“พิสิฐ ลี้อาธรรม” ชี้ไทยต้องมี “กัปตันเรือเก่ง-น่าเชื่อถือ” ถึงจะฝ่าคลื่นมรสุม พาไทยรอดได้ ระบุ rule of law ถดถอย-วิกฤติโครงสร้าง แนะวิธี “กินบุญเก่า-เอาตัวรอดเก่ง” ไม่รอด แข่งกับโลกไม่ได้แล้ว ถึงเวลาต้องเผชิญหน้ากับปัญหา ไม่นิ่งเฉยและปล่อยวาง

วิกฤติศรัทธาที่เสื่อมถอยลงเรื่อยๆจากการเพิกเฉย/ละเลย ไม่ปฏิบัติตาม Rule of Law เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ความต่ำเตี้ยของเศรษฐกิจตกต่ำลงเรื่อยๆ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าในปีนี้ประเทศไทยโตร้อยละ 1.6 ต่ำสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้ทุนทรัพยากรของประเทศไปอย่างฟุ่มเฟือย ภาระหนี้ของรัฐบาลที่สูงขึ้นเรื่อยๆเช่นเดียวกับหนี้ครัวเรือน ทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกใช้อย่างหมดเปลืองไปเรื่อยๆจนขาดแรงดึงดูดนักท่องเที่ยว ไม่นับรวมทุนอื่นๆทั้งทรัพยากรคน โครงสร้างพื้นฐานในแง่สถาบัน อุตสาหกรรม เทคโนโลยี่ที่หร่อยหรอ ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงไปเรื่อยๆ จึงมีคำถามว่า ถ้าประเทศไทยต้องรอด เราจะร่วมกันฟื้นฟูอย่างไร!
“นายพิสิฐ ลี้อาธรรม” นักวิชาการอิสระ ให้ความเห็นต่อสถานการณ์ประเทศไทยหากจะต้องรอดต้องทำอย่างไรโดยย้ำว่า สถานการณ์ภายนอกประเทศจะเป็นความเสี่ยงครั้งใหญ่ของไทย และที่สำคัญไม่แพ้กันคือปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ซึ่งหลายเรื่องต้องการความร่วมแรงของทุกคนในการแก้ไข
ปัญหาโครงสร้าง ฉุดรั้งประเทศไทย
“ปัญหาเรื่องใหญ่ที่สุดในสายตาผมคือ ‘ปัญหาโครงสร้างของระบบเรา’ โดยเฉพาะ ‘คน’ คนของเรามีจำนวนน้อยลงๆ เพราะประชากรเกิดน้อยลงหลายปีติดต่อกัน ปัจจุบันมีคนเสียชีวิตมากกว่าคนเกิดใหม่”
นายพิสิฐขยายความว่า เมื่อประชากรเกิดน้อยลงมาหลายสิบปี ส่งผลกระทบไปถึงตลาดแรงงาน เพราะมีประชากรที่เข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยลง ยิ่งกว่านั้น คือเรื่องคุณภาพของแรงงาน
“เราได้แรงงานที่มีคุณภาพที่สมควรหรืออยากได้ไหม นี่คือเรื่องใหญ่ มันเกี่ยวกับการศึกษา เทคโนโลยี แต่ถือว่าคนไทยก็ยังเอาตัวรอดเก่ง ประเทศเรามีคนที่มีความสามารถพอสมควรในหลายรุ่น”
ถัดมาคือปัญหา rule of law หรือปัญหาหลักนิติธรรม-นิติรัฐ กล่าวคือการรักษากฎเกณฑ์และกฎหมายของสังคม ซึ่งนายพิสิฐกล่าวต่อว่า ประเทศที่มีปัญหา rule of law มักจะมีความล้มเหลวในการพัฒนาประเทศ ขณะที่ประเทศที่รักษา rule of law ได้มักจะประสบความสำเร็จ เช่น ประเทศสิงคโปร์ จนทำให้เป็นที่สนใจของการลงทุน
