้ตรงกับศักยภาพของธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้มีโอกาสที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์สูง

SME สามารถสำรวจศักยภาพของตัวเองได้ง่ายๆดังต่อไปนี้ คือ หนึ่ง ข้อแรก ตนมีประสบการณ์ในธุรกิจยาวนานแค่ไหน ข้อสอง ธุรกิจที่ทำอยู่นั้นมีการดำเนินงานเป็นอย่างไร ประวัติทางการเงิน การเดินบัญชี มีความแข็งแรงมากน้อยแค่ไหน ยิ่ง SME เห็นศักยภาพตนเองในสองข้อนี้ได้ชัดเจนเท่าไหร่ ก็จะเริ่มพอมองออกว่าตนเองจะขอสินเชื่อประเภทไหน วงเงินอย่างใดที่ธนาคารจะยอมอนุมัติ

นอกจากนี้ SME ยังสามารถเข้ามาปรึกษากับธนาคารเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการขอสินเชื่ออย่างเหมาะสม และตรงกับศักยภาพของธุรกิจ เพื่อทำให้คำขอสินเชื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจน รวมทั้งยังเป็นโอกาสให้ SME ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับทางเลือกการขอสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์นั้นๆ อีกด้วย

เตรียมตัวเบื้องต้น

ก่อนการขอสินเชื่อธุรกิจ สิ่งที่ SME ควรจะทำ ได้แก่ เก็บข้อมูลธุรกิจเบื้องต้นของตัวเอง เพื่อนำไปขอคำแนะนำกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยให้การขอสินเชื่อนั้นมีโอกาสได้รับการอนุมัติ โดยควรเตรียมข้อมูลในหลายมิติดังนี้

ขั้นแรก ตรวจสถานะตนเอง

1. ผู้กู้ต้องสำรวจสถานะตัวเองในธุรกิจ เช่น กรณีที่จดทะเบียนเป็นบริษัท ก็สำรวจว่าตนเองมีสถานะเป็นเจ้าของ เป็นผู้ถือหุ้น หรือเป็นกรรมการที่มีอำนาจลงนาม กรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัท ก็อาจจะมีสถานะเป็นเจ้าของกิจการในฐานะบุคคลธรรมดา เป็นต้น ทั้งนี้ หากมีการยื่นขอสินเชื่อในนามกิจการ ธนาคารจะพิจารณาประวัติทางการเงินของกรรมการผู้มีอำนาจลงนามลงไปถึงผู้ถือหุ้นจากเครดิตบูโร หากมีประวัติดี ก็ถือว่าผ่านการพิจารณาในระดับแรก แต่หากกิจการมีผู้ถือหุ้นหลายคน ธนาคารอาจจะตรวจสอบประวัติผู้ถือหุ้นเพิ่มเติม

2. สำรวจประวัติการเงินของตัวผู้กู้ ว่ามีภาระหนี้สินอย่างไร มีกี่ประเภท รวมแล้วจำนวนหนี้เท่าไร เคยผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ และค้างชำระหนี้อะไรอยู่บ้าง เช่น มีหนี้บัตรเครดิตกี่ใบ มีหนี้บ้านหรือมีหนี้รถหรือไม่

ขั้นที่สอง เตรียมข้อมูลธุรกิจ

ข้อมูลส่วนนี้จะเกี่ยวกับธุรกิจที่ผู้กู้ทำอยู่ เช่น ประเภทธุรกิจ ระยะเวลาการดำเนินงาน ข้อมูลทางการเงิน ซึ่งโดยทั่วไปสำหรับธุรกิจ SMEs ธนาคารจะเริ่มปล่อยเงินกู้หลังจากที่ทำธุรกิจมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี เนื่องจากเริ่มมีข้อมูลธุรกิจ มีข้อมูลการเดินบัญชี ข้อมูลทางการเงินบ้างแล้ว

