เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดเสวนาหัวข้อ “ไฟดับครั้งใหญ่ในยุโรป: บทเรียนจากสเปน-โปรตุเกส 2025 และแนวทางรับมือและออกแบบระบบพลังงานอย่างสมดุล” เพื่อให้เข้าใจเชิงลึกถึงสาเหตุและผลกระทบของเหตุการณ์ไฟดับระดับประเทศ เรียนรู้เพื่อประยุกต์ใช้กับบริบทของไทยและอาเซียน สู่แนวทางการประเมินความเสี่ยงและออกแบบพลังงานอย่างยืดหยุ่น และร่วมกันผลักดันนโยบายด้านพลังงานที่ยั่งยืน
สรุปเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในสเปนและโปรตุเกส
รศ. ดร.สุรชัย ชัยทัศนีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สาเหตุหลักของเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในสเปนและโปรตุเกส เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 สมมติฐานสาเหตุเริ่มต้นคาดว่า เกิดจากการหยุดทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่ 2 ตัวในเวลาใกล้เคียงกัน (N-2) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก และอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาแรงดันไฟฟ้าสูงเกิน (overvoltage) และการแกว่งตัวของความถี่ (inter-area oscillations) ที่ส่งผลต่อเสถียรภาพ
ส่วนสาเหตุของไฟฟ้าดับทั้งระบบ อาจเกิดจากการทำงานของอัตราการเปลี่ยนแปลงความถี่ หรือ RoCoF (Rate of Change of Frequency) Relays เมื่อตัดการเชื่อมต่อกับยุโรป ความถี่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว (RoCoF สูง) และรีเลย์ที่ไวต่อ RoCoF (>1 Hz/s) อาจตัดเครื่องกำเนิดออกเพื่อป้องกันความเสียหาย
ทั้งนี้ ก่อนเกิดเหตุ สเปนพึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์ 59% และลม 11% ซึ่งทำให้ระบบไฟฟ้ามี inertia ต่ำมาก อย่างไรก็ตาม อาจจะไม่ใช่สาเหตุหลักของไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากโดยทั่วไประบบไม่สามารถรับมือกับเหตุการณ์ N-3 ได้อยู่แล้ว
ดร.สุรชัยชี้ว่า พลังงานหมุนเวียนเป็นเรื่องที่ดี และเป็นสิ่งที่ต้องเข้ามาอย่างแน่นอน หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในทางเทคนิคต้องยอมรับว่าก็มีปัญหาเช่นกัน การที่ระบบพลังงานหมุนเวียนดี แต่ไม่กล้าบอกว่ามีปัญหา มันก็ไม่ถูกต้อง แต่ทางแก้ปัญหามีหลายทาง ซึ่งแต่ละทางมีรายละเอียดการศึกษาเยอะมาก
ส่วนผลกระทบทางด้านการเงิน แต่ละประเทศคงมีเยอะ หรือแม้กระทั่งผลกระทบเรื่องค่าไฟ อย่างเช่นประเทศไทย โครงสร้างปัจจุบันของค่าไฟฟ้าไม่ว่าจะลงทุนมากน้อยก็ยังถูกกำกับโดยรัฐ ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องเตรียมแนวทางรองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าที่จะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในอนาคตให้พร้อม ดังนี้
1. นำเทคโนโลยี Energy Storage เข้ามาช่วยเก็บพลังงานส่วนเกินจากพลังงานหมุนเวียน และจ่ายคืนเมื่อพลังงานหมุนเวียนลดลง
2. นำเทคโนโลยี Grid Modernization & Flexibility เข้ามาทำให้กริดรับมือกับพลังงานหมุนเวียนที่กระจายตัวและแปรปรวนได้ดีขึ้น เช่น ควบคุมแบบสองทางและอัตโนมัติ
3. ทำเรื่อง Forecasting & System Operation เพื่อพยากรณ์และวางแผนระบบไฟฟ้าล่วงหน้าได้
4. พิจารณาเทคโนโลยี Flexible Generation ที่เข้ามาเสริมประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าให้จ่ายไฟฟ้าได้เร็วและยืดหยุ่น รองรับช่วงที่พลังงานหมุนเวียนไม่เพียงพอ
5. พิจารณาเรื่อง Diverse & Distributed RE กระจายแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียน ลดความเสี่ยงและเพิ่มความเสถียรให้กับระบบไฟฟ้า
