
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน และมอบหมายให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. และข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
อ้างแบงก์ชาติ – สภาพัฒน์ แนะโยกงบฯแจกเงินหมื่น กระตุ้น ศก.
นางสาวแพทองธาร รายงานว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ตามมติของคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 2 พ.ศ.2568 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 โดยเห็นชอบในการทบทวนค่าใช้จ่ายงบประมาณปี 2568 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า รัฐบาลยังรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทย และสภาพัฒน์ฯ โดยขอให้รัฐบาลทบทวนในเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก เมื่อรับฟังแล้วจึงจำเป็นต้องเร่งปรับนโยบายเศรษฐกิจที่จำเป็นและเร่งด่วน เพื่อจะสร้างรากฐานการเติบโตระยะยาวและพัฒนาเศรษฐกิจให้ดียิ่งขึ้น โดยจะให้กระทรวงการคลังชี้แจงรายละเอียดต่อไป
ส่งร่าง พ.ร.บ.งบฯปี’69 เข้าสภาวาระแรก 28 พ.ค.นี้
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจและพิจารณาแล้ว พร้อมเอกสารประกอบงบประมาณ รวม 39 เล่ม และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป โดยที่สภาจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วาระ 1 ในวันที่ 28 – 30 พฤษภาคม 2568 ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการกำหนดให้ตั้งงบประมาาณปี 2569 จำนวนไม่เกิน 3.7 ล้านล้านบาท
แจงเหตุชะลอแจกเงินหมื่น เพราะภาษีสหรัฐเร่งด่วนกว่า
ผู้สื่อข่าวเริ่มถามเรื่องดิจิทัล วอลเล็ต ทำให้ นางสาวแพทองธาร แทรกว่า “จะคุยเรื่องนี้ใช่ไหมคะ” จากนั้นผู้สื่อข่าวถามต่อว่า รัฐบาลแจกครั้งที่ 1 และ 2 ไปแล้ว แต่ครั้งที่ต้องชะลอออกไป เพราะไม่มีงบประมาณหรือไม่
นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เป้าหมายของการทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจแปลว่ากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมด รอบแรกกับรอบสอง เราก็กระตุ้นไปแล้วในคนบางกลุ่ม คือเปราะบางกับผู้สูงอายุ”
“พอเรามี Reciprocal tariffs ของสหรัฐเข้ามา เรื่องกำแพงภาษี เราต้องพิจารณาทบทวน และได้ข้อเสนอจากทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒน์ ทั้งคู่ให้ทบทวนเรื่องนี้ใหม่ว่าเงินก้อนนี้จะสามารถใช้อะไรที่เป็นการจำเป็นและเร่งด่วนกว่าในเรื่องแจกเงินดิจิทัล-เงินหมื่น เป็นการเปลี่ยนรูปแบบของการกระตุ้นว่าสามารถเอาก้อนนี้ไปทำอะไร เพื่อเรียงลำดับความสำคัญว่า อะไรที่จำเป็น ณ ขณะนี้ต่อประเทศ และเกิดผลต่อประเทศมากที่สุด-สูงสุด เราก็เลยต้องทบทวนใหม่” นางสาวแพทองธาร ตอบ
ยันไม่เลิก ‘เงินหมื่น’ เศรษฐกิจดีแจกต่อแน่
ถามต่อว่า ไม่กล้าพูดว่ายกเลิกโครงการ เพราะประชาชนยังหวังดิจิทัล วอลเล็ต และกลัวกระทบฐานเสียง ใช่หรือไม่ โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เราต้องพูดกันให้เข้าใจก่อนว่า ตอนนี้ปัญหาที่เข้ามาแทรก คิดว่าประเทศไหนก็คงไม่อยากได้ปัญหานี้ เพราะฉะนั้นเงินก้อนนี้ทั้งก้อน แปลว่าเกิดประโยชน์ที่ตรงไหนสูงสุด เราเน้นตรงนั้นมากกว่า”
“เราไม่บอกว่ายกเลิก เพราะถ้ากลับมาทำอีกล่ะ ในสถานการณ์ที่มันดีขึ้น เศรษฐกิจที่มันดีขึ้นแล้ว แล้วการกระตุ้นเศรษฐกิจรูปแบบนี้จะได้ผลมากที่สุด เราก็มีความหวังว่าอยากจะให้อะไรที่มีประโยชน์สูงสุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ทำ ถูกไหม” นางสาวแพทองธาร ตอบ
“อย่างวันนี้ที่คณะกรรมการฯ ทบทวนกันมา บอกว่าการแจกเงินหมื่นหรือใช้ดิจิทัล วอลเล็ต ยังไม่ใช่ตัวกระตุ้นที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรับฟัง และถามว่าตัวกระตุ้นไหนดีที่สุดสำหรับประเทศ นั่นคือสิ่งที่เราทำอยู่กับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีเรื่องกำแพงภาษีเข้ามา ตอนนี้ก็เป็นแบบนี้” นางสาวแพทองธาร ตอบ
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงเรื่องนี้ไปแล้ว จะมีผลกระทบอะไร นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “พรรคเพื่อไทยเวลาหาเสียง เราก็ประเมินสถานการณ์เลยว่า เราทำได้จริง แต่ไม่ได้มีใครพูดถึงเรื่องกำแพงภาษีสหรัฐที่จะขึ้นมา เรื่องนี้ไม่มีประเทศไหนคาดคิด ไม่ใช่แค่ประเทศไทย สิ่งที่เป็นสถานการณ์พิเศษออกมา อย่างภาษีหรือเปอร์เซ็นต์ที่จะเก็บภาษี ทุกคนก็ตกใจกันหมด ไม่ว่าจะเป็นภาษีที่ขึ้นมาตั้งแต่ตอนแรก มีทั้ง 30 – 40% หลายประเทศก็มากมาย เป็นสิ่งที่มันไม่สามารถคาดการณ์ได้”
“ถามว่าทำไม่ได้จริงไหม ไม่จริง เราก็ทำไปแล้ว ไม่ใช่นโยบายนี้ทำไม่ได้แล้ว แต่สถานการณ์ที่แทรกเข้ามามันสุดวิสัย มันเป็นสิ่งที่ว่า…โห ไม่ใช่ทำๆ อยู่…จู่ๆ ยกเลิกหรือไม่ทำแล้ว หรือชะลอ มันก็ไม่ได้ชะลอ แต่ทุกครั้งมันผ่านความคิดเห็นและผ่านได้ สองครั้งที่เราทำเกิดขึ้นมันผ่านได้ แต่ครั้งนี้มีเหตุการณ์ใหม่คือเรื่องภาษีเข้ามา มันผ่านไม่ได้ มันก็แค่นั้นเอง” นางสาวแพทองธาร ตอบ
ถามต่อว่า จะทำความเข้าใจกับประชาชนที่ผิดหวังอย่างไร นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “แน่นอน ต้องทำความเข้าใจแน่นอน ถามว่าเงินก้อนนี้ไปไหน เราทำโครงสร้างพื้นฐานของประเทศใหม่ ไม่ว่าจะเป็น โครงการที่เสนอไปแล้ว หรือ น้ำทั้งหมด เพื่ออุปโภคบริโภค เพื่อน้ำท่วมน้ำแล้ง เป็นเรื่องที่สำคัญมากของประเทศเรา ทุกคนได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ จะมีเรื่องน้ำสะอาดที่ได้ใช้ในทุกพื้นที่ นี่คือความจำเป็นที่จะต้องโยกย้าย หมุนเงินก้อนนี้ไปทำสิ่งที่ลงความเห็นมาแล้วว่าต้องทำก่อนเรื่องแจกเงินหมื่นหรือดิจิทัลวอลเล็ต”
ย้ำงบ 1.57 แสนล้าน ต้องใช้ให้หมดก่อน 30 ก.ย.นี้
เมื่อถามว่า การลงทุน 1.57 แสนล้าน จะแก้ปัญหาภาษีของสหรัฐฯ ได้อย่างไร นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ก้อนนี้ 1.57 แสนล้าน เป็นก้อนที่จะมาจากงบกลาง ซึ่งจะต้องใช้ให้หมดภายใน 30 กันยายน 2568 มันไม่ได้อยู่ในเรื่องจัดการกำแพงภาษี”
“กำแพงภาษีเป็นเรื่องนโยบายว่าต้องทำอะไรบ้าง เปลี่ยนอะไรบ้าง ปรับอะไรบ้างกับทางสหรัฐ และเราต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบหรือเปล่า อันนี้ต้องรอดู คนละเรื่องกัน” นางสาวแพทองธาร ตอบ
“ก้อน 1.57 แสนล้าน ใช้ได้ถึง 30 ก.ย.นี้ ฉะนั้น เราต้องวางแผนว่าระยะสั้นนี้ที่จะใช้ได้เลย สร้างประโยชน์อะไรกับประชาชนบ้าง และหลังจาก 30 ก.ย.นี้ มีนโยบายใดๆ ระยะกลางและยาวรองรับต่อจากก้อนนี้ที่ใช้ เพื่อไม่ให้ก้อนนี้ใช้ไปต่อหน้าแล้วหายไป มันใช้เพื่อการลงทุนในก้อนแรก เพื่อจะตอบโจทย์นโยบายกลางและยาวต่อไป นี่คือสิ่งที่ต้องทำ”
ถามต่อว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีโครงการอื่นๆ สำรอง ระหว่างที่ชะลอ และชดเชยความรู้สึกของคนที่ไม่ได้เงินหมื่น หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ยืนยันว่า “มี” และเสริมว่า “เงินที่เราจะลงมันเป็นโครงสร้างของทั้งประเทศ อาจไม่ได้ลงไปถึงรายบุคคล แต่เป็นภาพรวมที่ทั้งประเทศจะได้ประโยชน์ร่วมกัน ต้องขอความร่วมมือในการช่วยกันสื่อสารว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์แทรกเข้ามา ทำให้เราจะต้องชะลอให้คนบางกลุ่มก่อน มันต้องเป็นภาพที่ให้ทั้งประเทศก่อน เราเรียงลำดับความสำคัญ เรื่องการชะลอก็ต้องบอกเลยว่าต้องทบทวนว่าเงินก้อนนี้สำคัญ และทำอะไรก่อนเพื่อจะกอบกู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจไว้”
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า เงินที่จะมาสู้กับกำแพงภาษีสหรัฐ อยู่ในงบฯ 1.57 แสนล้าน หรือ ส่วน พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ในนี้มีส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่เห็นชัดๆ เป็นรูปธรรม คงต้องการให้เงินก้อนนี้เห็นว่ามันจะออกมาเป็นรูปธรรมได้ และในเรื่องทรัมป์อาจมีบางส่วนที่ใช้ แต่ก็จะมีอีกก้อนหนึ่งที่เราใช้ด้วย”
เคลียร์พรรคร่วมจัดสรรงบฯปี’69 ลงตัวแล้ว – ไม่มีอะไรตื่นเต้น
ผู้สื่อข่าวถามเรื่องการประชุมพรรคร่วมรัฐบาลเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณ โดย นางสาวแพทองธาร แซวผู้สื่อข่าวว่า เหมือนมีตาทิพย์ เพราะได้คุยกันมาแล้ว และกล่าวต่อว่า “เพิ่งคุยกันเรียบร้อยแล้วพรรคร่วมเรื่องงบประมาณ ไม่มีอะไรตื่นเต้น ทุกอย่างเห็นพ้องต้องกัน เห็นด้วยทุกพรรค”
