
เปิด Mobility Data “คนสร้างเมือง หรือ เมืองสร้างคน” โดยทรู คอร์ปอเรชั่น สะท้อนวิถีชีวิตผู้คนใน 4 เมืองใหญ่ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-ขอนแก่น-หาดใหญ่ เพื่อการออกแบบนโยบายการใช้พื้นที่-เวลาที่สอดคล้องกับความต้องการตามช่วงวัย
จากข้อมูลการเคลื่อนที่ของประชากรผ่านการใช้งานโทรศัพท์มือถือ (Mobility Data) และข้อมูลการใช้งานแพลตฟอร์มบริการดิจิทัล ของ “ทรู คอร์ปอเรชั่น” ได้พัฒนาไปสู่โครงการความร่วมมือกับศูนย์พัฒนาและออกแบบเมือง (Urban Design and Development Center – UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านโครงการ “Dynamic Cities via Mobility Data หลากชีวิตในเมืองที่โลดแล่น” โดยใช้ข้อมูล Mobility Data เพื่อทำความเข้าใจจังหวะชีวิตของผู้คนในเมือง สู่การตั้งคำถามใหม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างเมืองกับวิถีชีวิตของผู้คน อันจะนำไปสู่การออกแบบเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 ทรู คอร์ปอเรชั่น จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการดังกล่าว นำโดย นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และ นายอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ โครงการ “Dynamic Cities via Mobility Data หลากชีวิตในเมืองที่โลดแล่น” เป็นโครงการแรกของ Data Playground for Human Impacts ที่เปิดพื้นที่การทำงานของคนที่มีความสนใจร่วมกันในการใช้ Mobility Data เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
ต่อยอด Mobility Data ใช้ข้อมูลมากกว่าธุรกิจ
นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ในฐานะผู้นำด้านโครงข่ายดิจิทัลและเทคโนโลยีของไทย ทรู คอร์ปอเรชั่น มองเห็นบทบาทของข้อมูลและเทคโนโลยีที่ก้าวไกลในการสร้างประโยชน์ให้สังคมได้มากกว่าการสื่อสาร Mobility Data คือเครื่องมือที่ทรงพลังในการทำความเข้าใจเมืองยุคใหม่ เพราะสะท้อนพฤติกรรมของผู้คนแบบเรียลไทม์ เห็นการใช้ชีวิตในแต่ละพื้นที่และช่วงเวลาได้อย่างแม่นยำและครอบคลุม ดังนั้น โครงการนี้คืออีกก้าวสำคัญของการนำศักยภาพเหล่านี้มาเชื่อมโยงกับภาคการพัฒนาเมืองอย่างแท้จริง
นายจักรกฤษณ์ กล่าวต่อว่า “ทรูเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีและโครงข่ายที่ทันสมัย ไม่ควรหยุดอยู่แค่การสื่อสาร แต่ต้องสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมในภาพรวมได้ด้วย โครงการ ‘Dynamic Cities via Mobility Data หลากชีวิตในเมืองที่โลดแล่น’ สะท้อนถึงพลังของ Mobility Data ที่ช่วยให้เข้าใจวิธีที่ผู้คนใช้ชีวิตในเมือง และนี่คือจุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือในการร่วมออกแบบเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน เราพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมต่อเทคโนโลยีเข้ากับชีวิตเมือง และจะเดินหน้าต่อยอดความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนเมืองไทยสู่อนาคตที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน”
3 มิติ สะท้อนชีวิตในเมืองที่โลดแล่น
จากการศึกษาครั้งนี้พบข้อมูลพฤติกรรมของผู้คนและเมืองที่น่าสนใจใน 3 มิติหลัก ดังนี้
(1) มิติพื้นที่เมือง ข้อมูล Mobility Data ทำให้สามารถเห็นพื้นที่หลักที่ผู้คนใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างชัดเจน ได้แก่ พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำงาน และพื้นที่สำหรับกิจกรรมอื่น เช่น การพักผ่อน หรือพบปะสังสรรค์ การจำแนกพื้นที่ตามพฤติกรรมจริงในแต่ละเมือง เผยให้เห็นโครงสร้างการใช้ชีวิตของผู้คนในแต่ละภูมิภาคที่มีบริบทแตกต่างกัน ซึ่งช่วยเปิดมุมมองใหม่ในการวางผังและพัฒนาเมืองให้ตอบสนองกับการใช้ชีวิตจริงที่ซับซ้อน
(2) มิติเวลา ข้อมูลสะท้อนให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันของการใช้เวลาในแต่ละเมือง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ที่ผู้คนต้องใช้เวลาเดินทางมาก ส่งผลให้เวลาสำหรับพักผ่อนหรือทำกิจกรรมนอกบ้านลดลง ข้อมูลแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในการจัดสรรเวลา ซึ่งสามารถนำไปใช้ประเมินคุณภาพชีวิตและความคุ้มค่าของการใช้เวลาของคนในแต่ละพื้นที่
(3) มิติพฤติกรรมคนเมือง เมื่อจำแนกตามช่วงวัย ข้อมูลเผยให้เห็นรูปแบบชีวิตที่แตกต่างกันในแต่ละเมือง เช่น วัยทำงานในกรุงเทพฯ มักเดินทางไกลเพื่อเข้าเมือง ขณะที่คนทำงานในเชียงใหม่หรือหาดใหญ่มักใช้ชีวิตอยู่ในละแวกบ้านมากกว่า ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุมักใช้ชีวิตอยู่ภายในย่านที่คุ้นเคย ทั้งนี้ข้อมูลยังสะท้อนให้เห็นโอกาสในการออกแบบเมืองให้เป็นมิตรกับทุกวัย โดยเฉพาะในบริบทของสังคมสูงวัยที่กำลังขยายตัวมากขึ้น
ต่างเมือง ต่างบุคลิก
การศึกษาครั้งนี้พบว่า เมืองใหญ่ 4 เมือง ที่เลือกมา มีเอกลักษณ์ของความเป็นเมืองแตกต่างกันไป
- เชียงใหม่ แหล่งท่องเที่ยวต๊ะต่อนยอน มีพื้นที่แหล่งงานและที่อยู่อาศัยกระจุกตัวในพื้นที่คูเมืองเก่า เช่น ย่านนิมมานเหมินทร์ ย่านช้างม่อย เป็นต้น
- ขอนแก่น ศูนย์กลางอีสานเชื่อมคมนาคม โดยพื้นที่อยู่อาศัยกระจุกตัวภายในถนนวงแหวนและกระจายตัวตามถนนหลักอย่างถนนมิตรภาพและถนนศรีจันทร์
- กรุงเทพฯ เมืองศูนย์กลางที่ไม่หลับใหล ผู้คนทำงานได้ทุกที่ ด้วยข้อมูลที่กระจายไปทั่วเมืองและกินบริเวณกว้าง สะท้อนการใช้ชีวิตในแง่มุมทางเศรษฐกิจที่แสนคึกคัก กระจุกตัวย่านพระราม 4 สุขุมวิท พระราม 9
- สงขลา เมืองฝาแฝดทั้งสงขลาและหาดใหญ่ที่โตไปด้วยกัน โดยคนทำงานกระจายตัวในเมืองสงขลาและหาดใหญ่ ย่านทำงานคือย่านเมืองที่มีแหล่งการค้าและอยู่ใกล้แหล่งคมนาคม เช่น ตลาดกิมหยง สถานีรถไฟ วัดฉื่อฉาง ฯลฯ
ข้อมูล Mobility Data ไม่เพียงสะท้อนแค่เอกลักษณ์ภายนอกที่แตกต่าง แต่สิ่งที่ทำให้เมืองแต่ละเมืองไม่เหมือนใคร คือไลฟ์สไตล์ของเมืองที่แตกต่างกันที่สะท้อนออกมาเป็นรหัสที่แตกต่างกัน
ประชากรในเมืองใหญ่ และไดนามิกของเมือง
เมื่อถอดรหัสเพื่อประเมินประชากรในแต่ละเมืองใหญ่ พบข้อมูลดังนี้
เชียงใหม่
- วัยเรียน (น้อยกว่า 17 ปี และ 18-22 ปี) 21%
- วัยทำงาน (23-59 ปี) 75%
- วัยเกษียณ (มากกว่า 60 ปี) 4%
ขอนแก่น
- วัยเรียน (น้อยกว่า 17 ปี และ 18-22 ปี) 26%
- วัยทำงาน (23-59 ปี) 70%
- วัยเกษียณ (มากกว่า 60 ปี) 4%
กรุงเทพฯ
- วัยเรียน (น้อยกว่า 17 ปี และ 18-22 ปี) 19%
- วัยทำงาน (23-59 ปี) 77%
- วัยเกษียณ (มากกว่า 60 ปี) 4%
สงขลา (เมืองหาดใหญ่)
- วัยเรียน (น้อยกว่า 17 ปี และ 18-22 ปี) 24%
- วัยทำงาน (23-59 ปี) 72%
- วัยเกษียณ (มากกว่า 60 ปี) 4%
จากการศึกษาพบว่า วัยเรียนเกินครึ่งในเชียงใหม่ และขอนแก่น กระจุกตัว อยู่ในย่านเดียวกัน เพราะที่นี่คือที่ตั้งของมหาวิทยาลัย ของภูมิภาค อย่าง ม.แม่โจ้ และ ม.ขอนแก่น
ส่วนกลุ่มคนเรียนในกรุงเทพฯ ใช้พื้นที่ กระจายตัวออกไปเป็นอาณาบริเวณกว้างกว่าอีกสามเมือง เพราะมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ มีหลากหลายกระจายไปถึงบริเวณชานเมือง
ส่วนในสงขลา ยังคงคาร์แรกเตอร์ การเป็นพื้นที่เมืองแฝด ไม่ต่างจากภาพรวมเพราะคนวัยเรียนใช้เวลาส่วนใหญ่ท่องเที่ยว ในตำบลซึ่งเป็นที่ตั้งของ ม.หาดใหญ่ ม.ทักษิณ และ ม.สงขลานครินทร์
ขณะที่วัยทำงาน เมืองหาดใหญ่นับว่าโดดเด่นมาก เพราะเป็นย่านที่คนวัยทำงาน เกือบครึ่งเมืองมาใช้เวลาพักผ่อนกันที่นี่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของเมือง ทั้งด้านพาณิชยกรรม การบริการ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ตลาด ด้านการศึกษามหาวิทยาลัยประจำภูมิภาค รวมถึงกิจกรรม ที่รองรับบริการเหล่านั้น
ขอนแก่นและสงขลา มีย่านที่คนวัยเกษียณจำนวนมากของเมือง เทกันไปอยู่ในพื้นที่นั้นมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับพื้นที่บริเวณอื่นในเมือง อย่างที่ ต.ในเมือง จ.ขอนแก่น กับ ต.หาดใหญ่ จ.สงขลา
นอกจากนี้ ขอนแก่นยังมีคนสูงวัยกระจุกตัว โดยเฉพาะบริเวณชุมชนเมืองเก่าซึ่งมีวัดสำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ วัดกลาง วัดหนองแวง และศูนย์การค้าเก่าแก่ อย่างแฟรี่พลาซ่า และกระจุกตัวบริเวณ แนวถนนศรีจันทร์ ซึ่งมีโรงพยาบาล กิจกรรมการค้า ร้านอาหาร และตลาด
ส่วนกรุงเทพฯ ก็มีพื้นที่ที่วัยเกษียณ ซึ่งส่วนใหญ่แวะเวียนไป มักซ้อนทับกับพื้นที่อยู่อาศัยแสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุทำกิจกรรมอยู่เพียง แค่พื้นที่รอบๆ ที่อยู่อาศัย
กรุงเทพฯ เร่งรีบ ไม่ยืดหยุ่น – เชียงใหม่ ขอนแก่น เหมาะพักผ่อนหย่อนใจ
อีกมิติคือการท่องเที่ยว โดยเชียงใหม่และขอนแก่น เป็นเมืองที่โดดเด่นด้านท่องเที่ยวอย่างมาก เพราะมีพื้นที่ประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงาน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้คือพื้นที่เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ คิดเป็นสัดส่วน 65.14% ซึ่งมากกว่าเมืองอื่นๆ
จากการศึกษาพบว่า ชีวิตในเมืองใหญ่ของประเทศไทยมีความเร่งรีบและไม่ยืดหยุ่น โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และสงขลา มีเวลายืดหยุ่นเพียง 4.5 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น
สัดส่วนเวลาชีวิต 24 ชั่วโมงของแต่ละเมือง
กรุงเทพฯ
- Home อยู่บ้าน 7.6 ชั่วโมง
- Work เรียน/ทำงาน 8.9 ชั่วโมง
- Visit เที่ยว 3 ชั่วโมง
- เวลาประจำ 19.5 ชั่วโมง
- เวลายืดหยุ่น 4.5 ชั่วโมง
เชียงใหม่
- Home อยู่บ้าน 7.7 ชั่วโมง
- Work เรียน/ทำงาน 8.1 ชั่วโมง
- Visit เที่ยว 1.9 ชั่วโมง
- เวลาประจำ 17.7 ชั่วโมง
- เวลายืดหยุ่น 6.3 ชั่วโมง
ขอนแก่น
- Home อยู่บ้าน 7.2 ชั่วโมง
- Work เรียน/ทำงาน 8.6 ชั่วโมง
- Visit เที่ยว 1.8 ชั่วโมง
- เวลาประจำ 17.6 ชั่วโมง
- เวลายืดหยุ่น 6.4 ชั่วโมง
เมืองสงขลา (หาดใหญ่)
- Home อยู่บ้าน 7.7 ชั่วโมง
- Work เรียน/ทำงาน 9.2 ชั่วโมง
- Visit เที่ยว 2.6 ชั่วโมง
- เวลาประจำ 19.5 ชั่วโมง
- เวลายืดหยุ่น 4.5 ชั่วโมง

UddC ชี้ ข้อมูลเชิงลึกนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายสาธารณะ
นายอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมวิเคราะห์ข้อมูลโครงการนี้ กล่าวว่า “Mobility Data ช่วยให้เข้าใจเมืองในแบบที่ข้อมูลแบบดั้งเดิมไม่อาจระบุได้ โดยเฉพาะการสะท้อนพฤติกรรมของผู้คนแบบเรียลไทม์ และสามารถนำไปต่อยอดสู่การออกแบบเมืองที่เป็นมิตรสำหรับทุกคน และผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะที่ตรงจุดมากขึ้น
“ข้อมูลจากการศึกษาครั้งนี้ทำให้เรามองเห็นภาพรวมการใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองได้อย่างละเอียด เช่น พบว่าผู้คนในกรุงเทพมหานครมีภาระเวลาในการเดินทางมากกว่าจังหวัดอื่นๆ อย่างชัดเจน ส่งผลให้ช่วงเวลาหลังเลิกงานที่ควรเป็นเวลาส่วนตัวและพักผ่อนกลับถูกลดทอนไป ขณะที่ประชาชนในเชียงใหม่และขอนแก่นสามารถใช้ชีวิตภายในรัศมีใกล้บ้านได้มากกว่า แสดงถึงความใกล้ชิดระหว่างที่อยู่อาศัย การทำงาน และพื้นที่ใช้ชีวิต” นายอดิศักดิ์ กล่าว
“ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้สูงอายุยังใช้ชีวิตในย่านละแวกบ้านเป็นหลัก และแทบไม่ปรากฏในพื้นที่สาธารณะที่ไกลออกไป ซึ่งสะท้อนถึงข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของเมืองที่ยังไม่เอื้อต่อการเข้าถึงและความปลอดภัยอย่างแท้จริง ในขณะที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว หากรูปแบบการใช้ชีวิตและการเดินทางของกลุ่มวัยเกษียณอายุดำเนินต่อไปเช่นนี้ จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ สังคม สุขภาวะอย่างไร นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงบทบาทของพื้นที่กลาง (Third Place) ที่ผู้คนใช้เพื่อสังสรรค์ พบปะ ทำกิจกรรม หรือพักจากชีวิตประจำวัน ซึ่งในบางเมืองยังมีจำนวนไม่เพียงพอ หรือมีเวลาการให้บริการที่ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมจริง” นายอดิศักดิ์ กล่าว
“ข้อมูลเชิงพฤติกรรมเหล่านี้สามารถต่อยอดเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลาเปิดสวนสาธารณะ การจัดระบบขนส่งสาธารณะในช่วงเวลาที่มีการใช้งานจริง หรือการวางแผนพื้นที่รองรับผู้สูงอายุในย่านที่มีการอยู่อาศัยหนาแน่น ไม่ใช่เพียงบนแผนที่หรือแนวคิดเชิงผังเมืองเท่านั้น เมืองที่ดีจึงไม่ควรออกแบบเพียงแค่พื้นที่ แต่ต้องออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนด้วย” นายอดิศักดิ์กล่าว
คำถามถึงผู้กำหนดนโยบาย
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดนำไปสู่การออกแบบนโยบายเพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ต่อยอดได้ โดยทีมงานได้ยกตัวอย่างแนวคิดเมือง 15 นาที และการสร้างเส้นเลือดฝอย เพื่อให้ การกิน เที่ยว เล่น จบในละเเวกบ้าน และละเเวกที่ทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้คนในเมืองที่มีช่วงเวลาชีวิตไม่ยืดหยุ่นได้มีโอกาสใช้ชีวิตได้ยืนหยุ่นในละแวกบ้านและที่ทำงานได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีคำถามไปถึงผู้กำหนดนโยบาย ไม่ว่าจะเป็น
- ผู้สูงอายุควรได้ไปที่อื่นๆ นอกจากแถวบ้านบ้างไหม ?
- คนกรุงเทพฯ ได้ใช้เวลาอยู่บ้านมากกว่านี้จะดีหรือเปล่า ?
- ขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา น่าจะพัฒนาขึ้นอย่างไร ?
- เพื่อให้คนวัยเรียนได้ออกไปเรียนรู้นอกอาณาเขตมหาวิทยาลัยบ้าง
- วันหยุดของคนเมืองจะหลากหลายและมีคุณภาพขึ้นไหม หากมีพื้นที่สาธารณะหลากหลายขึ้น ?