ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > จาตุรนต์ โต้ ชวน ต้องยอมรับความจริงว่าประชาธิปไตยไทย “ล้าหลัง”

จาตุรนต์ โต้ ชวน ต้องยอมรับความจริงว่าประชาธิปไตยไทย “ล้าหลัง”

30 พฤศจิกายน 2014


ภาพข้อความที่นายจาตุรนต์ โพสเฟสบุ๊กส่วนตัว

 

บริบท

สถาบันพระปกเกล้าจัดให้มีการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 16 ประจำปี 2557 (KPI Congress XVI) ภายใต้หัวข้อ  “8 ทศวรรษ ประชาธิปไตยไทย: พลวัตแห่งดุลอำนาจ” (Eight Decades of Thai Democracy: Dynamics of Power Balancing) ระหว่างวันที่ 6–8 พฤศจิกายน 2557 ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ

โดยในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 มีการแสดงทัศนะ จากผู้ทรงคุณวุฒิในหัวข้อ “บทเรียนในอนาคตเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ” โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงทรรศนะของตนต่อประชาธิปไตยไทยว่า การยึดอำนาจแต่ละครั้งไม่ใช่ตัวสาเหตุที่รัฐธรรมนูญอ่อนหรือแข็ง แต่สาเหตุมาจากผู้ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญละเมิดกติกาบ้านเมือง นักการเมืองมีการทุจริต และมีการแทรกแซงการตรวจสอบขององค์กรอิสระ จึงเกิดเป็นปัญหา พร้อมทั้งกล่าวย้ำว่า

"ประเทศไทยที่จริงไม่ด้อยกว่าประเทศอื่น ผมยืนยันว่าประชาธิปไตยเราก้าวหน้ากว่าทุกประเทศในอาเซียน เราอยู่ระดับแนวหน้า เรามีอุบัติเหตุเท่านั้นเอง เมื่อเราผ่านอุบัติเหตุที่ทำให้สะดุดล้มลงไป ผมเชื่อว่าเราต้องไปไกลกว่าทุกประเทศ อันนี้คือความจริง วันนี้อย่าเพิ่งไปตำหนิตัวเองว่าแย่กว่าพม่า ไม่จริง เราเติบโตมาก่อนคนอื่น และยึดแนวทางประชาธิปไตย เพียงแต่จะมีมาตรการอย่างไรในการคุมดุลอำนาจให้เหมาะสมกลมกลืน โชคดีที่ประเทศไทยมีฝ่ายตุลาการเข้มแข็ง แต่อย่าไปวางใจว่าจะดี 100 เปอร์เซ็นต์"

ภายหลังทรรศนะดังกล่าวมีการเผยแพร่ออกไป จึงมีการแสดงความเห็นแย้งจากนายจาตุรนต์ ว่าจริงๆ  แล้วประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยที่ถูกจัดอยู่ในอันดับท้ายๆ  ของอาเซียน

วิเคราะห์ข้อมูล

จากการจัดค่าดัชนีความเป็นประชาธิปไตย หรือ Democracy Index ของ Economist Intelligence Unit (EIU) ที่ได้ทำการสำรวจประเทศต่างๆ  โดยพิจารณาค่าความเป็นประชาธิปไตยของแต่ละประเทศจากองค์ประกอบ 5 ประการ ได้แก่

  1. กระบวนการเลือกตั้งและแนวคิดพหุนิยมทางการเมือง อันเป็นแนวคิดที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายในสังคม
  2. เสรีภาพของประชาชน
  3. การทำงานของรัฐบาล
  4. การมีส่วนรวมในทางการเมืองของประชาชน
  5. วัฒนธรรมทางการเมือง

โดยรวมค่าเฉลี่ยจากทั้ง 5 องค์ประกอบ สามารถจัดกลุ่มประเทศตามคุณภาพประชาธิปไตยได้ 4 กลุ่ม  คือ

  1. ประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ (Full Democracy)
  2. ประชาธิปไตยแบบบกพร่อง มีตำหนิ  (Flawed Democracy)
  3. ประชาธิปไตยแบบผสม/ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ (Hybrid Democracy)
  4. การปกครองโดยกลุ่มอำนาจ (Authoritarian Regimes)

ทำความเข้าใจกระบวนการวัดค่าประชาธิปไตยของ EIU ได้ที่ www.chartingthailandeconomy.com

