
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน บริเวณทางเชื่อมตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ทำเนียบรัฐบาล ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
- นายกฯจี้แรงงาน-มหาดไทย ผ่อนผันแรงงานกัมพูชาบริเวณชายแดน
- กำชับด่านศุลกากรเข้ม สกัดของเถื่อนทะลัก
- สั่งจัดงานดนตรี “Tomorrow Land” เมืองพัทยาปี’69
- มติ ครม.ขยาย “คุณสู้ เราช่วย” เฟส 2 จ่าย 10% ปิดหนี้ 3 หมื่นบาท
- เคาะค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วันใน กทม.มีผลวันนี้
- เห็นชอบ กฟภ.ผลิตไฟฟ้าโซล่าเซลล์ – พ่วง ‘ไมโครกริด’ บนเกาะสีชัง
- ขยายเพดานเงินเดือน พนง.ไปรษณีย์ไทยสูงสุด 142,830 บาท
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. และข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
กำชับด่านศุลกากรตรวจเข้ม สกัดของเถื่อนทะลัก
นายจิรายุ รายงานข้อสั่งการเรื่องมาตรการป้องกัน และปราบปรามการนำเข้าสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมายว่า จากการที่นายกรัฐมนตรีและคณะลงพื้นที่ตรวจราชการในหลายจังหวัด และได้รับรายงานจาก กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องว่า มีปัญหาในการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร บริเวณชายแดน ทำให้ราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตรในประเทศไทยตกต่ำลง ซึ่งจะต้องการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
- สั่งการให้กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง สั่งการกำชับด่านศุลกากรทุกแห่งทั่วประเทศให้ยกระดับมาตรฐานการควบคุม และดำเนินการป้องกัน และปราบปรามการนำเข้าสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมาย พร้อมทั้งเพิ่มมาตรการเชิงรุก รวมถึงกำชับเจ้าหน้าที่ทุกท่านให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวดให้เป็นไปตามกฎหมาย ให้ลาดตระเวนในเขตพื้นที่รับผิดชอบดำเนินการปราบปรามโดยเฉพาะสถานที่ ที่อาจจะเป็นที่จัดเก็บสินค้าเกษตรเถื่อนหรือโกดังต่างๆ ที่มีการนำเข้าผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน
- สั่งการให้กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม จัดตั้งกลไกในการแลกเปลี่ยนข้อมูล การนำเข้า การส่งออก และการนำผ่านแดน เพื่อแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด ระหว่างกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรฯ และ กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานราชการอื่นๆ รวมทั้งสมาคมการเกษตร หรือกลุ่มผู้ผลิต และส่งออก พืชเกษตรต่างๆ เพื่อให้สามารถจัดการการป้องกันและปราบปรามสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- สั่งการให้ กระทรวงเกษตรฯ ประสานความร่วมมือในการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งดำเนินการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ในการกำหนดโควตาในการนำเข้าสินค้าเกษตร เพื่อป้องกันราคาสินค้าเกษตรในประเทศให้เกิดผลสัมฤทธิ์
- สั่งการให้ กระทรวงเกษตรฯ เร่งพัฒนาวิจัยพันธุ์พืช หรือสินค้าทางการเกษตรให้มีคุณภาพปราศจากโรค หรือทำแผนในการจัดหาต้นกล้า เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ
จี้แรงงาน-มหาดไทย ผ่อนผันแรงงานกัมพูชาบริเวณชายแดน
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ ยังสั่งการเรื่องมาตรการผ่อนผันแรงงานชายแดนไทย-กัมพูชาในช่วงสถานการณ์พิเศษ เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านแรงงานในพื้นที่ชายแดน มิให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับฐานราก ความมั่นคงของรัฐ และหลักมนุษยธรรม อันเนื่องมาจากสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินข้างเข้า-ออกของแรงงานสัญชาติกัมพูชาที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในลักษณะไป-กลับ หรือ เป็นการจ้างงานตามฤดูกาล ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
- สั่งการให้ กระทรวงแรงงาน เร่งรัดการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารการจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อพิจารณาแนวทาง และมาตรการผ่อนผันการทำงานของแรงงานสัญชาติกัมพูชาในพื้นที่ชายแดน ภายใต้อำนาจตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินมาตรการได้ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
- สั่งการให้ กระทรวงมหาดไทย อาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมืองฯ เร่งรัดการยกร่างประกาศ กระทรวงมหาดไทย เพื่อรองรับการดำเนินมาตรการผ่อนผันดังกล่าว โดยพิจารณาถึงความเหมาะสม พร้อมทั้งให้มีความสอดคล้องกับหลักมนุษยธรรม และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชายแดน โดยขอให้ทั้งสองหน่วยงานเร่งดำเนินการดังกล่าว เพื่อนำกลับมาเสนอต่อ ครม. โดยเร็ว
สั่งจัดงานดนตรี “Tomorrow Land” เมืองพัทยาปี’69
