
วันที่ 14 พฤษภาคม 2568 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัด Monetary Policy Forum ครั้งที่ 1/2568 เพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ และสื่อมวลชน ในประเด็นผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ ประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อล่าสุด รวมทั้งประเด็นสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงิน โดยนายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน และนางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค
ความไม่แน่นอนทอดยาวถึงปีหน้า
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ในแง่ของภาพรวม กนง. ได้หารือถึงสงครามการค้าโลกค่อนข้างมาก รวมทั้งความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งผลของสงครามการค้ายังเห็นไม่ได้ชัดนัก แต่เห็นการเร่งการส่งออกในช่วงไตรมาส 1-ไตรมาส 2 ส่วนในการลงทุนอาจจะเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงจากความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ผลของสงครามการค้าโลกจะเห็นชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี แล้วก็อาจจะทอดยาวไปในช่วงปีหน้าด้วย
“ลักษณะที่ทอดยาว จะมีผลกระทบต่อกลุ่มหลักๆ กลุ่มส่งออกโดยเฉพาะกลุ่มที่ส่งออกไปสหรัฐฯ รวมถึงกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันของสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ได้น้อยลงในโลกมากขึ้น ดังนั้น ก็จะมีการแข่งขันเรื่องของการนำเข้า ซึ่งตรงนี้ผลกระทบจะมีต่อกลุ่มที่เป็น SME ในแง่ของโจทย์ในเชิงของนโยบายคงต้องให้ความสำคัญกับการปรับตัว ให้ภาคธุรกิจ ภาคการผลิต สามารถปรับตัวกับโลกใหม่หลังจากที่ผ่านตรงนี้ไปได้แล้วด้วย เพราะฉะนั้น ในแง่ของมาตรการทางการเงิน ในการประชุมครั้งที่แล้วก็มีการลดดอกเบี้ยมาเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของเศรษฐกิจแล้วก็เงินเฟ้อ ที่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มมากขึ้น” นายสักกะภพกล่าว
นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมมีแนวโน้มที่ปรับลดลงจากภาคต่างประเทศเป็นหลัก และก็มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นเพราะว่ามีความไม่แน่นอนรออยู่ข้างหน้า โดยเฉพาะจากนโยบายการค้าที่ยังคาดเดาตอนจบได้ยาก ครั้งนี้ ธปท. จึงประเมินเศรษฐกิจในหลายฉากทัศน์ และก็มีการนำเสนอใน 2 ฉากทัศน์ คือ กรณีอ้างอิง (reference scenario) และกรณีทางเลือก (alternative scenario)

นางปราณีกล่าวว่า นโยบายการค้าและภาษีสหรัฐฯ ที่ใช้กับประเทศต่างๆ พอแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นบังคับใช้กับกลุ่มสินค้า ได้แก่ หมวดเหล็ก อะลูมิเนียม และรถยนต์ ในอัตรา 25% มีผลกับทุกประเทศ กลุ่มที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณาคือ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไทยยังไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนภาษีในกลุ่มที่ 2 เป็นภาษี universal base-line tariff ซึ่งขึ้นภาษี 10% กับทุกประเทศยกเว้นแคนาดา เม็กซิโก ที่ผ่านมามีการเลื่อนการเก็บภาษี reciprocal tariff เป็นเวลา 90 วันครบกำหนดวันที่ 8 กรกฎาคม ซึ่งไทยหากถูกเก็บภาษี reciprocal tariff ก็จะอยู่ที่ 36% เทียบกับประเทศในภูมิภาคก็อาจจะเป็นระดับที่ค่อนข้างสูง เป็นรองกับเวียดนามซึ่งตอนนี้ก็ยังถูกเก็บที่ 10% ภาษีกลุ่มที่ 3 เป็นภาษีที่เก็บกับรายประเทศ สหรัฐฯ ก็ขึ้นภาษีที่ไม่ได้เข้าข่ายเขตการค้า USMCA กับแคนาดาและเม็กซิโกประมาณ 25%
พัฒนาการที่สำคัญคือเมื่อวันจันทร์ (12 พฤษภาคม) ที่ผ่านมา มีการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งต่างฝ่ายต่างลดภาษีให้กันละกันฝ่ายละ 115% ปัจจุบันภายใน 90 วันที่จะครบกำหนดวันที่ 12 สิงหา ภาษีที่สหรัฐฯ เก็บจากจีนก็จะเหลือ 30% ในขณะที่จีนก็เก็บกับสหรัฐฯ 10% ซึ่งก็ช่วยลดความตึงเครียดทางด้านการค้าลงไปได้ชั่วคราว

