ThaiPublica > คอลัมน์ > เปลี่ยนการศึกษาเก่าในโลกใหม่ (2): ห้องเรียนในโลกจริงที่ทดลองใช้แล้ว 3 ปี

เปลี่ยนการศึกษาเก่าในโลกใหม่ (2): ห้องเรียนในโลกจริงที่ทดลองใช้แล้ว 3 ปี

17 เมษายน 2025


พิทวัส นามนวด นักวิจัยนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา ทีดีอาร์ไอ

จากบทความในตอนที่ 1[เปลี่ยนการศึกษาเก่าในโลกใหม่ (1): ว่าที่หลักสูตรใหม่ เรียนไปให้ใช้ได้จริง] ที่ได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ กับหลักสูตรฉบับปัจจุบัน ทั้งด้านเป้าหมายการเรียนรู้ที่ดีขึ้น คำแนะนำการสอนที่นำบริบทจริงมาใช้ และจำนวนชั่วโมงเรียนที่มีความยืดหยุ่น ในบทความนี้ คณะวิจัยจะชวนมาดูบทเรียนของโรงเรียนที่กำลังทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยจะนำเสนอความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังจากการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะใน 3 ประเด็น ได้แก่ หลักสูตรสถานศึกษา การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในห้องเรียน และผลลัพธ์ของนักเรียนจากการใช้หลักสูตร

ทิศทางใหม่ของหลักสูตรสถานศึกษา

หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะได้นำสมรรถนะมาเป็น “เป้าหมายใหม่” ในการพัฒนาผู้เรียน เน้นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่อ้างอิงสถานการณ์จริงเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมาย ผู้เรียนที่เป็นผลผลิตของหลักสูตรจะสามารถแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ เรียนไปใช้งานเป็น รู้เท่าทันโลก และสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม และความก้าวหน้าทางวิทยาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะยัง “ลดเวลาเรียน แต่เพิ่มเวลารู้”

“ลดเวลาเรียน” โดยมีเวลาเรียนตลอดหลักสูตรที่ลดลงเฉลี่ยถึง 808 ชั่วโมง หรือเกือบ 1 ปีการศึกษา ทำให้นักเรียนมีเวลาส่วนตัวในการทบทวนเนื้อหาในบทเรียนที่ไม่เข้าใจ อีกทั้งยังเพิ่มเวลาการเตรียมการสอนของครู ทำให้ครูสามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“เพิ่มเวลารู้” โดยเพิ่มความยืดหยุ่นของการจัดสรรเวลาเรียนของสถานศึกษา หลักสูตรสถานศึกษาจึงมีความหลากหลาย เนื่องจากสถานศึกษาสามารถพัฒนาโครงสร้างเวลาเรียนที่ตอบโจทย์ลักษณะผู้เรียนของตนได้มากยิ่งขึ้น จึงทำให้นักเรียนมีโอกาสได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตตามจังหวะที่เหมาะสมของตนเอง

จากห้องเรียนสู่สนามทดลองกับการเรียนรู้ผ่านการแก้ปัญหาในชีวิตจริง

หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ ยังตอบโจทย์การพัฒนาผู้เรียนให้สามารถแก้ปัญหาในชีวิตจริงได้ผ่านการเรียนรู้แบบ “บูรณาการ” เฉลี่ยมากถึงร้อยละ 30 ของชั่วโมงเรียนรวมตลอดหลักสูตร การเรียนรู้แบบบูรณาการมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาสมรรถนะ เพราะปัญหาในชีวิตจริง ไม่ได้บอกเราว่าต้องใช้เรื่องไหนหรือศาสตร์ใดในการแก้ปัญหา

จากการลงไปสำรวจโรงเรียนนำร่องที่ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ พวกเราพบตัวอย่างที่น่าสนใจของชั่วโมงบูรณาการคละชั้นระหว่างระดับชั้น ป.1 ถึง ป.3 ภายใต้การนำของครู 3 คน ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง

โรงเรียนนี้นำ “ต้นมะขาม” ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรในชุมชน มาใช้เป็น “โจทย์” ให้นักเรียนสำรวจ และศึกษา ส่วนประกอบต่าง ๆ โดยนักเรียนที่ถูกแบ่งออกเป็นกลุ่ม ต้องระบุส่วนต่าง ๆ ของต้นมะขามจากภาพที่ได้รับ และระดมสมองหาวิธีการนำส่วนเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์จากส่วนประกอบของมะขามตามโจทย์ที่ได้รับมอบหมาย