ถามต่อเรื่องการปรับ เปลี่ยนแปลง หรือ โยกงบประมาณ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เป็นกลไกของสภาต่อไป แต่เรื่องงบประมาณ เราตกลงกันแล้ว และหลักการมันพ้องแต่แรกอยู่แล้ว ไม่มีอะไร”
ถามต่อว่า ได้หารือเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ด้วยหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เราคุยเรื่องงบประมาณไปก่อน”
ถามต่อว่า ก่อนเปิดประชุมสภาสมัยสามัญ นายกฯ จะคุยเรื่องนี้อีกหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “คุยค่ะ เดี๋ยวคุยแล้วจะแจ้งนะคะ”
เปรียบพรรคร่วม ดูด สส.งูเห่า เหมือนย้ายที่ทำงาน
ผู้สื่อข่าวถามเรื่องฝ่ายค้านวิจารณ์พรรคร่วมรัฐบาลว่า ‘ดูด สส.’ ทำให้ นางสาวแพทองธาร ถามกลับว่า “อะไรนะคะ ดูด สส. ไปไหน” ผู้สื่อข่าวบอกว่าเติมเสียงให้รัฐบาล
นางสาวแพทองธาร ถามกลับว่า “แล้วเขาซื้อไหมคะ…เขามาด้วยความสมัครใจ” ผู้สื่อข่าวตอบว่า ไม่ได้ซื้อมาด้วยความสมัครใจถือว่าได้ใช่หรือไม่
นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “แล้วแต่พรรค แต่ละพรรคจัดการ ก็ต้องไปถามหัวหน้าพรรคแต่ละพรรคว่าจัดการแบบไหน อยากได้ใครเข้ามาเพิ่ม”
“จริงๆ แล้วเส้นทางการเมืองที่ดิฉันพบเจอมา มันเป็นความเชื่อ เป็นความเข้าใจของแต่ละคนด้วยว่า ณ เวลานั้น รู้สึกสังกัดพรรคไหนแล้ว เป็นตัวเอง สังกัดพรรคไหนแล้วตอบโจทย์ ก็เหมือนเราทำงาน สมมติทำงานที่ไหนแล้วมันใช่เราหรือไม่ องค์กรนี้ใช่เราหรือไม่ อันนี้พูดภาพรวม ดิฉันก็ห้ามไม่ได้ว่าอยากอยากจะย้ายองค์กรไหน อยู่สื่อเดิมหรือสื่อใหม่ก็ย้ายได้เช่นกัน มันก็เป็นสิ่งที่แล้วแต่ทุกท่านจะชอบว่าอย่างไร มันเป็นวงการของเรา วงการการเมือง จริงๆ อยู่พรรคอื่นแล้วกลับมาพรรคเดิม อยู่พรรคเดิมแล้วไปพรรคอื่น มันเป็นเรื่องส่วนบุคคล แล้วก็เป็นเรื่องว่าจะรับหรือไม่รับ” นางสาวแพทองธาร ตอบ
เสียดาย ‘ทักษิณ’ ไม่ได้ไปพบ ‘ทรัมป์’ ที่กาตาร์
ผู้สื่อข่าวบอกว่า มีข่าวที่นักธุรกิจรายใหญ่ของไทย พบกับโดนัลด์ ทรัมป์ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ ‘ดีลลับ’ หรือไม่ โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “พอดีคุณทักษิณ (ชินวัตร) ไม่ได้ไป ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าได้คุยอะไรกับนักธุรกิจใหญ่ แต่ก็ไม่มีอะไรที่ประสานกับรัฐบาล บอกแล้วว่าเสียดายที่ท่านทักษิณไม่ได้ไป ไม่งั้นก็ได้คุยกันแล้ว”
ถามต่อว่า นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ฯ รายงานอะไรให้นายกฯ ทราบบ้างหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ไม่มี ไม่ได้คุย…ท่านมีพูดถึงนายกฯ กาตาร์ say hi”
ถามต่อว่า จะให้นายสารัชถ์ช่วยเจรจาเรื่องกำแพงภาษีสหรัฐ หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เราต้องเอาตามระบบก่อน สมมติว่าเป็นนักธุรกิจไม่ว่าเจ้าไหน แต่จะเกิดประโยชน์กับรัฐบาล ดิฉันว่าทุกฝ่ายคงร่วมมือกัน ไม่ต้องเป็นธุรกิจใหญ่ก็ได้ ธุรกิจเล็กก็ได้ ถ้าสามารถช่วยรัฐบาลได้ยิ่งดี”
เผยญี่ปุ่นสนใจ ‘เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์’
ผู้สื่อข่าวถามเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ว่า ล่าสุดมีนักธุรกิจรายใหญ่ 2 บริษัทมาคุย สะท้อนว่าเขามั่นใจในโครงการ หรือ เห็นสัญญาณที่ดีอย่างไร นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เป็นเรื่องที่เขามาแสดงความสนใจว่าเห็นประเทศเราอยู่ไม่ไกลจากญี่ปุ่นมาก เป็นเอเซียเหมือนกันด้วย พอเห็นว่าญี่ปุ่นเริ่มแล้ว และมีแพลนชัดเจนแล้วว่า เรื่อง Osaka หลังจัดงาน Expo แล้วจะทำเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 5 ปีนี้ เขาก็เห็นว่าของเรากำลังผลักดันเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นก็เห็นโอกาส เห็นข้อมูลก็อยากจะเข้ามาเพื่อดูว่าเป็นอย่างไรต่อในอนาคต”
โยน ทส. แจงเหมืองแร่แม่น้ำกก
ผู้สื่อข่าวถามเรื่องภาพถ่ายดาวเทียมการทำเหมืองแร่ ต้นแม่น้ำกก ประเทศเมียนมา ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเข้ามาดูแล โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เมื่อกี้เพิ่งเห็น ได้คุยกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปช่วยดูแลในเรื่องนี้ รายละเอียดจะมาแจ้งให้ทราบ”
สั่ง ปลัด ทส.ตามปัญหาสารปนเปื้อนไหลลงแม่น้ำกก
ด้านนายจิรายุ รายงานว่า จากสถานการณ์พบสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกก นายกฯ มีข้อห่วงใยให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของประชาชน ตั้งแต่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย ซึ่งได้มุ่งประเด็นไปที่การทำเหมืองของประเทศเพื่อนบ้านเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ มอบหมายให้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาสั่งการให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ดำเนินการในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับ กระทรวงทรัพย์ฯ ติดตามและรายงานการจัดการแหล่งที่มาของปัญหา เจรจาหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อการหยุดหรือปรับปรุงวิธีการทำเหมือง เพื่อป้องกันการระบายสารปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานการณ์พบสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประชุมกรมกิจการชายแดนทหาร คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำแม่น้ำระหว่างประเทศ ลุ่มน้ำโขงเหนือ ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานสำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า จากการประชุมดังกล่าวได้มอบหมายให้ GISTDA ได้จัดทำข้อมูลย้อนหลัง 8 ปี ตั้งแต่ 2560 – 2568 โดยใช้ดาวเทียม พบการเปิดหน้าดินในพื้นที่เมียนมาเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ในช่วงปี 2567 -2568 และมีการใช้ดาวเทียมในแปลผลข้อมูลความขุ่น (turbidity) มีความขุ่นเพิ่มมากขึ้นในบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยได้ส่งข้อมูลดังกล่าวให้กรมกิจการชายแดนทหาร และกรมควบคุมมลพิษดำเนินการต่อไปแล้ว
เรียกหน่วยงานแจงแนวทางแก้สารปนเปื้อนในแม่น้ำกก
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า หลายหน่วยงานได้เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาความร่วมมือแก้ไขปัญหาสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกก ดังนี้
-
(1) ด้านการจัดการแหล่งที่มาของปัญหา กรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการจัดประชุมหารือเตรียมความพร้อมของข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อม และภาพถ่ายดาวเทียม ร่วมกับกรมกิจการชายแดนทหาร กรมเอเชียตะวันออก GSTDA และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่แล้ว เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 และมีข้อตกลงให้กรมควบคุมมลพิษ เป็นหน่วยงานหลักในการประมวลผลและสังเคราะห์ข้อมูล 1) การบ่งชี้ทางสิ่งแวดล้อม 2) ผลกระทบต่อสุขภาพและระบบนิเวศ และ 3) ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) พิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือเมียนมาด้านการทำเหมืองที่ถูกต้องตามหลักวิชาการหรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษจะหารือร่วมกับ GISTDA กรมอนามัย และ กพร. เพื่อจัดส่งข้อมูลภาพรวมให้กับกรมกิจการชายแดนทหาร และกรมเอเชียตะวันออกใช้ประกอบการเจรจา
(2) ด้านการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนในแหล่งน้ำและการบรรเทาผลกระทบ เน้นวิธีปฏิบัติในการป้องกันการแพร่กระจายของโลหะหนัก และการจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภค บริโภค และการประกอบอาชีพ ซึ่งหน่วยทหารช่าง มีแผนขุดลอกแม่น้ำกก ระยะทาง 3 กิโลเมตร บริเวณหมู่บ้านธนารักษ์ – สะพานย่องลี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ขณะที่ กรมควบคุมมลพิษ อยู่ระหว่างการศึกษาพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดการตะกอนในแม่น้ำ อาทิ การปรับสภาพน้ำ ระบบตักตะกอน การเบี่ยงกระแสน้ำ สำหรับการประปาส่วนภูมิภาค ได้จัดเตรียมแผนการบริหารจัดการกรณีแหล่งน้ำผิวดินปนเปื้อนในระยะยาว
