ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > สรุปผลงาน 2 เดือน ประยุทธ์ชี้

สรุปผลงาน 2 เดือน ประยุทธ์ชี้

21 กันยายน 2014


บริบท

จากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา มีการชุมนุม และเกิดเหตุรุนแรงบ่อยครั้ง ทำให้หลายประเทศประกาศเตือนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมายังประเทศไทย ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมาลดลงออย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีการ “รัฐประหาร” ยิ่งส่งผลกระทบหนักต่ออุสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย เนื่องจาก ต่างประเทศมีการลดระดับความเชื่อมั่นประเทศไทย 

 

โดยกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้เผยรายชื่อประเทศที่มีการประกาศเตือนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศไทย 62 ประเทศ มี 19 ประเทศประกาศให้ ‘หลีกเลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทยหากไม่จำเป็น’ ในระดับ ‘สีแดง’ (avoid non-essential travel) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สเปน อิตาลี ฟินแลนด์ รัสเซีย กรีซ ฮังการี มอลตา อิหร่าน ฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม โครเอเชีย และไซปรัส

 

อีก 43 ประเทศนั้น ได้แจ้งเตือน ‘ให้ใช้ความระมัดระวังในการเดินทางในประเทศไทยโดยให้เฝ้าติดตามสถานการณ์ และหลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมนุม’ ในระดับ ‘สีเหลือง’ (warning/exercise caution/monitor situation/avoid certain sites) ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก บราซิล ชิลี อังกฤษ ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรีย โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม สวีเดน เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ลิทัวเนีย นอร์เวย์ โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก โรมาเนีย ลัตเวีย เอสโตเนีย สโลวัก ลักเซมเบิร์ก ตุรกี อินเดีย คูเวต กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เคนยา ไนจีเรีย อิสราเอล คาซัคสถาน มัลดีฟส์ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน มาเก๊า อินโดนีเซีย บรูไน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

 

เมื่อ คสช. เข้ามาบริหารงานประเทศ เป็นช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ปลายไตรมาสที่ 2 รอยต่อไตรมาสที่ 3 ในขณะที่แถลงสรุปผลงานรอบ 2 เดือน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2557 จึงต้องดูย้อนกลับไปว่า ช่วงเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม รอยต่อระหว่าง 2 ไตรมาสนี้เศรษฐกิจไทยเป็นเช่นไร ซึ่งจะเน้นไปในส่วนของไตรมาสที่ 2 เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวผลสรุปเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 มีการเผยแพร่แล้ว ส่วนเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ขณะนั้นยังไม่สามารถสรุปได้

 

บทวิเคราะห์

รายงานเศรษฐกิจจาก ธปท.

จากรายงานเศรษฐกิจการเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำเดือนกรกฎาคม โดยสรุปแล้วจำนวนนักท่องเที่ยวปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเป็นการปรับดีขึ้นของนักท่องเที่ยวในเกือบทุกภูมิภาคโดยเฉพาะเอเชียซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย แต่รัสเซีย ซึ่งเป็นตลาดสําคัญอันดับ 3 ของไทยตามโครงสร้างนักท่องเที่ยวปี 2556 หดตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศ

 

อัตราการเข้าพักในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 49.2 ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 60.7 และเมื่อดูจากอัตราการจองห้องพักล่วงหน้า 3 เดือน ยังคงมีจำนวนต่ำกว่าระยะเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ธปท. คาดดว่าอัตราการหดตัวของนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลง

 

ขณะเดียวกันเมื่อย้อนกลับไปดูรายงานของ ธปท.ในเดือนมิถุนายน สืบเนื่องจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และการที่ คสช. ประกาศเคอร์ฟิวจนถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2557 ส่งผลให้ต่างชาติประกาศเตือนนักท่องเที่ยวในการมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น อีกทั้งยังมีการเพิ่มระดับความรุนแรงของการประกาศเตือนด้วย