“อัตราภาษีศุลการกรที่บังคับใช้ (effective tariff rate) ของสหรัฐฯ ก่อนวันที่ 13 เมษายนจะสูงที่ 25% ตอนที่ลดลงมาชั่วคราว 90 วันหลังจากการเจรจาวันที่ 12 พฤษภาคม แล้วก็จะมีผลวันที่ 14 พฤษภาคมก็ลดลงมาประมาณ 10% ลดความตึงเครียดลงไปได้เยอะ” นางปราณีกล่าว
นางปราณีนำเสนอฉ่ากทัศน์ที่ กนง. ประเมินเมื่อวันที่ 30 เมษาที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า จะเห็นว่าพัฒนาการของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และการเจรจาสหรัฐฯ กับอังกฤษ โน้มเอียงมาทาง reference scenario หรือเป็นกรณีที่เป็นการลดภาษี คือ หลายๆ ประเทศก็อาจจะได้ที่ประมาณ 10% และใน reference scenario ก็มองว่าการเจรจาจะยืดเยื้อ แล้วก็อาจจะมีการผ่อนผันภาษีให้กับคู่ค้า โดยทุกประเทศโดน universal tariff รวมทั้งไทยด้วยอยู่ที่ 10% แต่ของจีนที่ใน reference scenario อยู่ที่ 54% ปัจจุบันตอนนี้อยู่ที่ 30% ก็อาจจะต่ำกว่า เพียงแต่ยังเป็นเรื่องชั่วคราวอยู่ 90 วัน คงจะต้องติดตามพัฒนาการต่อไป
ใน alternative scenario ประเมินว่า reciprocal tariff ทุกประเทศเจรจาได้ครึ่งหนึ่ง รวมทั้งไทยก็ถูกเก็บเฉลี่ยที่ 18% อย่างไรก็ตาม ทั้งสอง scenario นี้ก็ยังเป็นฉากทัศน์ที่มีความเป็นไปได้ หรือเปลี่ยนไปได้จากพัฒนาการที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป ผลการเจรจาสหรัฐฯ กับจีนตกลงในเบื้องต้น เป็นพัฒนาการเชิงบวกที่ช่วยให้ความตึงเครียดทางด้านการค้าระหว่างสองประเทศใหญ่ลดลง และเป็นผลดีกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย และคาดว่าน่าจะได้รับผลดีกว่าใน reference scenario เล็กน้อย เพราะผลดีจะส่งผ่านการส่งออกของไทยที่อาจจะดีขึ้นได้ เมื่ออุปสงค์โลกปรับดีขึ้นจากการที่เศรษฐกิจจีนกับสหรัฐฯ ไม่ได้ขึ้นภาษีกันรุนแรง
นอกจากนี้ผลดีก็อาจจะส่งผ่านในช่องของการที่ไทยเป็นห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ส่งออกไปจีน แล้วจีนส่งออกไปสหรัฐฯ อีกทอด จึงคาดว่าน่าจะเห็นจีนเร่งส่งออกอีกระลอกหนึ่งภายใน 90 วัน อีกช่องทางหนึ่งที่จะกระทบเศรษฐกิจไทยน้อยลงกว่าที่ประเมินไว้ใน reference scenario เป็นเรื่องของสินค้าที่จะทะลักเข้ามาในไทย และสินค้าของจีนที่จะแข่งกับไทยในตลาดอื่น สถานการณ์ก็น่าจะบรรเทาลง เพราะว่าจีนสามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ได้บ้างแล้ว แต่โดยรวมถ้าเทียบผลกระทบจากการที่ขึ้นภาษีระหว่างกันน้อยลง ผลต่อมูลค่าการส่งออกของไทย และ GDP อาจจะมีเพียงประมาณ 0.1% เนื่องจากเป็นการลดภาษีชั่วคราว ธปท. ยังคงต้องจับตาผลการเจรจาของทั้งสองประเทศหลังจาก 90 วันแล้วว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างไร รวมถึงผลของการเจรจาประเทศต่างๆ เทียบกับไทยด้วย
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจ ผลกระทบที่จะส่งผ่านช่องทางเศรษฐกิจไทยจากการขึ้นภาษีครั้งนี้ของสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ ก็จะส่งผ่าน GDP ที่จะเหลือประมาณ 2% ในปีนี้ ส่วนใน alternative scenario อาจจะเหลือ 1.3% หลักๆ ช่องทางที่ได้รับผลกระทบ เป็นช่องทางการลงทุน จากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ทำให้มีการชะงักการลงทุนไป

SME กังวลปรับตัวยาก คาดหวังรับช่วย
นางปราณีกล่าวถึงผลกระทบต่อแต่ละเซกเตอร์ว่า ช่องทางแรกคือ กลุ่มที่ส่งออกโดยเฉพาะกลุ่มที่ส่งออกไปสหรัฐฯ กลุ่มที่ถูกกระทบก็จะเป็นกลุ่มอาหารแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรชิ้นส่วนยานยนต์ รวมยางล้อ โลหะซึ่งผลในแต่ละเซกเตอร์เองก็ไม่เหมือนกัน เพราะว่าหน้าตาของธุรกิจที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้เหมือนกัน
โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบก่อนแล้ว คือ กลุ่มชิ้นส่วนยางยนต์และยางล้อ โดยเฉพาะยางล้อเพราะว่ากลุ่มนี้โดนผลกระทบจาก sectoral tariff ที่ 25% ในขณะที่กลุ่มอื่นๆ ยังโดนภาษีอยู่ที่ประมาณ 10% ภายใต้ universal tariff โดยที่กลุ่มที่ส่งออกไปสหรัฐฯ แล้วยังไม่ได้รับผลกระทบ คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสหรัฐฯ ยังคงยกเว้นให้อยู่ระหว่างพิจารณา
กลุ่มอาหารแปรรูปมีมูลค่าเพิ่มต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ 0.7% มีสัดส่วนในการผลิตเพื่อส่งออกถึง 76% กลุ่มอื่นๆ ก็มีสัดส่วนมากกว่า 50% ที่ส่งออกซึ่งลักษณะของธุรกิจของกลุ่มผู้ส่งออกเองในแต่ละกลุ่มก็ไม่เหมือนกัน กลุ่มอาหารแปรรูปมี local content ค่อนข้างสูง มี SME อยู่ถึง 12,000 ราย แล้วก็ยังมีความเชื่อมโยงกับเกษตรกรในประเทศด้วย มีการจ้างงาน 2.7 แสนคน มีห่วงโซ่อุปทานที่ยาว
“จากการสอบถามผู้ประกอบการในกลุ่มต่างๆ ก็พบว่า กลุ่มอาหารแปรรูปรายเล็กที่เป็น SME ค่อนข้างที่จะปรับตัวได้ยาก ขณะที่รายใหญ่สามารถลดต้นทุน หรือพิจารณาย้ายคำสั่งซื้อไปในต่างประเทศที่อาจจะโดนภาษีต่ำกว่าได้ ที่สำคัญ รายใหญ่ที่ค่อนข้างที่จะปรับตัวได้ดีกว่าก็อาจจะยังพอมีการผลิตได้ แต่สิ่งที่ต้องกังวลอาจจะเป็นห่วงโซ่อุปทานที่เป็น SME ในประเทศที่อาจจะกระทบได้และรวมถึงแรงงานด้วย เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์และยางล้อปัจจุบันถูกเก็บภาษีที่ 25% และภายใน 50% ที่ส่งออกมีเกือบ 60% ส่งออกไปสหรัฐฯ” นางปราณีกล่าว
เมื่อเจาะลึกลงไป มีผู้ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ 700 รายที่เป็นสัญชาติไทย การปรับตัวอาจจะทำได้ยาก บางส่วนก็สามารถที่จะเปลี่ยนไปผลิตเครื่องมือแพทย์ หรือผลิตสินค้าที่เป็น niche market ได้ แต่บางส่วนก็อาจจะปรับตัวได้ยาก SME ในชิ้นส่วนยานยนต์ก็ประมาณ 3,400 ราย มีแรงงานประมาณ 4 แสนคน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเองมีมูลค่าเพิ่มต่อ GDP ที่ 0.8% มีสัดส่วนการส่งออกค่อนข้างสูงเกือบ 80% ผู้ส่งออกมีจำนวน 200 รายเป็นต่างชาติคิดเป็น 50% ของบริษัททั้งหมด มี SME ถึง 5,000 ราย มีการจ้างงาน 1.4 แสนราย

“ซึ่งหากอัตราภาษีที่เก็บกับไทยสูงกว่าคู่แข่ง กลุ่มผู้ผลิตเองเริ่มๆ ที่จะคุยกันว่าอาจจะมีการตัดสินใจย้ายฐานการผลิต บางรายก็มีฐานการผลิตอยู่ที่สหรัฐฯ อยู่แล้ว จึงเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่จะต้องจับตา ถ้าเป็นไปได้ ถ้ามีการเร่งเจรจา ก็จะช่วยลดผลกระทบต่อผู้ส่งออก ผลกระทบที่จะมีต่อ SME ไทย และการจ้างงานได้” นางปราณีกล่าว
กลุ่มที่ 2 ที่ ธปท. มีความกังวลเป็นพิเศษ ก็คือกลุ่มที่อาจจะเจอการแข่งขันจากสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่มเหล่านี้เดิมก็มีปัญหาเชิงโครงสร้างในด้านความสามารถในการแข่งขันที่น้อยกว่าเซกเตอร์อื่นๆ อยู่แล้ว ก็จะเป็นจุดที่ทำให้ลักษณะธุรกิจเปราะบางเพิ่มขึ้นไปอีก จากการแข่งขันที่สูงขึ้นจากสินค้านำเข้า
ตัวอย่างกลุ่มเหล่านี้ ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์แล้วก็มีเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งหลายๆ เซกเตอร์ก็เจอการแข่งขันที่สูงมานานแล้ว SME ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอมี SME ถึง 1.2 แสนรายแล้วก็มีการจ้างงานถึง 4 แสนคน ขณะที่กลุ่มเฟอร์นิเจอร์มี SME 12,000 ราย มีการจ้างงานกว่า 15,000 ราย รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเป็นเซกเตอร์ที่ได้รับผลกระทบทั้งการส่งออกและจากการเข้ามาแข่งขันของสินค้าที่จะทะลักด้วย มี SME 5,000 รายแล้วก็การจ้างงาน 140,000 คน
