ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯเผยไม่มี ‘แพทยสภา’ คนไหนพูด ‘ทักษิณ’ ป่วยไม่จริง-ออก ‘G-Token’ 5,000 ล้าน ชดเชยขาดดุลงบฯ

นายกฯเผยไม่มี ‘แพทยสภา’ คนไหนพูด ‘ทักษิณ’ ป่วยไม่จริง-ออก ‘G-Token’ 5,000 ล้าน ชดเชยขาดดุลงบฯ

13 พฤษภาคม 2025


เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯ เสียดาย ‘ทักษิณ’ ไม่มีโอกาสได้เจอ ‘ทรัมป์’
  • เผยไม่มี ‘แพทยสภา’ คนไหนพูด ‘ทักษิณ’ ป่วยจริง-ไม่จริง
  • แจงปมชั้น 14 จบก่อนนั่งนายกฯ ยันไม่ได้แทรกแซง
  • ปัดข่าวลือยุบสภา-ปมรอยร้าวภูมิใจไทย
  • ชี้ปมขัดแย้ง ‘ทักษิณ-เนวิน’ สื่อจับโยงกันเอง
  • มติ ครม.ออก ‘G-Token’ กู้ 5,000 ล้าน ชดเชยขาดดุลงบฯ
  • เห็นชอบ ‘ODOS’ แจก 7,200 ทุนการศึกษา 4,599 ล้าน
  • ออกกฎกระทรวงให้ DSI รับทำคดีพิเศษเพิ่มอีก 3 รายการ
  • ปลดล็อก กม.สุราชุมชน-หนุน ‘Soft Power’
  • เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน และมอบหมายให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. และข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี

    ออก ‘G-Token’ กู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณ

    นางสาวแพทองธาร รายงานว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอการอนุมัติวิธีการกู้เงินโดยการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token) หรือ G-Token ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะสร้างโอกาสและส่งเสริมการเข้าถึงการลงทุนที่มีคุณภาพให้กับประชาชน โดยผลักดันโทเคนดิจิทัลของรัฐบาลให้เป็นเครื่องมือการระดมทุนรูปแบบใหม่ของกระทรวงการคลัง และเป็นการนำเทคโนโลยีการเงินมาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้ประชาชนมากขึ้น

    นางสาวแพทองธาร เสริมว่า การออก G-Token ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบดิิจิทัล และช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัลในอนาคต โดยรัฐบาลเน้นย้ำเรื่องของระบบ และกระบวนการที่มีความปลอดภัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นไปตามกฎหมาย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

    แก้ กม.ปลดล็อกข้อจำกัดสุราชุมชน หนุน SMEs แข่งขันได้

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติให้กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก และผู้ประกอบอุตสาหกรรมขนาดกลาง ตามนโยบายการสร้างโอกาสและต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม และส่งเสริมเรื่องซอฟต์พาวเวอร์

    โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสุรา เพื่อลดข้อจำกัดในการเข้าสู่ธุรกิจของผู้ประกอบอุตสาหกรรมสุรารายใหม่ๆ เช่น การแก้ไขหลักเกณฑ์ของผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต การแก้ไขหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของโรงอุตสาหกรรมขนาดกลาง และแก้ไขหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับสถานที่ตั้งของโรงอุตสาหกรรม รวมถึงการแก้คำนิยามเกี่ยวกับโรงอุตสาหกรรมสุรา เช่น ชนิดเบียร์ ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต มีข้อที่ต้องแก้ตามกฎกระทรวงเพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ค้าทั้งรายเล็กและรายกลาง

    เสียดาย ‘ทักษิณ’ ไม่มีโอกาสได้เจอ ‘ทรัมป์’

    ผู้สื่อข่าวถามเรื่องการลดภาษีนำเข้าระหว่างกันเป็นเวลา 90 วัน ของสหรัฐอเมริกาและจีน แต่ไทยยังไม่มีการเจรจาใดๆ ทำให้จีนแซงหน้าไทยหรือไม่ หลังจบคำถาม นางสาวแพทองธาร อุทาน “โห” พร้อมกล่าวต่อว่า “ใช้คำว่าจีนแซงหน้า ไม่ได้นะ เราคิดว่ามีการคลี่คลายทางเลือกนี้มากกว่า วันนี้ตลาดหุ้นก็บวก”

    “ที่เราพูดกันตั้งแต่ต้นว่า เรารอเวลาที่เหมาะสม คือ การนัดเข้าไปคุย อาทิตย์ที่แล้วมีการส่ง Proposal ไปเรียบร้อยให้อเมริกา และมีตัวแทนจากหลายภาคส่วน ก็คุยกันหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็น USTR หรือระดับรัฐมนตรีเองก็มีการคุยนอกรอบ” นางสาวแพทองธาร กล่าว

    อย่างไรก็ตาม นางสาวแพทองธาร ย้ำว่า รัฐบาลไทยได้ส่งข้อเสนอ (proposal) ไปให้สหรัฐอเมริกาโดยตรงแล้ว

    เมื่อถามว่า ศาลอาญาไม่อนุญาตให้นายทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปต่างประเทศเพื่อเจรจากับโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “อันนี้จะพูดอย่างไรดีล่ะ น่าเสียดายโอกาสที่เราจะสามารถคุยกับคอนเนคชั่นที่ค่อนข้างใกล้ หรือ เป็นตัวประธานาธิบดีเอง มันก็ต้องเสียโอกาสอยู่แล้ว ถ้ามีโอกาสคุยกันเลยตรงๆ ก็น่าจะง่ายกว่า”

    “เหมือนกับทุกวงการ ถ้าเราได้มีโอกาสคุยกับตัวจริงเลย ดีกว่าอยู่แล้ว และเป็นโอกาสที่สามารถพูดคุยกันได้ ไม่ว่าตัวประธานาธิบดีเอง หรือท่านทักษิณเองเคยรู้จักกันมาอยู่แล้วในอดีต ตอนที่ท่านเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก ก็เคยได้พบเจอกันและพูดคุยกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าได้ไปพบเจอหรือถามแนวความคิด มันต้องได้ประโยชน์อยู่แล้วกับประเทศ ก็เสียดายค่ะ” นางสาวแพทองธาร ตอบ

    เมื่อถามว่า สหรัฐมีคิวเจรจากับมาเลเซียและกัมพูชา ทำไมถึงไม่มีประเทศไทย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เราก็รออันนี้อยู่ เพราะเพิ่งส่ง proposal ไปอาทิตย์ที่แล้ว น่าจะเป็นก่อนวันหยุดที่ส่ง ท่านรองนายกฯ (พิชัย ชุณหวชิร) ก็เอามาให้ดูแล้วว่า proposal ส่งไปแล้วเรียบร้อย หลังจากนี้ก็อาจจะต้องมีการนัด เราต้องตามเรื่องนี้อยู่แล้ว”