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีประกาศยกเลิกการเคอร์ฟิว จำนวนนักท่องเที่ยวและอัตราการจองห้องพักล่วงหน้า 3 เดือน มีแนวโน้มดีขึ้น โดยรวมแล้วอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 40.8 ลดลงจากร้อยละ 57.7 ในระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการลดลงในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคกลางซึ่งมีอัตราเข้าพักโรงแรมร้อยละ 39.7 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีที่ร้อยละ 58 อัตราการเข้าพักที่อยู่ในระดับต่ำทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวโดยการลดราคาห้องพัก

 

ในการรายงานผลไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและอัตราการเข้าพักลดลงจากปีก่อน เหตุจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนจำนวนนักท่องเที่ยวค่อนข้างทรงตัว โดย ธปท. คาดการณ์ว่าในระยะต่อไปสถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศจะปรับตัวดีขึ้น

 

ตารางแสดงตัวชี้วัดภาคการท่องเที่ยว

รายงานเศรษฐกิจ จากสภาพัฒน์ฯ

ด้านรายงานเศรษฐกิจไทย จากสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 0.4 ปรับตัวดีขึ้น จากการหดตัวร้อยละ 0.5 ในไตรมาสแรกของปี 2557 และในครึ่งแรกของปี 2557 เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ 0.1

 

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อในช่วงห้าเดือนแรกของปี การฟื้นตัวของ ด้านการท่องเที่ยวยังต้องใช้เวลา และตลาดท่องเที่ยวมีการแข่งขันกันมากขึ้นทําให้นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งเปลี่ยนจุดหมายการเดินทางท่องเที่ยว

 

ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2557 สภาพัฒน์ฯ เสนอให้เร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 2 ต่อจากประเด็นการส่งออก เนื่องจากเมื่อมองในด้านการผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารหดตัวต่อเนื่องตามการหดตัวของจํานวนนักท่องเที่ยว ขณะที่สาขาเกษตรขยายตัว และสาขาอุตสาหกรรม และการก่อสร้างหดตัวช้าลง

 

โดยการผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคาร หดตัวร้อยละ 4.2 เนื่องจากการประกาศเตือนพลเมืองของประเทศต่างๆ และปัญหาการไม่คุ้มครองการประกันภัยการเดินทางของนักท่องเที่ยวในช่วงที่มีการบังคับใช้กฎอัยการศึก โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5.3 ล้านคน ลดลงร้อยละ 12.3 ส่งผลให้ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 47.5 ลดลงจากร้อยละ 60.3 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นอัตราการเข้าพักเฉลี่ยต่ําสุดในรอบ 15 ไตรมาส (ตั้งแต่ไตรมาสที่สาม ปี 2553)

 

ผลการรายงานของสภาพัฒน์ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2557 มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน การปรับลดสมมติฐานด้านจํานวนนักท่องเที่ยวจาก 27.0 ล้านคน ในการประมาณการครั้งก่อนหน้าเป็น 25.7 ล้านคน ในการประมาณการครั้งนี้ เนื่องจาก

  1. ในช่วง 6 เดือนแรกของปี มีจํานวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 11.8 ล้านคน ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 13.1 ล้านคน
  2.  ล่าสุดในเดือนสิงหาคมยังมีประเทศต่างๆ ประกาศแจ้งเตือนพลเมืองในการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยจํานวน 60 ประเทศใกล้เคียงกับ 66 ประเทศในเดือนมิถุนายน
  3. ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบจากการระงับการคุ้มครองของบริษัทประกันภัยต่างชาติ ในขณะที่กองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพื่อคุ้มครองนักท่องเที่ยวยังอยู่ในช่วงของการจัดตั้ง
  4. การเปลี่ยนแปลงเป้าหมายการเดินทางของนักท่องเที่ยวไปยังประเทศที่ให้สิทธิพิเศษด้านการยกเว้นวีซ่า ค่าเงินอ่อนค่าและมีการขยายตัวของธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำระหว่างประเทศต้นทางและปลายทาง

 

รายงานจาก ททท.