“จากการที่เราได้คุยกับผู้ประกอบการก็พบว่า SME ให้ความเห็นว่าก็ค่อนข้างที่จะอยู่ยาก และมีความคาดหวังว่าจะมีความช่วยเหลือในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายและการตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้นเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ และการแข่งขันจากสินค้าด้อยคุณภาพราคาถูกจากต่างประเทศ และคาดหวังการช่วยเหลือในการปรับตัวให้องค์ความรู้และพัฒนาสินค้าหาตลาดจากรัฐบาล ก็เป็นเซกเตอร์ที่เราค่อนข้างเป็นห่วง เพราะเดิมก็เปราะบางอยู่แล้ว” นางปราณีกล่าว

เงินเฟ้อทรงตัวไม่ได้เป็นสัญญานเงินฝืด
นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน กล่าวถึงอัตราเงินเฟ้อว่า มี 3 ประเด็นหลักด้วยกัน ประเด็นแรก เงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้และปีหน้าจะมีแนวโน้มลดต่ำกว่ากรอบเป้าหมายโดยหลักเป็นผลจาก supply shock คือราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงมาตรการช่วยเหลือค่าของชีพของภาครัฐด้วยไม่ว่าจะเป็นการลดราคาดีเซล เบนซิน เพิ่มเติมที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ไปต้นไป ตลอดจนค่าไฟที่ลดลงด้วย
ประเด็นที่ 2 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ค่อนข้างทรงตัวไม่ได้เป็นสัญญานเงินฝืด และประเด็นที่ 3 ที่เป็นประเด็นหลัก คือ เงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางก็ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
“อัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงโดยหลักแล้วเป็นเรื่องของราคาน้ำมัน และจะเห็นได้ว่าอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่เราติดตามจะเป็นเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลาง ทั้งที่เรา consensus survey หรือการสำรวจ professional forecasters ในช่วง 5 ปีข้างหน้าและในช่วงของ 5 ปีต่อๆ ไปก็คือเฉลี่ยปีที่ 6 ถึงปีที่ 10 ก็อยู่ที่ประมาณ 1.6% ใกล้เคียงกับช่วงของกรอบเป้าหมายที่ 1-3%” นายสุรัชกล่าวและว่า จากหลายๆ เครื่องชี้ เงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางก็อยู่ที่ประมาณ 1.7% เป็นค่าที่ค่อนข้างถือว่าค่อนข้างทรงตัว แม้เงินเฟ้อในระยะสั้นจะปรับลดลงจาก supply side shock” นายสุรัชกล่าว
การที่เงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจากการที่สินค้าและบริการบางรายการ คือ ราคาพลังงานปรับลดลง ไม่ได้ส่งสัญญาณการลดลงของสินค้าและราคาสินค้าและบริการในวงกว้าง การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าในระดับย่อยยังกระจายตัวปกติโดยไม่ได้เบ้สูงหรือต่ำในภาพรวม หรือสะท้อนปัญหาอุปสงค์ที่น่ากังวล การกระจายตัวของการเปลี่ยนแปลงของราคาที่อยู่ในตะกร้าเงินเฟ้อ จำนวนประมาณ 80 หมวดยังกระจายตัวปกติระดับ 1 สินค้าและราคาที่ลดลงมีเพียง 2 ใน 3 ของราคาของเงินเฟ้อฐานเท่านั้น ขณะที่อีก 2 ใน 3 เป็นจำนวนของราคาสินค้าและบริการที่ไม่เปลี่ยนไปหรือเพิ่มสูงขึ้น

อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย
ด้านภาวะการเงิน แม้ภาวะการเงินยังตึงตัวอยู่ แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วงที่ผ่านมาก็ส่งผลให้ต้นทุนการระดมทุนลดลง โดยหลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 1.75% จาก 2.5% ก็เห็นการส่งผ่านของอัตราดอกเบี้ย MLR, MRR แล้วก็รวมถึง NLR ที่เป็นดอกเบี้ยที่ให้กับสินเชื่อปล่อยใหม่ new loan rate ปรับลดตรงตามลำดับ สอดคล้องกับในส่วนที่อัตราดอกเบี้ยที่เป็น price ก็ค่อนข้างที่จะปรับลดตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
“price ตัวหนึ่งที่เราดู คือ อัตราแลกเปลี่ยนในช่วงที่ผ่านมา ขึ้นไวผันผวนโดยหลักเป็นเรื่องของปัจจัยภายนอกตาม USD ซึ่ง USD ก็ผันผวน ส่วนหนึ่งก็ตามนโยบายการค้า year to date เงินบาทแข็งค่าประมาณ 3% เล็กน้อย ไม่ได้แข็งไปมากเมื่อเทียบไต้หวันหรือเกาหลี” นายสุรัชกล่าวและว่า แม้ price เป็นสิ่งที่อาจจะพอเห็นวางใจได้ แต่ในส่วนของ Q ที่เป็นปริมาณ เป็นสิ่งที่ติดตามอยู่