เมื่อทำการตรวจสอบอันดับความเป็นประชาธิปไตยของ 9 ประเทศในอาเซียน (ไม่พบข้อมูลของประเทศบรูไนในรายงานของ EIU) ย้อนหลังกลับไป 8 ปี พบว่าอันดับความเป็นประชาธิปไตยของไทยมีการเพิ่มขึ้นและลดลงอย่างมีนัยสำคัญตามเหตุการณ์การเมือง คือ ในปี 2549 ที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ “รัฐประหาร 19 กันยา” ไทยอยู่อันดับที่ 90 ของโลก อยู่อันดับ 5 ของอาเซียน

ส่วนด้านอื่นๆ ไทยมีคะแนนด้านกระบวนการเลือกตั้งและแนวคิดพหุนิยมทางการเมืองอยู่ที่ 4.83 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน คะแนนเสรีภาพของประชาชนอยู่ที่ 6.47 คะแนนการทำงานของรัฐบาล 6.43 คะแนนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนอยู่ที่ 5.00 และคะแนนด้านวัฒนธรรมทางการเมืองอยู่ที่ 5.63 ดัชนีความเป็นประชาธิปไตยของไทยจึงอยู่ที่ 5.67

 

ขณะที่ในปี 2551 เป็นปีที่ประเทศไทยขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 54 ของโลก มีความเป็นประชาธิปไตยสูงสุดในอาเซียน คะแนนในองค์ประกอบต่างๆ อยู่ที่ 7.75, 7.06, 6.79, 5.56 และ 6.88 ตามลำดับ โดยดัชนีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ที่ 6.81 ก่อนที่จะเสียแชมป์ให้ประเทศอินโดนีเซียในปี 2555 และตกมาอยู่อันดับที่ 4 ของอาเซียน (อันดับที่ 72 ของโลก) ในปี 2556

คะแนนในองค์ประกอบต่างๆ  อยู่ที่ 7.83, 6.76, 6.07, 5.56 และ 5.00 ดัชนีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ที่ 6.25 ซึ่งถือว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มี “ประชาธิปไตยบกพร่อง” (Flawed Democracy) อันเป็นที่น่าสังเกตว่าการส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในประเทศไทยมีคะแนนต่ำที่สุดในทุกๆ  องค์ประกอบ และไม่เคยขยับเกิน 6 คะแนน สะท้อนว่าที่ผ่านมาการเมืองไทยยังไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเท่าที่ควร

 

อันดับความเป็นประชาธิปไตยของ 9 ประเทศในอาเซียน ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา

ตารางแสดงอันดับความเป็นประชาธิปไตยของ 9 ประเทศในอาเซียน ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา

จากตารางจะเห็นว่าอันดับของประเทศไทยตกลงมาเรื่อยๆ  ภายหลังปี 2551 โดยในปี 2556 สามารถเรียงอันดับประเทศที่มีประชาธิปไตยมากที่สุดในอาเซียนไปหาน้อยที่สุดได้ดังนี้ 1) อินโดนีเซีย 2) มาเลเซีย 3) ฟิลิปปินส์ 4) ไทย 5) สิงคโปร์ 6) กัมพูชา 7) เวียดนาม 8) เมียนมาร์ และ 9) ลาว

ด้านเว็บไซต์ Global Democracy Ranking รายงานผลการจัดอันดับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ  ในปี 2556 ประเทศในอาเซียนที่มีการคำนวณค่าความเป็นประชาธิปไตยมีดังนี้

ประเทศสิงคโปร์อยู่อันดับที่ 38 ค่าความเป็นประชาธิปไตยอยู่ที่ 66.9 ประเทศฟิลิปปินส์อยู่อันดับที่ 55 ค่าความเป็นประชาธิปไตยอยู่ที่ 57.3 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 65 ค่าความเป็นประชาธิปไตยอยู่ที่ 54.2 ตามด้วยประเทศอินโดนีเซียอยู่อันดับที่ 66 ค่าความเป็นประชาธิปไตยอยู่ที่ 54.2 และประเทศมาเลเซียอยู่อันดับที่ 75 ค่าความเป็นประชาธิปไตยอยู่ที่ 52.0  โดยทั้งหมดนี้มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในเกณฑ์ “ปานกลาง”

