ThaiPublica > Sustainability > Climate Action > “กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์” ชวนคิด “โลกเดือด” ปรับตัวอย่างไรให้ชีวิต-เศรษฐกิจไทยไปต่อ 

“กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์” ชวนคิด “โลกเดือด” ปรับตัวอย่างไรให้ชีวิต-เศรษฐกิจไทยไปต่อ 

1 พฤษภาคม 2025


ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักข่าวออนไลน์​ไทยพับลิก้า จัดกิจกรรม “Green Up the World” ภายใต้หัวข้อ “โลกเดือด!! คุณพร้อมรับมือแค่ไหน” ณ โถงบันได ชั้น 1 ศูนย์การเรียนรู้แบงก์ชาติ ในวันพุธที่ 30 เม.ย. 2568 โดย “ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์” หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชวนพูดคุยในประเด็นผลกระทบจากภาวะโลกเดือดต่อการดำเนินชีวิตของคนไทยและเศรษฐกิจไทย รวมถึงแนวทางปรับตัวในภาวะโลกเดือด

ร้อน-รวน-เดือด: โลกเปลี่ยนไปหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม

ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ค.ศ. 1850 หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว ขุดเอาเชื้อเพลิงถ่านหินและน้ำมันใต้ดินมาใช้มากขึ้น เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าและบริการ แต่ผลที่ตามมาคือก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซคาร์บอน ซึ่งกลายเป็นผ้าห่มผืนใหญ่ที่ห่อหุ้มบรรยากาศโลกเอาไว้ จนเรียกกันว่าปรากฏการณ์ “โลกร้อน”

“ทุกวันนี้โลกร้อนมากขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และในช่วงยุคสมัยของเรา ยิ่งมีแนวโน้มขาขึ้นที่ร้อนและร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจมีความร้อนสูงขึ้นกว่าที่ผ่านมาอีกทุกปี”

ดร.กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า นักวิทยาศาสตร์ยุคแรกๆ ได้ศึกษาปรากฏการณ์นี้ และได้ยกระดับความรุนแรงจากคำว่าโลกร้อนเป็นโลกรวน และปัจจุบันคือ “โลกเดือด”

อย่างไรก็ตาม ดร.กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเป็นเพียงหนึ่งสัญญาณของอากาศที่เปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงของโลกยังมาอีกหลากหลายรูปแบบ เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย พ.ศ. 2554 ฯลฯ

“คนกรุงเทพฯ ไม่ค่อยคุ้นเคยกับภาวะขาดแคลนน้ำหรือภัยแล้ง ขณะที่ต่างจังหวัดเจอบ่อยมาก และเป็นภัยที่น่ากังวลกว่าน้ำท่วมด้วยซ้ำ เพราะไม่ว่าหันไปทำอาชีพอะไร มันไม่มีน้ำให้ประกอบอาชีพได้เลย เป็นเรื่องน่ากังวล”

ดร.กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า คนไทยจะได้ยินคำว่าคลื่นความร้อนบ่อยขึ้น (heat wave) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงที่อากาศช่วงร้อนจัดจะมีกลุ่มเปราะบางหลายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานกลางแจ้ง เกษตรกร เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ฯลฯ ทำให้เราต้องพยายามปรับตัวเองให้เตรียมพร้อมรับมือ

ดร.กรรณิการ์ เสริมว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ หรือการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเป็นไปตามวัฏจักรโลก เช่น ภูเขาไฟระเบิด ไฟป่า ฯลฯ แต่การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติเป็นเพียงส่วนเล็กๆ เท่านั้น เพราะส่วนสำคัญคือน้ำมือมนุษย์ที่มีการขุดเจาะนำเชื้อเพลิงฟอสซิลมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดปัญหาเจอและไปเร่งให้เกิดขึ้น ถ้าปล่อยให้เเป็นไปตามธรรมชาติอาจไม่รุนแรงอย่างทุกวันนี้”