นายจิรายุ กล่าวถึงการสนับสนุนนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศไทย เพื่อทำให้คนทั่วโลกหันมาให้ความสนใจประเทศไทย และเดินทางมาท่องเที่ยวมากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการถึงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดงานเทศกาลดนตรี Tomorrow Land ตามที่รัฐบาลมีนโยบายกำหนดให้ปี 2568 เป็น “ปีแห่งการท่องเที่ยว” โดยมีเป้าหมายเพื่อปักหมุดให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวระดับโลก
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า งานเทศกาลดนตรี Tomorrow Land ถือเป็นเทศกาลดนตรีที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ที่สามารถดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวจากนานาประเทศ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น ตลอดจน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตสูงขึ้นได้ และได้คุยกับผู้จัดงานดังกล่าว โดยเบื้องต้นได้พิจารณาว่าจะมาจัดงานที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ภายในปี 2569 จึงขอมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
- สั่งการให้ กระทรวงท่องเที่ยวฯ และ ททท. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการ และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการในโครงการข้างต้น เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
- ให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ TCEB เร่งดำเนินการ ศึกษาความเหมาะสม และความเป็นไปได้ (Feasibility Study) สำหรับการจัดงานเทศกาลดนตรี Tomorrow Land โดยให้จัดทำรายละเอียด ที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน โดยคำนึงถึงภาระค่าใช้จ่าย ประโยชน์ และความคุ้มค่าและการบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
ทั้งนี้ นายจิรายุ รายงานคำกล่าของนางสาวแพทองธารว่า “การเร่งดำเนินการในการสนับสนุน ภาคธุรกิจ ภาคการท่องเที่ยว และ การกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย ในแผนการกระตุ้นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวจะทำให้ประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจได้สูงขึ้นในภูมิภาคอย่างแน่นอน”
มติ ครม.มีดังนี้
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษก ฯ และนายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกฯร่วมกันแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
ขยาย “คุณสู้ เราช่วย” เฟส 2 จ่าย 10% ปิดหนี้ 3 หมื่นบาท
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่า ตามที่รัฐบาลร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงิน ได้มีการดำเนินโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” สำหรับลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 3 มาตรการ ได้แก่
(1) มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” ซึ่งมุ่งเน้นช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่สูงมาก และเคยมีประวัติค้างชำระเกินกว่า 30 วัน จนถึง 365 วัน หรือ เคยปรับปรุงโครงสร้างหนี้เนื่องจากค้างชำระเกินกว่า 30 วัน ผ่านการลดค่างวด เน้นตัดเงินต้น และพักภาระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับการยกเว้นหากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดระยะเวลาของมาตรการ
(2) มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” เพื่อช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่สูง (ไม่เกิน 5,000 บาท) โดยให้ลูกหนี้ชำระหนี้เพียงบางส่วนของยอดหนี้คงค้างเพื่อปิดหนี้ได้ทันที และ
(3) มาตรการที่ 3 “ลดผ่อน ลดดอก” ซึ่งเป็นการลดภาระการผ่อนชำระ และลดดอกเบี้ย สำหรับลูกหนี้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคของ Non-banks จากผลการตอบรับพบว่า ประชาชนได้ให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568 มีลูกหนี้แสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการและอยู่ระหว่างตรวจสอบสิทธิ์แล้วทั้งสิ้นกว่า 1.4 ล้านราย คิดเป็นจำนวนบัญชีกว่า 1.9 ล้านบัญชี
ทั้งนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือครอบคลุมไปยังลูกหนี้ทุกกลุ่มและมีมาตรการช่วยเหลือที่หลากหลายมากขึ้น กระทรวงการคลังร่วมกับ ธปท. ได้เสนอแนวทางการขยายคุณสมบัติของลูกหนี้ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย ระยะที่ 2” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 โดยมีแนวทางสรุปได้ ดังนี้
1) การขยายคุณสมบัติลูกหนี้ของมาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์ ให้รวมถึงลูกหนี้ที่ค้างชำระมากกว่า 365 วัน และลูกหนี้ที่ค้างชำระน้อยกว่า 30 วัน แต่เคยมีการปรับโครงสร้างหนี้
2) การขยายยอดคงค้างหนี้และประเภทหนี้ตามมาตรการจ่าย ปิด จบ ให้ครอบคลุมภาระหนี้จำนวน 10,000 บาท หากเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) และ 30,000 บาท หากเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน (Secured Loan)
