ThaiPublica > คอลัมน์ > ปรับธรรมาภิบาล เปลี่ยนกระบวนทัศน์ สร้างสุขภาวะทั้งระบบ ฝ่าวิกฤติโลกรวน

ปรับธรรมาภิบาล เปลี่ยนกระบวนทัศน์ สร้างสุขภาวะทั้งระบบ ฝ่าวิกฤติโลกรวน

1 เมษายน 2025


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

พวกเรากำลังเผชิญกับความทุกข์ยากลำบาก (Suffering) ในหลากหลายภูมิทัศน์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ในภูมิทัศน์ทางชีวกายภาพ เรากำลังเผชิญกับสภาวะโลกเดือด มลภาวะ และภัยพิบัติต่างๆ

ในภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ เรากำลังเผชิญกับสงครามในหลากหลายรูปแบบ ภายใต้โลกที่เริ่มไร้ซึ่งระเบียบกฎเกณฑ์

ในภูมิทัศน์ทางเทคโนโลยี เรากำลังเผชิญกับดาบสองคมของ Artificial Intelligence และ Engineering Biology

ประชาคมโลกกำลังเผชิญกับทางสองแพร่ง ระหว่างการมุ่งเน้นตนเอง มองแบบแยกส่วน มองสั้น เพื่อความอยู่รอดของตนเอง (Surviving) กับการมุ่งเน้นเชิงระบบ มองแบบองค์รวม มองยาว เพื่อความยั่งยืนของมวลมนุษยชาติ (Sustaining)

แม้พวกเราอาจจะอยู่ในห้วงเวลาที่ต้องเผชิญความทุกข์ยากลำบาก แต่ก็เป็นโมงยามที่ต้องช่วยกันขบคิดว่าจะก้าวข้ามวิกฤตต่างๆที่ถาโถม เป็นระลอกแล้วระลอกเล่านี้ได้อย่างไร

1) ธรรมชาติ X มนุษย์ X เทคโนโลยี

วิวัฒน์ของอารยธรรมมนุษย์ มีปฐมบทมาจากปฏิสัมพันธ์ของ 3 ปัจจัยหลัก คือ ธรรมชาติ X มนุษย์ X เทคโนโลยี

“ธรรมชาติ” เป็นรากฐานของชีวิตและระบบนิเวศทั้งหมด เป็นทั้งแหล่งและ ระบบสนับสนุน มนุษย์พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิตและพัฒนาเทคโนโลยี แต่ในขณะเดียวกัน การใช้ทรัพยากรที่ไม่ยั่งยืนได้ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม

“มนุษย์” เป็นทั้งผู้สร้าง ผู้ปกปักรักษา และผู้ทำลาย เป็นผู้ใช้ ผู้พัฒนา และผู้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีและธรรมชาติ การกระทำของมนุษย์สามารถช่วยฟื้นฟูธรรมชาติ รักษาหรือทำลายสมดุลของมันได้ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และระบบเศรษฐกิจล้วนมีบทบาทในการกำหนดว่าปฏิสัมพันธ์นี้จะเป็นไปในทางที่ยั่งยืนหรือไม่อย่างไร

ส่วน “เทคโนโลยี” เป็นเครื่องมือที่สร้างทั้งความก้าวหน้าและความเสี่ยงภัยให้กับมนุษย์และธรรมชาติ เทคโนโลยีช่วยให้มนุษย์สามารถปรับตัวและใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากขาดการควบคุม เทคโนโลยีก็อาจนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบ

2) ธรรมาภิบาล X โครงสร้าง X พฤติกรรม

ปฏิสัมพันธ์ของทั้ง 3 ปัจจัย -ธรรมชาติ X มนุษย์ X เทคโนโลยี – ก่อเกิดการพัฒนาต่อยอดเป็น “ธรรมาภิบาล” ซึ่งเป็นผลผลิตที่สะท้อนถึงวิวัฒน์ของอารยธรรมจากวิวัฒนาการเชิงพันธุกรรม สู่ วิวัฒนาการเชิงสังคม ด้วยการกำหนดคุณค่า กติกา และกฎเกณฑ์ในบริบทต่างๆ

บางส่วนของธรรมาภิบาลมีความเป็นสากลโดยได้รับอิทธิพลจากกฎเกณฑ์ของธรรมชาติและพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ บางส่วนถูกกำหนดโดยรูปแบบและพลวัตของเทคโนโลยี ในขณะที่บางส่วนของธรรมาภิบาลสะท้อนเงื่อนไข ความจำเพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยเชิงวัฒนธรรมและระบบคุณค่าของสังคมนั้นๆ

ธรรมาภิบาลมีบทบาทสำคัญในการกำหนด “โครงสร้าง” ซึ่งเป็นชุดของระบบและเครือข่ายที่มนุษย์พัฒนาขึ้น เพื่อให้กิจกรรมต่างๆสามารถดำเนินไปอย่างลุล่วงตามวัตถุประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของสังคมใดสังคมหนึ่ง หรือของประชาคมโลก

ด้วยเหตุนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของแต่ละประเทศจึงมีทั้งส่วนที่เหมือนและส่วนที่แตกต่าง ก่อให้เกิดความหลากหลายของโมเดลการพัฒนาประเทศในระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองโลก

ตัวโครงสร้างที่ประกอบขึ้นจากธรรมาภิบาลจะมีอิทธิพลต่อ “พฤติกรรม” ของผู้คนในสังคม ซึ่งเป็นส่วนปลายน้ำในวิวัฒน์ของอารยธรรมมนุษย์ ทั้งนี้โครงสร้างจะกำหนดกฎกติกา รูปแบบความสัมพันธ์ ตลอดจนความคาดหวัง บทบาทภารกิจ และหน้าที่ของผู้คนหรือสถาบันต่างๆที่เกี่ยวข้อง

3) กระบวนทัศน์ภายใต้ภูมิทัศน์โลกชุดใหม่

อาจถึงเวลาที่พวกเราต้องมาขบคิดกระบวนทัศน์ใหม่ภายใต้ภูมิทัศน์โลกที่เปลี่ยนไป อาทิ

  • ในภาพใหญ่ จาก Anthropocene Paradigm ที่มนุษย์มีอิทธิพลเหนือธรรมชาติ สู่ Post- Anthropocene Paradigm ที่มนุษย์จะกลับมาอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืนได้อย่างไร
  • ในมิติเชิงเศรษฐกิจสังคม-เศรษฐกิจ จาก Post-Industrial Society สู่ Post-Digital Society จะพัฒนาไปสู่ปัญญาประดิษฐ์ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-Centric AI) ได้อย่างไร
  • ในมิติทางภูมิรัฐศาสตร์ ฉากทัศน์ของ Post-Trump Regime จะเป็นอย่างไร
  • ภายใต้กระบวนทัศน์ใหม่ เราจำเป็นจะต้องมีภาพใหญ่ ผลักดันจินตภาพใหม่ พัฒนาสถาปัตยกรรมเชิงระบบ นำไปสู่การเชื่อมโยงรอยต่อ (Connecting the Dots) ระหว่างคุณธรรม ความยั่งยืน เทคโนโลยี และมนุษยชาติ**

    การ Connecting the Dots ใน 4 ชุดความคิดหลักดังกล่าว นำมาสู่การปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญใน ธรรมาภิบาล x โครงสร้าง x พฤติกรรม ภายใต้แนวคิด “การสร้างสุขภาวะทั้งระบบ” (Total System Wellbeing)

    4)การสร้างสุขภาวะทั้งระบบ

    IMD ได้ให้คำนิยาม “ความสามารถในการแข่งขัน” (Competitiveness) ไว้เป็น “ความสามารถของประเทศในการสร้างและรักษาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวและช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน”

    ดังนั้น ความสามารถในการแข่งขันจึงเป็นเพียงวิถี ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวและ สุขภาวะของประชาชน ต่างหาก ที่เป็นเป้าหมายสุดท้าย

    เวลาที่พวกเราพูดถึงสุขภาวะของประชาชน หลายต่อหลายคนพุ่งไปที่ “สุขภาวะส่วนบุคคล” (Individual Wellbeing) ที่ครอบคลุมถึงสุขภาวะทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และจิตวิญญาณ (Physical, Mental, Emotional & Spiritual Wellbeing)

      – สุขภาวะทางร่างกาย บ่งชี้ “What I Have”
      – สุขภาวะทางจิตใจ บ่งชี้ “What I Think”
      – สุขภาวะทางอารมณ์ บ่งชี้ “What I Feel”
      – สุขภาวะทางจิตวิญญาณ บ่งชี้ “What I Am”

    อย่างไรก็ดี สุขภาวะส่วนบุคคลจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หรือเกิดขึ้นได้ก็ไม่ยั่งยืน หากปราศจาก “สุขภาวะสังคม” (Social Wellbeing) ที่สะท้อนผ่านสัญญาประชาคมของการสร้าง

      – สังคมที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ (Clean & Clear Society)
      – สังคมที่มีเสรีภาพและเป็นธรรม (Free & Fair Society) และ
      – สังคมที่เกื้อกูลและแบ่งปัน (Care & Share Society)

    เป็นสัญญาประชาคม เพื่อให้ผู้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นปกติสุข เกิดสันติสุข และมีประโยชน์สุขร่วมกัน

    แต่มนุษย์ไม่ได้อยู่ร่วมกันแค่คนในสังคมเดียวกัน หรือประเทศเดียวกัน แต่ต้องอยู่ร่วมกับสังคมอื่น ประเทศอื่นในประชาคมโลก ที่สำคัญ มนุษย์จะต้องอยู่ร่วมชายคา (Co-Habitation) ร่วมรังสรรค์ Co-Creation) และร่วมวิวัฒน์ (Co-Evolution) กับ สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตอื่นๆในโลกพิภพ

    ดังนั้น นอกเหนือจากสุขภาวะส่วนบุคคล และสุขภาวะสังคม จำเป็นจะต้องสร้าง “สุขภาวะโลก” (Planetary Wellbeing) ที่สะท้อนผ่าน

      – การเติบโตที่ยั่งยืน (Sustainable Growth)
      – ความมั่งคั่งที่แบ่งปัน (Shared Prosperity)
      – การรักษ์โลก (Saved Planet)
      – สันติภาพที่ถาวร (Secured Peace)

    เพื่อสร้างความสมดุลที่ไม่เพียงระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ แต่เป็นความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติด้วยในเวลาเดียวกัน

    นี่คือ สุขภาวะทั้งระบบ (Total System Wellbeing) ที่เป็นเป้าหมายสูงสุด และเป็นรากฐานของ Long Lasting Sustainability

    5)นโยบายและวาระการขับเคลื่อนแบบองค์รวม

    ในบริบทของการพัฒนาสู่ความยั่งยืน นโยบายและวาระการขับเคลื่อนต่างๆ จึงต้องบูรณาการเป็นองค์รวม (Integrated Policy & Action Agendas) ที่ถักทอ Individual, Social และ Planetary Wellbeing เข้าด้วยกัน

    Total System Wellbeing จะนำมาสู่

    1. การเติมเต็มศักยภาพของมนุษย์แบบองค์รวม (Holistic Human Empowerment ) ผ่าน

      – รากฐานของพลังชีวิต (Foundation of Vitality) เพื่อตอบโจทย์สุขภาวะทางร่างกาย
      – ความคมชัดและความรุ่มร่วยทางปัญญา (Clarity & Cognitive Strength) เพื่อตอบโจทย์สุขภาวะทางจิตใจ
      – ความยืดหยุ่นและความสัมพันธ์เชื่อมโยง (Resilience & Connection) เพื่อตอบโจทย์สุขภาวะทางอารมณ์
      – เจตจำนง ความสว่างและความสงบจากภายใน (Purpose & Inner Peace) เพื่อตอบโจทย์สุขภาวะทางจิตวิญญาณ

    2. การปรับโครงสร้างสังคมเชิงระบบ (Social System Restructure) ที่เน้น

      – Rule of Law & Governance
      – Education for All
      – Universal Healthcare & Wellbeing
      – Economic Inclusion
      – Gender & Diversity Inclusion
      – Technology for Inclusivity
      – Smart Urban & Rural Development

    เพื่อตอบโจทย์การสร้างสังคมที่ Clean & Clear, Free & Fair และ Care & Share

    3. การปรับสมดุลระบบนิเวศโลก (Planetary System Rebalance) โดยเน้น
    – Sustainable Development Goals หรือ SDGs เป็น “Common Goals”
    – Bio-Circular & Green Economy Model หรือ BCG เป็น “Common Platform”
    – Sufficiency Economy Philosophy หรือ SEP เป็น “Common Value”
    – Economic, Social & Governance หรือ ESG เป็น “Common Thrust”

    วิกฤตต่างๆ ที่ล้วนเกิดขึ้นจากความไร้สมดุลของมนุษย์ x ธรรมชาติ x เทคโนโลยีนั้น อาจเป็น Blessing in Disguise ที่แกมบังคับให้พวกเราต้องปรับธรรมาภิบาล เปลี่ยนกระบวนทัศน์ และสร้างสุขภาวะทั้งระบบให้เกิดขึ้น เพื่อก้าวข้าม Suffering Stageไปสู่ Sustaining Stage ได้อย่างแท้จริง

    **อ่านบทความในไทยพับลิก้าเพิ่มเติม “Connect the Dots: รอยต่อคุณธรรม ความยั่งยืน เทคโนโลยีและมนุษยชาติ”