    ไม่ทราบสหรัฐคืนวีซ่า จนท.ไทยที่ส่งอุยกูร์กลับจีนหรือยัง

    เมื่อถามถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกา ระงับวีซ่าเจ้าหน้าที่ของประเทศไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน ได้มีการยกเลิกคำสั่งแล้วหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เรื่องอุยกูร์ ไม่แน่ใจว่ายกเลิกไปแล้วหรือยัง เดี๋ยวลองถามให้ เพราะจริงๆ ไม่น่ามีปัญหาอะไรแล้ว ปกติก็คุยกันได้หมด ไม่ได้มีการถูกปิดกั้นอะไร”

    ถามย้ำว่า สหรัฐอเมริกาได้ปลดล็อควีซ่าให้กับเจ้าหน้าที่ไทยแล้วหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “อันนี้ไม่แน่ใจ เดี๋ยวขอถามอีกทีหนึ่ง เพราะตัวเองไม่ได้โดนอันนี้ด้วย เลยไม่แน่ใจอันของทีมงานเขาปลดล็อก หรือยัง”

    เผยไม่มี ‘แพทยสภา’ คนไหนพูด ‘ทักษิณ’ ป่วยจริง-ไม่จริง

    ถามต่อกรณีที่แพทยสภามีมติลงโทษแพทย์จากประเด็นชั้น 14 ของนายทักษิณ ชินวัตร นายกฯ มองว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นการล้อมกรอบพรรคเพื่อไทย และแบ่งชนชั้นหรือไม่ เมื่อถามจบ นางสาวแพทองธาร ทวนคำถามว่า “ปรากฏการณ์ล้อมกรอบพรรคเพื่อไทย” และ “อ๋อ แบ่งเป็นชนชั้นใช่ไหม” จากนั้นกล่าวต่อว่า

    เรื่องนี้มันยังไม่มีข้อยุติว่าอย่างไร และยังไม่มีทางแพทยสภาคนไหนที่ออกมาพูดว่าท่านทักษิณป่วยจริงหรือไม่จริง มันไม่ได้มีข้อสรุปตรงนี้ และทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ อย่างที่บอกว่าต้องเป็นไปตามกระบวนการ แต่จะแปลว่าอย่างไรนั้น อันนี้ไม่ทราบจริงๆ ว่ามันจะเป็นชนชั้นอะไร อย่างไร ก็ไม่ทราบ ไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้” นางสาวแพทองธาร ตอบ

    ถามต่อว่า มติของแพทยสภาจะมีผลอย่างไรกับนายทักษิณ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ไม่มี คุณพ่อก็เตรียมที่จะชี้แจงก็แค่นั้นเอง ให้เป็นตามกระบวนการ ก็ชี้แจงตามข้อเท็จจริงของเขา”

    ถามต่อว่า สามารถชี้แจงสังคมได้หรือไม่ โดยเฉพาะคนที่ตั้งคำถามเรื่องนี้ นางสาวแพทองธารตอบว่า “ก็แจงได้ เราพูดมาตลอดว่า ท่านอายุมากแล้ว ท่านเคยป่วยเป็นโควิดตั้งแต่ตอนกลับประเทศไทย…ก่อนกลับประเทศไทย จำได้ตอนช่วงอายุประมาณ 72 ตอนนั้นเขาก็ไม่สบายหนัก และมีเรื่องประวัติมาอยู่แล้วตั้งแต่ตอนรักษาที่เมืองนอกด้วยซ้ำ มันเกี่ยวเนื่องกันมา ทำให้เรื้อรังก็มี ถ้าทางการแพทย์จริงๆ ที่ประวัติการรักษามันก็ชี้แจงได้อยู่แล้ว”

    ผู้สื่อข่าวบอกว่าประเด็นดังกล่าวถูกหยิบมาโจมตีพรรคเพื่อไทย นางสาวแพทองธาร ถามกลับ “โจมตีว่า” ผู้สื่อข่าวตอบว่า ‘ป่วยทิพย์’ นางสาวแพทองธาร จึงบอกว่า “เราก็ชี้แจงตามข้อเท็จจริง แต่ถ้าใครจะคิดอย่างไร ก็ไม่สามารถจะห้ามได้”

    แจงปมชั้น 14 จบก่อนนั่งนายกฯ ยันไม่ได้แทรกแซง

    “สมมติเรื่องผลกระทบอะไรต่อตัวดิฉันเอง ก็ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ก่อนว่าเรื่องชั้น 14 ทั้งเริ่มแล้วก็จบลงก่อนที่ฉันเป็นนายกรัฐมนตรี อันนี้ก็ได้พูดหลายรอบ ถึงจะมีหลายๆ ฝ่ายที่พยายามทำให้เข้าใจผิดว่าดิฉันเข้าไปยุ่งกับกระบวนการแทรกแซงต่างๆ…คือไม่มีอำนาจอะไรเลย จะแทรกแซงอย่างไรมันจบ” นางสาวแพทองธาร ตอบ

    “คุณพ่อออกมาจากชั้น 14 ตั้งแต่ก่อนเป็นนายกฯ ตั้งหลายเดือน จําเดือนไม่ได้แล้ว ออกมาหลายเดือนมาก ซึ่งมันก็ชัดเจนด้วยกรอบของเวลาอยู่แล้ว…อันนี้ก็ ไม่ได้ชี้แจงอะไร” นางสาวแพทองธาร ตอบ

    ถามต่อว่า นายทักษิณจะขึ้นศาลในวันที่ 13 มิถุนายน 2568 ตามกระบวนการ ใช่หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ใช่ เมื่อวานเพิ่งเจอกันก็ตอบแบบนั้น”

    ยังยืนยัน ‘ทักษิณ’ ป่วยจริง

    อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวย้อนกลับไปถามว่า ประเด็นนี้ไม่มีผลอะไรกับนายกฯ และนายทักษิณ แต่มีผลกระทบต่อแพทย์ 3 คนที่เกี่ยวข้อง โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ก็ต้องมีการชี้แจงกันต่อไป ไม่ได้บอกว่าไม่มีผลกระทบคงไม่ใช่ เพราะกระทบมาตลอดอยู่แล้ว แต่ถามว่าเราจะทำอย่างไร”

    “คำถามที่บอกว่า มันกระทบอย่างไร มันกระทบอยู่แล้ว ตั้งแต่การตัดสินแล้วว่าต้องติดคุกต้องอะไร มันสมควรหรือไม่ มันกระทบตั้งแต่ตอนนั้นอยู่แล้ว มันกระทบตั้งแต่การได้รับคดีอยู่แล้ว แต่ตอนนั้นว่าเรารู้สึกอย่างไร นี่ดิฉันพูดถึงความรู้สึกนะ มันรู้สึกมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ถามว่าเราทำอะไรได้บ้างดีกว่า สิ่งที่เราทำได้คือชี้แจงข้อเท็จจริงตามหลักฐาน ตามสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น” นางสาวแพทองธาร ตอบ

    ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า นายกฯ ยืนยันว่านายทักษิณป่วยจริงอย่างที่เคยพูดเมื่อสัปดาห์ก่อน (6 พ.ค. 2568) นางสาวแพทองธาร ยืนยันว่า “ใช่ หนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็ยืนยันเหมือนเดิม”

    ผู้สื่อข่าวบอกว่า คำแถลงของแพทยสภาดูจะสวนทางกับคำกล่าวของนายกฯ ทำให้นางสาวแพทองธาร ถามกลับผู้สื่อข่าวว่า “แล้วเขาพูดว่าท่านป่วยจริงหรือเปล่า…เขาก็ต้องมีการชี้แจงกันในชั้นต่อไป ถูกไหม”

    ปัดข่าวลือยุบสภา-ปมรอยร้าวภูมิใจไทย

    เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวยุบสภา นายกฯ มองกระแสข่าวนี้อย่างไร ทำให้ นางสาวแพทองธาร หัวเราะเบาๆ และกล่าวว่า “ถามจริงๆ ถามคนในพรรคเยอะเหมือนกัน งงเหมือนกันว่าทำไมถึงจะยุบสภา” พร้อมถามกลับว่า “เขาจะยุบเพราะอะไรนะคะ”

    ผู้สื่อข่าวบอกว่า พรรคภูมิใจไทยจะคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ และประเด็นคดีฮั้ว สว. นางสาวแพทองธาร จึงตอบว่า “ไม่มีเลย…ไม่มีเลยนะคะ การทำ พ.ร.บ.งบประมาณ เป็นความรับผิดชอบร่วมกันอยู่แล้วของพรรคร่วม ไม่ได้มีเรื่องของการจะยุบสภาอะไร”

    จากนั้น นางสาวแพทองธาร เสริมว่า “ท่านอนุทิน (ชาญวีรกูล) ผ่าตาอยู่นะคะ ไม่มีเรื่องนี้เลยค่ะ ท่านก็บอกว่าขอลาอีก 2-3 วัน”

    ถามต่อว่า ได้สอบถามนายอนุทินในประเด็นนี้หรือยัง ทำให้ นางสาวแพทองธาร ถามกลับว่า “สอบถามจากท่านรองฯ หรอคะ” ผู้สื่อข่าว ยืนยันว่าใช่ นางสาวแพทองธาร จึงพูดว่า “ไม่มี ไม่ได้คุยกันเรื่องนี้เลย คุยแต่อวยพรท่านหายเร็วๆ ไม่ได้มีการคุยเรื่องนี้เลย และช่วยกันคิดก็ได้ว่าทำไมถึงต้องมีข่าวแบบนี้ปล่อยออกมาเพื่ออะไร”

    ชี้ปมขัดแย้ง ‘ทักษิณ-เนวิน’ สื่อจับโยงกันเอง

    ถามอีกว่า เสถียรภาพของรัฐบาลยังเหมือนเดิมใช่หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เหมือนเดิม ไม่มีอะไร”

    ผู้สื่อข่าวพูดว่า เหมือนผู้นำจิตวิญญาณสองคนกำลังสู้รบกันอยู่ แต่ยังไม่ทันพูดจบ นางสาวแพทอง ถามทันทีว่า “ผู้นำจิตวิญญาณสองคนกำลังสู้รบกันอยู่ คือใครนะคะ”

    ผู้สื่อข่าวตอบว่า คุณทักษิณ ชินวัตร กับคุณเนวิน ชิดชอบ กำลังสู้รบกันผ่านนิติสงคราม นางสาวแพทองธาร ทวนคำพูดพร้อมหัวเราะว่า “คุณทักษิณกับคุณเนวิน” ขณะเดียวกันรัฐมนตรีที่ยืนเป็นแบล็คกราวด์ประกอบการสัมภาษณ์พูดว่า “สื่อนั่นแหละโยง”

    นางสาวแพทองธาร จึงเสริมว่า “อะไรนะ สื่อใช่ไหม สื่อชอบโยงใช่ไหม โยงนู่น โยงนี่ โยงนั่น โยงกันทียังงงเลยว่า บางเรื่องมันเกี่ยวข้องกันจริงหรอ แต่ไม่มีอะไรทั้งสองท่านนี้ คิดว่านอกรอบเราคุยกันได้อยู่แล้ว แต่ปัญหาของทางรัฐบาลเอง เรามีหน้าที่ที่จะรักษาเสถียรภาพให้มันยังอยู่”

    “ถามว่าเกินมือไหม เกินมือไหมที่ตัวดิฉันเองชอบไปเกี่ยวข้อง มันจะเกินมือได้อย่างไรในเมื่อดิฉันยังเป็นนายกฯ อยู่ มันจะเกินมือได้อย่างไร” นางสาวแพทองธาร กล่าว

    นางสาวแพทองธาร ย้ำว่า “เสถียรภาพของรัฐบาลต้องมั่นใจอยู่แล้ว ต้องคุมให้ได้ อีกเรื่องคือว่า ถ้ามันจะเกิดอะไรขึ้น แบบว่าผู้นำจิตวิญญาณหรืออะไรสักอย่าง มันก็คงต้องเกิดขึ้นนอกรอบ-นอกระบบ แต่ถ้ามันอยู่ในระบบ อยู่ในการจัดตั้งรัฐบาล มันก็คงเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะทั้งสองท่านก็ไม่ได้มีตำแหน่งในรัฐบาล ถูกไหมคะ”

    เมื่อถามว่า ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลดื้อ จะจัดการอย่างไร นางสาวแพทองธาร ยังหัวเราะพร้อมตอบว่า “ถ้าพรรคไหนดื้อ พูดเหมือนเป็นลูก ไม่ใช่นะ บอกแล้วว่า การมีพรรคร่วมหลายๆ พรรค มันมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันอยู่แล้ว ในพรรคยังคิดไม่ตรงกัน แต่ต้องหาข้อสรุปจนได้ เพราะฉะนั้น อะไรที่ติดขัดหรือต้องช่วยกัน ต้องคุยกัน เพราะพอมาถึงเรื่องใหญ่ปุ๊บ พรรคร่วมก็โทรหาอยู่แล้ว ก็คุยกันนอกรอบก่อน”

    ผู้สื่อข่าวบอกว่า ในการพิจารณากฎหมายสำคัญที่ผ่านมา ตั้งแต่เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ถึงเรื่องงบประมาณ ทุกครั้ง ต้องเป็นพรรคเพื่อไทยกับภูมิใจไทยตลอด นางสาวแพทองธาร จึงบอกว่า “นั่นสิ สื่อมวลชนช่วยตอบให้หน่อย สื่อมวลชนช่วยตอบให้หน่อย ทำไมเป็นข่าวทุกทีเลย เป็นเพราะสื่อหรือเปล่านะ ขอบคุณค่ะ”