(3) ด้านการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มความถี่ในการเก็บตัวอย่างน้ำ และตะกอนดินในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และลำน้ำสาขา รวมถึงเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำ คุณภาพน้ำประปา ผลิตผลทางการเกษตร และสุขภาพของประชาชน ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ จะดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนดินในแม่น้ำกกและลำน้ำสาขา แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขงเพิ่มความถี่ในการเก็บตัวอย่างเป็น 2 ครั้งต่อเดือน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กันยายน 2568 ซึ่งที่ผ่านมา ส่วนกรมประมง ได้เก็บตัวอย่างสัตว์น้ำไปตรวจสอบวิเคราะห์โลหะหนักแล้ว จำนวน 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 11 เมษายน วันที่ 28 เมษายน และวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ผลการตรวจไม่เกินค่ามาตรฐาน ไม่พบแคดเมียมและตะกั่ว กรณีสัตว์น้ำมีตุ่มแดงเกิดจากปรสิต ในส่วนของกรมอนามัย ได้ทำการตรวจคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน และปัสสาวะของประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงรายในเดือนเมษายน 2568 ผลการเก็บน้ำประปา ไม่พบการปนเปื้อนสารหนู และตะกั่วไม่เกินมาตรฐาน และผลตรวจปัสสาวะไม่เกินมาตรฐาน ทางด้านการประปาส่วนภูมิภาค ได้ตรวจสอบคุณภาพน้ำดิบที่ใช้ในการทำประปาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำบาดาล ในพื้นที่อำเภอแม่อาย 10 จุด ไม่พบสารหนูและตะกั่วเกินมาตรฐานฯ ขณะที่กรมทรัพยากรน้ำ ได้ตรวจวัดคุณภาพน้ำแม่น้ำตก และแม่น้ำโขง (สถานีเชียงแสน) เดือนละ 2 ครั้ง มีการรายงานผลให้กับจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย
(4) ด้านการบริหารจัดการนั้น ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) เป็นประธานอนุกรรมการ
นายจิรายุ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้มีการติดตามต้นต่อของปัญหา และดำเนินการแก้ไข โดยในการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee : RBC) ณ เมืองเชียงตุง รัฐฉาน ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 17 – 20 มิถุนายน 2568 นี้ กรมกิจการชายแดนทหารจะได้บรรจุปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในแม่น้ำกก – แม่น้ำสาย เป็นประเด็นหารือด้วย นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมเอเชียตะวันออก ได้ทำหนังสือจากสถานทูตไทยในเมียนมาและเชิญผู้แทนจากสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางแก้ปัญหาต่อไป
สั่งกรมศุลฯ – ตม.กวดข้นลักลอบนำเข้าปูน-เหล็กคุณภาพต่ำ
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้รับข้อร้องเรียนจากภาคเอกชนว่า ขณะนี้มีความพยายามลักลอบน้ำเข้าสินค้าปูน และเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานจำนวนมากตามชายแดน โดยอาจสวมสิทธิ ม.อ.ก. ปลอมด้วย จึงสั่งการให้กรมศุลกากรและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ร่วมกันเข้มงวด ตรวจจับปราบปรามโดยประสานข้อมูลกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์
บูรณาการหน่วยงานรัฐ แก้ปัญหาผลไม้ล้นตลาด
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการสำรวจตลาดผลไม้ของไทยในภาคตะวันออกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่ปลูกผลไม้ที่สำคัญของไทย เพื่อรับฟังปัญหาในเรื่องคุณภาพ ภาวะล้นตลาดและขั้นตอนการส่งออกจากภาคเกษตรกร และกลุ่มภาคีต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งได้รับข้อมูล ที่เป็นประโยชน์อย่างมาก จึงสั่งการ ดังนี้
-
1. ให้กระทรวงมหาดไทย เร่งรัดติดตามสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี จัดทำ workshop กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด ทั้งภาครัฐ และเอกชน ตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ เพื่อรับฟังปัญหา ความเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาเป็นโมเดลให้แก่จังหวัดอื่นๆ ทั้งในด้านของการตรวจสอบมาตรฐาน และกระบวนการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย และบทลงโทษให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
2. ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่ ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น การควบคุมมาตรฐาน GAP รวมทั้ง เร่งทบทวน/ปรับปรุงกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้สอดคล้องกับความเป็นจริง พร้อมกำหนดบทลงโทษให้ชัดเจน
3. ให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ร่วมกันพิจารณาความเป็นไปได้ในการ จัดให้มีห้องแล็บประจำจังหวัด เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของผลไม้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่จะมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ
4. ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานความมั่นคง ศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสม ในการออกใบอนุญาตทำงานเพื่อให้แรงงานให้สามารถทำงาน ข้ามจังหวัดได้ ภายในช่วงระยะเวลาที่กำหนด โดยมีมาตรการควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างชัดเจน
5. ให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงต่างประเทศ ขอความร่วมมือจากด่านของประเทศจีนในการตรวจสอบสอบคุณภาพผลไม้ เพียงด่านเดียวจากไทย รวมทั้งเร่งหามาตรการร่วมกัน เพื่อลดระยะเวลาการเก็บสินค้า และหาพื้นที่หรือโกดังในการรองรับสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อลดความเสียหายของสินค้า
6. ให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ศึกษาหานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุน รวมทั้งพัฒนาหาพันธุ์ที่เหมาะสมกับประเทศไทย และตรงตามความต้องการ กับตลาด
7. ให้กระทรวงแรงงาน ศึกษาความเป็นไปได้ในการออกใบรับรองวิชาชีพสำหรับเกษตรกรตัดทุเรียน เพื่อควบคุมคุณภาพของการเก็บเกี่ยวผลผลิต ให้เป็นไปตามมาตรฐานของตลาด
มอบ ทส. เจ้าภาพแก้ช้างป่ารุกพื้นที่เกษตร
นายจิรายุ กล่าวถึงการจัดการและแก้ไขปัญหาช้างป่า เนื่องจากปัญหาปริมาณช้างป่าที่เพิ่มมากขึ้นและรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ภาคการเกษตรของประชาชน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่ พืชผลทางเกษตร และประชาชนเป็นจำนวนมาก โดย นายกฯ มอบหมายให้ กระทรวงทรัพยากรฯ หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางในการแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจังและเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยใช้งบประมาณของกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรไว้แล้ว
กำชับ ‘สตช.-ดีอี-มท.-ยธ.’ เร่งปราบพนันออนไลน์
นายจิรายุ กล่าวถึงปัญหาการพนันออนไลน์ที่แพร่ระบาดในขณะนี้ว่า แม้รัฐบาลจะมีการปราบปรามและจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับพนันออนไลน์ไปแล้วเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาการพนันออนไลน์ยังคงมีอยู่อย่างแพร่หลาย ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากเป็นหนี้สิน ครอบครัวแตกแยก และเป็นบ่อเกิดอาชญากรรมอื่นๆ ตามมา
ดังนั้น นายกฯ ขอสั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งปราบปรามปัญหาพนันออนไลน์ให้เข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งแถลงผลการปราบปรามและดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องให้ประชาชนทราบด้วย
สั่ง ‘มท. – ผู้ว่าฯ – สตช.’ ตรวจจับ-ยึดทรัพย์พ่อค้ายาเสพติด
นายจิรายุ ยังกล่าวถึงข้อสั่งการเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติดว่า ในช่วงที่ผ่านมามีรายงานข่าวเกี่ยวกับปัญหาผู้ติดยาเสพติดก่ออาชญากรรมโดยเฉพาะการทำร้ายพ่อ แม่ และคนในครอบครัวที่เพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น นายกฯ ขอให้กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้มงวดกับการจับและยึดทรัพย์ผู้ค้า และผู้เสพ รวมทั้งให้ความสำคัญกับกระบวนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด และให้จัดทำระบบรายงานผลการดำเนินงานดังกล่าว โดยให้กำหนดเป็นตัวชี้วัดผลงานที่สำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้ สำนักงาน ป.ป.ส. ประสานและจัดทำแผนกำกับติดตามและสนับสนุนปัจจัยต่างๆ ด้วย