“ความรู้สึกผมคือ เราขาดเรื่องนี้ เราเสียเรื่องนี้มากขึ้นๆ และไม่สามารถที่จะให้หลักประกันความมั่นใจกับใครได้ว่าผู้หลักผู้ใหญ่บ้านเราจะทำงานอย่างตรงไปตรงมา มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับหลายวงการ ล่าสุดเรื่องตึก สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) ถล่ม คือตัวอย่างหนึ่งของการไม่รักษา rule of law”
“คอร์รัปชันคือ คุณไปบิดเบี้ยว rule of law แต่ ‘คอร์รัปชัน’ เป็นคำที่ผมไม่อยากจะใช้ เพราะไปตีตราเขา ถ้าเรารักษา rule of law คุณก็ต้องไม่ทำสิ่งเหล่านี้”
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ ป่าไม้ การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ และการประยุกต์-พัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดเป็น green technology ของไทย แต่ต้องฝึกฝนคนผ่านระบบการศึกษาด้วย
สถานการณ์เรือน้อยในมหาสมุทร และ “กัปตัน”
นายพิสิฐมองว่า หากไม่แก้ปัญหาโครงสร้าง ประเทศไทยจะไม่มีโอกาสเติบโตไปสู่ประเทศระดับสูงหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว ตัวอย่างการเปลี่ยนผ่าน เช่น ประเทศจีน แต่เดิมตามหลังประเทศไทยจนกระทั่งแก้ปัญหาต่างๆ จนได้รับการยอมรับทั้งด้านกฎหมายและเศรษฐกิจ ทำให้เป็นที่น่าสนใจของการลงทุน ขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ฉีกกติกาโลกที่อเมริกาเป็นผู้กำหนด ยิ่งเป็นการสะท้อนถึงความเสื่อมถอยของ rule of law
“เราอยู่ในภาวะที่เหมือนเรือน้อยในมหาสมุทร กำลังมีคลื่นลมอย่างมากมาย ต้องมีกัปตันที่เก่งๆ ดีๆ คอยดูแลให้เรือน้อยลำนี้ไม่ล่ม แต่ปัญหาตอนนี้คือ ‘กัปตันเรือ’ ที่เก่งจะคอยกำหนดให้ลูกเรือต้องทำหน้าที่ หันซ้ายหันขวาอย่างไร หยุดอย่างไร กัปตันจะสามารถดูแลเรือลำนี้ให้ฝ่าคลื่นลมที่กำลังพลิกผันอย่างที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อนได้อย่างไร”
“ประเทศไทยจะอยู่รอดได้ต้องมีกัปตันเรือที่มีความสามารถ จะโดยวิธีไหนก็แล้วแต่ ต้องเอาตัวรอดในสถานการณ์นี้ให้ได้อย่างน้อยเมื่อคลื่นลมสงบ แต่เรือลำนี้ก็ต้องแข่งกับเรือลำอื่น”
อีกหนึ่งคุณสมบัติของกัปตันคือ “ความน่าเชื่อถือ” เมื่อกัปตันพูดอะไร ลูกน้องต้องปฏิบัติ และกัปตันไม่ต้องเก่งทุกเรื่อง
“การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอาจทำให้เราต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบเรือ เดิมเป็นเรือท้องแบนออกจากแม่น้ำ พอเข้ามหาสมุทรต้องอีกแบบหนึ่ง เหมือนเทคโนโลยีแอนะล็อกเป็นดิจิทัล รถยนต์ ICE เป็น EV ไฟฟ้าที่เคยใช้ถ่านหินเผา ต้องเป็นไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางการค้า จากค้าขายเดิมๆ ส่งของหรือไปเจรจาแล้วกินน้ำชา เปลี่ยนเป็นอีคอมเมิร์ซ… ผมกำลังบอกว่า เรือท้องแบนอาจใช้ไม่ได้แล้ว แต่เรามีความคิดความอ่านและพร้อมเปลี่ยนเรือแค่ไหน”