    สั่งดูแลปัญหาปากท้อง ปชช.ชายแดนใต้

    นายจิรายุ รายงานว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกฯ ได้เชิญผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการกองทัพบก และกระทรวงมหาดไทย ประชุมเรื่องปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้กับ เพื่อกำหนดแนวทางแก้ปัญหา ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและในระยะยาว อีกทั้งช่วงบ่ายวันนี้ ได้เชิญหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องมาหารือเรื่องนี้เป็นการเฉพาะด้วย

    “นายกฯ สั่งการว่า นอกจากงานด้านความมั่นคง และการกระชับความสัมพันธ์กับประชาชน การควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้กับประชาชนแล้ว จะต้องเร่งสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนในทุกมิติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และบางอำเภอที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดสงขลา” นายจิรายุ กล่าว

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการให้ทุกหน่วยงานภาครัฐต้องสร้างความเป็นอยู่ที่ดีควบคู่ไปกับงานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีบุคลากรประจำในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงศึกษาฯ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอให้ทุกกระทรวงช่วยกันกำชับบทบาทของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด ในการทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ โดยน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในเรื่องนี้ว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

    ฝาก ‘เกษตร-พาณิชย์’ เร่งแก้ผลไม้ล้นตลาด

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ ได้รับรายงานจากกระทรวงเกษตรฯ ว่าในฤดูการผลิตปี 68 สถานการณ์ผลไม้ของไทย ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มังคุด มะม่วง และลำไย จะมีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 10-30 เนื่องจากมีสภาพอากาศที่ดี และปริมาณน้ำที่เพียงพอ โดยมีข้อสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

      • สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งกระจายผลผลิตเพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัว การบริหารจัดการกลุ่มเกษตรกร ในการควบคุมปริมาณ และคุณภาพของผลผลิต,การเพิ่มมูลค่าทางการตลาด เช่น การแปรรูป และจะต้องเพิ่มช่องทางการตลาดเช่น e-commerce
      • ขอให้ทางกระทรวงพาณิชย์ ร่วมมือกันในการบริหารจัดการไม่ให้สินค้าล้นตลาด มีราคาที่มีเสถียรภาพและเพมาะสม และให้หาความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ตลอดจนตลาดในต่างประเทศ เพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ที่มีความต้องการ โดยจะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพให้ได้มาตรฐานของต่างประเทศด้วย

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า ในสัปดาห์นี้ นายกฯ จะลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรในจังหวัดทางภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญของไทย

    ประชุมทูตหากลยุทธ์ดึงดูดการลงทุน-เจาะตลาดใหม่

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการให้ทูตประจำต่างประเทศทุกประเทศ ได้จัดการประชุมทูตไทยประจำปี ซึ่งจะมีการประชุมทูตไทยทั่วโลกเป็นประจำทุกปี อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์จะมีการประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกเป็นประจำทุกปีเช่นกัน

    “เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายด้านต่างประเทศของไทยมีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกัน ขอให้การจัดประชุมประจำปีในครั้งต่อไปเป็นการจัดประชุมร่วมกันระหว่าง ทูตประจำประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทูตพาณิชย์ ทูตเกษตร และสำนักงาน BOI ทั่วโลก เพื่อจะได้ร่วมกันกำหนดแนวทางและกลยุทธ์ขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศของทีมประเทศไทย (Team Thailand) ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งเรื่องการ ส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับนานาประเทศในมิติต่างๆ รวมไปถึงการดึงดูดการลงทุน การส่งออก และการหาตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าไทย โดยขอให้ยึดผลประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง” นายจิรายุ กล่าว

    สั่งสอบไฟไหม้โรงงานเฟอร์นิเจอร์ลาดกระบัง

    นายจิรายุ กล่าวถึงข้อสั่งการเรื่องเหตุการณ์ไฟไหม้หลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่โรงงานเฟอร์นิเจอร์ย่านลาดกระบัง ว่า นายกฯ ขอให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าไปดูแลเรื่องความปลอดภัยของสถานที่ รวมทั้งตรวจสอบว่าการก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุไฟไหม้เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และหากมีความจำเป็นต้องมีมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนหรือผู้ได้รับผลกระทบ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเสนอมาตรการช่วยเหลือเยียวยาโดยเร็วต่อไป

    มติ ครม.มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษก ฯ และนางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกฯร่วมกันแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    ออก ‘G-Token’ กู้ 5,000 ล้าน ชดเชยขาดดุลงบฯ

    นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติวิธีการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ โดยการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token: G-Token) และอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กระทรวงการคลัง) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 อนุมัติการกู้เงินของรัฐบาล เพื่อการก่อหนี้ใหม่ การกู้และการนําไปให้กู้ต่อ การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกัน เงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ภายใต้กรอบวงเงินของแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2568 และให้ กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น

    กระทรวงการคลัง มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกู้เงินในรูปแบบโทเคนดิจิทัล เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ประกอบกับพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 กำหนดให้ ครม. เป็นผู้พิจารณาอนุมัติวิธีการกู้เงินของ กระทรวงการคลัง ซึ่งการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token: G-Token) เป็นการนำนวัตกรรมทางการเงินเกี่ยวกับการระดมทุนรูปแบบใหม่มาประยุกต์ใช้กับการกู้เงินของ กระทรวงการคลัง และ กระทรวงการคลัง ได้ดำเนินการยกร่างประกาศ ก.ค. เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. ….ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการให้อำนาจ กระทรวงการคลัง ออกโทเคนดิจิทัล เพื่อกู้เงินตามกรอบวงเงินกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ด้วยวิธีการเสนอขายให้แก่ผู้มีสิทธิ์ซื้อโดยตรงผ่านผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

      1. กำหนดให้กระทรวงการคลัง ออกโทเคนดิจิทัล โดยวงเงินกู้ตามกรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ
      2. กำหนดให้กระทรวงการคลัง อาจมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องเป็นตัวแทนของกระทรวงการคลังในการดำเนินการด้านต่าง ๆ
      3. กำหนดให้ กระทรวงการคลัง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลให้แก่ผู้มีสิทธิ์ซื้อโดยตรง ตลอดจนความเหมาะสมของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลนั้น
      4. กำหนดให้ กระทรวงการคลัง กำหนดหลักเกณฑ์การชำระดอกเบี้ยและการใช้เงินตามโทเคนดิจิทัล โดยให้ กระทรวงการคลัง หรือนิติบุคคลอื่นใดที่ กระทรวงการคลัง มอบหมาย โอนเงินให้แก่ผู้ถือโทเคนดิจิทัลหรือผู้รับตามที่นายทะเบียนกำหนด ทั้งนี้ ตามที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียน
      5. กำหนดให้การโอนโทเคนดิจิทัลให้มีผลสมบูรณ์เมื่อผู้โอนนั้นได้บันทึกการรับโอนโทเคนดิจิทัลเข้าไปในบัญชีของผู้รับโอนแล้ว