6. แนวทาง Interconnection & Trading ที่จะเป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายและการค้า เพื่อส่งไฟฟ้าระหว่างภูมิภาค เข้ามาช่วยรับมือกับความผันผวนของพลังงานหมุนเวียน
7. ส่งเสริม Regulatory & Market Mechanisms โดยวางกลไกกำกับดูแลที่สร้างแรงจูงใจ และตลาดที่รองรับระบบไฟฟ้าที่มีพลังงานหมุนเวียนสูง
กฟผ. ถอดบทเรียนไฟดับยุโรป-วางแผนรับมือพลังงานหมุนเวียน
นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า เหตุการณ์ไฟดับที่ยุโรปถือเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับ power utility ทั่วโลก ที่มุ่งสู่การปรับเปลี่ยนทางด้านพลังงาน (energy transition) จากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียน หรือ renewable energy (RE) แต่พลังงานหมุนเวียนที่อาจจะเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญคือ variable renewable energy (VRE) ซึ่งในมุมมองของการไฟฟ้า คือพลังงานแสงอาทิตย์กับพลังงานลมที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่จะต้องหาวิธีรับมือกับการผลิตจากพลังงานสะอาดต่างๆ เหล่านี้
ทั้งนี้ หากเราดูบริบทจากยุโรป สเปนอาจจะมีพลังงานหมุนเวียนผลิตอยู่ในระบบประมาณ 70% คาดว่าน่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์กับลม เนื่องจากมีปริมาณการใช้ค่อนข้างเยอะ ขณะที่ประเทศไทย จากข้อมูลกำลังการผลิตและการผลิตพลังงานไฟฟ้าของระบบ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การไฟฟ้านครหลวง) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนค่อนข้างเยอะเช่นกัน แต่ในส่วน VRE มีประมาณ 10% และพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น เช่น พลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ซึ่งมีเชื้อเพลิงที่สามารถบริหารจัดการได้ ไม่เกี่ยวข้องกับสภาพลมฟ้าอากาศ เช่นเดียวกับพลังงานน้ำ ก็มีทรัพยากรที่สามารถบริหารจัดการได้เช่นกัน
เมื่อมองความต่าง VRE 10% ของไทยกับ 70% ของสเปน ส่วนตัวให้ความมั่นใจได้ว่า หากเกิดจากสภาพลมฟ้าอากาศในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน โอกาสคงเกิดน้อย แต่ทั้ง 3 การไฟฟ้ามองความมั่นคงของระบบไฟฟ้าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เราไม่อยากให้เกิดไฟฟ้าดับ แม้ในอดีตอาจจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ้าง แต่ทุกครั้งที่เกิดจะเป็นการได้บทเรียน เรียนรู้ร่วมกัน และหาแนวทางป้องกัน แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง ก็ต้องหาแนวทางในการฟื้นฟูให้เร็วที่สุด ซึ่งกระทรวงพลังงานได้เน้นย้ำในเรื่องของการซ้อมแผนฉุกเฉิน
แต่จากข้อมูลปัจจุบันจะเห็นว่า พลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยยังมีน้อยอยู่ ซึ่งต่อไปเราจะมุ่งสู่พลังงานสีเขียวมากขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของ 3 การไฟฟ้าที่จะต้องมองทิศทางเรื่อง VRE และแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อรองรับพลังงานดังกล่าวในอนาคต
อย่างไรก็ดี VRE จะมีผลกระทบทำให้การใช้ไฟเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยใช้ตามปกติ ยกตัวอย่างเช่น peak ระบบไฟฟ้ามักจะเกิดขึ้นในช่วงกลางวัน และเป็นวันทำงาน แต่นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ที่มีการผลิตและใช้งานโซลาร์มากขึ้น ทำให้ peak ระบบของ กฟผ. เปลี่ยนจากกลางวันเป็นกลางคืน ขณะเดียวกัน การเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนทำให้ minimum load ของระบบ ซึ่งควรจะเกิดขึ้นตอนช่วงเช้าก่อน 05.00 น. กลายเป็นเกิดขึ้นในช่วงกลางวัน ตั้งแต่ปี 2560
นายธวัชชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า หากวิเคราะห์บทบาทของพลังงานหมุนเวียน เมื่อเข้ามาในระบบแล้วก็จะมีผลกับระบบ คือโรงไฟฟ้าหลักจะมีการผลิตได้น้อย รวมถึงดีมานด์ของระบบก็ต้องการน้อยด้วย ยกตัวอย่างวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นวันหยุดสิ้นปี มีดีมานด์น้อย พบว่าสัดส่วนของ VRE อยู่ที่ประมาณ 18% ซึ่งเทียบเคียงกับยุโรปแล้วยังห่างกันอยู่
แต่ทั้งนี้ บริบทไฟฟ้าของแต่ประเทศคงไม่เหมือนกัน เช่น เรื่องของระบบสายส่ง ดังนั้น เวลา กฟผ. ออกแบบโครงข่ายสายส่ง จะต้องดูเรื่องของ N-1 กล่าวคือ หากสายส่งเส้นใดเส้นหนึ่งหรือหม้อแปลงชุดใดชุดหนึ่งมีเหตุขัดข้อง ส่วนที่เหลือจะต้องรองรับได้ ซึ่งเป็นมาตรฐานทั่วโลก ที่ผ่านมา กฟผ. ได้พัฒนาโครงข่ายสายส่งหลัก 500 กิโลโวลต์ ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค เพื่อจะได้มีการถ่ายเทพลังงานไฟฟ้าระหว่างภาคได้
ยกตัวอย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแหล่งที่มีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์ที่ดีของประเทศไทย กฟผ. จึงวางแผนในเรื่องของการเชื่อมโยงสายส่งระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปสู่ภาคเหนือและภาคกลาง ถ้าหากเกิดเหตุแบบในยุโรป เราจะต้องดึงไฟจากภาคอื่นๆ เข้าไปช่วยได้ โดยการไฟฟ้าพยายามมอนิเตอร์และปรับปรุงระบบให้รองรับกับอนาคตการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและระบบไฟฟ้าที่เปลี่ยน
สำหรับประเทศไทย หากดูผลกระทบจากพลังงานหมุนเวียนที่เป็น VRE ถ้ามีไม่เกิน 10% ก็จะไม่กระทบกับระบบ เพราะถือว่าน้อยมาก แต่หากมีสัดส่วนเพิ่มไปถึง 20% แล้ว system operator เริ่มสังเกตเห็นถึงผลกระทบจากพลังงานหมุนเวียน อย่างที่ยกตัวอย่างว่าเปลี่ยน peak จากกลางวันเป็นกลางคืน หรือเกิด minimum load จากช่วงเช้าเป็นกลางวัน ถือว่าเข้าสู่ระยะที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นพัฒนาการของระบบไฟฟ้า
เพราะฉะนั้น หน้าที่ของการไฟฟ้าในฐานะโอเปอเรเตอร์ต้องทำให้มั่นใจว่า ระบบไฟฟ้าที่เราจะออกแบบเพื่อที่จะไปรองรับ จะต้องรับให้ได้ และต้องสอดคล้องกับสิ่งที่เข้ามา ถ้าเข้ามาเร็วมากเกินไปแต่ระบบยังไม่พร้อม ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญเช่นกัน โดย กฟผ. มองว่า เหตุการณ์ไฟดับในสเปน เขาอาจยังมีเครื่องมือไม่พร้อมในเชิง generation รวมถึงเทคโนโลยี อย่างเช่น โรงไฟฟ้า spinning reserve มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่สามารถจ่ายไฟได้ทันที ซึ่งประเทศไทยออกแบบไว้ว่าอย่างน้อยต้องมี 800 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ดี ระบบประเทศสเปนกับระบบประเทศไทยไม่เหมือนกัน ของไทยเราต้องจ่ายทันทีไม่น้อยว่า 800 เมกะวัตต์ และเรายังมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่ต้องจ่ายให้ได้ภายใน 5 นาที ซึ่งออกแบบไว้ที่ 750 เมกะวัตต์ รวมถึงระบบกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองพร้อมจ่ายเป็น operation reserve ที่จะต้องสามารถสั่งโรงไฟฟ้าเดินเครื่องให้ทันกับเหตุการณ์ เพื่อป้องกันไฟดับในบริเวณกว้าง ซึ่งเป็น criteria สำคัญที่เราดำเนินการอยู่
อีกส่วนหนึ่งก็คือ หากในอนาคตพลังงานมีความผันผวน กฟผ. มีการวางแผนในเรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแบบสูบกลับ และระบบกักเก็บพลังงานที่เป็นแบตเตอรี่ อีกประเด็นคือเรื่องระดับแรงดัน เนื่องจากแรงดันที่เกิดจากผลกระทบของพลังงานหมุนเวียนก็มีเช่นกัน เพราะฉะนั้น เรากำลังดูในเรื่องการติดตั้งเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ face device ในระบบส่ง เพื่อให้แน่ใจว่าระบบไฟฟ้าในอนาคตจะมีความปลอดภัยและมั่นคง จ่ายไฟให้กับผู้ใช้ไฟได้ตลอด