นายพิสิฐกล่าวต่อว่า ลูกเรือก็ต้องเรียนรู้การปรับตัวและเปลี่ยนแปลง เช่น การใช้เทคโนโลยี ฯลฯ ไม่ว่าลูกเรือจะเป็นมือขวาของกัปตัน หรือลูกเรือแบบประชาชนก็ตาม ทั้งหมดต้องนั่งให้ถูกตำแหน่ง ไม่ใช่เอานายท้ายเรือมานั่งหัวเรือ
นายพิสิฐเสริมว่า เศรษฐกิจไทยช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมาพึ่งพาญี่ปุ่นอย่างมาก แต่ปัจจุบันญี่ปุ่นทำท่าว่าจะเพลี่ยงพล้ำเรื่องรถอีวีและอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น เราต้องปรับตัวให้ทันกับโลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงานสะอาด เทคโนโลยีสีเขียว หรือภาคบริการ โดยเปลี่ยนตั้งแต่ระดับอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานให้รู้เท่าทันคลื่นลม
“ผมถามเรื่องโซลาร์กับวิศวกรคนหนึ่ง เขาบอกทำไม่เป็น ทั้งที่จบวิศวกรไฟฟ้า เพราะเขาจบมาตอนที่สิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิด และไม่ได้ขวนขวายที่จะเรียนใหม่ ผมคิดว่าสถาบันอุดมศึกษาต้องมาดูแลเรื่องนี้ต่อ อย่างจีนเขาบังคับเลยว่าเด็กชั้นประถมต้องเริ่มเรียนเอไอ บ้านเรายังไม่มี นี่คือตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นโจทย์ใหญ่ของบ้านเรา”

“กินบุญเก่า-เอาตัวรอดเก่ง” วิธีฝ่าคลื่นลมแบบไทยๆ
นายพิสิฐมองว่า “ถ้าไม่แก้ตั้งแต่วันนี้ คนอื่นจะแซงเรา โดยเฉพาะคนที่ทำได้ดีกว่า จะยิ่งทิ้งห่างไปเรื่อย สุดท้ายประเทศไทยจะถูกจัดชั้นใหม่จากประเทศกำลังพัฒนาขนาดกลาง เป็นประเทศที่ด้อยลง เพราะเราด้อยทั้งเรื่องคุณภาพของคนที่ไม่มีทักษะ และเศรษฐกิจที่ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนหรือบุคลากรที่เก่งๆ้ข้ามา”
“บ้านเรายังเป็นนโยบายที่ออกมาแล้วปฏิบัติได้ยาก อย่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจ มีวาระแห่งชาติออกมา ทั้งหมดทั้งปวง ผมคิดว่ามันเกือบจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมาใช้กับโจทย์ใหม่ๆ เพราะไปยึดติดกับวิธีปฏิบัติหรือวิธีคิดแบบเดิมๆ ต่อไปเด็กอาจไม่เห็นอนาคตในบ้านเรา ต้องไปทำงานที่ต่างประเทศ เพราะมีโอกาสมากกว่า”
“โลกมันเปลี่ยน เราก็ไม่ได้กระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนแปลง หน่วยราชการต่างๆ ยังทำงานแบบเดิมๆ แม้จะมีบางหน่วยงานที่เปลี่ยนแปลงให้ได้เห็น”
นายพิสิฐยกตัวอย่างกรณีของ สตง. ว่า “ในสภานี้ผมก็เคยอภิปราย สตง. หลายครั้งสมัยที่ผมเป็น สส. เรื่องการเอางบที่ไม่ได้ใช้ไปเก็บฝากแบงก์แล้วกินดอกเบี้ย เป็นสิ่งที่หน่วยงานราชการต้องไม่ทำและทำไม่ได้ กลับกลายเป็นว่าผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทำเสียเอง สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่า ถ้าเป็นคนรุ่นก่อนในกระทรวงการคลัง ในยุคของอาจารย์ป๋วย (อึ๊งภากรณ์) และอีกหลายท่าน จะหยิบ สตง. เป็นเรื่องใหญ่ แต่ทุกวันนี้ไม่มีใครรับผิดชอบ ไม่มีใครทำตัวเป็นเจ้าภาพ”