    ด้านนายพิชัย ชุณหวขิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. …. เพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถออก และเสนอขายโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล หรือ “Government Token: G-Token” ซึ่งจะเป็นเครื่องมือระดมทุนแบบใหม่ของรัฐบาล รวมทั้งเป็นทางเลือกการออมให้กับประชาชนเพิ่มเติมนอกเหนือจากรูปแบบเดิมที่มีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนรายย่อยได้มากขึ้นให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงิน และสามารถนำเงินจำนวนไม่มากเข้ามาลงทุนได้ คาดว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจะเปิดจำหน่ายงวดแรกวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ภายในเดือนกรกฎาคมนี้

    ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้รับทราบวามคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาพิจารณาแล้วว่าโทเคนดังกล่าวจะไม่ได้นำไปใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) และจะทำในสัดส่วนที่เหมาะสม แต่รายย่อยจะสามารถนำโทเคนไปแลกเปลี่ยนมือได้ผ่านระบบ Exchange ที่มีอยู่ได้

    กระทรวงการคลัง ได้ขอความเห็น สนง. ก.ล.ต. โดย สนง. ก.ล.ต. เห็ฯว่า หาก กระทรวงการคลัง พิจารณาได้ว่าการกู้เงินโดยวิธีการออก G-Token ไม่ใช่การออกตราสารหนี้ ซึ่งไม่เป็น “หลักทรัพย์” ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 แล้วก็สามารถดำเนินการภายใต้ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 และเข้าข่ายเป็นโทเคนดิจิทัลแห่ง พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งต้องเป็นไปตาม พ.ร.ก. ดังกล่าวและกฎเกณฑ์ที่ออกโดย คกก. ก.ล.ต. และ สนง. ก.ล.ต.

    ทั้งนี้ ให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

    เห็นชอบ ‘ODOS’ แจก 7,200 ทุนการศึกษา 4,599 ล้าน

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการโครงการทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศ (Outstanding Development Opportunity Scholarship: ODOS) ตามที่คณะกรรมการอำนวยการโครงการทุนการศึกษา เพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศเสนอ เพื่อจะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา มุ่งพัฒนาบุคลากรที่สอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศ

    จากการที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีแนวนโยบายในการพัฒนาประเทศทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาคเศรษฐกิจ การผลิตและการบริการ รวมถึงภาคประชาสังคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศ ตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เศรษฐกิจดิจิทัล การแพทย์ รวมถึงการศึกษา โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

    รัฐบาลเร่งพัฒนาระบบการศึกษาให้มีความยืดหยุ่น เหมาะสมกับทุกช่วงวัย ตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดภาระและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยการดำเนินการโครงการทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศ ในกับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี ความประพฤติดี แต่ขาดแคลนโอกาส ให้ได้รับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นในด้านที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ รวมถึงการมุ่งผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้าน STEM ประกอบด้วยวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการบูรณาการความรู้ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์เพื่อนําไปใช้ในการทำงาน และการดำเนินชีวิต

    โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินโครงการได้ตั้งแต่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2576 งบประมาณทั้งสิ้น 4,599.45 ล้านบาท ซึ่งแบ่งประเภทเป็น 3 ประเภท ได้แก่

      ประเภทที่ 1 ทุนการศึกษาระดับ ม.ปลาย/ปวช.. ในประเทศ จำนวน 4,800 ทุน งบประมาณ 990.14 ล้านบาท เป็นทุนให้เปล่า ดำเนินการโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่มีนาคม 2568 – เมษายน 2572 โดยแบ่งเป็น 4 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 มัธยมศึกษาปีที่ 6 /ปวช.ปี 3 ภาคเรียนที่ 1/2568 จำนวน 1,200 ทุน รุ่นที่ 2 มัธยมศึกษาปีที่ 5 /ปวช.ปี 3 ภาคเรียนที่ 1/2568 จำนวน 1,200 ทุน รุ่นที่ 3 มัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2/2567 จำนวน 1,200 ทุน และ รุ่นที่ 4 มัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2/2567 จำนวน 1,200 ทุน

      ประเภทที่ 2 ทุนการศึกษาระดับ ปวส. และ ปริญญาตรีต่างประเทศ จำนวน 200 ทุน (เป็นทุนการศึกษาต่อเนืองจากทุนประเภทที่ 1) งบประมาณ 2,609.31 ล้านบาท ดำเนินการ โดย สำนักงาน กพ. โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน 2568 – กันยายน 2576 แบ่งเป็น รุ่นที่ 1 มัธยมศึกษาปีที่ 6 /ปวช.ปี 3 ภาคเรียนที่1/2568 จำนวน 100 ทุน และ รุ่นที่ 2 มัธยมศึกษาปีที่ 6 /ปวช.ปี 3 ภาคเรียนที่1/2569 จำนวน 100 ทุน ซึ่งประเทศที่กำหนดให้ไปศึกษา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร (ศึกษาระดับปริญญาตรี) และเครือรัฐออสเตรเลีย (ศึกษาระดับ ปวส. และ/หรือปริญญาตรี)

      ประเภทที่ 3 ทุนการศึกษาปริญญาตรีในประเทศ จำนวน 2,200 ทุน (เป็นทุนการศึกษาต่อเนื่องจากทุนประเภทที่ 1) งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ดำเนินการโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2569 – กันยายน 2574 แบ่งเป็น รุ่นที่ 1 มัธยมศึกษาปีที่ 6 /ปวช.ปี 3 (มกราคม 2569-กันยายน 2573) จำนวน 1,100 ทุน และ รุ่นที่ 2 มัธยมศึกษาปีที่ 6 /ปวช.ปี 3 (มกราคม 2570-กันยายน 2574) จำนวน 1,100 ทุน โดยแบ่งเป็นทุนรัฐบาล จำนวน 1,800 ทุน (2 รุ่น รุ่นละ 900 ทุน) และ ทุนสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 400 ทุน (2 รุ่น รุ่นละ 200 ทุน) และเมื่อสำเร็จการศึกษาจะต้องทำงานในประเทศไทย

    ออกกฎกระทรวงให้ DSI รับทำคดีพิเศษเพิ่มอีก 3 รายการ

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการตรวจสอบคดีพิเศษ พ.ศ. 2566 เพื่อกำหนดให้คดีความผิดทางอาญา ซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 21 (1) เป็นคดีพิเศษเพิ่มเติมจำนวน 3 คดีความผิด ดังนี้

