ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์
เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย
ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลวหรือไม่ นั่นคือ เป็นประเทศที่มีรัฐบาลแต่ไม่สามารถปกครองได้ มีกฎหมายแต่บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ คุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนไม่ได้ ชุดของตัวเลขล่าสุดได้บ่งชี้อะไรบางอย่าง อาทิ
-
-Rule of Law Index 2024 (World Justice Project) ไทยอยู่อันดับ 78 จาก 142 ประเทศ ต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น มาเลเซียและสิงคโปร์
-Corruption Perceptions Index 2024 (Transparency International) ไทยได้คะแนน 36/100 อยู่อันดับ 107 จาก 180 ประเทศ สะท้อนปัญหาคอร์รัปชันเรื้อรัง
-Democracy Index 2024 (The Economist Intelligence Unit) ไทยถูกจัดเป็น “Hybrid Regime” (ประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ) อยู่อันดับ 63 จาก 167 ประเทศ (2)
คำถามคือ เราปล่อยให้บ้านเมืองเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร ?
Soft Culture หรือ Weak Culture ?
รากเหง้าของปมปัญหาทั้งมวล มาจาก “ความบกพร่องในระบบคุณค่า” (Value System) 2 ชุด คือ ระบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยม และอภิสิทธิชน กับ วัตถุนิยม บริโภคนิยม และสุขนิยม ในสังคมไทย
1)ระบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยม และอภิสิทธิชน ที่เป็นอุปสรรคต่อการพลิกโฉมประเทศไปสู่สังคมสมัยใหม่ ที่เน้นความเป็นระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ ตระหนักในหน้าที่พลเมือง มีจิตอาสา กล้าที่จะเสนอความเห็น มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และความเสมอภาค
2)วัตถุนิยม บริโภคนิยม และสุขนิยม ที่ครอบงำประชาชนคนไทยโดยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน อิทธิพลของระบอบทุนนิยมที่ปราศจากขอบเขตและการถ่วงดุล ทำให้สังคมไทยตกอยู่ในสภาวะบกพร่องทางคุณธรรมจริยธรรม ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการมีจิตใจที่คำนึงถึงส่วนรวม และชาติบ้านเมืองที่ลดน้อยถอยลง
ระบบคุณค่าทั้ง 2 ชุด ยังคงแทรกซึมลึกอยู่ในเกือบทุกอณูของสังคมไทย และหล่อหลอมคนไทยให้เป็น “ปัจเจกบุคคลที่ไร้บรรทัดฐานและคุณค่าร่วม” (Anomic Individualism) สะท้อนผ่านพฤติกรรมตัวใครตัวมัน ธุระไม่ใช่ ไม่ชอบถูกบังคับ ไร้ระเบียบวินัย และขาดความรับผิดชอบ
ผลข้างเคียงที่ตามมา คือคนไทยโดยส่วนใหญ่จะเรียกร้องสิทธิมากกว่าหน้าที่ เน้นถูกใจมากกว่าถูกต้อง เน้นมองเพื่อตัวเองมากกว่ามองเพื่อส่วนรวม เน้นชิงสุกก่อนห่ามมากกว่าอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เน้นรูปแบบมากกว่าสาระ เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ เน้นมูลค่ามากกว่าคุณค่า และเน้นคอนเนคชั่นมากกว่าเนื้องาน
ความไร้บรรทัดฐานและคุณค่าร่วม ทำให้คนไทยโดยส่วนใหญ่มักตัดสินใจเลือกเส้นทางหรือวิธีการที่ “มักง่าย” ทำให้เรื่องที่ “ผิดปกติ” กลายเป็นเรื่อง “ไม่ผิดปกติ” และกระทำลงไปโดยปราศจาก “ความรู้สึกผิด” ดังกรณีตัวอย่างมากมายที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
ระบบคุณค่าทั้งสองชุดได้ทำให้เกิด “การบิดเบี้ยวเชิงระบบ” ไม่ว่าจะเป็น
ระบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยม และอภิสิทธิชน ยังก่อให้เกิด “ความย้อนแย้งระหว่างอำนาจที่แท้จริงและอำนาจทางการ” กล่าวคือ การที่เรายังมองประชาชนเป็นผู้ถูกปกครอง โดยมีผู้ปกครองคือรัฐ ทั้งที่จริง ๆ แล้วรัฐต้องเป็นผู้รับใช้ประชาชน เป็นความย้อนแย้งระหว่างพฤตินัยและนิตินัย
ที่สำคัญ ระบบคุณค่าทั้ง 2 ชุด เป็นปฐมบทของการเกิดโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองแบบ Extractive Political Economy ที่มีผู้คนเพียงบางกลุ่ม ได้ประโยชน์จากอำนาจการปกครองและอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยความพยายามที่จะกีดกั้น เอารัดเอาเปรียบ และทำให้เกิดการกระจุกตัวของอำนาจและความมั่งคั่ง และนำพาสู่การอุบัติขึ้นของ ประชาธิปไตยเทียม ทุนนิยมพวกพ้อง ระบบเศรษฐกิจปรสิต และสังคมพึ่งพิงรัฐ ในที่สุด
โครงสร้าง Extractive Political Economy ได้นำพาประเทศไทยสู่ “ทศวรรษแห่งความสูญเปล่า” เกิดสังคมที่ไม่ Clean & Clear ไม่ Free & Fair และไม่ Care & Share สังคมดังกล่าวนำมาซึ่งความเสื่อมถอยของทุนทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นทุนมนุษย์ที่อ่อนแอ ทุนเศรษฐกิจที่อ่อนด้อย ทุนสังคมที่เปราะบาง ทุนคุณธรรมจริยธรรมที่เสื่อมทราม และทุนทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรม
การที่คนไทยโดยส่วนใหญ่เป็นปัจเจกบุคคลที่ไร้บรรทัดฐานและคุณค่าร่วม ทำให้วัฒนธรรมไทยเป็น Weak Culture ที่ไม่สอดรับกับภูมิทัศน์โลกในปัจจุบัน ที่เน้นชาตินิยม ผลประโยชน์ของชาติ และการสร้างความมั่งคั่งของประเทศ
Weak Culture ทำให้คนไทยมีความเข้มของชาตินิยมในระดับที่ต่ำ การมีจิตสำนึกเรื่องชาตินิยมที่อ่อน ทำให้ประเทศไทยเป็นชาติที่ขาดความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าไม่มีวิธีการพัฒนาของตนเอง คนไทยไม่น้อยจึงต้องตกอยู่ในสภาพของการถูกครอบงำ ซึ่งเป็นปฐมบทของการเป็นอาณานิคมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมอย่างที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
ปฏิรูปการศึกษา: คานงัดเปลี่ยนประเทศไทย
จะต้องมีการปฎิรูประบบการศึกษาอย่างจริงจัง ที่ไม่ใช่แค่ประเด็นของการสร้างสังคมที่สามารถ และสังคมแห่งโอกาสที่เท่าเทียม แต่ต้องเน้นการ “เปลี่ยนระบบคุณค่า” และการ “ปรับระบบความคิด” เป็นสำคัญ โดยมุ่งเป็นสู่การสร้างให้คนไทยเป็น “เสรีชน” ที่
-
-มีความเชื่อมั่นในตัวเอง รู้จักแยกแยะว่าอะไรถูกอะไรผิด รู้จักปรับตัว ล้มแล้วรู้จักลุก มีความคิดอ่านและการตัดสินใจที่เป็นอิสระ และมีความสามารถในการสื่อสารได้เป็นอย่างดี
-สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มีความใฝ่รู้ มุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ เพื่อเติมเต็มศักยภาพ และสร้างประโยชน์จากความรู้ที่เกิดขึ้น
-รู้จักเติม รู้จักพอ รู้จักปัน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
-ทำประโยชน์ต่อส่วนรวม ทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่น มีจิตอาสา รู้จักรับผิดรับชอบ และสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเองและส่วนรวม
ระบบการศึกษาที่เน้นระบบคุณค่าและระบบความคิด ผ่านแนวคิด “การสร้างคนไทยให้เป็นเสรีชน” จะเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย จาก Weak Culture เป็น Strong Culture ที่สอดรับกับพลวัตโลกปัจจุบัน ที่สำคัญ จะค่อยๆปรับเปลี่ยน “พลเมืองผู้เฉื่อยชา” ให้เป็น “พลเมืองผู้มีส่วนรับผิดรับชอบ” ที่มีอิสระทางความคิด กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ และรับผิดชอบผูกพันในสิ่งที่ตนเองทำ พร้อมๆกันนั้น เป็นผู้ที่มีจิตใจที่เปิดกว้าง ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง เคารพตนเองพร้อมพร้อมกับเคารพผู้อื่น ยึดมั่นในกฎกติกา ธรรมาภิบาล ความยุติธรรม ความเสมอภาคและความเป็นธรรม เป็นผู้ที่มีจิตสำนึกต่อส่วนรวมและประเทศชาติเป็นสำคัญ
พลเมืองผู้มีส่วนรับผิดรับชอบ จะเป็นเฟืองตัวสำคัญในการสร้าง “รัฐที่น่าเชื่อถือ” เพราะพลเมืองผู้มีส่วนรับผิดรับชอบจะไม่ยอมปล่อยให้ “รัฐที่ไม่น่าเชื่อถือ” ปกครองประเทศ
การสร้าง “พลเมืองผู้มีส่วนรับผิดรับชอบ” และ “รัฐน่าเชื่อถือ” เท่านั้นที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกที่หนึ่ง พร้อมๆกับการเป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง
หมายเหตุ:
1) จาก “ประเทศที่ทำผิดแค่ไหน ก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งนั้น” fb วิเคราะห์บอลจริงจัง
2) จาก “ระวังไทยจากกลายเป็นบทหนึ่งของหนังสือ….” อ้างอิงถึงหนังสือ Why Nations Fail: The Origins of Power, Prosperity and Poverty เป็นบทความที่เขียนโดยดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัยโพสต์ใน FB Pipat Luengnaruemitchai