โดยรวมสินเชื่อยังหดตัว และคุณภาพของสินเชื่อก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่ปรับดีขึ้น การขยายตัวของสินเชื่อรวมก็ยังใกล้ๆ ศูนย์ ประมาณ -0.5 ส่วนคุณภาพสินเชื่อด้านขวาก็จะเห็นได้ว่าค่อนข้างทรง สิ่งที่ติดตามคือ SME คุณภาพสินเชื่อของ SME รวมถึงคุณภาพสินเชื่อรายย่อยบางประเภท เช่น สินเชื่อบ้านที่สูงขึ้น แต่การปรับสูงขึ้นของคุณภาพสินเชื่อ หรือการขยายตัวของสินเชื่อยังสอดคล้องกับ credit risk ที่ปรับสูงขึ้นตาม macro risk ที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า
ในส่วนของนโยบายการเงิน นายสุรัชกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาก็ได้ปรับลดลงสอดคล้องกับแนวโน้มของเศรษฐกิจไปข้างหน้า สอดคล้องกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจด้านต่ำที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า
“การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมา มีลักษณะของ outlook dependent แล้วก็คิดว่าน่าจะรองรับความเสี่ยงไปข้างหน้าได้ระดับหนึ่ง นโยบายการเงินปัจจุบันอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย” นายสุรัชกล่าว

สำหรับมาตรการที่ช่วยลดผลกระทบจากนโยบายการค้าและประเด็นที่ต้องติดตาม คือ มาตรการที่ช่วยลดผลกระทบ (impact mitigation) โดยนโยบายการเงินผ่อนคลาย ให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องค่านึงถึง tail risks ในด้านตลาดการเงิน หน้าที่ ธปท. คือดูแลกลไกลให้ทำงานตามปกติให้มี financial intermediation ได้ตามปกติ bid ask spread อยู่ระดับที่ไม่สูงเกินไป ส่วนของสถาบันการเงินก็ทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อตามปกติไม่ตึงตัวเกิน credit risk ของผู้กู้
ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ประเด็นหลักเป็นเรื่องผลเจรจาทางการค้า ที่อาจจะต้องดูว่าเกมคราวนี้เป็นเกมที่ค่อนข้างยาว ดังนั้น การปรับตัวของภาคธุรกิจระดับ micro หรือการเปลี่ยนแปลงในระดับ macro ที่เป็นในเรื่องของการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทานโลก การย้ายฐานผลิต หรือปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่อาจจะเปลี่ยนไป

Potential Growth ระยะยาวมีโอกาสลดลงหากไม่ปรับตัว
ในช่วงถามตอบ ได้มีคำถามว่า potential growth ของไทยอยู่ที่เท่าไหร่ เพราะเห็นว่าเหมือน potential growth ของไทยอาจจะปรับลดลงมาเรื่อยๆ และ มาตรการภาษีสหรัฐฯ เป็นแค่ shock ชั่วคราว หรือจะทำให้ potential growth ของไทยลดลงไปด้วย และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ปีนี้ลดลงมาค่อนมาก ถือว่ามี downside มากน้อย และสุดท้ายการลงทุนภาคเอกชนที่ยังประเมินปีนี้ว่าติดลบ เทียบกับปีที่แล้วเหมือนติดลบ 2 ปีซ้อน เป็นห่วงตรงนี้มากน้อยแค่ไหน จะมีนโยบายอะไรที่ช่วยได้บ้างและดอกเบี้ยนี่จะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน
นายสักกะภพกล่าวว่า potential growth ของไทยเคยประเมินไว้ว่าน่าจะต่ำกว่า 3% เล็กน้อย แต่ปรับลดลงมาในช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นใน shock รอบนี้เป็น shock ที่เปลี่ยนแปลงในแง่ของตัวโครงสร้างของการค้าการขายและการส่งออกของโลก เพราะฉะนั้น สิ่งที่ ธปท. มอง คือ โลกใหม่หลังตรงนี้ต้องมีการปรับตัว ถ้าเกิดไม่ได้มีการปรับตัวหรือไม่มีอะไรแน่นอน potential growth ในระยะยาวของไทยก็มีโอกาสที่จะปรับลดลงกว่าจุดนั้นได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ยังต้องพยายามช่วยกันทั้งในแง่ของโดยนโยบายภาครัฐต่างๆ ในแง่ของการช่วยที่ให้ภาคผลิต เพราะว่า shock รอบนี้เป็น shock ที่เข้ามาสู่ภาคผลิต ภาคการส่งออก
“นโยบายที่เข้าไปช่วยในแง่ของการลดต้นทุนในแง่ของการขยายตลาด ในแง่ของการ diversify ตลาดต่างๆ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มที่รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกโดยตรง หรือการนำเข้า ที่จะเจอสินค้าทะลัก เพราะฉะนั้น ต้องติดตามหลังจากนี้ potential growth ของเราจะปรับไปมากน้อยขนาดไหน” นายสักกะภพกล่าว