      1) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
      2) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
      3) คดีความผิดกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมฯ ดังกล่าว เพื่อป้องกัน ปราบปราม สืบสวน และสอบสวนอาชญากรรมที่เป็นการกระทำความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อนหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และความมั่นคงของประเทศ จึงจำเป็นต้องกำหนดคดีความผิดทางอาญาที่มีลักษณะของการกระทำผิดดังกล่าวข้างต้นเป็นคดีพิเศษเพิ่มเติม เพื่อป้องกัน ปราบปราม สืบสวน และสอบสวนได้ทันท่วงที ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทของสังคมในปัจจุบัน

    ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ

    ผู้ตรวจการแผ่นดินจี้หน่วยงานรัฐ เร่งแก้ปัญหา ‘โซลาร์ รูฟท็อป’

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน (พน.) ได้นำเสนอสรุปผลพิจารณา ผลการดำเนินการ ความเห็นในภาพรวมตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผผ.) กรณีหน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (เรื่อง ปัญหาการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา) ต่อคณะรัฐมนตรี

    โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้ติดตามสถานะ และผลการดำเนินงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงาน กกพ. การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และ อว. โดยมีผลดำเนินการสรุปได้ดังนี้

    1) ด้านแนวปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

      • กรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 65 (พ.ศ. 2558) เพื่อให้การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารที่มีน้ำหนักรวมในบริเวณใดบริเวณหนึ่งไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร
      • สำนักงาน กกพ. อยู่ระหว่างการปรับปรุงขั้นตอนต่าง ๆ
      • กฟน. อยู่ระหว่างการดำเนินการประเด็นต่าง ๆ
      • กฟภ. อยู่ระหว่างการหารือกับ กฟน. และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์การรับขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบระบบผลิตไฟฟ้า สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้า

    2) ด้านการกำหนดมาตรฐานแผงโซลาร์เซลล์

      • สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบโซลาร์เซลล์ จำนวน 24 มาตรฐาน

    3) ด้านมาตรฐานผู้ติดตั้ง

      • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้จัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน สาขาพลังงานไฟฟ้าจากโซลาเซลล์ จำนวน 6 อาชีพ (14 คุณวุฒิ)

    4) ด้านการสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน

      • พน. โดยกรมพัฒนาพลักงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้สื่อสาร และสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

    ทั้งนี้ ครม. พิจารณาแล้วรับทราบสรุปผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะฯ ตามที่ พน. เสนอ โดยให้ พน. อว. มท. รง. อก. สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สำนักงาน กกพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามหน้าที่ และอำนาจของแต่ละหน่วยงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป

    ปรับชื่อโครงการบ้านสวัสดิการ ขรก.สงขลา-ปัตตานี

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ การขอปรับชื่อ วัตถุประสงค์ และกลุ่มเป้าหมาย โครงการบ้านสวัสดิการ ข้าราชการ (เช่าซื้อ) จังหวัดสงขลา และ จังหวัดปัตตานี ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ตามความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

    โดยโครงการดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติการจัดทำโครงการ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในด้านที่อยู่อาศัยของข้าราชการผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ตัวโครงการเองได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ตัวโครงการต้องมีการปรับเปลี่ยนชื่อ วัตถุประสงค์ และ กลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในยุคปัจจุบันมากขึ้น

    โดยมีการปรับเปลี่ยน จากเดิม ชื่อโครงการบ้านสวัสดิการข้าราชการ (เช่าซื้อ) จังหวัดสงขลา และ จังหวัด ปัตตานี เปลี่ยนเป็น 1. โครงการเคหะชุมชน จังหวัดสงขลา (ฉลุง) 2. โครงการเคหะปัตตานี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้แก่ข้าราชการ ยกระดับคุณภาพชีวิต ด้านการอยู่อาศัย แก้ไขความเดือดร้อน ด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ข้าราชการผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยที่มีมาตรฐานเป็นของตนเอง โดยจัดทำโครงการที่อยู่อาศัยประเภทซื้อ/เช่าซื้อ ที่ได้มาตรฐานในชุมชน ลดภาระทางการเงินให้กลุ่มข้าราชการ และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลงทุนจากภาครัฐ ทั้งนี้ ได้มีการเพิ่มวัตถุประสงค์ เพื่อตอบสนองความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยในระดับราคาที่เหมาะสม พร้อมระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ สภาพแวดล้อมที่ดี มีมาตรฐาน และยกระดับคุณภาพชีวิต

    ทั้งนี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย เป็นกลุ่มข้าราชการและประชาชน ที่มีรายได้ครัวเรือนปี 2567 เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มข้าราชการและประชาชนผู้มีรายได้น้อย (กลุ่ม ก เช่าซื้อ) สำหรับโครงการเชิงสังคม ที่มีรายได้ไม่เกิน 36,100 บาท ต่อครัวเรือนต่อเดือน 2. กลุ่มข้าราชการและประชาชนผู้มีรายได้ปานกลาง ค่อนข้างสูง (กลุ่ม ง เช่าซื้อ) สำหรับโครงการเชิงพาณิชย์ ที่มีรายได้ประมาณ 36,100 บาท ต่อครัวเรือนต่อเดือนขึ้นไป

    ปลดล็อก กม.สุราชุมชน-หนุน ‘Soft Power’

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา (ฉบับที่..) พ.ศ. … ตามที่กระทรวงการคลัง (กระทรวงการคลัง) เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 โดยแก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตสุราจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง แก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโรงงานอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก และโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง รวมทั้งแก้ไขคำนิยามเกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรมสุราแช่ ชนิดเบียร์ ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันทางการค้า การสร้างรายได้ และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง ตามนโยบายการสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม เพื่อส่งเสริม Soft Power ของประเทศ โดยการปรับใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านและสุราชุมชน และนโยบายการยกระดับการบริการภาครัฐให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต ได้ดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสุราใน 4 ประเด็น ได้แก่

      1) ประเด็นการแก้ไขหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตสุรา จากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง โดยไม่ต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตผลิตสุราจากโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กมาไม่น้อยกว่า 1 ปี

      2) ประเด็นการแก้ไขหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง เพื่อให้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโรงอุตสาหกรรมขนาดกลาง ไม่ต้องยึดโยงกับโรงอุตสาหกรรมขนาดเล็ก

      3) ประเด็นการแก้ไขหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขเกี่ยวกับสถานที่ตั้งโรงอุตสาหกรรมสุรากลั่นขนาดเล็ก และขนาดกลาง โดยแก้ไขให้สถานที่ตั้งของโรงอุตสาหกรรมสุรากลั่น ชนิดสุราขาว สามารถตั้งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะน้อยกว่า 100 เมตรได้ โดยต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