3) การเพิ่ม “มาตรการจ่าย ตัด ต้น” เพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ NPLs ซึ่งมีสินเชื่อไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) ที่มียอดหนี้คงค้างไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี โดยการปรับโครงสร้างหนี้ให้มีเงื่อนไขเป็นการผ่อนชำระคืนเป็นงวด (Term Loan) และกำหนดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำที่ร้อยละ 2 ของยอดคงค้าง เป็นระยะเวลา 3 ปี และยกเว้นดอกเบี้ยให้หากลูกหนี้สามารถทำตามเงื่อนไขของมาตรการได้ครบ 3 ปี
ทั้งนี้ คาดว่าการขยายคุณสมบัติของลูกหนี้ตามโครงการ “คุณสู้ เราช่วย ระยะที่ 2” จะช่วยเหลือลูกหนี้ได้เพิ่มเติมอีกกว่า 1.8 ล้านราย หรือ 2.0 ล้านบัญชี ยอดสินเชื่อคงค้างรวม 310,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่เป็นกลุ่มเปราะบางเพิ่มเติม กระทรวงการคลังได้มอบหมายสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของลูกหนี้ เช่น มาตรการแก้หนี้รหัส 21 สำหรับลูกหนี้ที่สะดุดในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้โครงการสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาล เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ไม่ให้เป็น NPLs หรือหมดภาระหนี้ได้เร็วขึ้น และหลุดพ้นจากประวัติหนี้เสียโดยเร็ว ทั้งนี้ การช่วยเหลือเพิ่มเติมของสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้ประมาณ 530,660 บัญชี ภาระหนี้ประมาณ 9,407 ล้านบาท
นายพรชัย กล่าวย้ำว่า การขยายคุณสมบัติโครงการคุณสู้ เราช่วย ภายใต้ “โครงการคุณสู้ เราช่วย ระยะที่ 2” ยังคงหลักการสำคัญเช่นเดียวกับการดำเนินโครงการคุณสู้ เราช่วย ในระยะแรก คือ (1) ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้หนี้ (2) เป็นมาตรการเฉพาะกลุ่มที่เน้นช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสรอดให้สามารถฟื้นตัวกลับมาชำระหนี้ได้ หรือกลับมาเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ และ (3) เป็นมาตรการที่มีแนวทางป้องกันมิให้ลูกหนี้เสียวินัยในการชำระหนี้ (Moral Hazard) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบและแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างเป็นรูปธรรม ให้ลูกหนี้กลับเป็นลูกหนี้สถานะปกติและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสภาพคล่องและเงินทุนในอนาคตได้
ไฟเขียว AOT เปิดคัดเลือกผู้ให้บริการ GSE รายที่ 2
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติตามที่ กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ดำเนินโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น (Ground Support Equipment: GSE) และการให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง (Passenger Handing Services: PHS) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (โครงการฯ) ของผู้ประกอบการรายที่ 2 ตามหลักการของโครงการฯ ของผู้ประกอบการรายที่ 2 ที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการนโยบายฯ) ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบตามที่ ทอท. เสนอแล้ว
โดย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ดำเนินธุรกิจด้านการบริหารท่าอากาศยานในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยในส่วนของโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น (Ground Support Equipment: GSE) และการให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง (Passenger Handling Services: PHS) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (โครงการฯ) โดย ทอท. ได้พิจารณาให้สิทธิการประกอบกิจการดังกล่าวแก่ผู้ประกอบการ (ให้สิทธิการประกอบกิจการแยกกัน) ดังนี้
- ด้านกิจการ การให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น (GSE) มีการให้สิทธิการประกอบกิจการในปัจจุบัน โดยมีผู้ประกอบการ จำนวน 2 ราย ได้แก่ (1) บริษัท การบินไทยฯ (สิ้นสุดสัญญาปี 2583) (2) บริษัท กรุงเทพเวิลด์ไวด์ (สิ้นสุดสัญญาปี 2569)
- ด้านกิจการ การให้บริการผู้โดยสารภาคพื้น (PHS) มีการให้สิทธิการประกอบกิจการในปัจจุบัน โดยมีผู้ประกอบการจำนวน 3 ราย ได้แก่ (1) บริษัท การบินไทยฯ (สิ้นสุดสัญญาปี 2583) (2) บริษัท กรุงเทพเวิลด์ไวด์ (สิ้นสุดสัญญาปี 2564) (3) บริษัท สุฟท์ฮันซ่า เซอร์วิสเซส (ไทยแลนด์) จำกัด (สิ้นสุดสัญญาปี 2564)
โดยที่ผู้ประกอบการรายที่ 2 ของกิจการ GSE จะครบกำหนดอายุสัญญาประกอบกิจการในปี 2569 ทอท. จึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาให้สิทธิกับผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเหมาะสมล่วงหน้า เพื่อเป็นการรักษาจำนวนผู้ประกอบการให้เพียงพอต่อการให้บริการ และสามารถรองรับการเติบโตของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการให้สิทธิผู้ประกอบการรายใหม่ใหม่ในครั้งนี้ จะครอบคุมการดำเนินกิจการทั้ง GSE และ PHS เพื่อเพิ่มผู้ประกอบการในกิจการ PHS ให้มีความเหมาะสม เนื่องจากผลการศึกษาพบว่า ภายในปี 2575 จะมีจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้นจนทำให้ผู้ประกอบการที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอ โดยเห็นว่าควรมีจำนวนผู้ประกอบการ ดังนี้ (1) ผู้ประกอบการ GSE จำนวน 3 ราย และ (2) ผู้ประกอบการ PHS จำนวน 4 – 5 ราย