แต่แทบทุกเหตุการณ์ ประเทศไทยก็เอาตัวรอดได้ตลอดมา โดยนายพิสิฐเล่าตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในยามคับขัน ประเทศไทยก็มีเสรีไทย และพลิกสถานการณ์ให้ไม่กลายเป็นผู้แพ้ ตลอดจนวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งมีรัฐบาลที่มาตัดสินใจเรื่องการเงิน ธนาคารพาณิชย์ เศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไทยรอดตัวจนถึงทุกวันนี้ ตลอดจนอีกหลากหลายเหตุการณ์ทางการเมือง
ถามว่า ประเทศไทยยังมีศักยภาพกลับมาแข่งขันได้หรือไม่ นายพิสิฐตอบว่า ประเทศไทยยังมีบุญเก่าเยอะแม้จะถดถอยไปมาก เห็นได้จากเทคโนแครตหรือผู้ใหญ่ในสังคมที่เคยเรียนต่างประเทศ กลับมาพัฒนาประเทศ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ และเป็นประเทศที่ไม่มีสงคราม
“เราไม่เหมือนประเทศอื่นที่ขาดแคลนน้ำ มีปัญหาภัยพิบัติ อย่างเมียนมาเรื่องแผ่นดินไหว… ผมเชื่อว่ามีบุญเก่าที่เราสร้างไว้เยอะ ไม่เหมือนกับเมียนมา เพราะรุ่นที่เคยเก่งมันหมดไปแล้ว ถ้าไปเดินคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง หนังสือในห้องสมุดเป็นตัวฟ้อง หนังสือรุ่นใหม่แทบไม่มีให้เห็น มีแต่หนังสือปี 90”

เผชิญหน้ากับปัญหา ไม่นิ่งเฉยและปล่อยวาง
นายพิสิฐกล่าวต่อว่า แม้คลื่นลมจะรุนแรงและเราต้องการกัปตันที่เก่ง แต่ทุกวันนี้ก็มีความหวังว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพียงแต่ต้องให้กำลังใจและสู้ต่อ ไม่ใช่อำนาจอยู่ในมือของคนที่เราไม่เห็นด้วย แล้วหนีปัญหา
ถ้าประเทศไทย (จะ) ต้องรอด นายพิสิฐบอกว่า…
ประชาชนและเราทุกคนต้องเป็นคนที่กระตือรือร้นกับปัญหารอบตัว อย่านิ่งเฉยหรือปล่อยวางเมื่อเจอกับสถานการณ์ที่ไม่ถูกต้อง
“ทุกคนต้องไม่วางเฉยกับสิ่งที่ไม่ถูกไม่ต้อง เช่น ทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ก็ต้องคอยบอกกล่าว การประพฤติปฏิบัติที่ไม่ถูกไม่ต้อง การรับส่วย หรือรับอะไรที่มันไม่ถูกไม่ต้อง ขอให้เอาใจใส่ ต้องยอมเหนื่อยที่จะมาพูดจาเรื่องนี้กัน และระบบจะพัฒนาขึ้น… เพราะนี่คือบ้านเรา ประเทศไทยของเรา คนไทยต้องรักความเป็นคนไทย ต้องไม่ยอมให้สิ่งที่มันไม่ถูกไม่ต้องเหล่านี้มากลืนหรือกลาย เป็นชาติที่ถูกคนอื่นเขามองข้าม”
“เราอาจจะเซ็งกับผู้บริหาร เซ็งกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่เราก็ยังรักที่นี่ อยากอยู่ที่นี่ ยังสามารถที่จะปรับเปลี่ยนแก้ไข เรื่องวินัยการคลัง การก่อหนี้ การใช้จ่ายของรัฐที่มันออกนอกลู่นอกทาง ต้องปรับเข้ามาอยู่ในกรอบ ตีๆ ตบๆ ให้มันเข้ามาอยู่ในระบบ”