“เหตุการณ์ที่เกิดในยุโรปเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่จะถอดบทเรียนเอาไปใช้ได้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย key takeaway วันนี้ก็คือ ระบบไฟฟ้าจะต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าสู่ระบบมากขึ้น เราเห็นตัวอย่างในสเปนหรือโปรตุเกสที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในบางช่วงเวลาที่สูงมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่าโรงไฟฟ้าหลักที่ใช้ดูแลระบบก็จะต้องลดสัดส่วนลง”
Rethinking, Redesign ดูแลระบบไฟฟ้าทุกมิติ
“สิ่งที่อยากจะชี้ให้เห็นคือ ประเทศไทยมีมาตรการทั้งในเรื่องของ spinning reserve ในเรื่องของ 5 minute response reserve รวมถึง operation reserve ที่จะรองรับ แต่ถ้าสัดส่วนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นอีก เราต้อง rethinking, redesign ตัวระบบไฟฟ้าของประเทศไทยให้รองรับให้ได้”
“อีกทั้งทุกคนจะต้องอยู่ช่วยกันดูแลระบบในช่วงเวลาวิกฤติ อย่างของยุโรป 5 วินาทีก็ไปหมดแล้ว ซึ่งสิ่งที่เรามีอยู่คือ grid code ที่ถูกกำกับ โดย 3 การไฟฟ้าได้เสนอเข้าไปเพื่อใช้ในการกำกับผู้ที่เข้ามาเชื่อมต่อระบบทั้งหมด จึงเป็นที่มาที่ไปที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการดึงการมีส่วนร่วม ไม่ใช่เฉพาะ กฟผ., กฟน. หรือ กฟภ. แต่ทุกคนที่เข้าใช้งานระบบไฟฟ้า ทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ทั้งตัวพลังงานหมุนเวียน ต่างมีส่วนร่วมในการดูแลระบบ เพราะฉะนั้น grid code ต้องถูกปรับปรุงให้สอดรับกับบริบทในอนาคตจึงเป็นเรื่องสำคัญ”
“ส่วนโรงไฟฟ้าหลักยังจำเป็นต้องมี ขณะที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็อาจจะต้องเอามาใช้ในอนาคต เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ซึ่งประเทศไทยมีแล้ว รวมถึง battery storage ก็เป็นตัวหนึ่งที่ตอบไม่ว่าจะติดตั้งในระบบ grid scale หรือติดตั้งที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนก็ตาม ส่วนอุปกรณ์ที่จะไปช่วยเสริมแรงดัน หรือ reactive power อย่างเช่นพวก facts device ต่างๆ ก็ยังจำเป็นที่จะต้องทำ”
“แต่การลงทุนทุกอย่าง ส่งผลกระทบต่อค่าไฟ เพราะฉะนั้น มุมสะท้อนในเรื่องของการลงทุน การเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนต้องมองครบทุกมิติ ทั้งในเรื่องความมั่นคง ราคา และดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม” นายธวัชชัยกล่าว
พลังงานหมุนเวียนไม่ใช่ต้นเหตุความเสี่ยงไฟดับ แต่ต้องมีระบบสนับสนุนที่เหมาะสม
ดร.พิมพ์สุภา เกาะช้าง นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยพลังงาน ระบุว่า ประเทศไทยสามารถถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ไฟดับครั้งใหญ่ในยุโรปได้หลายอย่าง โดยเฉพาะความจำเป็นในการสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่า พลังงานหมุนเวียนไม่ใช่ต้นเหตุความเสี่ยงในเรื่องไฟฟ้าดับ แต่เป็นเรื่องของการรักษาเสถียรภาพของระบบโครงข่ายเพื่อมารองรับ RE ซึ่งตามแผนพลังงานชาติ จะเพิ่มสัดส่วน RE ที่ 51%
แต่หากเจาลึกลงไปที่ VRE คือแสงแดดกับลม จะพบว่ามีสัดส่วนอยู่ที่ 22% หรือประมาณ 30% กิกะวัตต์ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ กฟผ. สามารถบริหารจัดการได้ และเป็นโครงข่ายที่ประเทศไทยหรือภูมิภาคอาเซียนแตกต่างจากประเทศในยุโรป เพราะโครงข่ายในยุโรปมีการเชื่อมต่อกันหมด มีการเทรดดิงข้ามกันไปมาระหว่างประเทศ แต่เมื่อความถี่ไม่สมดุล ทุกอย่างก็จะปลดออก ไม่สามารถส่งกันได้