สำหรับเรื่องนักท่องเที่ยว นายสักกะภพกล่าวว่า ประเมินว่านักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาที่ประเทศไทยน้อยลง อาจจะเป็นประเด็นในแง่ของระยะยาว ด้วยเพราะส่วนหนึ่งนอกเหนือจากความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย นโยบายของทางการเองก็อาจจะมีการส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น เพราะฉะนั้น ตัวเลข ธปท. ประเมิน 37.5 ล้านคน ได้คำนึงถึงปัญหาที่ว่านักท่องเที่ยวจีนอาจจะไม่ได้กลับมาเร็วอยู่แล้ว และจำนวนค่อนข้างต่ำ ส่วนนักท่องเที่ยวชาติอื่นเหมือนยังเห็นการเพิ่มขึ้นอยู่
การลงทุนที่แย่ในปีนี้ต้องไปดูรายละเอียด ส่วนหนึ่งมาจากภาษี ความไม่แน่นอน อีกส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง การลงทุนที่เกี่ยวกับยานยนต์ รถยนต์ มีส่วนในแง่ของตัวชี้วัดของการลงทุนประมาณสัก 30% ซึ่งมีประเด็นการนำเข้า สงคราม การแข่งขันราคาของรถยนต์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ส่วนการลงทุนในรายการอื่นๆ การลงทุนที่เป็นเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ ยังเห็นการเติบโต
นางปราณีกล่าวว่า ธปท. มองว่าความกังวล ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจีนเป็นประเด็นระยะยาว การฟื้นตัวของนักทองเที่ยวจีนจะไม่เร็ว อย่างเร็วที่สุดที่เห็นจากเครื่องชี้ seat capacity ที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวก อยู่ในช่วงไตรมาส 3 ไตรมาส 4 จึงได้ปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวจีนลงจาก 7 ล้านคนเหลือ 5 ล้านคนปีนี้
นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน กล่าวว่า การลงทุนที่ต่ำน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะสอดรับกับศักยภาพของเศรษฐกิจ การลงทุนต่ำมาระยะหนึ่ง และเป็นปัจจัยหนึ่งของการที่ศักยภาพเศรษฐกิจค่อนข้างจะชะลอลงในช่วงที่ผ่านมาในระยะสั้น ความไม่แน่นอนปัจจุบันสูงมาก และไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ทุกประเทศกำลังเจอความไม่แน่นอน ชัดมาก สิ่งแรกที่ชะลอคือการลงทุน เพราะฉะนั้น ในระยะสั้น คือการสะสมทุนก็จะชะลอลง ก็ทำให้ศักยภาพของเศรษฐกิจจะชะลอลงในระยะสั้น
“คำถามที่สำคัญกว่าคือ เรื่องระยะยาวว่าจะสามารถกลับไปได้อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเองค่อนข้างเยอะด้วยว่า แต่ละประเทศแล้วก็ภาคธุรกิจสามารถจะปรับตัวกับโลกที่เปลี่ยนไป supply chain ที่จะต้องปรับเปลี่ยนได้มากน้อยขนาดไหน ความชัดเจนของนโยบายเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการลงทุน ถามว่านโยบายการเงินมีบทบาทอย่างต่อการลงทุน ผมว่าเป็นระดับที่รองๆ ลงมาเลย สำหรับธุรกิจเกือบทุกกลุ่ม ไม่ใช่เรื่องของต้นทุนทางการเงินที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน แต่เรื่องแรกคือความชัดเจนของนโยบาย เรื่องของโอกาส เรื่องกฎเกณฑ์กติกาภาครัฐ ก็คิดว่านโยบายการเงินอย่างมากก็ช่วยเสริมให้ภาวะการเงินเอื้อ แต่ว่าโดยตัวเองไม่สามารถที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการลงทุนได้” นายปิติกล่าว
Policy Space เก็บไว้เพื่อใช้ โลกข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูง
คำถามต่อมา ช่วงที่ผ่านมาเหตุผลหลักอันหนึ่งที่อาจจะเป็นเหตุผลที่อาจจะทำให้แบงก์ชาติอาจจะไม่ต้องรีบรถดอกเบี้ยมาก คือ การเก็บ policy space เผื่อว่าจะมี shock เพิ่มเติมในอนาคต ขอถามว่า ธปท. มีวิธีดูอย่างไรว่า เศรษฐกิจไทยหรือว่าลักษณะของเศรษฐกิจต้องเป็นหน้าตาแบบไหน ถึงจะเป็นช่วงที่ไม่มีความจำเป็นต้องเก็บ policy space เอาไว้แล้วเผื่อ shock ข้างหน้าเพราะว่าด้วยสถานการณ์ที่ไม่แน่อนสูงมากๆ หรือไปจนมีเหตุการณ์เกิดขึ้น หรือในช่วงที่ผ่านมาเองก็มีแนวโน้มค่อยๆ ปรับตัวลดลงมาตลอด หรือว่าจุดไหนที่ไม่จำเป็นต้องมี policy space รองรับ shock นอกจาก policy space แล้วมีประเด็นอื่นๆ ที่ ธปท. ยังกังวลอยู่ไหม