      4) ประเด็นการแก้ไขคำนิยามเกี่ยวกับโรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์ ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต เป็นคำว่า โรงอุตสาหกรรมสุราแช่ ชนิดเบียร์สด เพื่อเป็นการผ่อนปรนและขยายโอกาสให้โรงอุตสาหกรรมดังกล่าว สามารถนำเบียร์สดออกจำหน่ายนอกสถานที่ผลิตได้ โดยจะต้องบรรจุใส่ภาชนะที่ออกแบบสำหรับการบรรจุเบียร์สด (ถัง Keg) ตามลักษณะและขนาดที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนดเท่านั้น

    ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าว โดยให้คำนึงถึงมาตรฐานการผลิตสุรา และการสนับสนุนสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน องค์กรการเกษตร หรือผู้ประกอบการรายย่อย

    ขยายเวลายุบเลิกธนาคารที่ดินถึงสิ้น ก.ย.ปี’69

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการขยายกำหนดระยะเวลาการยุบเลิก บจธ. โดยให้ขยายระยะเวลาดำเนินการของ บจธ. ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 กันยายน 2569 เพื่อศึกษาทบทวนบทบาทภารกิจและความจำเป็นในการมีอยู่ของ บจธ. โดยในช่วงการขยายระยะเวลาดังกล่าวนี้ให้ บจธ. ปฏิบัติภารกิจเท่าที่จำเป็น และไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นตามความเห็นของ กพม. ทั้งนี้ ตามมติของ กพม. ในการประชุมครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568

    โดยให้ บจธ. เร่งดำเนินการจัดตั้งธนาคารที่ดินหรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะทํานองเดียวกันให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า ต้นทุน และประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินการดังกล่าวด้วย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

    เห็นชอบ MOU กระทรวงสาธารณสุขไทย – มัลดีฟส์

    นายคารม พลพรกลาง กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงสาธารณสุขแห่งสาธารณรัฐมัลดีฟส์ (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย คณะรัฐมนตรีมอบให้ สธ. เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ

    นายคารม กล่าวว่า ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงสาธารณสุขแห่งสาธารณรัฐมัลดีฟส์ (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกรอบความร่วมมือด้านสุขภาพของทั้งสองประเทศ โดยมีความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการร่วมกัน เช่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านสาธารณสุขมูลฐานในสาธารณรัฐมัลดีฟส์ ความร่วมมือด้านวิชาการกับสถาบันฝึกอบรมบุคลากรวิชาชีพ ด้านสุขภาพและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านสุขภาพ และการจัดหางบประมาณอย่างยั่งยืน เพื่อการส่งเสริมสุขภาพผ่านรูปแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญ การฝึกอบรมบุคลากรตลอดจนการจัดสัมมนา และการประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามและจะขยายออกไปโดยอัตโนมัติอีก 3 ปี เว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะแจ้งความประสงค์ที่จะยกเลิกให้อีกฝ่ายทราบเป็นลายลักษณ์อักษร ผ่านช่องทางการทูตอย่างน้อย 3 เดือน ทั้งนี้ จะมีการลงนามร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 78 ระหว่างวันที่ 19 – 27 พฤษภาคม 2568 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

    ทั้งนี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขพิจารณาแล้วเห็นชอบ กระทรวงการต่างประเทศ (กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา) พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ไม่เป็นสนธิสัญญาภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทยเข้าข่ายเรื่องที่เสนอคณะรัฐมนตรีได้ตามนัยมาตรา 4 (7) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548

    เห็นชอบแถลงการณ์ร่วม รมต.ศึกษาฯ เอเปค ครั้งที่ 7

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาเอเปค ครั้งที่ 7 (7th APEC Education Ministerial Meeting-AEMM) (ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ในส่วนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบไว้ ให้ ศธ. ดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง รามทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองแถลงการณ์ร่วมฯ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 ณ จังหวัดเชจู สาธารณรัฐเกาหลี ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ

    นายคารม กล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาเอเปค ครั้งที่ 7 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 15 พฤษภาคม 2568 เป็นเวทีระดับสูงสุดสำหรับการหารือเชิงนโยบายด้านการศึกษาในเขตเศรษฐกิจเอเปค เปิดโอกาสให้รัฐมนตรีด้านการศึกษาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายทางการศึกษาร่วมกันและกำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ด้านการศึกษาในอนาคตโดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ลดช่องว่างทางการศึกษาและส่งเสริมการเติบโตอย่างครอบคลุมในยุคการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล” (Bridging Educational Gaps and Promoting Inclusive Growth in the Era of Digital Transformation) ซึ่งมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดช่องว่างทางการศึกษา เสนอแนวทางปฏิบัติในการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืน โดยในการประชุมดังกล่าวจะมีการรับรองแถลงการณ์ร่วมฯ ในวันที่14 พฤษภาคม 2568 ซึ่งได้มีการเวียนแจ้งสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคพิจารณาแล้ว

    ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ (กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ) พิจารณาแล้วไม่มีข้อขัดข้องต่อสารัตถะและถ้อยคำโดยรวมของร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุม รัฐมนตรีด้านการศึกษาเอเปค ครั้งที่ 7 (ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ) และมีความเห็นเพิ่มเติมบางประการเกี่ยวกับการพิจารณาปรับถ้อยคำ รวมทั้งเห็นว่าร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และโดยที่เรื่องนี้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือที่เกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทย จึงเข้าข่ายลักษณะเรื่องที่ให้เสนอคณะรัฐมนตรีได้ตามมาตรา 4 (7) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548

    ทุ่ม 1,124 ล้าน จัดงานแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล FIVB – 2025

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล FIVB Women’s World Championships 2025 วงเงิน รวมทั้งสิ้น 1,124.50 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ โดย กก. จะขอรับจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

    นายคารม กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล FIVB Women’s World Championships 2025 วงเงิน รวมทั้งสิ้น 1,124.50 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

      (1) ค่าที่พักและอาหาร จำนวน 67.82 ล้านบาท
      (2) ค่าตอบแทนบุคลากร จำนวน 16.00 ล้านบาท
      (3) ค่าใช้จ่ายสนามแข่งขัน/ฝึกซ้อม จำนวน 168.53 ล้านบาท
      (4) ค่าพาหนะหรือค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 9.27 ล้านบาท
      (5) ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์การแข่งขัน จำนวน 30.50 ล้านบาท
      (6) เงินอุดหนุนการดำเนินการจัดการแข่งขันSME จำนวน 10.50 ล้านบาท
      (7) ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ค่าพิธีเปิด – พิธีปิด ค่าผลิตถ้วยรางวัลและของที่ระลึก ค่าดำเนินการเก็บและวิเคราะห์ด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจ และค่าจัดทำบูธการแสดงสินค้าหน้าสนามแข่งขัน จำนวน 28.82 ล้านบาท
      (8) ค่าลิขสิทธิ์การจัดการแข่งขัน จำนวน 630.00 ล้านบาท
      (9) ค่าอนุสัญญาภาษีซ้อน จำนวน 111.18 ล้านบาท
      (10) ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 51.88 ล้านบาท