ด้านรายงานความมีเสรีภาพของประเทศต่างๆ  ทั่วโลก จากเว็บไซต์ Freedom House ที่เป็นอีกหนึ่งรายงานที่สามารถดูความเป็นประชาธิปไตยของแต่ละประเทศได้ บ่งชี้ว่าประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ มีค่าความเสรีภาพของประชาชนอยู่ในเกณฑ์ “Partly Free” ส่วนประเทศลาว เมียนมาร์ เวียดนาม บรูไน และกัมพูชา อยู่ในเกณฑ์ “Not Free” โดยรายงานระบุว่าประเทศอินโดนีเซียมีค่าความมีเสรีภาพตกลงจากปีก่อนๆ  ทำให้จากเดิมที่เป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีค่าความเสรีภาพอยู่ในเกณฑ์ “Free” ต้องตกลงมาอยู่ในเกณฑ์ “Partly Free” ในปี 2557

 

 

Map of Freedom 2014

จากรายงานดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ประเทศที่มีแนวโน้มมีความเป็นประชาธิปไตยสูงสุดในอาเซียนคือ ประเทศอินโดนีเซีย แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ยังคงมิใช่ประเทศที่มีเกณฑ์ความเป็นประชาธิปไตยอันดับท้ายๆ  เนื่องจากยังมีอีก 5 ประเทศที่อยู่มีค่าความมีเสรีภาพต่ำกว่าไทย

 

เมื่อต้นปี 2558 เว็บไซต์ต่างๆ ที่ทำการจัดอันดับความเป็นประชาธิปไตยได้รายงานผลการจัดอันดับในปี 2557 ออกมาให้ได้รับทราบ แต่สำหรับเว็บไซต์ Freedom House ที่มีการรายงานค่าความมีเสรีภาพของประเทศต่างๆ ของแต่ละปีออกมาปีต่อปี ดังนั้นค่าของ Freedom House จึงเป็นค่าความมีเสรีภาพของปี 2558

 

ซึ่งจากสถาณการณ์ทางการเมืองในช่วงปี 2557 มีการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล จนเกิดการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการประกาศกฎอัยการศึก รวมถึงมีการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทำให้ค่าความเป็นประชาธิปไตยของไทยลดลงจากปีที่ผ่านมา และตกอันดับจากประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ “Pratly Free” มาอยู่ในกลุ่มประเทศ “Not Free” ขณะเดียวกันประเทศสิงคโปร์ที่เป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่อยู่ในเกณฑ์ “Free” เมื่อปี 2556 ก็ตกลงมาอยู่ในเกณฑ์ “Pratly Free”

 

สรุปจากการประเมินของ Freedom House ประเทศในอาเซียนที่อยู่ในเกณฑ์ “Free” ไม่มี ประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ “Pratly Free” เรียงตามลำดับคะแนน ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ สิงคโปร์ กับมาเลเซีย ที่มีคะแนนเท่ากัน สำหรับประเทศที่เหลืออยู่ในเกณฑ์ “Not Free” ตามลำดับคะแนน ได้แก่ ไทย บรูไน และกัมพูชา มีคะแนนเท่ากัน ถัดมาคือ เมียนมาร์ เวียดนาม และลาว จะเห็นได้ว่าค่าเสรีภาพของทุกประเทศในอาเซียนตกลงมาทั้งหมด ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศในอาเซียน แต่สถานการณ์ความเป็นประชาธิปไตยทั่วโลกต่างย่ำแย่ลงในปี 2558 

 

ถัดมาคือรายงานจาก  Global Democracy Ranking ที่ให้ค่าความเป็นประชาธิปไตยในปี 2557 แก่ 5 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย อยู่ที่ระดับ “ปานกลาง” ขณะที่อีก 5 ประเทศ “ไม่สามารถระบุข้อมูลได้” คือ เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาร์ ลาว และบรูไน

 

สุดท้ายคือรายงานจาก EIU ที่ระบุว่าค่าความเป็นประชาธิปไตยของไทยในปี 2557 ดิ่งลงเหว ( sharp deterioration) ทำให้ถูกปรับเปลี่ยนจากประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ “ประชาธิปไตยแบบบกพร่อง” (Flawed Democracy) มาอยู่ในเกณฑ์ “ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ” (Hybrid Democracy) ด้วยดัชนีประชาธิปไตย 5.39 (6.25/2556) ตกมาอยู่อันดับที่ 93 ของโลกจากอันดับที่ 72 ในปี 2556

 