“ภัยแล้ง น้ำท่วม คลื่นความร้อนสุดขั้ว ที่เราเจอวันนี้เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่เหนือน้ำให้เราเห็น เราไม่รู้ว่าอาจมีน้ำแข็งก้อนยักษ์ คือ ผลกระทบรุนแรงของสภาพภูมิอากาศที่รอเราอยู่ข้างหน้า มันน่ากลัวและจะน่ากลัวมากขึ้นเรื่อยๆ”

ฉากทัศน์เหนือจินตนาการ อุณหภูมิทะลุ 3 องศา

ดร.กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า นักวิทยาศาสตร์ทำแบบจำลองวิเคราะห์แนวโน้มอุณหภูมิจนถึง ค.ศ. 2100 หรืออีก 75 ปีข้างหน้า โดยสร้างฉากทัศน์ภาพอนาคตที่อาจเป็นไปได้ พบว่า กรณีที่ดีที่สุดคือทุกคนช่วยกันบรรเทาผลกระทบของโลก และเลวร้ายที่สุดคือทุกคนไม่ทำอะไรเลย

“ถ้าเราเป็นคนดีมากๆ เช่น ฉันจะเลิกใช้พลาสติก ลดใช้ไฟ เป็นฉากทัศน์ที่จะบอกว่าอนาคตที่รอเราอยู่อาจไม่มืดมนอย่างที่คิด มันอาจจะร้อนขึ้นประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส และถ้าเราเป็นเด็กดีกันหมดในสังคมไทย การบรรลุข้อตกลงปารีสอาจเป็นไปได้”

“ถ้าเราไม่ใส่ความพยายามอะไรเลย ปล่อยตามยถากรรม ใช้ชีวิตอย่างทุกวันนี้ ฉากทัศน์ที่เลวร้ายและรออยู่คืออุณหภูมิเพิ่ม 3-4 องศาเซลเซียส ถ้าในอนาคตเพิ่มมาขนาดนี้ สภาพอากาศสุดขั้วในรูปแบบต่างๆ จะแนวโน้มเกิดบ่อยครั้งขึ้น มันคงเหนือจินตนาการของเรา”

ดร.กรรณิการ์ กล่าวถึงประเทศไทยว่า สิ่งที่น่ากังวลคือเราจะเจอปัญหาสองเด้ง โดยช่วงฤดูแล้งมีความเสี่ยงน้ำแล้งรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ช่วงฤดูฝนเสี่ยงน้ำท่วมรุนแรงพร้อมๆ กัน และเป็นความท้าทายของรัฐบาลและประเทศไทยที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถจัดการปัญหาทั้งหมดไปพร้อมกัน

Adaptation ปรับตัวให้เหมาะสม

ดร.กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ มี 2 ส่วน คือ

  1. Mitigation การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  2. Adaptation การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“แนะนำให้ทำสองอย่างไปพร้อมกัน อย่างแรกคือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เราคงไม่อยากปล่อยให้ความร้อนหรืออุณหภูมิเพิ่มกระฉูด เพราะเราบังคับธรรมชาติให้ฝนไม่ตกหรือควบคุมอุณหภูมิไม่ได้ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว จะทำอย่างไรให้เราอยู่ได้อย่างเจ็บปวดน้อยที่สุด ก็คือการปรับตัว”

ดร.กรรณิการ์ ย้ำว่า เราปรับตัวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเป้าหมายสุดท้ายไม่ใช่เพื่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่เพื่อการประกอบอาชีพ การอยู่อาศัย หรือการใช้ชีวิต คล้ายกับการฉีดวัคซีนที่ไม่ได้ป้องกันโรค แต่ช่วยบรรเทาความรุนแรงของโรค