สำหรับโครงการฯ ของผู้ประกอบการรายที่ 2 รายใหม่ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
- หลักการโครงการ ประกอบด้วย วัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาให้สิทธิกับผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเหมาะสมล่วงหน้าก่อนที่สัญญาของผู้ประกอบการรายที่ 2 จะสิ้นสุดลง (สิ้นสุดสัญญาปี2569) ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อรักษาจำนวนผู้ประกอบการให้มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อการให้บริการและสามารถรองรับการเติบโตของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ขอบเขตการให้บริการ แบ่งออกเป็น (1) กลุ่มบริการหลักของผู้ให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นที่ต้องให้บริการแก่สายการบิน เช่น กลุ่มบริการอุปกรณ์สนับสนุนอากาศยาน กลุ่มบริการขนถ่ายและเคลื่อนย้ายกระเป้า สัมภาระ สินค้า และไปรษณียภัณฑ์ (2) กลุ่มบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การให้บริการการจัดการทั่วไปด้านภาคพื้น การให้บริการด้านผู้โดยสารขอบเขตการให้บริการ
- รูปแบบการร่วมลงทุน จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP Net Cost เนื่องจากเป็นรูปแบบการร่วมลงทุนที่มีความคุ้มค่าของเงิน (VFM) มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการเองและกรณีที่ให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบอื่น
- ระยะเวลาโครงการ 20 ปี นับจากวันส่งมอบพื้นที่ (รายละเอียดการส่งมอบพื้นที่จะพิจารณาอีกครั้งในชั้นของการคัดเลือกเอกชน)
- กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของโครงการ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของโครงการฯ ของผู้ประกอบการรายที่ 2 จะเป็นของกระทรวงการคลังภายใต้กำกับดูแลของกรมท่าอากาศยาน โดยในส่วนของเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เอกชนเป็นผู้จัดหา เมื่อสิ้นสุดสัญญาทางภาครัฐมีสิทธิที่ตัดสินใจในการซื้อทรัพย์สินในราคามูลค่าตามบัญชี โดยคิดคำนวณจากราคาทุนหักด้วยค่าเสื่อมราคา ตามอายุการใช้งานตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป หรือทำสัญญาเช่าทรัพย์สินต่อในกรณีที่เอกชนเช่าเครื่องจักรและอุปกรณ์
- การแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชน เอกชนจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรายได้ของโครงการฯ ของผู้ประกอบการรายที่ 2 และเป็นผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้โดยตรง โดยเอกชนต้องจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ภาครัฐเป็นรายปีตามเงื่อนไขที่กำหนด
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้วเห็นชอบในหลักการ/ไม่ขัดข้อง โดย สศช. มีความเห็นเพิ่มเติม เช่น เห็นควรมอบหมายให้ ทอท. ดำเนินการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากความล่าช้าในกระบวนการคัดเลือกเอกชน ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการของโครงการฯ ของผู้ประกอบการรายที่ 2 และผู้ประกอบการรายที่ 3 พร้อมทั้งเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนของโครงการฯ เพื่อให้ ทอท. สามารถคัดเลือกเอกชนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการให้บริการโครงการฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เคาะค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วันใน กทม.มีผลวันนี้
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบ ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 14) ลงวันที่17 มิถุนายน 2568 เพื่อลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป ตามที่กระทรวงแรงงาน(รง.) ได้เสนอ
จากเดิมที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 2 เมษายน 2567 รับทราบประกาศ คณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม ลงวันที่ 27 มีนาคม 2567 (ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 เป็นต้นไป โดยใช้สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบกิจการประเภทกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ในพื้นที่ 10 จังหวัดนําร่องในเขตพื้นที่ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง โดยให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเป็นอัตราวันละ 400 บาท (ปรับเพิ่มอัตราวันละ 30-55 บาท เฉพาะบางเขตพื้นที่)