นายปิติตอบว่า ในแง่ policy space… ”
room ที่เหลือของนโยบายการเงินไม่ได้ถือว่าเยอะมาก” เพราะได้ปรับลดลงมาเหลือ 1.75% โดยทั่วไปดอกเบี้ยเมื่อต่ำลงแล้ว แรงกระตุ้นจากการลดก็จะน้อยลง การส่งผ่านไปเศรษฐกิจจะค่อยๆ น้อยลง การใช้อัตราดอกเบี้ยที่เริ่มจากอัตราที่เริ่มต่ำแล้ว ก็ต้องชั่งมากขึ้น effectiveness ของการลด กับการที่จะเก็บไว้เพื่อรองความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้หลากหลาย policy space เก็บไว้เพื่อใช้ คณะกรรมการโดยรวมมองว่าโลกข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูง ในฉากทัศน์มีหลากหลายเหตุการณ์ที่เราอาจจะต้องใช้นโยบายการเงินในช่วงนั้นดีกว่า”
นายปิติกล่าวว่า ตอนนี้ดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำแล้วบวกกับภายใต้บริบทโลกที่ความไม่แน่นอนสูงมาก ผลของดอกเบี้ยก็จะไม่ค่อยมาก ยกตัวอย่าง การลงทุนตอนนี้ถึงลดดอกเบี้ยไป แต่ถ้าไม่มีความชัดเจนเรื่องของนโยบายการค้า ธุรกิจก็ไม่ลงทุน ผู้บริโภคก็คงไม่มีความมั่นใจที่จะจับจ่ายใช้สอย เพราะฉะนั้น ประสิทธิภาพของนโยบายการเงินในช่วงนี้ก็ถือว่าอาจจะไม่ได้สูงเท่าปกติ เป็น trade-off กัน แต่ policy space มีไว้เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่คิดว่าอาจจะมีความรุนแรง เช่น ระบบการการโลกเกิดมีปัญหาขึ้นมาอย่างที่เคยเกิด และเป็นหนึ่งในตัวอย่างเหตุการณ์ที่ควรจะต้องมีกันชนในการรองรับ ต้องมองเป็นทางระยะยาว
คำถามต่อมา การปรับลดดอกเบี้ยลงไปเยอะๆ ธปท. ประเมินว่าผลต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างไรทั้งในมุมของผลที่ได้ว่าจะช่วยเศรษฐกิจได้มากแค่ไหน หรือว่าการลดเยอะๆ ณ ปัจจุบันยังมีต้นทุนอะไรอีกไหมที่ยังกังวลอยู่ว่า ถ้าลดเยอะเกินไป อาจจะเป็นต้นทุนเศรษฐกิจ
นายปิติกล่าวต่อว่า ลักษณะเศรษฐกิจปัจจุบัน ตัวที่ฉุดเศรษฐกิจหลักมาจากภายนอก นโยบายการค้าโลก ซึ่ง shock แบบนี้ เศรษฐกิจไทยก็ต้องชะลอลงระดับหนึ่ง เศรษฐกิจโลกก็ชะลอลงระดับหนึ่ง เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีนโยบายที่จะมาทำให้เศรษฐกิจอยู่ที่เดิม แล้วก็ไม่เป็นนโยบายในลักษณะที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นลักษณะต้องประคองให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพพอด้วยการรองรับความแน่นอน ไม่ใช่กระตุ้นเพื่อให้เศรษฐกิจโตเท่าเดิมได้ ภายใต้ shock ที่มาจากข้างนอกที่ควบคุมไม่ได้ โจทย์ของนโยบายเป็นลักษณะว่า ไม่ใช่ว่าวันนี้จะทำอะไร แต่เป็นลักษณะว่าในระยะต่อไปข้างหน้าที่เป็น long game นโยบายการเงินควรจะวาง position อย่างไรกับฉากทัศน์ที่เกิดขึ้นในระยะข้างหน้า ต้องมองเป็นทางระยะยาว
คำถามต่อมา การสื่อสารนโยบาย สถานการณ์ปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีความไม่แน่อนค่อนข้างสูงมาก ก็เข้าใจว่า ธปท. อาจจะยังไม่ชัดเจนลงไปว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ย เพราะว่าสุดท้ายแล้วอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอด แต่ในอีกด้าน การ guide ว่าดอกเบี้ยเหมาะสมแล้วก็เป็น guidance แบบหนึ่งให้กับตลาดเหมือนกัน คำถามหลักก็คือ จะรู้ได้อย่างไรว่า ธปท. ต้องมั่นใจมากขนาดไหนถึงจะคิดว่าวันนี้เป็นจุดที่เหมาะสมแล้ว ในการที่จะสื่อสารว่าดอกเบี้ยจะต้องเป็นขาลง หรือว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยต่อ หรือว่าเศรษฐกิจต้องเป็นลักษณะแบบไหน
นายปิติกล่าวว่า ในด้านการสื่อสาร ธปท. ได้มีคุยกัน แต่ในปัจจุบันในระดับโลกชัดเจนมากว่าแทบจะไม่มีธนาคารกลางไหน ที่ตอนนี้พร้อมที่จะใช้ forward guidance หรือว่าชี้แนะเส้นทางดอกเบี้ย (dot-plot) ในระยะข้างหน้า เพราะท่ามกลางความไม่แน่นอนที่สูงมาก แทนที่จะสื่อสารว่า ธนาคารกลางจะทำอะไร what ดีกว่าที่จะสื่อสารว่าธนาคารจะทำนโยบายอย่างไร how มากกว่า