ตัวอย่างเช่น คนอยุธยาในอดีตปรับตัวโดยยกใต้ถุนบ้านให้สูง เพื่อปรับวิถีชีวิตให้สามารถอยู่ได้ทั้งภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้ง ดังนั้น การออกแบบที่อยู่อาศัยจะต้องมีนวัตกรรมและการออกแบบให้สามารถรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมด้วย

ดร.กรรณิการ์ กล่าวถึงการประกอบอาชีพว่า ภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบเรื่องนี้อย่างมาก โดยสิ่งที่เกษตรกรในอดีตทำมี 2 ส่วน คือ (1) เลื่อนปฏิทินเพาะปลูก เลี่ยงน้ำท่วม และ (2) เปลี่ยนพันธุ์พืชให้เหมาะสมกับช่วงเวลาและสภาพอากาศ และปัจจุบันเกษตรกรบางรายปลูกพืชในโรงเรือน จนสามารถควบคุมได้อุณหภูมิและการใช้น้ำอย่างประหยัด ทำให้ผลผลิตสูงขึ้น

ส่วนการท่องเที่ยว ดร.กรรณิการ์ อธิบายว่า การปรับตัวของกาารท่องเที่ยวต้องเน้นเรื่องการใส่ไอเดียใหม่ๆ ให้ไม่พึ่งพาแค่สภาพอากาศอีกต่อไป ตัวอย่างเช่น เชียงราย-เชียงใหม่ต้องมีจุดขายไม่ใช่แค่อากาศหนาว ฯลฯ หากต้องพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยใช้ “ทุน” ของพื้นที่ เพื่อเป็นจุดขายเฉพาะพื้นที่

ดร.กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า เราในฐานะผู้บริโภคสามารถมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เช่น ศึกษาข้อมูลการปล่อยก๊าซจากฉลากคาร์บอน เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าที่ปล่อยก๊าซน้อยกว่า หรือเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 หรือเลือกวิธีการเดินทางที่เป็นมิตรต่อโลก

“คีย์เวิร์ดคือ เลือกรูปแบบการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซหรือการปรับตัว ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ให้ได้มากที่สุด ไม่ต้องไปเหมือนใคร”

ปรับวิธีด้วยหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

ดร.กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า นักวิจัยได้นำหลักการทางเศรษฐศาสตร์มาเป็นเครื่องมือให้คนปรับพฤติกรรม และสร้างแรงจูงใจจากเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่าย

“เราใช้แนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมากระตุ้นให้คนกรุงเทพฯ ลดการใช้ไฟฟ้า จากที่คนเราชอบเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนบ้าน ถ้าจะจูงใจให้ลดการใช้ไฟ วิธีการหนึ่งคือเอาข้อมูลการใช้ไฟของเพื่อนบ้านว่าใช้ไฟเท่าไร และเราใช้ไฟเท่าไร ในแต่ละเดือนจะส่งข้อมูลแบบนี้ไปให้คุณ ผลคือกลุ่มทดลองที่ได้ข้อมูลการเปรียบเทียบการใช้ไฟฟ้าของเพื่อนบ้าน พวกกับได้ข้อมูลวิธีประหยัดไฟฟ้า คือกลุ่มที่ลดการใช้ไฟฟ้าได้ผลที่สุด”

“การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องยาก ถามว่าทำไมฉันต้องลงทุนปรับพฤติกรรม ขณะที่คนอื่นยังหิ้วพลาสติก ดังนั้น การทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมยากมากๆ แต่เราอาจมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เหมือนกัน บางคนสนับสนุนสินค้าผลไม้ในท้องถิ่น เพราะช่วยลดการขนส่ง หรือการเดินทางโหมดสาธารณะมากขึ้น ปั่นจักรยานมาทำงาน ใช้รถไฟฟ้า แยกขยะ”

“เราสามารถหันหัวเรือกลับโดยไม่จำเป็นต้องเจอโลกเดือดอย่างรุนแรง ทุกอย่างอยู่ที่ใจและพฤติกรรมของเรา”