ครูทั้ง 3 คนปรับบทบาทจากการเป็น “ครูหน้าห้อง” ที่คอยบอกสอน เป็น “ครูหลังห้อง” ที่ทำหน้าที่เพียงอำนวยความสะดวกการเรียนรู้ที่มีนักเรียนเป็นคนนำตนเอง ครูเพียงแต่เดินสำรวจนักเรียนในแต่ละกลุ่ม ให้คำแนะนำ สร้างแรงบันดาลใจ และใช้คำถามที่ชวนให้ขบคิดเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนวิเคราะห์โจทย์ของตนได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกหัวข้อที่นักเรียนสนใจสำหรับการเรียนในชั่วโมงถัดไป

นักเรียนก็ปรับบทบาทจากการเป็น “ผู้ฟัง” สู่การเป็น “ผู้นำ” นักเรียนนำการเรียนรู้ของตนเองผ่านการสำรวจความรู้เดิม และเลือกหัวข้อศึกษาที่นักเรียนให้ความสนใจ นักเรียนร่วมปฏิบัติจากโจทย์ที่ท้าทายในโลกจริง ซึ่งกระตุ้นนักเรียนให้เชื่อมโยงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และสังคมศึกษา อีกทั้งยังพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น ความคิดสร้างสรรค์ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ทักษะการทำงานเป็นทีมผ่านการทำงานกลุ่ม และทักษะการสื่อสารผ่านการนำเสนอผลงานต่อหน้าชั้นเรียน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะที่โรงเรียนเลือกใช้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการดังกล่าวประสบผลสำเร็จ ด้วยเป้าหมายการเรียนรู้ในรูปแบบช่วงชั้นและโครงสร้างเวลาเรียนที่มีความยืดหยุ่น ครูต่างชั้นต่างวิชาจึงสามารถจัดการเรียนรู้ร่วมกันในลักษณะของการคละชั้นได้

การจัดการสอนในรูปแบบคละชั้นยังเปิดโอกาสให้ครูสามารถแบ่งหน้าที่กันเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีขึ้นให้แก่นักเรียนและยังเป็นพื้นที่ให้ครูได้เกิดการการสอนร่วมกัน

ปั้นนักเรียนให้มีคุณลักษณะที่ดีขึ้น

ในส่วนของระดับการมีส่วนร่วมของผู้เรียน แนวทางการจัดการเรียนรู้เชิงรุกโดยใช้โจทย์ที่ท้าทายจากชีวิตจริงที่ครูเลือกใช้มีส่วนสำคัญต่อระดับการมีส่วนร่วมของนักเรียนที่สูงมากถึงร้อยละ 90 สะท้อนผ่านการตั้งใจฟังขณะที่ครูอธิบาย การร่วมทำกิจกรรมอย่างกระตือรือร้น การตั้งใจฟังการนำเสนอของเพื่อน การอาสาที่จะทำกิจกรรมหรือตอบคำถาม รวมถึงการซักถามครูเมื่อมีข้อสงสัย

ครูและผู้บริหารสถานศึกษายังสะท้อนด้วยว่า นักเรียนมีคุณลักษณะที่ดีขึ้นภายหลังจากที่โรงเรียนได้ปรับมาใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่เห็นเด่นชัดคือ มีความกระตือรือร้น มีความกล้าแสดงออก มีความเป็นผู้นำ มีจิตอาสา มีส่วนร่วมกับการทำกิจกรรมในห้องเรียน และมีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่นมากยิ่งขึ้น

โดยสรุปแล้ว หลักสูตรฐานสมรรถนะช่วยลดข้อจำกัดในแง่ของเป้าหมายการเรียนรู้ และโครงสร้างเวลาเรียนที่ขาดความยืดหยุ่นของหลักสูตรฉบับปัจจุบันได้ ซึ่งทำให้การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และการประเมินของครูเอื้อต่อการพัฒนาสมรรถนะของนักเรียนมากยิ่งขึ้น ทำให้นักเรียนสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้จริงได้ รวมถึงสร้างคุณลักษณะที่ดีให้เกิดแก่นักเรียน

อย่างไรก็ตาม การปรับใช้หลักสูตรให้ประสบความสำเร็จในทางปฏิบัติต้องอาศัยระบบการจัดการศึกษาที่ส่งเสริม และเกื้อหนุนการใช้งานของหลักสูตรด้วยเช่นกัน

ในบทความต่อไป เปลี่ยนการศึกษาเก่าในโลกใหม่ (3): หลักสูตรใหม่ บนทางแยก คณะวิจัยจะนำเสนอบทเรียนของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ระบบการจัดการศึกษาและสนามปฏิบัติการที่โรงเรียนนำร่องกำลังทดลองใช้หลักสูตรนี้อยู่

บทความนี้ เนื้อหาส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาของทีดีอาร์ไอ ในงาน Assessing Competency-based Education (CBE) Implementation in Pilot Schools in Thailand สนับสนุนโดย UNICEF Thailand