1. ประเภทธุรกิจ คือ การประเมินว่า ลักษณะธุรกิจที่ทำอยู่นั้นอยู่ในข่ายหมวดธุรกิจหรือหมวดอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงหรือไม่ เนื่องจากมีหลายธุรกิจที่ธนาคารประเมินมีความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงในที่นี้คือความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจที่จะมีผลกระทบต่อกิจการ เช่น ธุรกิจขายเครื่องประดับ ขายของเก่า ที่อาจจะได้รับกระทบจากบางสถานการณ์ของเศรษฐกิจ ขายสินค้าไม่ได้ ซึ่งผู้กู้สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อขอคำตอบที่แน่ชัดได้ว่า ลักษณะธุรกิจของผู้กู้นั้นจัดอยู่ในหมวดธุรกิจที่มีความเสี่ยงหรือไม่

2. ข้อมูลทางการเงินของกิจการ ธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งและมีการดำเนินงานมาระยะหนึ่งย่อมมีข้อมูลระดับหนึ่ง ก็ให้เตรียมข้อมูลทางการเงินของกิจการ ได้แก่ ข้อมูลผลประกอบการ กระแสเงินสดรับ กระแสเงินสดจ่าย รายได้ และไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจที่มีผลกำไรมากมาย แต่ต้องแสดงให้เห็นว่าธุรกิจที่ทำมีการเติบโต ไม่ใช่มีแต่ขาดทุน

ที่สำคัญ ต้องบอกข้อมูลให้ครบถ้วนกับธนาคาร ทั้งภาระหนี้สินที่มี ประวัติการชำระหนี้ เคยตีเช็คเด้งหรือไม่ ยิ่งถ้าลูกค้าให้ข้อมูลครบถ้วนเท่าใด ธนาคารก็จะยิ่งเห็นว่าลูกค้ามีความโปร่งใส เพราะอย่างไรเสียธนาคารย่อมต้องตรวจประวัติการผ่อนชำระกับเครดิตบูโรภายหลังอยู่แล้ว

ขั้นที่สาม ขอสินเชื่อให้เหมาะกับธุรกิจ

สินเชื่อนอกจากจะเป็นแหล่งเงินทุนที่นำไปใช้ในธุรกิจแล้ว ยังเป็นภาระของธุรกิจเพราะต้องจ่ายดอกเบี้ย การขอสินเชื่อก็ต้องขอให้เหมาะกับธุรกิจที่ทำ ดังนี้

1. วงเงินต้องเหมาะสมกับวัตถุประสงค์การขอกู้และความสามารถในการชำระหนี้ในระยะเวลาหนึ่ง SME ที่ต้องการเงินกู้เสริมสภาพคล่องหรือขยายธุรกิจต้องขอสินเชื่อในวงเงินที่เหมาะสม ขอในวงเงินเท่าที่จำเป็นต้องใช้ การขอกู้เงินในจำนวนที่มากเกินไปจะกลายเป็นภาระ อาจจะผ่อนดอกเบี้ยไม่ไหว หากผลประกอบการไม่ได้ตามที่วางเป้า อาจจะไม่มีเงินเพียงพอชำระดอกเบี้ยและเงินต้น และอาจจะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(Non-Performing Loan :NPL) โดยวงเงิน ดอกเบี้ย ระยะเวลา เป็นปัจจัยที่กำหนดความสามารถในการผ่อนชำระ โดยสามารถประเมินเบื้องต้นจากรายได้ หรือกระแสเงินสดรับของธุรกิจว่ามากเพียงพอที่จะผ่อนชำระหนี้หรือไหม

ภาระการผ่อนชำระ (Debt Burden Ratio หรือ DBR) เป็นสิ่งที่ธนาคารนำมาพิจารณาเพื่อปล่อยกู้ให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้ผู้กู้แบกรับภาระหนี้มากเกิน ขณะเดียวกันก็เป็นการบริหารความเสี่ยงของธนาคารด้วย โดย DBR ของธุรกิจธนาคารจะประเมินจากกระแสเงินสดหรือจาก Statement กับภาระหนี้ที่มีอยู่แล้ว เพื่อพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ก้อนใหม่

ตัวอย่างเช่น ลูกค้า ก เป็นเจ้าของธุรกิจแบบรายบุคคล มีรายได้เฉลี่ยเข้ามาเดือนละ 100,000 บาท มีภาระหนี้เดิมที่ต้องผ่อนอยู่แล้ว 30,000 บาทต่อเดือน มีภาระบัตรเครดิตอีก 30,000 บาท รวมภาระหนี้ 60,000 บาทต่อเดือน หากไปขอกู้เพิ่ม ซึ่งต้องผ่อนชำระเพิ่มอีกเดือนละ 30,000 บาท เท่ากับว่าลูกค้ามีรายได้เดือนละ 100,000 บาท แต่ผ่อนหนี้เดือนละ 90,000 บาท ธนาคารอาจจะพิจารณาว่าเงิน 10,000 บาทที่เหลือย่อมไม่น่าจะเพียงพอต่อการใช้จ่ายในแต่ละเดือนของลูกค้าและนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้นธนาคารก็อาจจะไม่ปล่อยเงินกู้ให้กับลูกค้า โดยปกติแล้วธนาคารจะมีเกณฑ์ DBR ไม่เกิน 70-80% ของรายได้ ซึ่ง DBR ที่ 80% เป็นระดับสูงสุด

เพราะฉะนั้น การขอสินเชื่อที่เหมาะสมจึงไม่ควรทำให้อัตราส่วนภาระหนี้อยู่ในเกณฑ์ที่สูงเกินไป โดยหากจำเป็นต้องขอกู้เพิ่มในภายหลัง ก็ยังก็มีโอกาสที่ธนาคารจะให้กู้เพิ่มได้อีก

2. เลือกประเภทสินเชื่อให้ถูก สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มีหลายประเภท แบ่งตามระยะเวลาการกู้ หรือแบ่งตามวัตถุประสงค์ ผู้กู้ต้องรู้ศึกษาให้เข้าใจว่ามีแบบใดบ้าง เพื่อให้สามารถเลือกประเภทสินเชื่อได้ตรงกับวัตถุประสงค์และไม่สร้างภาระทางการเงินมากเกินไป

  • สินเชื่อมีหลักประกัน เป็นสินเชื่อที่ธนาคารจัดว่ามีความเสี่ยงต่ำ เพราะมีหลักทรัพย์มาค้ำประกันการกู้ยืม สามารถชดเชยความเสี่ยงจากการให้กู้ได้ ดังนั้น สินเชื่อประเภทนี้จะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยหลักทรัพย์อาจจะเป็นที่ดิน บ้าน รถ โรงงาน แต่ต้องเป็นหลักทรัพย์ที่ปลอดภาระ คือ ไม่ติดจำนองกับสถาบันการเงินใด ซึ่งหากธุรกิจมีทรัพย์สินเหล่านี้ ก็ควรที่จะนำมาเป็นหลักประกันเพื่อเพิ่มโอกาสที่จะได้รับสินเชื่อให้สูงขึ้น ดอกเบี้ยถูกลง วงเงินได้มากตามมูลค่าหลักประกัน
  • รถยนต์หลักประกันใหม่เพื่อ SME

    ปัจจุบันนอกจากหลักทรัพย์ประเภท ที่ดิน บ้าน โรงงาน ที่นำมาค้ำประกันสินเชื่อแล้ว ธนาคารพาณิชย์ยังขยายหลักประกันให้ครอบคลุมถึงทรัพย์สินอื่นๆ ของผู้ประกอบการอีกด้วย ได้แก่ รถยนต์ ทำให้ผู้ประกอบการ SME มีทางเลือกมากขึ้น เป็นการใช้สินทรัพย์ที่มีมาเป็นแหล่งเงินทุนในการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการที่จะนำรถยนต์มาเป็นหลักประกันสินเชื่อต้องตรวจสอบรายละเอียดของธนาคารที่ให้บริการสินเชื่อประเภทนี้ละเอียด เนื่องจากมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน คือ

  • วงเงินต่อคันของแต่ละธนาคารไม่เท่ากัน บางธนาคารอาจจะให้วงเงิน 3 เท่าของมูลค่ารถ แต่บางรายให้ 1 เท่า
  • จำนวนรถที่อนุมัติไม่เท่ากัน บางธนาคารอาจจะจำกัดจำนวนรถไว้ที่ 1 คัน บางรายให้สูงสุดถึง 3 คัน
  • ระยะเวลาการผ่อนชำระที่ไม่เท่ากัน
  • อัตราดอกเบี้ยไม่เท่ากัน
  • สินเชื่อไม่มีหลักประกัน (Clean Loan) การขอกู้แบบไม่มีหลักประกัน มีโอกาสที่จะได้วงเงินน้อยและอัตราดอกเบี้ยสูง เพราะธนาคารมองว่ามีความเสี่ยงจากการให้กู้ สินเชื่อประเภทนี้อาจจะมีบางธนาคารให้กู้แต่ก็มีการพิจารณาสินเชื่อที่รอบคอบและระมัดระวังมากขึ้นอีก ดังนั้นสินเชื่อแบบ Clean Loan นี้ ประวัติผู้ขอกู้จึงมีความสำคัญต่อการพิจารณา หากประวัติทางการเงินดี โอกาสที่จะได้รับสินเชื่อก็มีมาก
  • สินเชื่อ Term Loan หรือสินเชื่อที่มีระยะเวลาผ่อนชำระชัดเจน จำนวนเงินที่ผ่อนแต่ละเดือนหรือแต่ละงวดชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นเงินที่มีวงเงินสูงเหมาะสำหรับการขอเพื่อใช้เป็นเงินลงทุนซื้อเครื่องจักรหรือก่อสร้างโรงงาน
  • สินเชื่อแบบวงเงินเบิกเกินบัญชี (Overdraft: OD) เป็นสินเชื่อที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ ส่วนใหญ่ใช้หมุนเวียนระยะสั้น หรือใช้เพื่อกรณีฉุกเฉิน เช่น เบิกเงินออกมากซื้อสินค้าเพิ่มเติมเพื่อรอการขายภายใน 15 วัน ซึ่งก็ไม่เหมาะที่จะกู้มาขยายกำลังการผลิต
  • สำหรับธุรกิจที่ต้องการทั้งเงินกู้ก้อนใหญ่เพื่อขยายการลงทุนและทั้งวงเงินหมุนเวียน ก็สามารถขอสินเชื่อแบบผสมได้ แบ่งส่วนหนึ่งเป็น Term Loan อีกส่วนหนึ่งเป็น OD เช่น ธุรกิจที่มีศักยภาพพอที่ธนาคารจะปล่อยให้กู้ 5 ล้านบาท ก็ขอจัดเป็น Term Loan จำนวน 4 ล้าน อีก 1 ล้าน ขอเป็น OD

    ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้เบื้องต้น เพราะเป็นกรอบความคิดของธนาคาร หากผู้ประกอบการและธนาคารใส่ใจในประเด็นเหล่านี้เสมอกัน โอกาสที่จะได้รับพิจารณาอนุมัติก็จะเป็นไปได้ง่าย โดยเหตุนี้ ผู้ประกอบการที่ต้องการสินเชื่อต้องมีการวางแผนที่ดี ต้องใส่ใจกับการเงินของธุรกิจ รวมทั้งต้องมีระเบียบวินัยเพียงพอที่จะจัดการกับการเงิน ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่ควรระวังมากอีกประการหนึ่ง คือ การรักษาประวัติการผ่อนชำระหนี้กับสถาบันการเงินทั้งหมด ไม่ให้เกิดประวัติเสียในเครดิตบูโร เพราะทุกธนาคารสามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะการผิดนัดชำระหนี้อันเกิดจากความพลั้งเผลอ นอกจากนั้น ต้องพยายามให้ข้อมูลทางการเงินที่ครบถ้วนที่สุดกับธนาคารเพื่อแสดงความโปร่งใส

    ข้อชวนคิดสำหรับ Startup

    ระบบธนาคารพาณิชย์ไม่ได้กีดกันธุรกิจ Startup ที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ แต่โดยที่ธุรกิจกลุ่มนี้ยังไม่มีข้อมูลและประวัติทางธุรกิจ จึงต้องมีการสร้างประวัติของเจ้าของกิจการและประวัติทางธุรกิจให้ธนาคารพิจารณา ตามแนวทางดังนี้

    1. สร้างประวัติการเงินที่ดีให้กับตัวเอง ประวัติการผ่อนชำระที่ปรากฏในระบบเครดิตบูโร เป็นปัจจัยแรกๆ ของธนาคารในการพิจารณาสินเชื่อ เมื่อธนาคารตรวจสอบประวัติการผ่อนชำระกับเครดิตบูโร ก็จะเห็นข้อมูลผู้กู้ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการ Startup นั้น มีหนี้สินเท่าไร มีหนี้อะไรบ้าง ทั้งหนี้ที่ชำระหมดแล้ว หนี้ที่ยังค้างชำระ หนี้ที่ยังผ่อนชำระ ซึ่งจะบ่งชี้ถึงความสามารถในการชำระหนี้