ตั้ง ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ คุม DSI แทน ‘ภูมิธรรม’
นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้มีมติมอบให้ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนในการบริหารสั่งการกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กระทรวงยุติธรรม
ส่วนกรณีของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เคยมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบกระทรวงยุติธรรมอยู่แล้ว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านความมั่นคง ซึ่งรวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องขอมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในการมอบหมายอีก
มติ ครม.มีดังนี้

ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
โยกงบแจกเงินหมื่น 1.57 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและคมนาคม การท่องเที่ยว การลดผลกระทบส่งออกและเพิ่มผลิตภาพ ตลอดจนเศรษฐกิจชุมชน และอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อรักษาการจ้างงาน และวางรากฐาน โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการค่าใช้จ่าย เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยมีแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ข้อเสนอโครงการ/มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
1.1) โครงสร้างพื้นฐาน
-
• ด้านน้ำ ประกอบด้วย (1) ป้องกันอุทกภัยในช่วงฤดูฝน และกักเก็บน้ำไว้สำหรับฤดูแล้ง (2) กระจายน้ำไปยังชุมชนและพื้นที่ต่าง ๆ ผลิตเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรในพื้นที่ทั่วประเทศและ (3) พัฒนา/ปรับปรุงระบบประปา
• ด้านคมนาคม ประกอบด้วย (1) แก้ไขปัญหาด้านการจราจรในพื้นที่ที่เป็นคอขวดและขาดความเชื่อมโยง (Bottleneck/Missing Link) (2) เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง (3) แก้ไขปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถไฟและถนนเสมอระดับ (4) ก่อสร้าง/ปรับปรุงจุดพักรถบรรทุกเพื่อให้สามารถบังคับใช้พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และ (5) ปรับปรุง/พัฒนาถนนเชื่อมโยงเมืองรอง แหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่การผลิต
1.2 ) การท่องเที่ยว
-
• ด้านการพัฒนาภาคการท่องเที่ยว ประกอบด้วย (1) ปรับปรุง/พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สนามกีฬา และสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ห้องน้ำ ห้องพัก สถานที่ป้ายบอกทาง (2) พัฒนาระบบอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว (3) พัฒนาและยกระดับความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว อาทิ การติดตั้งระบบ CCTV ในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวสำคัญ และ (4) กระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองรอง
1.3) ลดผลกระทบภาคการส่งออก/เพิ่มผลิตภาพ
-
• ด้านการเกษตร เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร อาทิ การสนับสนุนให้เกษตรกร และผู้ประกอบการ SMEs ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกให้เหมาะสม
• ด้านการลดผลกระทบแรงงาน สนับสนุนมาตรการการเงินการคลังสนับสนุนสินเชื่อ (เฉพาะผู้ประกอบการส่งออก) เพื่อส่งเสริมการจ้างงานให้กับกองทุนประกันสังคม
• ด้านดิจิทัล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลและการค้าระหว่างประเทศ
1.4) เศรษฐกิจชุมชนและอื่น ๆ
-
• กองทุนหมู่บ้าน (SML) สนับสนุนงบประมาณแก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเป็นแหล่งเงินให้กับประชาชนในพื้นที่ และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
• โครงการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและอื่น ๆ พัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาชุมชนที่เป็นความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ในพื้นที่
• โครงการการพัฒนาทุนมนุษย์ด้านการศึกษาเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจให้กับประเทศ
2. การกำกับติดตามผลการดำเนินงาน
รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อกำกับและติดตามผลการดำเนินงานของโครงการและมาตรการต่าง ๆ ตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฯ ตลอดจนรายงานผลการดำเนินการต่อคณะกรรมการฯ ทราบต่อไป
3. แหล่งเงินในการดำเนินโครงการ
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ วงเงินไม่เกิน 157,000 ล้านบาท
4. ระยะเวลาดำเนินการ การจัดทำข้อเสนอโครงการและคำของบประมาณ
ให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำข้อเสนอโครงการ ตามแบบฟอร์มการพิจารณาโครงการตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2568 ที่กำหนด โดยเสนอผ่านรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาตามที่คณะกรรมการฯ ได้มอบหมาย พร้อมทั้งเสนอโครงการดังกล่าวต่อสำนักงบประมาณในคราวเดียวกันด้วยภายในเดือนพฤษภาคม 2568
5. การพิจารณาอนุมัติโครงการ
-
• คณะกรรมการฯ รวบรวมข้อเสนอโครงการที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ภายในเดือนมิถุนายน 2568
• การขอรับจัดสรรงบประมาณ: หน่วยรับงบประมาณนำส่งโครงการที่คณะรัฐมนตรี อนุมัติให้สำนักงบประมาณ โดยสำนักงบประมาณจะพิจารณารายละเอียดโครงการและจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ พ.ศ. 2567 ภายในเดือนกรกฎาคม 2568
นายจิรายุ กล่าวต่อไป ว่านายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “สำหรับแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฯ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยการเร่งรัดการใช้จ่ายผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถดำเนินการได้ โดยจะส่งผลให้เกิดการจ้างงาน กระจายรายได้ และสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในทุนมนุษย์และการปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการยกระดับขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ เพิ่มผลิตภาพแรงงาน และวางรากฐานการพัฒนาในระยะยาว ภายใต้การติดตามแผนการขับเคลื่อน ฯ อย่างรอบคอบ เพื่อให้การใช้งบประมาณ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด” นายจิรายุกล่าว
ชงงบฯปี’69 วงเงิน 3.78 ล้านล้าน เข้าสภาวาระแรก 28 พ.ค.นี้
นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ซึ่งที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว พร้อมเอกสารประกอบงบประมาณ และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 3,780,600 ล้านบาท โดยจำแนกตามประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้
1. จำแนกตามกลุ่มงบประมาณ มีรายละเอียดดังนี้
1) รายจ่ายงบกลาง 632,968.75 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16.74% ของงบประมาณรายจ่ายในปี 2569
2) รายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 1,408,060.33 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 37.25%
3) รายจ่ายบูรณาการ 98,767.82 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.61%
4) รายจ่ายบุคลากร 820,820.81 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 21.71%
5) รายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน 274,576.81 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.26%
6) รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 421,864.43 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.16%
7) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 123,541.06 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.27%
2. จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ สรุปได้ ดังนี้
1) ด้านความมั่นคง 415,327.94 ล้านบาท
2) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 394,611.65 ล้านบาท
3) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 605,927.26 ล้านบาท
4) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 942,709.17 ล้านบาท
5) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 147,216.90 ล้านบาท
6) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 605,441.60 ล้านบาท
นายจิรายุ กล่าวว่า สำหรับปฏิทินงบประมาณครั้งนี้ ได้มีการเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญในวันที่ 28-30 พฤษภาคม 2568 เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 ในวาระที่ 1 จากนั้นจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 ก่อนเสนอเข้าสู่วาระที่ 2 เพื่อพิจารณาเป็นรายมาตรา และวาระที่ 3 เพื่อประกาศใช้ต่อไปในเดือนตุลาคมนี้
กำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 13 สาขา
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 14) ลงวันที่ 9 เมษายน 2568 เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับต่อไป ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ
นายอนุกูล กล่าวว่า คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ได้เห็นชอบให้มีการจัดทำอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ปี 2567 โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ จำนวน 3 คณะ เพื่อทำหน้าที่ศึกษาและจัดทำร่างอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 13 สาขา โดยพิจารณาข้อมูลผลการสำรวจความคิดเห็นสถานประกอบกิจการ ลูกจ้าง และผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ลักษณะการทำงานในแต่ละสาขา การจ่ายค่าจ้างจริงในตลาดแรงงานและความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง รวมถึงได้จัดสัมมนารับฟังความเห็นจากนายจ้างและลูกจ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละสาขาอาชีพ เพื่อเสนอร่างอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 13 สาขา ต่อคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน) ครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2568 ได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 13 สาขา โดยให้มีผลใช้บังคับ 90 วัน หลังจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป สรุปได้ ดังนี้
-
1) พนักงานขับรถโดยสารสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยว (รถทัวร์) ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 600 บาท/วัน
2) ช่างซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้า ระดับ 2 อัตราค่าจ้าง 600 บาท/วัน
3) ผู้บังคับรถปั้นจั่นตีนตะขาบ ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 620 บาท/วัน
4) ผู้บังคับรถปั้นจั่นล้อยาง ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 620 บาท/วัน
5) ผู้บังคับปั้นจั่นติดรถบรรทุก ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 560 บาท/วัน
6) พนักงานขับรถบรรทุก ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 485 บาท/ว้น
7) ช่างเทคนิคเครื่องปรับอากาศสำหรับห้องสะอาด ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 720 บาท/วัน ระดับ 2 อัตราค่าจ้าง 800 บาท/วัน
8) ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 500 บาท/วัน
9) ช่างไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรม การจัดงานประชุม การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และการแสดงสินค้า ระดับ 2 อัตราค่าจ้าง 600 บาท/วัน
10) นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (ภาษาซี) ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 700 บาท/วัน
11) นักดูแลและบริหารระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระดับ 2 อัตราค่าจ้าง 770 บาท/วัน
12) ช่างควบคุมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 605 บาท/วัน และ
13) ผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 อัตราค่าจ้าง 565 บาท/วัน
รับทราบ 9 มาตรการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝน
นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2568 และส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูแล้งปี 2568/2569 ซึ่งตามปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำช่วงฤดูฝน ปี 2568 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ร่วมกับทุกภาคส่วนถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2567 มาปรับปรุงมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น จำนวน 9 มาตรการ รวมทั้งได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2568 และส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูแล้ง ปี 2568/2569 ดังนี้
(1) มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกรอบการดำเนินงานในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมาตรการรับมือฤดูฝนส่วนใหญ่ยังคงเดิม แต่มีการยุบรวมมาตรการจากเดิม 10 มาตรการ เป็น 9 มาตรการ (โดยยุบรวมมาตรการ 8 สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์ และมาตรการ 9 การสร้างการรับรู้ ศูนย์บริการสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์) และมีการปรับเพิ่มการดำเนินงานภายใต้มาตรการเพื่อกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้
-
มาตรการที่ 1 คาดการณ์ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน)
มาตรการที่ 2 ทบทวน ปรับปรุง เกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำอย่างบูรณาการในระบบลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน)
มาตรการที่ 3 เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยงให้สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงน้ำหลากและฝนทิ้งช่วง (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน)
มาตรการที่ 4 ตรวจสอบพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัย คันกันน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน)
มาตรการที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน)
มาตรการที่ 6 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ (ตลอดช่วงฤดูฝน)
มาตรการที่ 7 เร่งพัฒนาและเก็บกักนำ ในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน (ตลอดช่วงฤดูฝน)
มาตรการที่ 8 สร้างการรับรู้ความเสี่ยงและสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายในการติดตามเฝ้าระวัง รับมือภัยด้านน้ำ (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน)
มาตรการที่ 9 ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย (ตลอดช่วงฤดูฝน)
(2) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2568 และส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูแล้ง ปี 2568/2569 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำแผนงานโครงการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถเตรียมแผนงานโครงการได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนและสอดคล้องกับมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 โดยมีการปรับปรุงรายละเอียดในบางประเด็น เช่น ปรับจำนวนกิจกรรม และรายละเอียดแผนงานภายใต้โครงการ จาก 5 กิจกรรม เป็น 6 ประเภทและปรับระยะเวลาการรายงานผลการดำเนินงานให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทราบจาก ทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน จนกว่าการดำเนินโครงการจะแล้วเสร็จ เป็น ทุกวันที่ 5 ของทุกเดือนจนกว่าการดำเนินโครงการจะแล้วเสร็จ ดังนี้
-
1. การซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ โดยซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ที่ชำรุดเสียหายจากการใช้งานหรือการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การควบคุม การระบายน้ำ และการเก็บกักน้ำ ให้สามารถใช้งานได้เช่น ซ่อมแซมพนังกั้นน้ำ/คันกั้นน้ำ ซ่อมแซมระบบส่งน้ำ/ระบายน้ำ ซ่อมแซมอาคารบังคับน้ำ เป็นต้น
2. การปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอาคารเดิมให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบันหรือสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต หรือขยายขอบเขตการรับประโยชน์ เช่น ปรับปรุงแหล่งกักเก็บน้ำหรืออาคารประกอบ การขยายขีดความสามารถระบบโทรมาตรและการแจ้งเตือนภัย เป็นต้น
3. การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เพื่อแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การระบายน้ำ การจัดการพื้นที่น้ำท่วม/พื้นที่ชะลอน้ำ หรือเสริมประสิทธิภาพ
การระบายน้ำเช่น การกำจัดผักตบชวา/วัชพืชน้ำ ขุดลอกคู คลอง ลำน้ำ แก้มลิง การรื้อย้ายฝายชำรุด ก่อสร้างพนังกั้นน้ำ/เขื่อนป้องกันตลิ่ง เป็นต้น
4. การเพิ่มน้ำต้นทุน โดยการจัดหาแหล่งน้ำรองรับน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝน หรือแหล่งน้ำสำรองเพื่อเสริมการบริหารจัดการน้ำในช่วงเวลาฤดูแล้งถัดไป เช่น สระ/อ่างเก็บน้ำ ระบบกระจายน้ำ ขุดเจาะบ่อบาดาล ขุดลอกสระ ปฏิบัติการฝนหลวง เป็นต้น
5. การสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภค โดยการซ่อมแซม ปรับปรุง ระบบประปาที่มีอยู่เดิมและจัดหาระบบประปาใหม่ เช่น การเป่าล้างทำความสะอาดบ่อบาดาล ซ่อมแซมระบบประปา ก่อสร้างระบบประปา เป็นต้น
6. การเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ โดยเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือที่มีอยู่แล้วให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และจัดหาเพิ่มเติมตามความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อรองรับการบริหารจัดการน้ำตามสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำ จัดหาเรือกู้ภัย เป็นต้น
กรมส่งเสริมสหกรณ์เบิกเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเพิ่มเป็น 25 ล้าน
นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 เรื่อง ขออนุมัติจัดสรรเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรในประเด็นเงินจ่ายขาดจากจำนวน 10.00 ล้านบาท เป็นจำนวน 25.30 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ (กษ.) เสนอ
นายอนุกูล กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติ (9 กุมภาพันธ์ 2557) อนุมัติการจัดสรรเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร (กองทุนฯ) ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ยืมเงิน เพื่อดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการผลิตและการตลาด (โครงการฯ) วงเงินจำนวน 1,000 ล้านบาท โดยไม่มีดอกเบี้ย มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2559 – 30 เมษายน 2564 และอนุมัติเงินจ่ายขาด จำนวน 10 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการติดตามตรวจสอบการดำเนินโครงการของกลุ่มเกษตรกรในระดับจังหวัด รวมถึงการเร่งรัดการชำระหนี้เงินกู้และแก้ไขปัญหาของกลุ่มเกษตรกรให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้อาชีพเกษตรกรยังคงเป็นอาชีพที่มีความยั่งยืน มั่นคงและช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนขององค์กรเกษตรกรขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง
นายอนุกูล กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 [เรื่อง ขออนุมัติจัดสรรเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร (กองทุนฯ)] โครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการผลิตและการตลาด (โครงการฯ) ในประเด็นเงินจ่ายขาดเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการติดตามงานและค่าบริหารโครงการฯ จากเดิมจำนวน 10 ล้านบาท เป็นจำนวน 25.30 ล้านบาท เนื่องจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เบิกเงินจ่ายขาดจนครบ จำนวน 10 ล้านบาทแล้ว ประกอบกับคณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกร (กสก.) ได้เห็นชอบการขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ และการส่งชำระต้นเงินคืนมาแล้ว 3 ครั้ง ในปี 2564 ปี 2565 และปี 2567 ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน 2573 จึงทำให้กรมส่งเสริมสหกรณ์มีภาระค่าใช้จ่ายในการติดตามงานและค่าบริหารโครงการเพิ่มขึ้น
“เนื่องจากโครงการฯ ได้ดำเนินการมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว โดยครั้งล่าสุดได้มีการขยายระยะเวลาดำเนินโครงการออกไปอีก 5 ปี ซึ่งจะมีกำหนดสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินโครงการในวันที่ 30 เมษายน 2573อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน กษ. โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์สามารถส่งคืนต้นเงินที่ยืมมาให้แก่ กสก. ได้เพียง 190 ล้านบาท (จากจำนวน 1,000 ล้านบาท) ส่วนที่เหลืออีก 810 ล้านบาท ยังคงไม่สามารถติดตามเร่งรัดให้กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ชำระคืนหนี้ได้ทั้งหมด จนส่งผลให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการติดตามตรวจสอบการดำเนินโครงการฯ รวมถึงการเร่งรัดการชำระหนี้เงินกู้และแก้ไขปัญหา ของกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มมากขึ้น ทำให้ กษ. ต้องขออนุมัติจัดสรรเงินจ่ายขาดเพิ่มขึ้นอีก จำนวน 15.30 ล้านบาท เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินการดังกล่าว” นายอนุกูล กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง/เห็นชอบในหลักการ โดยมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น กค. เห็นว่าให้ส่วนราชการเจ้าของโครงการวิเคราะที่ถูกหนี้เพื่อจัดชั้นลูกหนี้ บริหารจัดการหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้เพื่อลดปัญหากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ พร้อมกำหนดมาตรการสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มเกษตรกรชำระหนี้ควบคู่กับการขยายระยะเวลา 5 ปี โดยกำหนดเป้าหมายการรับชำระหนี้และส่งเงินต้นคืนคืนกองทุนฯ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต่อปี รวมถึงกำหนดแผนการดำเนินงานและแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรตรกร เพื่อให้สามารถเร่งรัดและติดตามผลการดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรม และ พณ. สงป. และ สศช.มีความเห็นในทำนองเดียวกันว่าการพิจารณาดำเนินโครงการฯ และการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจะต้องคำนึงถึงถึงเหตุผล ความจำเป็น ความคุ้มค่า เป็นไปด้วยความโปร่งใสตามข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง สามารถตรวจสอบได้ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ควรกำกับดูแลให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเบิกค่าใช้จ่ายตามที่ใช้จริงเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโครงการเท่านั้น รวมถึงติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกร การช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรในการแก้ไขปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินงานและติดตามเร่งรัดหนี้สินอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเพื่อให้สามารถส่งเงินคืนกองทุนฯ ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดต่อไป เป็นต้น
เห็นชอบแผนพัฒนาน้ำมันปาล์ม ‘ไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย’
นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย รัฐบาลแห่งมาเลเซีย และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ว่าด้วยความร่วมมือด้านน้ำมันปาล์ม (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวในประเด็นที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรื อไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยขอให้ กษ. พิจารณาดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้ง อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง มีดังนี้
-
1. ในการประชุมวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาภายใต้แผนงาน IMT – GT ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 20 – 21 มีนาคม 2566 ณ กรุงเทพมหานคร ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านน้ำมันปาล์มเพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านน้ำมันปาล์มในระดับอนุภูมิภาค โดยเห็นชอบให้อินโดนีเซียยกร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว และให้ศูนย์ประสานงานความร่วมมืออนุภูมิภาค IMT – GT แจ้งเวียนให้ประเทศสมาชิกพิจารณา ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 ประเทศสมาชิกแผนงาน IMT – GT ได้ร่วมกันหารือและเห็นชอบในร่างสุดท้ายของบันทึกความเข้าใจฯ โดยประเทศสมาชิกแต่ละประเทศจะดำเนินการตามกฎหมายภายในประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ร่วมกัน
2. เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 คณะทำงานสาขาการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร IMT – GT ของทั้งสามฝ่าย ได้เข้าร่วมการประชุมวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาภายใต้แผนงาน IMT – GT ครั้งที่ 18 ณ เมืองปุตราจายา มาเลเซียโดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการลงนามร่างบันทึกความเข้าใจฯ โดยมีรัฐมนตรีเกษตรของประเทศสมาชิกแผนงาน IMT – GT หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนาม ในช่วงการประชุมระดับผู้นำ IMT – GT ครั้งที่ 16 ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย
3. ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย รัฐบาลแห่งมาเลเซีย และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ว่าด้วยความร่วมมือด้านน้ำมันปาล์ม มีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน สนับสนุนและเอื้ออำนวยการส่งเสริมการค้า รวมถึงเสริมสร้างประสบการณ์และการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน บนพื้นฐานของการต่างตอบแทนและผลประโยชน์ร่วมกันในด้านการพัฒนาน้ำมันปาล์ม มีสาขาความร่วมมือ เช่น การเสริมสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในอนุภูมิภาค แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับกระทรวงการต่างประเทศ (กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ) เห็นว่า ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
เห็นชอบแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจ ‘ไทย – อินโดนีเซีย – มาเลเซีย’
นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้ (1) ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 16 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (IMT – GT) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการยืนยันความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้แผนงาน IMT – GT ในด้านต่าง ๆ เช่น การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (2) ให้นายกรัฐมนตรีผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมฯ และ (3) ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) หรือ ผู้แทนปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT – GT และเข้าร่วมการประชุมฯ ทั้งนี้ จะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯในวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ (กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ให้ ขรก.- รัฐวิสาหกิจ อุปสมทบเฉลิมพระเกียรติในหลวง ไม่ถือเป็นวันลา
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ลาเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบทและบวชชีพรหมโพธิ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2568 และเนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568 โดยไม่ถือเป็นวันลา (ระหว่างวันที่ 17-30 กรกฎาคม 2568) ตามที่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สปน. ร่วมกับวัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี และคณะพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ดำเนินโครงการบรรพชาอุปสมบทและบวชชีพรหมโพธิ โดยกำหนดเป้าหมายผู้เข้าร่วมบรรพชาอุปสมบท จำนวน 99 รูป บวชชีพรหมโพธิ (สตรีที่มีการปลงผม) บวชเนกขัมมะพรหมโพธิ (สตรีที่ไม่ปลงผม) จำนวน 73 คน ระหว่างวันที่ 17-30 กรกฎาคม 2568 รวม 14 วัน ณ วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ วัดไทยพุทธคยา เมืองคยา รัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย (อินเดีย) และ พุทธสังเวชนัยสถานอินเดีย และสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล (เนปาล) ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ 1) สปน. 2) วัดไทยพุทธคยา และ 3) คณะพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล
ทั้งนี้ ครม. มีมติเห็นชอบให้ข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ลาเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบทและบวชชีพรหมโพธิ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2568 และเนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568 โดยไม่ถือเป็นวันลา โดยจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อน
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการลาปฏิบัติธรรมของสตรี ให้ข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ของส่วนราชการหน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นสตรีที่เข้าร่วมบวชชีพรหมโพธิและบวชเนกขัมมะพรหมโพธิในครั้งนี้ ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2550 (เรื่อง การให้ข้าราชการ เจ้าที่ และลูกจ้างของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นสตรีไปถือศีลและปฏิบัติธรรม) และสำหรับประเด็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของสตรี ซึ่งไม่ได้เป็นสำนักปฏิบัติธรรรมที่ พศ. ให้การรับรอง ให้ สปน. ประสานหารือกับ พศ. ต่อไป รวมทั้งให้ พศ. ปรับปรุงประกาศให้เป็นปัจจุบัน เพื่อที่หน่วยงานจะได้ไม่ต้องขอยกเว้นอย่างเช่นกรณีนี้อีก
ออกระเบียบสำนักนายกฯดูแลสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการ ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการดูแลรักษาสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างฯ ดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการดูแลรักษาสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ พ.ศ. 2531 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยแก้ไขชื่อหน่วยงานดูแลรับผิดชอบหลักให้เป็นปัจจุบัน และเพิ่มให้มีศึกษาธิการจังหวัดร่วมอยู่ในคณะกรรมการอำนวยการบริหาร รวมทั้งเพิ่มเติมหน้าที่ผู้ดูแลรับผิดชอบ ในการจัดทำแผนปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ในสภาวการณ์ปัจจุบัน
โดยทางรัฐบาลได้มอบหมายให้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับจังหวัดและภาคเอกชนจัดสร้าง สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นสวนสาธารณะขึ้นในเขตการศึกษาเขตละหนึ่งจังหวัด ทั้งหมด 12 จังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง ได้แก่ นนทบุรี ปัตตานี ชุมพร พังงา กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา พิจิตร เชียงราย สกลนคร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และ ฉะเชิงเทรา เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในมงคลวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2523
ทั้งนี้ เพื่อให้สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ได้มีเอกลักษณ์เฉพาะแห่ง สมควรได้รับการดูแลรักษาเป็นถาวรอนุสรณ์สถา เพื่อระลึกในพระมหากรุณาธิคุณ แห่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนทั่วไป จึงได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีกําหนดให้มีสถานที่ตั้งและหน่วยงานผู้ดูแลรับผิดชอบขึ้น และมีการแก้ไข้รายละเอียดเพิ่มเติม ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น
ยกเว้นค่าธรรมเนียมจัดหางาน
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอเกี่ยวกับการจัดหางานในประเทศและการจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ พ.ศ. … และร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอเกี่ยวกับการจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานเป็นคนประจำเรือ พ.ศ. … จำนวน 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
-
1) ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 พ.ศ ….. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอเกี่ยวกับการจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศ และเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ เช่น ค่าธรรมเนียมคำขอใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศ ค่าธรรมเนียมคำขอใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ ค่าธรรมเนียมคำขอใบแทนใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมคำขอรับรองสำเนาเอกสาร
2) ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอ ตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับการจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานเป็นคนประจำเรือ พ.ศ. 2560 พ.ศ. … ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอเกี่ยวกับการจัดหางานให้คนหางาน เพื่อไปทำงานเป็นคนประจำเรือ เช่น ค่าธรรมเนียมคำขอใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานเป็นคนประจำเรือ ค่าธรรมเนียมคำขอการต่ออายุใบอนุญาตจัดหางาน ค่าธรรมเนียมคำขอ การแปลใบอนุญาตจัดหางานเป็นภาษาต่างประเทศ
ทั้งนี้ เพื่อลดต้นทุนภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และลดภาระภาครัฐ ซึ่งค่าธรรมเนียมดังกล่าว อยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนของภาครัฐในการดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งหากยังจัดเก็บต่อไป ก็จะไม่คุ้มค่าต่อการดำเนินภารกิจของภาครัฐ
ออก พ.ร.ฎ.ตั้งองค์การบริหารไนท์ซาฟารี
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารไนท์ซาฟารี (องค์การมหาชน) พ.ศ. … และร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย (ฉบับที่ .) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ตามที่คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
-
1) ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารไนท์ซาฟารี (องค์การมหาชน) พ.ศ. … ซึ่งเป็นการจัดตั้งองค์การบริหารไนท์ซาฟารี (อบน.) ขึ้นเป็นองค์การมหาชน เพื่อดำเนินภารกิจในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และวัฒนธรรมบนพื้นฐานทางธรรมชาติ ในรูปแบบไนท์ซาฟารีที่มีความหลากหลาย ยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูงและยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมและจัดให้มีการบำรุงและเพาะพันธุ์สัตว์ป่าโดยเน้นสัตว์ป่าที่ใช้ชีวิตกลางคืน
2) ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ซึ่งเป็นการยกเลิกการโอนเงินและทรัพย์สินของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) (สพค.) ไปเป็นทุนขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณาประเมินรูปแบบองค์กร และการบริหารจัดการองค์กรที่เหมาะสมระหว่างองค์การบริหารไนท์ซาฟารี (องค์การมหาชน) และองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ภายในระยะเวลา 2 ปี พร้อมให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และสำนักงบประมาณ ในส่วนที่เกี่ยวกับการประเมินรูปแบบองค์กรและการบริหารจัดการองค์กรที่เหมาะสมระหว่างองค์การบริหารไนท์ซาฟารี (องค์การมหาชน) และองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย รวมทั้งให้สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ เมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ มีผลใช้บังคับแล้ว ให้องค์การบริหารไนท์ซาฟารี (องค์การมหาชน) รับความเห็นของกระทรวงมหาดไทย สำนักงาน ก.พ. และสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
คลอด 5 มาตรการ สกัดการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นการปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า (มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ) และเห็นชอบมาตรการการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย 5 มาตรการ ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
มาตรการการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย 5 มาตรการ ประกอบด้วย
-
• มาตรการที่ 1 พัฒนาและจัดการองค์ความรู้ เช่น กำหนดให้สถานศึกษาเป็นสถานศึกษาปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เช่น บูรณาการการเรียนการสอนและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้รู้เท่าทันพิษภัยและกลยุทธ์ทางตลาดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าให้สอดรับกับระดับการเรียนรู้ของแต่ละช่วงวัย
• มาตรการที่ 2 สร้างการรับรู้ภยันอันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และสาธารณชน เช่น สร้างความตระหนักรู้ถึงภยันอันตรายและการเสพติดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคตินรูปแบบใหม่ และดำเนินการผลิต เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคตินรูปแบบใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์
• มาตรการที่ 3 เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เช่น กำหนดมาตรการทางกฎหมาย ตลอดจนระเบียบต่าง ๆ เพื่อกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม มิให้มีการเผยแพร่และนำเสนอประเด็นที่บิดเบือนเกี่ยวกับบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า จัดทำคู่มือหรือแนวทางในการผลิตสื่อภาพยนตร์ วิดีทัศน์ หรือสื่ออื่นใดที่หลีกเลี่ยงให้มีบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบอยู่ในองค์ประกอบส่วนหนึ่งของฉาก ตลอดจนสำรวจความชุกของการใช้บุหรี่ไฟฟ้า อย่างน้อยทุก ๆ 2 ปี
• มาตรการที่ 4 พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย เพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เช่น จัดทำแนวปฏิบัติการขนส่งโดยระบุให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามส่ง เพื่อป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าในช่องทางการซื้อขายโดยเฉพาะทางออนไลน์ รวมถึงให้หน่วยงานภาครัฐ กำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนดำเนินกิจกรรมในการสร้างความตระหนักรู้และร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า
• มาตรการที่ 5 ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกัน และปราบปรามการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า โดยที่คำนึงถึงพันธสัญญาที่ประเทศไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกและต้องดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก อนุสัญญาด้วยสิทธิ์เด็ก และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยองค์กรสหประชาชาติ และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ตั้ง ‘พิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล’ ประธานสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้
1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้ง นายกิตติวัฒน์ ปัจฉิมนันท์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
2. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอแต่งตั้ง นายนคร เสรีรักษ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการรักษาผลประโยชน์ของชาติ) ในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระเนื่องจากขอลาออก ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งตนแทน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป
3. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายสุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาลแทน รองศาสตราจารย์จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป และผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป
4. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) เสนอแต่งตั้ง นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ แทน นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป และผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของประธานกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป
5. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นางสาวจิตรา ณีศะนันท์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการสูง) กองมาตรฐานการกำกับ และตรวจสอบภาษี กรมสรรพากร ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป
อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 เพิ่มเติม