ไทยรัฐออนไลน์ได้ ประจำวันที่15 พฤษภาคม 2557 ได้รายงานข้อมูลจาก นายศุกรีย์ สิทธิวณิช รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อในขณะนี้ ททท.ได้ประเมินสถานการณ์การท่องเที่ยวอีกครั้ง และคาดการณ์ว่ากำลังเข้าสู่สมมติฐานที่ร้ายแรงที่สุด อยู่ในระดับที่ 3 คือ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเหลือ 26.3 ล้านคน

 

ตารางแสดงจำนวนรายได้จากการท่องเที่ยวเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2557

 

แต่รายงานจากจากกรมการท่องเที่ยวช่วงเดือนกรกฎาคม 2557 เปิดเผย สถานการณ์การท่องเที่ยวเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2557 จำนวนนักท่องเที่ยว 13,626,929 คน หดตัวร้อยละ 10.47 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างต่อเนื่องกันกว่า 7 เดือน แต่จากแนวโน้มที่หดตัวน้อยลดลง คาดว่าสถานการณ์โดยรวมจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

กราฟแสดงจำนวนนักท่องเที่ยวเดือนกรกฎาคม 2557

 

และตามรายงานของไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 6 กันยายน 2557 ว่าที่ร้อยตรี อานุภาพ เกษรสุวรรณ์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทยขณะนี้ ไม่มีประเทศใดที่ห้ามการเดินทางมาประเทศไทย โดยล่าสุด มี 6 ประเทศ ได้ประกาศยกเลิกคำเตือนทั้งหมดที่เกี่ยวกับการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้ว คือ กัมพูชา ลาว มัลดีฟส์ เวียดนาม อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยทั้งสิ้น 2,076,444 คน หดตัวร้อยละ 11.85 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการหดตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่านักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งยังคงขาดความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ภายในประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรเร่งสร้างความเข้าใจกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกับตลาดใหญ่อย่างเอเชียตะวันออก ซึ่งอ่อนไหวต่อสถานการณ์ด้านความปลอดภัย

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มภาคการท่องเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากภายใน เช่น สถานการณ์การเมืองในประเทศที่มีการจัดตั้งรัฐบาลที่สมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว การเตรียมยกเลิกกฎอัยการศึกในจังหวัด และปัจจัยบวกภายนอก เช่น การขยายตัวของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการด้านความมั่นคงของจีนเอง และการขยายโอกาสการท่องเที่ยวของไทยโดยให้ฟรีค่าธรรมเนียมวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีน แต่ยังควรจับตามองปัญหาวิกฤติในยูเครน อิรัก ภาวะเงินฝืดในยุโรป และการระบาดของโรคอีโบลา

 

สรุป

จากข้อมูลรายงานเศรษฐกิจการเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานเศรษฐกิจจากสภาพัฒน์ฯ และการวิเคราะห์สถานการณ์การท่องเที่ยวโดยกรมการท่องเที่ยว หากดูจำนวนนักท่องเที่ยวและภาคบริการเฉพาะไตรมาสที่ 2 เพียงไตรมาสเดียวจะยังไม่สามารถสรุปได้เลยว่าธุรกิจท่องเที่ยว และบริการจะดีขึ้น แต่เมื่อดูในช่วงรอยต่อ ไตรมาสที่ 2 และ 3 เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงกรกฎาคมนั้น จะเห็นว่าภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น โดยแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะได้รับปัจจัยบวก 

 

อย่างไรก็ตามจากคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ว่า “ธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการกลับมามีความคล่องตัวดังเดิม” นั้น ไม่สามารถระบุลงไปได้ว่า “ดังเดิม” ในความหมายนี้ คือช่วงเวลาไหน แต่เมื่อสังเกตจากข้อมูล สถานการณ์การท่อง ณ ช่วงเดือนมิถุนายน และเดือนกรกฎาคม 2557 หรือในช่วงรอยต่อไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่3 จะเห็นได้ว่าอยู่ในระยะฟื้นตัว อย่างช้าๆ เท่านั้น ดังนั้นแล้วคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นจึงอยู่ในเกณฑ์ “ก้ำกึ่ง”

ป้ายคำ :