ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > คสช.อ้างไม่ได้สั่งปิดเฟสบุ๊ก ขณะที่หลายฝ่ายยืนยันได้รับคำสั่งจริง

คสช.อ้างไม่ได้สั่งปิดเฟสบุ๊ก ขณะที่หลายฝ่ายยืนยันได้รับคำสั่งจริง

4 สิงหาคม 2014


 

บริบท

ช่วงเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงของเย็นวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ที่คนไทยจำนวนมากเข้าใช้สื่อออนไลน์ โซเชียลเน็ตเวิร์ก อย่าง www.facebook.com ไม่ได้เพียงเว็บไซต์เดียว ทำให้เกิดกระแสะวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ มากมาย เนื่องจากมีรายงานข่าวอ้างอิงแหล่งข่าวจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) ว่าได้รับคำสั่งปิดจาก คสช. และมีผู้ใช้บางรายพบว่า เมื่อล็อกอินเข้าระบบเฟซบุ๊กของตน กลับปรากฏเป็นรูปภาพที่แสดงถึงการระงับใช้ชั่วคราวตามคำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งช่วงเวลาที่เฟซบุ๊กเข้าไม่ได้นั้น กำลังมีการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร อยู่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

 

ขณะที่ผู้ใช้บางรายที่เข้าจากเซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศ ใช้บาว์เซอร์ของ TOR กลับสามารถใช้เฟซบุ๊กได้ตามปกติไม่มีปัญหาแต่อย่างใด และเว็บไซต์อื่นๆ ก็ไม่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับเฟซบุ๊ก ทำให้เกิดกระแสว่า การที่เข้าใช้เฟซบุ๊กไม่ได้นั้นมาจากการ “สั่งปิด” ของ คสช.

 

เมื่อข่าวลือแพร่สะพัด คสช. ได้ออกมาโต้ว่าไม่มีนโยบายในการสั่งปิดเฟซบุ๊กแต่อย่างใด และข่าวต่างๆ ที่ถูกเผยแพร่จากแหล่งข่าวกระทรวงไอซีทีก็ไม่ปรากฏให้เห็นแล้ว แม้จะมีการแถลง และชี้แจงต่างๆ ก็ไม่ได้คลายความข้องใจของอีกหลายคน

 

สถานการณ์นับแต่รัฐประหาร

นับตั้งแต่เกิดสิ่งที่หลายคนเรียกว่า “รัฐประหาร” ขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ภายหลังที่มีการปิดสถานีโทรทัศน์ และให้งดการออกอากาศของทีวีช่องต่างๆ ก็ได้มีกระแสข่าวออกมาว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีการระงับการใช้งานอินเทอร์เน็ตบ้าง จะตัดช่องทางการสื่อสารของแอปพลิเคชันไลน์บ้าง

 

และทาง คสช. เองก็ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 12 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการจัดการกับสื่อสังคมออนไลน์ที่ตรวจสอบแล้วว่ามีเนื้อหายุยง ปลุกปั่น ให้เกิดความเข้าใจผิด และเริ่มดำเนินการระงับการใช้งานไปตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก

 

เนื่องจากมีประเด็นที่ คสช. ได้ตรวจพบว่ามีการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในการสร้างการแส ยุยง ปลุกปั่น ให้เกิดความเข้าใจผิด และความแตกแยกในสังคม โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มต่อต้านรัฐประหาร

 

เมื่อเกิดปรากฏการณ์ที่คนไทยไม่สามารถเข้าเฟซบุ๊กพร้อมๆ กันเป็นจำนวนมากได้ในช่วง 16.00–16.30 น. ของวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ทำให้เกิดการโยงใยพาดพิงไปถึง คสช. ซึ่งก่อนหน้านี้ในทวิตเตอร์ได้มีการทวีตข้อความจากสำนักข่าวชื่อดังต่างๆ ว่า “ปลัดกระทรวง ICT ได้รับคำสั่งจาก คสช. ให้ปิด Facebook ชั่วคราวเนื่องจากมีการใช้สร้างกระแส”

 

ยังไม่ทันสิ้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ก็ได้ออกแถลงชี้แจงกรณีเฟซบุ๊กใช้การไม่ได้นั้นเป็นเพราะเกตเวย์อันเป็นตัวเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ เข้าด้วยกันเกิดปัญหา ทาง คสช. มิได้มีคำสั่งให้ปิดเฟซบุ๊กแต่อย่างใด ฉับพลันทันใด ข่าวล่ามาไวที่ทางสำนักข่าวดังต่างๆ นำมาโพสต์ก็หายวับไปในพริบตาเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดของประชาชน ปรากฏเป็นข่าวชี้แจงของทาง คสช. ขึ้นมาแทนที่

 

วิเคราะห์ข้อมูล

บทวิเคราห์: เมื่อคนไทยโดนปิดเฟส

ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ช่วงเวลาประมาณ 16.00 น. สื่อต่างๆ รายงานตรงกันว่า ทาง คสช. ได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงไอซีที ในการปิดกั้นการใช้งานเฟซบุ๊ก แม้จะมีการชี้แจงจากทาง คสช. สื่อที่เกาะติดสถานการณ์ยังคงรายงานข่าวจากแหล่งข่าววงในที่ยืนยันว่ามีการของความร่วมมือจากทาง คสช. จริง