    ทั้งนี้ กก. (การกีฬาแห่งประเทศไทย) และสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยได้มีการหารือกับสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (FIVB) เกี่ยวกับความพร้อมในการจัดการแข่งขันดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว โดยมีกำหนดจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม – 7 กันยายน 2568 ใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดภูเก็ต

    “การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งนี้จะเป็นโอกาสในการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของประเทศไทย รวมทั้งก่อให้เกิดรายได้ จากการใช้จ่ายเงินของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาติดตามชมการแข่งขันในประเทศไทย การใช้จ่ายเงินของนักกีฬา เจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนก่อให้เกิดมูลค่าด้านการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียทั่วโลกจากผู้เข้าชมการแข่งขันกว่า 1,300 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาทั้งสิ้นประมาณ 8,435.70 ล้านบาท” นายคารม กล่าว

    ไฟเขียว รพ.ระยองใช้เงินบำรุง 168 ล้าน สร้างตึก 9 ชั้น

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลระยอง จังหวัดระยอง ก่อสร้างอาคารศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก 9 ชั้น เป็นอาคาร คสล. 9 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 8,810 ตารางเมตร โรงพยาบาลระยอง จังหวัดระยอง 1 หลัง วงเงิน 168.55 ล้านบาท

    นายคารม กล่าว่า โรงพยาบาลระยอง เป็นโรงพยาบาลศูนย์ ขนาด 600 เตียง อยู่ในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มีบทบาทหน้าที่ในการให้บริการด้านสุขภาพ อนามัย และเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายของประชากรที่จะเข้ามาทำงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จึงมีแผนการดำเนินงานเปิดหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยตระหนักถึงความสำคัญและปัญหาความต้องการบุคลากรด้านสาธารณสุข เพื่อให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง ภายใต้การดำเนินงานของวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีแผนการเปิดการเรียนการสอน ชั้นปีที่ 4-6 (ชั้นคลินิก) แต่ยังขาดอาคารสถานที่ในการเรียนการสอน ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โรงพยาบาลระยองจึงขอใช้เงินบำรุงเพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก 9 ชั้น เป็นอาคาร คสล. 9 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 8,810 ตารางเมตร โรงพยาบาลระยอง จังหวัดระยอง 1 หลัง

    นายคารม กล่าวต่อว่า สำนักงบประมาณ (สงป.) เห็นชอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ) ดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก 9 ชั้น เป็นอาคาร คสล. 9 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 8,810 ตารางเมตร โรงพยาบาลระยอง จังหวัดระยอง 1 หลัง ในวงเงิน 168.55 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินบำรุงโรงพยาบาลระยอง จังหวัดระยอง ทั้งนี้ ขอให้ สป.สธ. ดำเนินการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี ตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเงินบำรุงของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2562 และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ และต่อรองราคาจนถึงที่สุดด้วย

    เห็นชอบกรอบให้ทุนวิจัยทางการศึกษาของชาติปี 2568 – 69

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2568 – 2570 (ทิศทางการวิจัยทางการศึกษาฯ) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานให้ทุน และหน่วยงานทำวิจัยนำทิศทางการวิจัยทางการศึกษาฯ ไปใช้เป็นกรอบในการพิจารณาให้ทุนและจัดทำงานวิจัยทางการศึกษาตามภารกิจของแต่ละหน่วยงานตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ

    นายคารม กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2568 – 2570 (ทิศทางการการวิจัยทางการศึกษาฯ) และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานให้ทุน และหน่วยงานทำวิจัยนำทิศทางการวิจัยทางการศึกษาฯ ไปใช้เป็นกรอบในการพิจารณาให้ทุนและจัดทำงานวิจัยทางการศึกษาตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน เนื่องจากงานวิจัยที่มีอยู่เดิมมีจำนวนมากแต่ไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคม และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ส่งผลให้หน่วยงานระดับปฏิบัติไม่สามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ประกอบกับประเทศไทย ยังไม่เคยจัดทำทิศทางการวิจัยด้านการศึกษามาก่อน

    ดังนั้น การจัดทำทิศทางการการวิจัยทางการศึกษาฯ ที่เสนอในครั้งนี้จะเป็นกรอบแนวทางในการพิจารณาการให้ทุนวิจัยแก่หน่วยงานทำวิจัย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีสาระสำคัญครอบคลุม 4 ด้าน (รวม 8 ประเด็น)

      (1) การวิจัยเพื่อพัฒนาแนวคิด ระบบ โครงสร้างและการจัดการศึกษาที่รองรับและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ
      (2) การวิจัยเพื่อกำหนดระบบการผลิตและพัฒนาทักษะกำลังคน ผู้เรียน และบุคลากรทางการศึกษาที่มุ่งสู่การยกระดับผลิตภาพโดยรวมของประเทศ
      (3) การวิจัยเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการการศึกษา ที่มุ่งสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาในระดับนานาชาติ และ
      (4) การวิจัยเพื่อสร้างระบบนิเวศทางการศึกษาที่สนับสนุนให้เกิดการศึกษาที่มีคุณภาพ ปราศจากความเหลื่อมล้ำและนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งคณะกรรมการสภาการศึกษา โดยมีรัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567

    สำหรับวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสถานการณ์ ความท้าทาย แนวโน้มและทิศทางการพัฒนาและการวิจัยทางการศึกษาของไทยและต่างประเทศ เพื่อศึกษา วิเคราะห์ความต้องการ ประเด็นปัญหา และเป้าหมายทางการศึกษาที่จะนำไปสู่การพัฒนาเป็นงานวิจัยทางการศึกษา และเพื่อให้มีทิศทางการวิจัยทางการศึกษาฯ ที่มีเป้าหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

    “ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับและผลกระทบที่เกิดขึ้น มีทิศทางการวิจัยทางการศึกษาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งผลให้หน่วยงาน/ผู้ที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการจัดทำวิจัยอย่างเป็นระบบ มุ่งไปทิศทางเดียวกันตอบโจทย์ความต้องการทางการศึกษาอย่างแท้จริง” นายคารม กล่าว

    อนุมัติ ‘พิชัย ชุณหวชิร’ รักษาราชการแทน รมว.ต่างประเทศ

    ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ หรือผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ เป็นหลักการในการมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตามความมาตรา 42 แห่ง พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 รายเพิ่มเติม ตามลำดับ ดังนี้

      1. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายพิชัย ชุณหวชิร)
      2. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายชูศักดิ์ ศิรินิล)

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 เพิ่มเติม