ต่อมาคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (ชุดปัจจุบัน) ได้พิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2568 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2568 โดยได้มีมติเห็นชอบในการกำหนดอัตราค่าจ้างใน 3 กลุ่ม โดย 1. ปรับอัตราค่าจ้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทุกพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็นอัตราวันละ 400 บาท 2. ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในกิจการประเภทโรงแรมตามกฎหมาย เฉพาะโรงแรมประเภท 2 ประเภท 3 และประเภท 4 ทั่วประเทศ เป็นอัตราวันละ 400 บาท และ 3. กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเภทกิจการสถานบันเทิง ตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการทั่วประเทศ เป็นอัตราวันละ 400 บาท ทั้งนี้ คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ได้เห็นชอบให้ประกาศใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป
เห็นชอบ กฟภ.ผลิตไฟฟ้าโซล่าเซลล์ – พ่วง ‘ไมโครกริด’ บนเกาะสีชัง
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินการตามโครงการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์พร้อมระบบไมโครกริดในพื้นที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ในกรอบวงเงินลงทุนรวม 255 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ในประเทศ 191 ล้านบาท (ร้อยละ 75) และเงินรายได้ของกฟภ. 64 ล้านบาท (ร้อยละ 25) ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สืบเนื่องจากสายเคเบิลใต้น้ำขนาด 22 เควี ของเกาะสีชังได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ ส่งผลให้เกิดปัญหาความมั่นคง เสถียรภาพ และคุณภาพไฟฟ้าในพื้นที่ รวมถึงการขาดทุนในการประกอบกิจการประมาณ 100 ล้านบาท/ปี ดังนั้น กฟภ. จึงมีแนวคิดในการนำระบบไมโครกริดมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ให้ความเห็นชอบดำเนินโครงการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ฯ ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปดังนี้
วัตถุประสงค์ของโครงการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ฯ คือ
1) สนับสนุนนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนของภาครัฐ (Carbon Neutrality) โดยเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน (Renewable Energy)
2) เพิ่มขีดความสามารถและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าบนเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี และ 3) สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน
เป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการ ติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์พร้อมระบบไมโครกริดในพื้นที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี (พื้นที่ประมาณ 52 ไร่ เพื่อสร้างโครงสร้างรองรับแผงเซลล์อาทิตย์)
ปริมาณงาน
1) ระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ไม่น้อยกว่า 6 MWp 1 ระบบ
2) ระบบกักเก็บพลังงานด้วย ขนาด 2 MW/2.5 MWh และระบบควบคุม Monitoring พร้อมระบบสื่อสาร1 ระบบ
3) งานปรับปรุงไฟฟ้าดีเซล 1 งาน
4) งานปรับปรุงระบบจำหน่าย 1 งาน
ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (พ.ศ. 2569 – 2570)
วงเงินลงทุนของโครงการ 255 ล้านบาท (เงินกู้ในประเทศ 191 ล้านบาท และเงินรายได้ ของกฟภ. 64 ล้านบาท)
ประโยชน์ที่จะได้รับ
1) ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และเพิ่มสัดส่วน Renewable Energy
2) เพิ่มผลผลิตและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะการท่องเที่ยว และธุรกิจต่อเนื่องบนพื้นที่เกาะ
3) ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรบนเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี
4) สร้างทัศนคติที่ดีของประชาชนต่อรัฐบาล ลดความเหลื่อมล้ำ แม้จะอยู่บนเกาะกลางทะเลที่ห่างไกล โดยประชาชนต้องได้รับการให้บริการจากโครงสร้างพื้นฐานอย่างเท่าเทียม
ขยายเพดานเงินเดือน พนง.ไปรษณีย์ไทยสูงสุด 142,830 บาท
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการปรับขยายเพดานอัตราค่าจ้างขั้นสูงของพนักงานบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) (การปรับขยายเพดานฯ) ตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 และความเห็นของสำนักงาน กระทรวงพ. ดังนี้
- ระดับ 12 (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงาน) อัตราเดิม 113,520 บาท อัตราใหม่ที่ขอขยาย 142,830 บาท
- ระดับ 11 (รองกรรมการผู้จัดการใหญ่) อัตราเดิม 108,810 บาท อัตราใหม่ที่ขอขยาย 133,770 บาท
- ระดับ 10 (ผู้จัดการฝ่าย) อัตราเดิม 104,310 บาท อัตราใหม่ที่ขอขยาย 124,770 บาท
ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป
นายอนุกูล กล่าวว่า เนื่องจากบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้มีการปรับตั้งแต่ปี 2550 (18 ปี) จึงทำให้ไม่สอดคล้องกับภาระงานที่มีการเปลี่ยนแปลง ประกอบกับตำแหน่งดังกล่าว เป็นผู้กำหนดนโยบาย วิสัยทัศน์ เป้าหมาย กลยุทธ์ รวมทั้งขับเคลื่อนการดำเนินงานของ ปณท ภายใต้การแข่งขันทางธุรกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับขยายเพดานอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูงจากภายนอกเข้ามาในองค์กร ในการนี้ ปณท ได้พิจารณาการปรับขยายเพดานอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามหลักเกณฑ์เพื่อใช้ในการพิจารณากำหนดค่าตอบแทนระบบแรงจูงใจ และสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐวิสาหกิจในภาพรวมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 เรียบร้อยแล้ว โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขยายเพดานฯ จำนวน 31.26 ล้านบาท (จำนวน 6.25 ล้านบาทต่อปี) ปณท จะใช้จ่ายจากงบประมาณของ ปณท ซึ่งไม่กระทบต่อสถานะทางการเงินในภาพรวมของ ปณท นอกจากนี้ ปณท ยังได้กำหนดแผนการจัดหารายได้และแผนประหยัดค่าใช้จ่ายเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายบุคลากรที่จะเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 และสำนักงาน กระทรวงพ. พิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว โดยกระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงาน กระทรวงพ.ร. พิจารณาแล้วไม่มีข้อขัดข้อง/เห็นด้วยในหลักการตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ และมีความเห็นเพิ่มเติม ซึ่ง ดศ. และ ปณท ควรรับไปพิจารณาดำเนินการ
ผ่าน พ.ร.ฎ.เลือกตั้งซ่อม สส.ศรีสะเกษ เขต 5
นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขตเลือกตั้งที่ 5 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เนื่องด้วย นายอมรเทพ สมหมาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดศรีสะเกษ เขตเลือกทั้งที่ 5 ได้ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2568 จึงเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายอมรเทพ สมหมาย สิ้นสุดลงตามรัฐธธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 101 (2)
2. เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของบุคคลดังกล่าวสิ้นสุดลง ทำให้มีตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลง และต้องดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกา เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 102 โดยให้ถือว่าวันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง คือ วันที่ถึงแก่อนิจกรรม คือ วันที่ 27 มิถุนายน 2568
3. ในการนี้ เพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขตลือกตั้งที่ 5 แทนตำแหน่งที่ว่าง เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 จึงได้จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขตเลือกตั้งที่ 5 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. …. ขึ้น เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแหน่งที่ว่างภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง (ภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2568) และจัดทำร่างแผนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขตเลือกตั้งที่ 5 แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยจะประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง (ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2568) ซึ่ง กกต. คาดว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 10 สิงหาคม 2568
ตั้ง ‘กองตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์’ เลขาฯรมว.สาธารณสุข
นายอนุกูล กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยรัฐมีรายละเอียดดังนี้
1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอแต่งตั้ง นายยงยส เนียมทรัพย์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ กรมชลประทาน ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผนและโครงการ) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป
2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอแต่งตั้ง นางอัมราภัสร์ อรรถชัยวัจน์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการกอง [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิชาการพยาบาล) สูง] กองการพยาบาล สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพทรงคุณวุฒิ (ด้านการพยาบาล) กลุ่มที่ปรึกษาระดับกระทรวงสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2568 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป
3. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) ประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เสนอแต่งตั้ง นายฐิติพงศ์ เขียวไพศาล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระเนื่องจากลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว
4. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอแต่งตั้ง นายกองตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป