ASEAN Roundup ประจำวันที่ 18-24 พฤษภาคม 2568
อาเซียนเตรียมประกาศยุทธศาสตร์ AEC ส่งเสริมการค้า ความยืดหยุ่น นวัตกรรมดิจิทัล
การบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียนขั้นต่อไปจะเน้นที่การเชื่อมโยงทางการค้าที่ลึกยิ่งขึ้น ความยั่งยืน และนวัตกรรมดิจิทัล ขณะที่ผู้นำเตรียมประกาศแผนยุทธศาสตร์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) 2569-2573 ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 46 (46th ASEAN Summit)
แผนยุทธศาสตร์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2569–2570(ASEAN Economic Community Strategic Plan 2026–2030) กำหนดให้การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล นวัตกรรม และความแข็งแกร่งที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญของวิสัยทัศน์เพื่อการบูรณาการระดับภูมิภาคและการเติบโตอย่างยั่งยืน
แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวซึ่งจะเสนอให้ผู้นำอาเซียนเห็นชอบและลงนามในวันจันทร์( 26 พฤษภาคม 2568)นี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี 2588 (ASEAN Community Vision 2045)ในภาพกว้าง
แผนยุทธศาสตร์ระบุถึงเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 6 ประการ 44 วัตถุประสงค์ และ 192 มาตรการเฉพาะ ที่ออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างการบูรณาการทางเศรษฐกิจให้ลึกยิ่งขึ้น และเสริมสร้างความสามารถของภูมิภาคในการรับมือกับแรงกระแทกจากภายนอก
เต็งกู ดาโต๊ะ สรี ซาฟรูล อับดุล อาซิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซีย เปิดเผยว่า แผนดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการค้าภายในอาเซียนและเปลี่ยนกลุ่มอาเซียนให้เป็นตลาดเดียวที่เชื่อมโยงกันสูงสำหรับสินค้า บริการ และการลงทุน ขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันผ่านนวัตกรรม
เต็งกู ซาฟรูล กล่าวก่อนการแถลงข่าวว่า “ประเด็นสำคัญคือการจัดตั้งกรอบเศรษฐกิจดิจิทัลที่มองไปข้างหน้าและภูมิทัศน์การดำเนินงานที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์(AI) ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการเชื่อมต่อที่ดีขึ้นเป็นปัจจัยสนับสนุน แนวทางนี้จะช่วยเพิ่มผลผลิต ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และดึงดูดการเงินสีเขียวและการลงทุนที่ชาญฉลาด”
แผนยุทธศาสตร์ AEC เป็นโรดแมปที่ครอบคลุมซึ่งมุ่งการปฏิรูป การเชื่อมต่อที่เพิ่มมากขึ้น และนวัตกรรม ซึ่งทั้งหมดนี้ยึดหลักความครอบคลุมและความยั่งยืน และการที่มุ่งเน้นที่การบูรณาการเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจของอาเซียนพร้อมรับมืออนาคต
การพลิกโฉมทางดิจิทัลได้รับการยอมรับว่าเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันในอนาคตของภูมิภาค โดยเปิดโอกาสให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ การพัฒนาทักษะดิจิทัล และโครงการเมืองอัจฉริยะในประเทศสมาชิก
ภายใต้วิสัยทัศน์ดังกล่าว อาเซียนมุ่งมั่นที่จะเปิดกว้างแม้จะมีการกีดกันทางการค้าทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น เต็งกู ซาฟรูล กล่าวว่าภูมิภาคนี้ยังคงมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันไม่เพียงแค่กับตลาดดั้งเดิมและคู่เจรจาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเศรษฐกิจใหม่และเศรษฐกิจเกิดใหม่เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมหภาค
เต็งกู ซาฟรูล กล่าวว่า “ความก้าวหน้าของการค้าโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีความเสี่ยงจากการเคลื่อนไหวกีดกันทางการค้าในเศรษฐกิจหลัก อาเซียนต้องประสานงานอย่างใกล้ชิดและปรับผลประโยชน์ร่วมกันให้สอดคล้องกันเพื่อรับมือกับความท้าทายที่ซับซ้อนเหล่านี้และรักษาเส้นทางการเติบโต”
นอกจากนี้ยังแสดงความมั่นใจว่าอาเซียนกำลังอยู่ในเส้นทางที่จะเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกภายในปี 2570 แต่เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการจัดระเบียบที่แข็งแกร่งขึ้นและยึดมั่นในหลักการสำคัญของอาเซียนซึ่งได้แก่ ความเป็นศูนย์กลาง ความเป็นกลาง และการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคตได้อย่างประสบความสำเร็จ
สำหรับการใช้นวัตกรรมและการเชื่อมต่อทางดิจิทัล อาเซียนยังได้พัฒนากรอบความร่วมมือสำหรับการกำกับดูแลข้อมูลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจและเสถียรภาพในเศรษฐกิจดิจิทัล
ความคิดริเริ่มเหล่านี้มีความสำคัญต่อการดึงดูดการลงทุนและสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่นซึ่งสามารถปรับตัวให้เข้ากับการหยุดชะงักทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ได้
ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ ซึ่งกำหนดจะประกาศในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 46 ในปี 2568 เป็นส่วนเสริมของวาระเศรษฐกิจของ AEC โดยระบุวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์สำหรับการกำกับดูแล การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล และการเตรียมพร้อมในระยะยาว นายกรัฐมนตรีดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม กล่าวถึงปฏิญญาดังกล่าวว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากความปรารถนาที่กว้างไปสู่คำมั่นสัญญาที่เป็นรูปธรรม ซึ่งสะท้อนถึงฉันทามติระหว่างประเทศสมาชิก
ปฏิญญาดังกล่าวเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของอาเซียนในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัยและครอบคลุมมากขึ้น โดยจัดการกับความท้าทายต่างๆ เช่น ข้อมูลที่บิดเบือน คำพูดที่แสดงความเกลียดชัง และภัยคุกคามทางไซเบอร์ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมสุขภาวะทางไซเบอร์ การรู้เท่าทันสื่อ และการเสริมพลังเยาวชน
การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่รับผิดชอบด้านข้อมูลเมื่อไม่นานนี้ได้ให้การรับรองแนวปฏิบัติระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีความรับผิดชอบ และเน้นย้ำถึงความพยายามในการสร้างชุมชนดิจิทัลที่มีความยืดหยุ่นและมีศูนย์กลางอยู่ที่ประชาชน ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนและความร่วมมือในภูมิภาค
มาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนในปี 2568 เป็นผู้นำภายใต้แนวคิดการเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวของชุมชน ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ และความพร้อมในอนาคต ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์และแผนยุทธศาสตร์ AEC ร่วมกันสร้างโครงร่างที่ครอบคลุมซึ่งวางตำแหน่งอาเซียนให้เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและการบูรณาการทางดิจิทัลในภูมิภาค
ความมุ่งมั่นของอาเซียนในการรวมเอาทุกฝ่ายและความยั่งยืนยังคงเป็นแกนหลัก เนื่องจากอาเซียนพยายามเสริมสร้างความสมบูรณ์ของห่วงโซ่อุปทานและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อให้แน่ใจว่าภูมิภาคมีความยืดหยุ่น คล่องตัว และพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต
การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 46 และการประชุมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ระหว่างวันที่ 26 – 27 พฤษภาคม 2568 มีขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ภายใต้แนวคิด “การมีส่วนร่วมและความยั่งยืน Inclusivity and Sustainability”
จีน-อาเซียนเสร็จสิ้นการเจรจา CAFTA 3.0 ลงนามภายในสิ้นปีนี้

กระทรวงพาณิชย์ของจีน (Ministry of Commerce :MOFCOM) กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันพุธ(21 พ.ค.)ว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจและการค้าของจีนและอาเซียนจัดการประชุมพิเศษผ่านวิดีโอลิงค์เมื่อวันอังคาร (20 พฤษภาคม 2568) พร้อมประกาศว่าการเจรจาเกี่ยวกับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน(China-ASEAN Free Trade Area) เวอร์ชัน 3.0 หรือ CAFTA 3.0 เสร็จสิ้นลงแล้ว
CAFTA ซึ่งเริ่มใช้ในปี 2553 เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยข้อตกลงเวอร์ชัน 2.0 ได้ลงนามในปี 2558 และจะมีผลบังคับใช้ในปี 2562
การเจรจา CAFTA 3.0 เริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายน 2565 หลังจากการเจรจาอย่างเป็นทางการ 9 รอบในช่วงเวลาเกือบ 2 ปี การเจรจาได้สรุปอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2567 ภายใต้การประสานงานและความพยายามร่วมกันอย่างเต็มที่ของรัฐมนตรีเศรษฐกิจและการค้าจากประเทศที่เข้าร่วม การเจรจาได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญสู่การลงนามในพิธีสารฉบับปรับปรุงใหม่ ตามแถลงการณ์ของ MOFCOM
ข้กตกลง CAFTA 3.0 จะส่งสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับการคงการค้าเสรีและความร่วมมือที่เปิดกว้าง จีนและอาเซียนต่างก็เป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดและเป็นหุ้นส่วนการลงทุนที่สำคัญของกันและกัน โดยต่างก็สนับสนุนโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจและพหุภาคีอย่างมั่นคง จากการที่ให้ความสำคัญในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน MOFCOM กล่าวว่า การปรับปรุง CAFTA 3.0 ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการรักษาและส่งเสริมการค้าเสรีร่วมกัน
ท่ามกลางความท้าทายสำคัญที่เศรษฐกิจและการค้าโลกกำลังเผชิญ การสรุปการเจรจาสอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาระดับโลก แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของการค้าเสรีและความร่วมมือที่เปิดกว้าง ช่วยสร้างความแน่นอนมากขึ้นให้กับการค้าระดับภูมิภาคและระดับโลก และมีบทบาทผลักดันและเป็นตัวอย่างให้ประเทศต่างๆ ยึดมั่นในการรักษาความเปิดกว้าง ความครอบคลุม และความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน
MOFCOM กล่าวว่า CAFTA 3.0 จะสร้างข้อตกลงการค้าเสรีที่ทั่วถึง ทันสมัย ครอบคลุม และเป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยมี 9 ด้านใหม่ ซึ่งรวมถึง เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน การเพิ่มด้านเหล่านี้จะทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่กว้างขึ้นและลึกยิ่งขึ้นภายใต้สถานการณ์ใหม่ ส่งเสริมการบูรณาการเชิงลึกของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและอุปทานอย่างมีนัยสำคัญ และมีความสำคัญเชิงบุกเบิก
นอกจากนี้ ข้อตกลงที่ปรับปรุงใหม่จะส่งเสริมการสร้างประชาคมจีน-อาเซียนที่มีอนาคตร่วมกันอย่างมาก ผ่าน CAFTA 3.0 ทั้งสองเศรษฐกิจกำลังพัฒนาหลักจะขยายการเปิดกว้างร่วมกันและขยายความร่วมมือในสาขาใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นและกำลังผลิตที่มีคุณภาพใหม่ ๆ อย่างครอบคลุม ซึ่งจะให้หลักประกันสถาบันที่สำคัญสำหรับการสร้างตลาดขนาดใหญ่ระหว่างจีน-อาเซียน และสร้างแรงผลักดันที่ยั่งยืนสำหรับการพัฒนาประชาคมจีน-อาเซียนที่มีอนาคตร่วมกัน และจะส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน MOFCOM กล่าว
ในขั้นตอนต่อไป ทั้งสองฝ่ายจะเร่งดำเนินการขั้นตอนการลงนามและให้สัตยาบันในประเทศของแต่ละฝ่ายเพื่อลงนามอย่างเป็นทางการในพิธีสาร CAFTA 3.0 ฉบับปรับปรุงใหม่ ตามแถลงการณ์ของMOFCOM และทั้งสองฝ่ายจะพยายามลงนามอย่างเป็นทางการใน CAFTA 3.0 ก่อนสิ้นปีนี้
“การเจรจาที่เสร็จสิ้นลงจะช่วยเสริมสร้างการจัดเตรียมสถาบันสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและอาเซียน และเสริมสร้างรากฐานสำหรับการส่งเสริมความร่วมมือผ่านกฎระเบียบ นี่ไม่เพียงเป็นข้อกำหนดที่เป็นวัตถุประสงค์ในกระบวนการพัฒนาความร่วมมือเท่านั้น แต่ยังเป็นแนวทางและหลักประกันสำหรับความร่วมมือที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงอีกด้วย” นายหม่า เจียนชุน ประธานสมาคมศึกษาว่าด้วยองค์การการค้าโลกแห่งจีน(China Society for World Trade Organization Studies) กล่าวกับ Global Times
นายฮั่ว เจี้ยนกั๋ว รองประธานสมาคมศึกษาว่าด้วยองค์การการค้าโลกแห่งจีนในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่าจุดเด่นของ CAFTA 3.0 คือการรวมเอา 3 ด้านใหม่ ได้แก่ เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน เข้าด้วยกันเป็นครั้งแรก ซึ่งล้วนเป็นด้านที่มีศักยภาพสูงสำหรับความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย
นายฮั่วกล่าวเสริมว่าทั้งสองฝ่ายได้กำหนดมาตรฐานข้อบังคับทางวิชาการและขั้นตอนการประเมินการปฏิบัติตามข้อกำหนดในแนวทางปฏิบัติการค้าเสรีต่างประเทศของตนเอง โดยกำหนดให้จีนและอาเซียนอ้างอิงและปรับมาตรฐานร่วมกันภายในระบบการจัดการของตนเอง เพื่อส่งเสริมการบูรณาการสถาบัน ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับความร่วมมือให้เป็นสถาบันเท่านั้น แต่ยังสอดคล้องกับการสนับสนุนการเปิดกว้างทางสถาบันของจีนในปัจจุบันอีกด้วย
นายฮั่วกล่าวกับ Global Times ว่า “CAFTA 3.0 ยังวางรากฐานให้จีนและอาเซียนสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับระบบกฎหมายที่สูงขึ้น และยังสะสมประสบการณ์ให้ฝ่ายจีนเพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อกับมาตรฐานสากลอื่นๆ เช่น CPTPP”
ในขณะเดียวกัน ความร่วมมือกับประเทศอาเซียนยังช่วยป้องกันผลกระทบเชิงลบจากความไม่แน่นอนของภาษีศุลกากรต่อการค้าระหว่างประเทศด้วยความแน่นอนของความร่วมมือระหว่างกันด้วย นายหม่ากล่าว
นายมาร์แชลล์ มิลส์ ผู้แทนอาวุโสของ IMF ประจำประเทศจีน กล่าวระหว่างการสัมภาษณ์กับ Global Times ว่า ความตึงเครียดทางการค้าและภาษีศุลกากรที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้ประเทศในเอเชียต้องส่งเสริมการเติบโตและความยืดหยุ่นที่สมดุลมากขึ้น และการบูรณาการในภูมิภาคอาจช่วยปกป้องเศรษฐกิจจากแรงกระแทกทั่วโลกได้
ยิ่งไปกว่านั้น การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างจีนและสมาชิกอาเซียนถือเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการส่งเสริมการสร้างชุมชนที่มีอนาคตร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านและมุ่งมั่นที่จะเปิดพื้นที่ใหม่ให้กับงานในละแวกใกล้เคียงของจีน นายหม่ากล่าว
ในระหว่างการประชุมพิเศษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน นายหวัง เหวินเทา กล่าวว่าเมื่อไม่นานนี้ บางประเทศได้กำหนดภาษีศุลกากรแบบที่เก็บในอัตราที่เท่ากัน(reciprocal tariffs) อย่างไม่รอบคอบ และใช้วิธีรังแกทางเศรษฐกิจ ทำลายระบบการค้าระหว่างประเทศอย่างรุนแรง และสร้างความไม่แน่นอนอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก
การกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมายเศรษฐกิจและละเมิดหลักการตลาด จีนไม่ยอมรับอย่างหนักแน่นและคัดค้านการกระทำเหล่านี้อย่างเด็ดขาด จีนยืนกรานอย่างสม่ำเสมอว่าสงครามการค้าและสงครามภาษีไม่มีผู้ชนะ ลัทธิฝ่ายเดียวและการคุ้มครองทางการค้าจะทำให้ย่ำอยู่กับที่ และการกดดันและคุกคามอย่างรุนแรงไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องในการมีส่วนร่วมกับประเทศอื่น นายหวังกล่าว
นายหวังกล่าวว่า จีนยินดีที่จะทำงานร่วมกับอาเซียนเพื่อรักษาเสถียรภาพและการไหลเวียนที่ราบรื่นของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานระดับโลก เพื่อให้มีส่วนสนับสนุนมากขึ้นในการส่งเสริมการพัฒนาและฟื้นฟูทั้งสองฝ่าย และปกป้องความยุติธรรมระหว่างประเทศ แถลงการณ์MOFCOM ระบุ
รัฐมนตรีเศรษฐกิจและการค้าอาเซียนกล่าวว่า มาตรการฝ่ายเดียวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ลดความเชื่อมั่นขององค์กรระดับโลก และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุด แถลงการณ์ของ MOFCOM กล่าวว่า ควรสนับสนุนการดำเนินการร่วมกันเพื่อปกป้องระบบการค้าพหุภาคีและการค้าเสรี และควรใช้กลไกของ WTO เพื่อมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์และแสวงหาทางออกร่วมกันเพื่อแก้ไขข้อกังวลด้านการค้าระดับโลก
นายเกา กึม ฮวน เลขาธิการอาเซียนกล่าวว่าปัจจุบันการค้าโลกอยู่ในจุดเปลี่ยนสำคัญ และจำเป็นต้องส่งเสริมการค้าโลกที่เปิดกว้าง ยุติธรรม และยึดตามกฎเกณฑ์ เพื่อแก้ไขกระแสการปกป้องการค้าที่เพิ่มมากขึ้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างมีวิสัยทัศน์ สนับสนุนการเปิดกว้างและการรวมกลุ่มอย่างมั่นคง ส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และเสริมสร้างความร่วมมืออาเซียน-จีนเพื่อบรรลุการพัฒนาร่วมกันที่มีคุณภาพสูง ซึ่งรวมถึงความร่วมมือด้านการผลิตอัจฉริยะ การเชื่อมต่อที่แข็งแกร่งขึ้น และการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้แน่ใจว่าทุกประเทศจะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน
นายหม่ากล่าวว่าความร่วมมือจีน-อาเซียนส่งสัญญาณที่ชัดเจนและสำคัญไปยังโลกว่าพหุภาคีและการค้าเสรีเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาโลกอยู่เสมอ
เวียดนาม-สหรัฐฯเจรจาการค้ารอบ 2 คืบ

การเจรจารอบที่ 2 เรื่องข้อตกลงการค้าที่เก็บภาษีในอัตราที่เท่ากัน (reciprocal tariffs) ระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯซึ่งมีขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระหว่างวันที่ 19-22 พฤษภาคม 2568 มีความคืบหน้าในเชิงบวก
คณะผู้แทนเวียดนามนำโดยนายเหวียน ฮ่อง เดียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะเจรจาของรัฐบาลด้วย คณะผู้แทนประกอบด้วยสมาชิกคณะเจรจาและตัวแทนจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องและธนาคารกลางเวียดนาม
ตลอดการเจรจา 3 วัน การเจรจาดำเนินไปด้วยเจตนารมณ์ของความปรารถนาดี ความตรงไปตรงมา และความเคารพต่อกรอบสถาบันของกันและกัน ทั้งสองฝ่ายพยายามที่จะประสานและรักษาสมดุลผลประโยชน์ให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยคำนึงถึงระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศ
คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายของแต่ละประเทศ ชี้แจงถ้อยคำในร่างข้อตกลง และหารือแนวทางทั่วไปในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่ทั้งสองฝ่ายมีความกังวลร่วมกันเพื่อเร่งกระบวนการเจรจา ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันอย่างเปิดเผยและสร้างสรรค์ในประเด็นเศรษฐกิจและการค้าที่เป็นผลประโยชน์หลักของประเทศ
ทั้งสองฝ่ายได้ระบุกลุ่มประเด็นที่พวกเขาบรรลุฉันทามติหรือจุดยืนที่ต่างกันน้อยลง รวมถึงประเด็นที่ต้องหารือเพิ่มเติม ทั้งสองฝ่ายยังตกลงกันเกี่ยวกับกรอบเวลาสำหรับการให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างข้อตกลง การเสนอถ้อยคำที่เฉพาะเจาะจง และการจัดประชุมทางไกลเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจารอบต่อไป
ในวันสุดท้ายของการเจรจา นายเดียนได้ประชุมทวิภาคีกับนาย จามีสัน กรีร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เพื่อทบทวนผลของการเจรจารอบที่สองและระบุประเด็นสำคัญที่ต้องเน้นสำหรับการเจรจารอบต่อไป ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนมิถุนายน
นายกรีร์ ชื่นชมความปรารถนาดีและความพยายามของเวียดนามในการแก้ไขข้อกังวลของสหรัฐฯ และหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะยกระดับการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและระดับรัฐมนตรีต่อไปเพื่อบรรลุข้อตกลงโดยเร็วที่สุด
นายเดียน ตอบรับคำกล่าวของ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯr และยืนยันความมุ่งมั่นของเวียดนามในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ ในลักษณะที่สมดุลและยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของประชาชนและธุรกิจของทั้งสองประเทศ พร้อมตกลงที่จะสั่งให้ทีมวิชาการดำเนินการหารือเพิ่มเติมต่อไปเพื่อไปสู่ข้อตกลงที่ยอมรับร่วมกันซึ่งตรงตามความคาดหวังและเงื่อนไขของทั้งสองฝ่าย
เวียดนามเตรียมตั้งเขตการค้าเสรีในเมืองไฮฟอง

เขตการค้าเสรีที่เสนอจะประกอบด้วยพื้นที่การใช้งานหลายพื้นที่ เช่น เขตการผลิต เขตท่าเรือและโลจิสติกส์ของท่าเรือ เขตการค้าและบริการ รวมถึงเขตการทำงานประเภทอื่น ๆ ตามกฎหมาย
รัฐบาลคาดหวังว่าเขตการค้าเสรีจะสร้างแรงผลักดันใหม่ให้กับการพัฒนาเมืองไฮฟองอย่างรวดเร็วและยั่งยืน
ธุรกิจที่ดำเนินการในเขตการค้าเสรีอาจมีสิทธิ์ได้รับแรงจูงใจต่างๆ ในแง่ของขั้นตอนการบริหาร ใบอนุญาตทำงาน การเข้าถึงที่ดิน เป็นต้น
เมียนมาลดภาษีศุลกากรให้ 9 ประเทศสมาชิก RCEP

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 กองระบบเคลียร์สินค้าอัตโนมัติ (Myanmar Automated Cargo Clearance System Division) กรมศุลกากรเมียนมาได้ออกประกาศเลขที่ (009/2025) ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2568 เมียนมาจะบังคับใช้มาตรการลดภาษีศุลกากรสำหรับ 9 ประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement- RCEP) ได้แก่ กัมพูชา ไทย เวียดนาม บรูไน สปป. ลาว สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และจีน จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเมียนมา (Business Information Centre – BIC)
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 กระทรวงการวางแผนและการคลังเมียนมาได้ออกประกาศเลขที่ (29/2025) เกี่ยวกับกำหนดการบังคับใช้มาตรการลดภาษีดังกล่าวข้างต้น (Tariff Reduction Schedule – TRS) และ HS 2017 (รายการสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการส่งออก) ภายใต้ RCEP โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 โดยสมาชิก 9 ประเทศสมาชิก RCEP จะต้องยื่นแบบฟอร์ม RCEP ของ ปท. ของตนเอง โดยเลือก Customs Duty Type Code “R” (R: RCEP) ในระบบคำนวนภาษี IDA เพื่อจะได้รับอัตราภาษีพิเศษ ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองระบบเคลียร์สินค้าอัตโนมัติ (เบอร์ติดต่อ 01379429)
ไทย-อินโดนีเซียยกระดับความสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์

นายกรัฐมนตรีไทยและประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า จากนั้น นายกรัฐมนตรีเชิญประธานาธิบดีอินโดนีเซียไปยังห้องสีม่วงเพื่อแนะนำคณะรัฐมนตรี และไปยังห้องสีงาช้างด้านนอก เพื่อลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึกที่ทั้งสองฝ่ายมอบให้แก่กัน หลังจากนั้น เวลา 10.20 น. นายกรัฐมนตรีทั้งสองร่วมหารือทวิภาคีเต็มคณะ ภายใต้กลไกหารือระดับผู้นำ (Leaders’ Consultation) ครั้งที่ 1 ณ ตึกภักดีบดินทร์
โดยภายหลังเสร็จสิ้น นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการหารือดังนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้การต้อนรับประธานาธิบดีอินโดนีเซียเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 20 ปี ถือเป็นโอกาสอันดีในการเน้นย้ำถึงมิตรภาพอันยาวนานระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในปีนี้ ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน
ประธานาธิบดีอินโดนีเซียขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินโดนีเซียที่มีความใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนาน ตลอดจนยินดีต่อการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย – อินโดนีเซียเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ซึ่งจะเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ระหว่างกัน นอกจากนี้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเชื่อมั่นว่า การหารือระหว่างกันภายใต้กลไกหารือระดับผู้นำ (Leaders’ Consultation) จะช่วยผลักดันความร่วมมือระหว่างกันให้คืบหน้าได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยอินโดนีเซียพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการหารือระดับผู้นำร่วมกันในครั้งต่อไป พร้อมเชิญนายกรัฐมนตรีและคณะเยือนอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป
โอกาสนี้ ผู้นำทั้งสองได้หารือร่วมกันเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกัน ดังนี้
1. ความสัมพันธ์ทวิภาคี ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อการประกาศยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย – อินโดนีเซียเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ซึ่งนับเป็นหมุดหมายสำคัญที่สะท้อนว่า ทั้งสองประเทศกำลังก้าวไปสู่ความร่วมมือในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยนายกรัฐมนตรียินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการหารือระดับผู้นำไทย-อินโดนีเซีย เป็นครั้งแรกในวันนี้ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในระดับผู้นำให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ผู้นำทั้งสองฝ่ายควรพบปะกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อประสานความร่วมมือระหว่างกัน พร้อมทั้งผลักดันให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์ (Plan of Action) ที่มีเป้าหมายชัดเจน เพื่อสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกันให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
2. ความร่วมมือด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายพร้อมเพิ่มพูนความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการหลอกลวงทางออนไลน์ (Online Scam) การค้ามนุษย์ และยาเสพติด ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศควรทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด พร้อมขอให้ฝ่ายอินโดนีเซียแบ่งปันข้อมูลการสอบสวนชาวอินโดนีเซียที่เกี่ยวข้องกับขบวนการหลอกลวงทางออนไลน์ ซึ่งไทยได้ให้ความช่วยเหลือจากเมียนมาอย่างปลอดภัย เพื่อขยายผลการสอบสวนต่อไป นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่าทั้งสองฝ่ายควรร่วมกันผลักดันการจัดทำความตกลงเกี่ยวกับการโอนตัวนักโทษ โดยไทยพร้อมยกร่างความตกลงระหว่างกัน
ด้านประธานาธิบดีอินโดนีเซียขอบคุณรัฐบาลไทยสำหรับการให้ความช่วยเหลือชาวอินโดนีเซียที่เกี่ยวข้องกับขบวนการหลอกลวงทางออนไลน์ อินโดนีเซียพร้อมร่วมมือกับฝ่ายไทยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน นอกจากนี้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกันได้อีกมาก โดยเฉพาะความร่วมมือในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ความร่วมมือระหว่างกองทัพ ทั้งในด้านการเพิ่มการฝึกร่วมกันและความร่วมมือด้านการศึกษา
3. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ไทยและอินโดนีเซียยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนการค้าระหว่างกันได้อีกมาก โดยไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย – อินโดนีเซีย ระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นครั้งแรกภายในปีนี้ เพื่อเป็นกลไกหลักในการเพิ่มปริมาณการค้า ลดอุปสรรค และส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ไทยและอินโดนีเซียมีการลงทุนระหว่างกันเป็นจำนวนมาก โดยภาคเอกชนไทยสนใจขยายการลงทุนในอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคพลังงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอให้ฝ่ายอินโดนีเซียช่วยคุ้มครองและสนับสนุนการลงทุนของเอกชนไทย รวมถึงแก้ไขปัญหาอุปสรรคของภาคเอกชนไทยในอินโดนีเซีย ตลอดจนเชิญชวนภาคเอกชนอินโดนีเซียให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นในสาขาที่มีศักยภาพร่วมกัน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย (BOI) ของไทยกับคณะกรรมการประสานงานการลงทุนของอินโดนีเซีย (Indonesian Investment Coordinating Board: BKPM) ประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันการลงทุนระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียพร้อมให้การสนับสนุนภาคเอกชนไทยในอินโดนีเซีย และเชิญชวนภาคเอกชนไทยร่วมลงทุนในกองทุน Danantara ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) ที่รัฐบาลอินโดนีเซียชุดปัจจุบันตั้งขึ้นใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของรัฐวิสาหกิจอินโดนีเซีย โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมสนับสนุนภาคเอกชนไทยในการเข้าไปแสวงหาโอกาสการลงทุนในอินโดนีเซียเพิ่มเติมต่อไป
4. ความร่วมมือด้านการเกษตร การประมง และความมั่นคงทางอาหาร นายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการต่ออายุบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการค้าข้าว โดยไทยพร้อมจำหน่ายข้าวเพิ่มเติมให้กับอินโดนีเซีย เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของอินโดนีเซีย พร้อมทั้งผลักดันให้มีการเปิดตลาดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ปศุสัตว์ และผลไม้สด รวมถึงสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง Halal Task Force ระหว่างกัน เพื่อประสานมาตรฐานสินค้าฮาลาลของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการจัดตั้ง Working Group สองฝ่าย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทุนในอุตสาหกรรมประมง เพื่อส่งเสริมการทำการประมงอย่างยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร ทั้งนี้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียขอบคุณไทยที่สนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของอินโดนีเซีย โดยพร้อมมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับไทยต่อไป รวมถึงเพิ่มพูนความร่วมมือในด้านที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ โดยเฉพาะด้านความยั่งยืนและพลังงานสะอาด
5. ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ไทยและอินโดนีเซียมีการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น โดยนายรัฐมนตรีเสนอให้ทั้งสองฝ่ายทำการตลาดร่วมกัน สำหรับการท่องเที่ยวเรือสำราญและเรือยอร์ช การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุม สัมมนา การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การแสดงสินค้า และนิทรรศการระดับนานาชาติ (MICE Tourism)
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อการเตรียมเปิดเส้นทางการบินใหม่ระหว่างเมืองสุราบายา – กรุงเทพฯ และเมืองเมดาน – กรุงเทพฯ ของสายการบิน Lion Air และเส้นทางระหว่างเมืองเมดาน – ภูเก็ต ของสายการบิน AirAsia โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าจะช่วยสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศ พร้อมเสนอให้หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศจัดทำแคมเปญร่วมกันสำหรับเส้นทางการบินใหม่เหล่านี้ และสำรวจความเป็นไปได้ในการเปิดเส้นทางการบินเพิ่มเติมระหว่างเมืองน่าเที่ยวของทั้งสองประเทศต่อไป
6. ความมั่นคงของมนุษย์ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขที่ลงนามร่วมกันในวันนี้ จะเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน โดยเฉพาะโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรเร่งสรุปบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการควบคุมผลิตภัณฑ์อาหารและยาให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ตลอดจนเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเพื่อศึกษาต่อที่อินโดนีเซีย
7. ความร่วมมือในระดับภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำการส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาค เพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ โดยเฉพาะการผลักดันการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและอำนาจต่อรองของอาเซียนท่ามกลางความผันผวนของการเมืองและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน และที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งรวมถึงมาตรการทางภาษีของสหรัฐอเมริกา โดยทั้งสองฝ่ายควรมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการเจรจากับสหรัฐฯ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายพร้อมสนับสนุนบทบาทนำของอาเซียนในเรื่องเมียนมา โดยไทยพร้อมทำงานอย่างใกล้ชิดกับประธานอาเซียน เพื่อนำสันติภาพกลับคืนสู่เมียนมา โอกาสนี้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียยืนยันว่า อินโดนีเซียพร้อมให้การสนับสนุนไทยในการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS อย่างเต็มรูปแบบ