
รศ. ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าปฏิบัติการกู้ซากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่พังถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ว่า วันนี้(12 พ.ค.2568) จะเป็นวันที่ยุติการค้นหาผู้สูญหาย แต่ยังมีเครื่องจักรที่ต้องทำงานอยู่เพื่อเปิดพื้นที่บริเวณโซน A เคลื่อนย้ายเศษปูนออกทั้งหมด ซึ่งในวันนี้เวลา 17.00 น. และวันพรุ่งนี้เวลา 05.00 น. สุนัข K9 จะทำการสำรวจกองเศษวัสดุทั้งหมดเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีเศษชิ้นส่วนผู้สูญหาย หลงเหลืออยู่ เพื่อให้สามารถถอนกำลังออกจากพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร ตู้คอนเทนเนอร์ต่าง ๆ และส่งมอบพื้นที่คืนให้ผู้รับผิดชอบต่อไป ซึ่งจากการสำรวจกองซากที่ขนออกจากพื้นที่เมื่อวานนี้พบชิ้นส่วนร่างกาย 5 ชิ้น จึงจะมีการสำรวจซ้ำอีก 2 รอบเพื่อความมั่นใจ
ทั้งนี้จากยอดผู้ประสบเหตุทั้งหมด 109 ราย รอดชีวิต 9 ราย มีผู้ที่ตามพบว่าไม่ได้มาทำงานในวันเกิดเหตุ 4 ราย ปัจจุบันทางนิติเวชได้ระบุร่างผู้เสียชีวิตแล้ว 89 ราย จะเหลือที่ติดตามสูญหาย 7 ราย ซึ่งใน 7 รายที่กำลังติดตามนี้ยังมีชิ้นส่วนอยู่ที่นิติเวช 296 ชิ้น ที่ไม่ใช่ใน 89 รายที่พบแล้ว คงต้องรอนิติเวชในการตรวจสอบอัตลักษณ์เพื่อยืนยันตัวตน หลังจากยุติการค้นหาแล้วจะเป็นกระบวนของนิติเวชในการระบุตัวตนของชิ้นส่วนที่เหลือ และทางตำรวจก็จะดำเนินการเกี่ยวกับคดี โดยภายหลังการทำบุญในเวลา 07.00 น. ของวันพรุ่งนี้ (13 พ.ค. 2568) และมีการจัดพิธีทำบุญตักบาตรข้าวสวยมีพระสงฆ์สายวัดป่ามารับบิณฑบาตร ผู้สนใจสามารถร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสวยด้วย ซึ่งภายหลังพิธีทำบุญแล้วจะมีการประชุมแนวทางในการดูแลพื้นที่ว่าใครจะถอนกำลังใครจะดูแลพื้นที่อย่างไรบ้าง
สำหรับในส่วนของกองซากปูนที่เหลืออยู่ขณะนี้พยายามลดความสูงลงให้เหลือประมาณ 6 เมตร แล้วส่งมอบกองซากเศษวัสดุให้ผู้รับผิดชอบเพราะยังเป็นหลักฐานและอยู่ในกระบวนการของคดี โดยจะยังมีการคงกล้อง CCTV ไว้ และในวันพรุ่งนี้เวลา 11.00 น. จะมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อระบุรายละเอียดการส่งมอบพื้นที่เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างกันเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด
นอกจากนี้ได้มีการกำหนดปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ในวันที่ 15 พ.ค. 68 ดังนั้นในส่วนของศูนย์พักคอยสำหรับญาติผู้สูญหายก็จะต้องมีการถอนออกด้วย อาจจะต้องมีการถอนก่อนวันที่ 15 พ.ค. ซึ่งเบื้องต้นได้มีการแจ้งให้ทราบแล้ว แต่ทางสำนักงานเขตจตุจักรยังมีการจัดศูนย์พักพิงหากกรณีมีญาติยังประสงค์จะพักคอยอยู่ โดยในวันที่ 15 พ.ค. น่าจะเหลือเฉพาะในส่วนของสำนักงานเขตจตุจักรที่เป็นส่วนสนับสนุนหรือส่วนช่วยเหลือ รวมไปถึงการประสานกับมูลนิธิ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนับสนุนอาหารให้ทราบล่วงหน้าด้วย
ด้านการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบเหตุได้มีการลงทะเบียนผู้สูญหายไว้แล้ว รวมถึงผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบอาคารเสียหาย รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ประมาณ 40,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นการซ่อมแซมอาคาร ก็จะมีกระบวนการช่วยเหลือตามระบบและระเบียบของรัฐ อาจจะช้าบ้างเพราะผู้ขอรับความช่วยเหลือค่อนข้างเยอะ แต่ในส่วนค่าช่วยเหลือในเรื่องจัดการศพ หรือการรักษาพยาบาลก็จะเร่งดำเนินการให้ก่อน ส่วนค่าวัสดุในการซ่อมแซมอาคารอาจมีช้าบ้าง หลังจากนี้ในกรณีอยากติดตามความคืบหน้าการพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้สูญหายให้ติดต่อที่นิติเวช ติดตามเรื่องเงินช่วยเหลือให้ติดต่อสำนักงานเขตพื้นที่ กรณีอยากปรึกษาปัญหาสุขภาพติดต่อที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครทุกแห่ง
นายภุชพงศ์ สัญญโชติ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการดับเพลิงและกู้ภัย 3 กล่าวว่า ภาพรวมการปฏิบัติงานกู้ภัย เราจะมีการเก็บข้อมูลของผู้สูญหายจากการสอบปากคำญาติและผู้เกี่ยวข้องและแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เมื่อวิเคราะห์แล้วเราจึงพุ่งเป้าการค้นหาไปที่ช่วงบันไดที่คาดว่าจะมีผู้สูญหายรวมกันอยู่เยอะที่สุด แต่เป็นเรื่องยากที่จะมีผู้รอดชีวิตเพราะการถล่มของตัวอาคารทับซ้อนกันเป็นชั้นแพนเค้กทำให้มีช่องว่างน้อยมากซึ่งยืนยันได้จากการกู้ซากค้นหาตลอดเวลาที่ผ่านมา
นายภุชพงศ์ กล่าวต่อไปว่า แต่ความท้าทายที่ยากยิ่งกว่านั้นคือการนำร่างผู้เสียชีวิตออกจากซากอาคาร เนื่องจากความสูงของอาคารในวันเกิดเหตุสูงถึง 137 เมตร หลังการถล่มกลายเป็นกองซากอัดแน่นเหลือ 26.8 เมตร เป็นงานที่ยากมากในการค้นหาแต่เราก็พยายามเต็มที่ และพบร่างผู้เสียชีวิตมากที่สุดที่เราประกอบเป็นร่างได้ 89 ร่าง ซึ่งยังคงสูญหาย ณ ตอนนี้ 7 ราย จากนี้เป็นกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ที่จะพิสูจน์ชิ้นส่วนกว่า 200 ชิ้นที่เก็บกู้ได้เพื่อยืนยันจำนวนผู้สูญหายต่อไป
นายภุชพงศ์ กล่าวว่า สุดท้าย เมื่อเรานำร่างผู้สูญหายออกจากอาคาร จะมีการขนวัสดุต่าง ๆ มารวมกันที่จุดทิ้งกองซากอาคารซึ่งตอนนี้สูงราว 8 เมตร แต่จะลดลงให้ได้เหลือ 6 เมตร เนื่องจากป้องกันดินสไลด์รอบ ๆ พื้นที่ เป็นการคำนึงถึงผลกระทบสภาพแวดล้อมรอบงาน โดยระหว่างนี้จะมีการตรวจสอบโดยสุนัข K9 และทีมกู้ภ้ยทุกวันในตอนเช้าและเย็น ดำเนินการค้นหาชิ้นส่วนผู้สูญหายเพื่อนำไปตรวจสอบเทียบ DNA กับญาติที่ได้ตรวจเป็นข้อมูลไว้แล้ว วันนี้ก็ได้นำสื่อมวลชนมาดูกระบวนการทำงานของทีมในพื้นที่เก็บซากอาคารให้เห็นภาพความละเอียดในการทำงานของเรา
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวเสริมว่า “วันนี้สื่อมวลชนจะได้เห็นภาพและกระบวนการทำงานของสุนัข K9 ในส่วนรั้วที่สำนักการโยธา กทม. มีการล้อมกองซากเศษปูนไว้ก็จะยังคงไว้ เพราะยังถือเป็นพื้นที่ที่ต้องมีทั้งหลักฐานและวัสดุอุปกรณ์ ไม่สามารถมีใครนำออกไปได้ ดังนั้นจึงจะต้องรักษาความปลอดภัยต่อ รวมทั้งกล้องที่ กทม. ติดไว้นั้น วันพรุ่งนี้(13 พ.ค.)จะมีการประชุมหารืออีกครั้งว่าจะยังคงเหลือกล้องไว้ที่จุดใดบ้าง ทั้งนี้ เมื่อส่งมอบพื้นที่ ทางตำรวจจะอายัดพื้นที่ต่อเพื่อดำเนินการในเชิงรูปคดีต่อไป”
ด้านเจ้าหน้าที่เทคนิคการฝึกจากศูนย์การสุนัขทหาร กรมการสัตว์ทหารบก กล่าวว่า เราทำการค้นหาตั้งแต่แรกเริ่มที่มีการทะยอยนำดินจากตึก สตง. มาไว้ ณ จุดนี้ โดยค้นหาทั้งเช้าและเย็น ในเรื่องการค้นหานั้น สุนัขต้องการสติ สมาธิ และอิสระ วันนี้จะได้เห็นว่าทีมสุนัข K9 ค้นหาอย่างไร หากเจอหรือไม่เจอชิ้นส่วนมนุษย์จะทำอย่างไร ทั้งนี้ จากการค้นหาเราไม่เจอชิ้นส่วนมนุษย์มาร่วมนับสัปดาห์แล้ว แต่เพื่อความแน่นอนจึงต้องใช้สุนัข K9 จนวินาทีสุดท้ายเพื่อเคลียร์พื้นที่