สำหรับในอาเซียน สามารถจัดลำดับประเทศที่มีประชาธิปไตยมากที่สุดไปหาน้อย ได้แก่ 1)อินโดนีเซีย อยู่อันดับที่ 49 ของโลก ดัชนีประชาธิปไตย 6.95 2)ฟิลิปปินส์ อยู่อันดับที่ 53 ของโลก ดัชนีประชาธิปไตย 6.77 3)มาเลเซีย อยู่อันดับที่ 65 ของโลก ดัชนีประชาธิปไตย 6.49 4)สิงคโปร์ อยู่อันดับที่ 75 ของโลก ดัชนีประชาธิปไตย 6.03 5)ไทย อยู่อันดับที่ 93 ของโลก ดัชนีประชาธิปไตย 5.39 6)กัมพูชา อยู่อันดับที่ 103 ของโลก ดัชนีประชาธิปไตย 4.78 7)เวียดนาม อยู่อันดับที่ 130 ของโลก ดัชนีประชาธิปไตย 3.14 8)เมียนมาร์ อยู่อันดับที่ 141 ของโลก ดัชนีประชาธิปไตย 3.65 9)ลาวอยู่อันดับที่ 157 ของโลก ดัชนีประชาธิปไตย 2.21 และประเทศบรูไนที่ไม่มีข้อมูล

 

สรุป

จากข้อมูลดัชนีความเป็นประชาธิปไตยที่จัดทำโดย EIU การจัดอันดับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ โดย Global Democracy Ranking และการวัดค่าความเสรีภาพของประชาชนในประเทศต่างๆ ของ Freedomhouse บ่งชี้ว่าปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยก้าวหน้ากว่าประเทศใดในอาเซียน

 

แต่เช่นกันประเทศไทยก็มิได้มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่รั้งท้ายในอาเซียน แม้การจัดอันดับใน EIU จะตกลงจากที่เคยมีความเป็นประชาธิปไตยสูงสุดในอาเซียนในปี 2551 หากแต่โดยรวมแล้วประเทศไทยมีค่าความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในอันดับกลางๆ

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 นายจาตุรนต์ ได้ชี้แจงว่า ข้อความ “เราควรจะยอมรับด้วยความขมขื่นว่า ประชาธิปไตยเราล้าหลังอยู่ในอันดับท้ายๆในอาเซียนและยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นในเร็วๆนี้” ว่า เป็นเพียงการแสดงทัศนะ และไม่มีการหยิบยกข้อมูลจากแหล่งใดมาเปรียบเทียบ

 

“ที่ผมแสดงความเห็นว่า ประชาธิปไตยของไทยล้าหลังอยู่ในอันดับท้ายๆของอาเซียนนั้น ผมเห็นอย่างนั้นจริงๆ ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจคือ ขณะที่แสดงความเห็น ผมไม่ได้คิดค่าเฉลี่ยในรอบกี่ปี แต่หมายถึงขณะที่พูดนั้น คือ หลังจากการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่กี่เดือน ซึ่งต้องถือว่าประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว และเกือบจะไม่ต้องเอาไปเทียบกับหลายๆประเทศ”

 

ในขณะที่ทีมงานประเมินข้อความในฐานที่เชื่อว่านายจาตุรนต์ มีข้อมูลที่บ่งชี้ค่าความเป็นประชาธิปไตยที่แน่นอนอยู่ในมือ อย่างไรก็ตาม ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริง ซึ่งสามารถค้นหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้ และชุดข้อมูลเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน

 

และจากรายงาน และการจัดอันดับความเป็นประชาธิปไตย จาก EIU, Freedom House และ  Global Democracy Ranking เมื่อต้นปี 2558 ที่ผ่านมา บงชี้ว่าประเทศไทยมีค่าความเป็นประชาธิปไตยที่ตกต่ำลง สืบเนื่องจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าสถานการณ์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร

 

อย่างไรก็ตามรายงานจาก EIU สอดคล้องกับ Freedom House ระบุว่าความเป็นประชาธิปไตยของโลก และในเอเชียถดถอยลง โดยในเอเชียมีประเทศเมียนมาร์เพียงประเทศเดียวที่มีดัชชนีประชาธิปไตยดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การเมืองในประเทศเริ่มผ่อนคลาย และวางแผนที่จะจัดการเลือกตั้งแล้ว สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ทั้งโดยรวมแล้วประเทศไทยยังคงมีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในลำดับกลางๆ ของอาเซียน 

ดังนั้นแล้ว ข้อความของนายจาตุรนต์ ที่ว่า “เราควรจะยอมรับด้วยความขมขื่นว่า ประชาธิปไตยเราล้าหลังอยู่ในอันดับท้ายๆในอาเซียนและยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นในเร็วๆนี้” จึงอยู่ในเกณฑ์ “ก้ำกึ่ง”

ป้ายคำ :