“คือเราดูอะไร ฟังก์ชันคืออะไร ซึ่งก็ต้องดูว่าที่เป็น outlook dependent ปัจจัยต่างๆ ที่จะมากระทบนโยบาย เพราะที่เราพยายามสื่อสาร คือ สื่อสารว่าเราดูอะไรมากกว่าว่าเราจะทำอะไรในช่วงที่มันไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ในระยะใกล้” นายปิติกล่าว
คำถามต่อมา บทบาทของ ธปท. ในการช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจคืออะไรนอกจากการทำนโยบายการเงิน แล้วมีด้านอื่นไหมที่จะช่วยประเทศในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้ทำนโยบาย และต้องยอมรับว่าการส่งผ่านของนโยบายการเงินอาจจะมีปัญหา ธปท. มีเครื่องมือที่จะมาช่วยหรือไม่ในยามที่การส่งผ่านนโยบายการเงินมีปัญหา
นายสักกะภพกล่าวว่า บทบาทของ ธปท. หนึ่ง คือ ในภาพใหญ่ของนโยบายการเงิน คือ ดูภาวะการเงินให้เอื้อหรือสอดคล้องกับภาพของแนวโน้มข้างหน้า อีกบทบาทหนึ่ง ธปท. ดูแลกลไกของระบบการเงินให้มีการทำงานอย่างปกติภายใต้ภาวะการเงินข้างนอกมีความผันผวนค่อนข้างมาก ธปท. ก็ทำให้มั่นใจว่าในแง่ของกลไกในแง่ของการระดมทุนผ่านช่องทางต่างๆ พันธบัตรรัฐบาล ตลาดตราสารหนี้ ตลาดอัตราแรกเปลี่ยนต่างๆ เป็นไปอย่างปกติ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาก็มีความผันผ่วนเพิ่มขึ้นมาบ้างแต่กลไกก็ยังทำงานได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญของการลงทุน การบริโภค และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
อีกบทบาทหนึ่งก็คือดูแลสถาบันการเงินให้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในแง่ของการระดมทุน และปล่อยสภาพคร่องให้กับภาคธุรกิจทำให้มั่นใจว่าสถาบันการเงินการช่วยเหลือลูกหนี้จริง ธปท. ได้ดำเนินการมา เครื่องมือในการดูแลลูกหนี้ช่วยเหลือลูกหนี้มีมาค่อนข้างพอสมควร เทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลกแล้วการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท. ค่อนข้างเยอะ แล้วก็มีโครงการที่ออกมาต่างๆ แต่หากสถานการณ์ปรับเปลี่ยนไปแย่ลง ก็พร้อมที่จะกลับมาเข้ามาดูทั้งมาตรการที่มีอยู่ปัจจุบันในการดูแลลูกหนี้มีความจำเป็นมากแค่ไหน
คำถามต่อมา ทุกวันนี้สภาพคล่องสูงแต่การปล่อยสินเชื่อในระบบมีค่อนข้างต่ำ ทั้งการเข้าไม่ถึงสินเชื่อธนาคารพาณิชย์เข้มงวดไม่ปล่อยกู้มากขึ้น กังวลหรือไม่ว่าสถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้น มีวิธีแก้อย่างไรในสถานการณ์นี้ทำอย่างไรให้ธุรกิจครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น
นายสักกะภพกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ธปท. ลดดอกเบี้ยไป 3 ครั้งตั้งแต่ปลายปีที่แล้วมาจนถึงอยู่ที่ 1.75% ส่วนหนึ่งคือพยายามจะปรับภาวะการเงินให้สอดคล้องกับแนวโน้มของเศรษฐกิจ ในแง่ภาพรวม และก็มีการปรับลดดอกเบี้ยตาม แต่จากคำถามน่าจะเป็นเรื่องปริมาณไม่ใช่เรื่องของราคาที่ลดลง ราคาก็ช่วยในระดับหนึ่ง แต่ในแง่ปริมาณก็กลับมาที่ความเสี่ยง กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงก็คงเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบซ้ำเติมมาอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจที่เป็นอาจจะเป็น SME โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบต่างๆ เพราะฉะนั้น ก็กลับไปที่จุดเดิม การลดดอกเบี้ยก็คงไม่ได้ช่วยให้ภาคธุรกิจเหล่านั้นได้รับปริมาณที่มากขึ้น หลักๆ เป็นปัญหาเครดิตของผู้กู้ ในช่วงระยะสั้นนี้ที่ความไม่แน่นอนสูง ภาครัฐจะมีบทบาทจะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงอย่างไร ซึ่งหากลดลงมาได้ ถ้าผ่านกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะการค้ำประกันต่างๆ หรือการปรับตัว ก็จะทำให้การปล่อยสินเชื่อเนี่ยตรงนี้ดีขึ้น