 

สำนักข่าวต่างๆ รายงานข่าวจากปิดเฟสบุ๊กผ่านทางทวีตเตอร์

ผู้สื่อข่าว thaiPBS ยืนยันมีการสั่งปิดเฟสบุ๊กจริง

 

ด้านผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีต่างให้ความเห็นว่า การที่เกตเวย์อันเป็นเสมือนเครือข่ายใช้งานหลักล่มนั้น เป็นไปไม่ได้ที่เฟซบุ๊กจะเป็นเว็บไซต์เดียวที่ใช้งานไม่ได้ รวมทั้งมีผู้นำภาพจากหน้าจอสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ที่ขึ้นคำสั่งปิดจาก “หน่วยงานที่คุณก็รู้ว่าใคร”

 

ผู้ใช้เฟสบุ๊กเผยแพร่ข้อความ จับโกหก คสช.

 

มีการพยายามหาข้อมูลเพื่อมายืนยันว่าการที่เฟซบุ๊กเข้าไม่ได้ในครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับเกตเวย์ แต่เป็นเหตุจาการกีดกันการใช้งาน หลายคนพยายามหาหลักฐานมายืนยันว่าหน้าจอสมาร์ทโฟน คอมพ์พิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของตนนั้นขึ้นเป็นคำสั่งปิดจาก "…" เมื่อกดเข้าใช้งานเฟซบุ๊ก

 

หน้าเฟสบุ๊กที่โดนคำสั่งปิดจาก คสช.

 

แม้จะมีการแถลงซ้ำยืนยันว่าทาง คสช. ไม่ได้เป็นผู้สั่งปิดเฟซบุ๊ก มีการนำหลักฐานมายืนยันว่าช่วงเวลาดังกล่าวระบบมันมีปัญหาจริงๆ ก็ไม่ได้ช่วยให้อีกหลายคนหายข้องใจ ยังคงมีการตั้งคำถามในประเด็นนี้เรื่อยมา กลายเป็นข้อถกเถียงในโลกออนไลน์

 

คสช.แสดงหลักฐานเฟสบุ๊กล่ม

 

และเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557 เว็บไซต์ประชาไทได้หยิบคำสัมภาษณ์ ทอร์ ออดแลนด์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารของเทเลนอร์ เอเชียที่มีต้นฉบับมาจากหนังสือพิมพ์ Aftenposten (หนังสือพิมพ์ที่มีฐานคนอ่านมากที่สุดในนอร์เวย์) ซึ่่ง ระบุว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา เทเลนอร์ซึงเป็นบริษัทแม่ของดีแทค ได้รับคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ให้ปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊กในประเทศไทยเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับผู้ใช้งานเฟซบุ๊กราว 10 ล้านราย

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) ประกาศแจ้งเตือนไปยังดีแทคว่าปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม และอาจตัดชื่ออกจากการประมูล 4G ก่อนหน้านี้ ปลัดกระทรวงไอซีทีที่ออกมาให้ข่าวจนเกิดเป็นกระแสครึกโครมก็ถูกโยกย้ายไปเรียบร้อยแล้ว สิ่งเหล่านี้อาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันการกระทำของ คสช.

 

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2557 ทางเทเลนอร์ กรุ๊ป ออกแถลงการณ์ขอโทษ กสทช. และ คสช. ต่อกรณีดังกล่าว แต่มิได้ระบุว่าคำแถลงของ ทอร์ ออนแลนด์นั้นเป็นจริง หรือเท็จอย่างไร

 

สรุป

โดยระหว่างเวลา 16.00-16.30 น. ที่เฟซบุ๊กเข้าใช้งานไม่ได้นั้น เหตุจาก คสช. ได้ขอความร่วมมือและประสานงานกับผู้ให้บริการในเมืองไทย ให้ระงับการใช้งานขั่วคราว ไม่ได้เกิดจากการขัดข้องทางเทคนิคแต่อย่างใด ซึ่งอาจสืบเนื่องมาจากประกาศ คสช. ฉบับที่ 12 ที่เปิดช่องทางให้ คสช. ดำเนินการปิดสื่อออนไลน์ที่มีเนื้อหายุยงปลุกปั่น

 

จากหลักฐานข้อมูลคำพูดของปลัดกระทรวงไอซีที และการให้สัมภาษณ์ของ ทอร์ ออดแลนด์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารของเทเลนอร์เอเชีย บริษัทแม่ของดีแทค ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับ Aftenposten หนังสือพิมพ์นอร์เวย์ ถือเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน และแม้จะมีการออกมาขอโทษจากทางผู้บริหารเทเลอร์ ในประเด็นการให้สัมภาษณ์ดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้ระบุแต่อย่างใดว่าคำสัมภาษณ์นั้นเป็นจริงหรือเท็จ  

 

ดังนั้นคำชี้แจงของ พ.อ.วินธัย ในฐานะทีมโฆษก คสช. ที่ว่า “…ตามที่เกิดเหตุขัดข้องจากการใช้บริการทางเฟสบุ๊กของพี่น้องประชาชน ขอเรียนว่าเรื่องดังกล่าวเกิดจากการขัดข้องทางเทคนิคนะครับ…” จึงอยู่ในเกณฑ์ที่ “เป็นเท็จ”

ป้ายคำ :