แต่ประเทศไทยไม่ได้เทรดดิงกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีข้อดีคือเป็นระบบ centralized ที่มี กฟผ. เป็นผู้ควบคุมดูแลระบบทั้งหมด ดังนั้น ความท้าทายในอนาคต ประเทศไทยจะรับมืออย่างไร หากมีการเพิ่มสัดส่วน VRE กลายเป็นระบบ decentralized ที่กระจายศูนย์มากขึ้น ซึ่งสถาบันวิจัยพลังงานมองว่าเป็นแนวโน้มที่ต้องรับมือ
ดร.พิมพ์สุภากล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน เราไม่สามารถรอได้ เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะมีวิกฤติอะไรเกิดขึ้น แต่ที่แน่นอนคือมีแผนกำหนดสัดส่วน RE เพิ่มเข้ามา
อย่างไรก็ดี จากงานศึกษาภายใต้โครงการ CASE (Clean Affordable and Secure Energy for Southeast Asia) ที่ดูเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยเฉพาะในส่วนระบบไฟฟ้า มีการคาดการณ์ว่า หากประเทศไทยต้องการบรรลุเป้าหมาย carbon neutrality จะต้องเพิ่มสัดส่วน VRE ถึง 64 กิกะวัตต์ ประกอบด้วยโซลาร์ 44 กิกะวัตต์ และพลังงานลม 20 กิกะวัตต์ และต้องเพิ่ม battery storage เข้าไปด้วย เพื่อเสริมความมั่นคง
อีกส่วนหนึ่งคือ บทบาทของ prosumer และ distributed PV ที่เมื่อติดโซลาร์แล้ว ก็กลายเป็นทั้งผู้ใช้และผู้ผลิต ซึ่งปัจจุบันนโยบายหลักของรัฐส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งเพื่อใช้เองก่อน แต่จากงานศึกษาของสถาบันวิจัยพลังงานคาดว่า DPV กลุ่ม prosumer อาจเพิ่มถึงประมาณ 20 กิกะวัตต์ ภายในปี 2040 และมีแนวโน้มจะติดควบคู่กับแบตเตอรี่ ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่หลายประเทศกำลังดำเนินมาตรการอยู่ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย หรือสหรัฐอเมริกา
จากข้อมูลยังชี้ให้เห็นว่า ในอนาคตระบบไฟฟ้าของไทยจะมีการผลิตที่กระจายตัวมากขึ้น ส่วนภาคประชาชนและธุรกิจขนาดเล็กจะมีบทบาทในการผลิตพลังงาน ดังนั้น ระบบโครงข่ายไฟฟ้าจะต้องมีความยืดหยุ่น หากเกิดสภาวะวิกฤติ จะต้องปรับตัวและฟื้นตัวกลับมาได้
ข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยพลังงานได้เสนอ 4 นโยบายพลังงานที่ควรพิจารณา ได้แก่
1. กำหนดเป้าหมาย RE ควบคู่ไปกับการประเมินความพร้อมของโครงข่าย ไม่ว่าจะเป็น hosting capacity, inertia, และ faut ride-through
2. ส่งเสริมการลงทุนการใช้แบตเตอรี่, smart grid เพื่อรองรับการเพิ่มของ RE
3. ปรับโครงสร้างตลาดไฟฟ้า เพื่อเปิดพื้นที่ให้เอกชนมีบทบาทในการให้บริการเสริม เช่น ancillary services
4. ประเมินความเสี่ยงของระบบไฟฟ้าในอนาคต เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ในการมุ่งไปสู่การเพิ่มสัดสวนพลังงานหมุนเวียน
นอกจากนี้ ยังจัดทำข้อเสนอแนะเสริมความมั่นคงเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย
1. จัดทำ Energy Resilience Roadmap ควบคู่กับ Roadmap สู่ Net Zero
2. ปรับนโยบายให้มีความยืดหยุ่นทันต่อเทคโนโลยีและบริบทโลก เพื่อรองรับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เช่น ภัยภูมิอากาศ วิกฤติพลังงาน หรือความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์
3. สื่อสารกับสาธารณะอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจว่าพลังงานหมุนเวียนไม่ใช่ต้นเหตุของความเสี่ยง แต่ต้องมีระบบสนับสนุนที่เหมาะสม
4. ส่งเสริมงานวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลเปิด ( Open Data Infrastructure) ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาฐานข้อมูลแบบเปิด เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย และเปิดพื้นที่ให้ภาคส่วนต่างๆ เข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วม