    2. ธุรกิจ Startup ซึ่งมีระยะการดำเนินงานไม่นานและยังไม่มีผลการดำเนินงาน ควรเริ่มที่สินเชื่อบุคคลก่อน ขอในนามส่วนตัว อย่าขอในนามบริษัท เพราะจะได้รับการพิจารณาอนุมัติง่ายกว่าการขอสินเชื่อแบบอื่น รวมทั้งสินเชื่อบุคคลเป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลาและจำนวนเงินผ่อนชำระชัดเจน ช่วยให้บริหารเงินได้ง่าย นอกจากนี้ ไม่ควรกดเงินสดจากบัตรเครดิตมาใช้ในกิจการ โดยระลึกว่าบัตรเครดิตไม่ได้มีไว้เพื่อกดเงินสด หากมีไว้เพื่อใช้ในการซื้อสินค้าและบริการที่มีระยะเวลาปลอดชำระอีก 45-50 วัน โดยไม่เกิดดอกเบี้ย เพราะการกดเงินสดผ่านบัตรเครดิต นอกจากเสียค่าธรรมเนียมการใช้เงินสดครั้งละ 300 บาทแล้ว ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันแรกที่กดเงิน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ในระดับ 18-20% อาจสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล อีกทั้งวงเงินจากบัตรเครดิตน้อยกว่าสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนใหญ่บัตรเครดิตในตลาดจะให้เต็มที่ 3 เท่าของเงินเดือนหรือรายได้ แต่สินเชื่อส่วนบุคคลให้ถึง 5 เท่า หากมีศักยภาพพอที่จะขอสินเชื่อได้ ก็ไม่ควรไปใช้เงินสดจากบัตรเครดิต วงเงินบัตรเครดิตนั้นเพื่อใช้จ่าย การกดเงินสดออกมาเพื่อใช้ในกิจการก็ผิดวัตถุประสงค์ และที่สำคัญ ดอกเบี้ยบัตรเครดิตคิดเป็นรายวัน อาจจะกลายเป็นหนี้ก้อนโตหากผ่อนชำระไม่ครบถ้วนหรือผ่อนแบบขั้นต่ำ

    3. ใช้ความมั่งคั่ง (Wealth) ที่สั่งสมไว้ให้เป็นประโยชน์ เช่น หาก Startup นั้นๆ มีครอบครัวที่ทำธุรกิจอยู่แล้วและมีความมั่งคั่งในระดับหนึ่ง ก็สามารถนำความมั่งคั่งนั้นมาค้ำประกันการขอสินเชื่อได้ โดยอาจจะเป็นเงินฝากที่มีกับธนาคาร เช่น ธุรกิจ ก มีเงินฝาก 10 ล้านบาท แต่ไม่ต้องการนำเงินฝากนั้นมาใช้ในธุรกิจ ก็สามารถเลือกที่จะเอาเงินฝากนั้นไปค้ำประกันการขอสินเชื่อกับธนาคารแทนก็ได้ หรือธุรกิจ ข มีครอบครัวที่ทำธุรกิจอยู่แล้วและมีเงินฝาก 20 ล้านบาทก็สามารถใช้เงินฝากนั้นค้ำประกันให้กับธุรกิจ ข ได้

    ทั้งนี้ Wealth คือ ตัวบ่งชี้การออมของธุรกิจ โดยความมั่งคั่งจะแสดงให้เห็นว่าธุรกิจมีเงินรายได้ส่วนเกินค่าใช้จ่ายที่สามารถออมได้ และยังแสดงถึงการมีวินัยทางการเงินอีกด้วย เช่น หากธุรกิจออมเงินได้เดือนละ 50,000 บาท 16 เดือน รวมเป็นเงินออม 800,000 บาท เมื่อธุรกิจนั้นมีความจำเป็นต้องใช้เงิน 1.5 ล้านบาทเพื่อขยายธุรกิจ แล้วมาขอสินเชื่อจากธนาคาร ธนาคารเห็นศักยภาพในการออมที่ดีของธุรกิจแล้วก็มักจะพิจารณาอนุมัติ

    ซีรีย์ Financial literacy สนับสนุนโดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร