ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Research Reports > EIC > ทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ ไทยโดนหนัก 36% เสี่ยงต่อผลกระทบรุนแรงจากการค้าโลกจะหดตัวลง

ทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ ไทยโดนหนัก 36% เสี่ยงต่อผลกระทบรุนแรงจากการค้าโลกจะหดตัวลง

5 เมษายน 2025


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) วิเคราะห์“ทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ ไทยโดนหนัก 36% และเสี่ยงต่อผลกระทบรุนแรงจากการค้าโลกที่จะหดตัวลง”

  • SCB EIC มองทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ชุดใหญ่เมื่อ 2 เม.ย. อาจทำให้อัตราภาษีนำเข้าที่แท้จริง (Effective Tariff Rate) ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 18 – 22% ส่งผลกดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการค้าโลกสูง รวมทั้งการแข่งขันการค้า
  • ไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนี้สูงถึง 36% เป็นอันดับ 20 จาก 185 ประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ ทั่วโลก และเป็นอันดับ 9 ของเอเชีย ไทยโดนขึ้นภาษีนำเข้าสูงกว่าค่าเฉลี่ยภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ ขึ้นกับทั่วโลก (16%) ค่าเฉลี่ยของประเทศเอเชีย (21%)
    เป็นผลจากการที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าไทยสูง
  • SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า ทั้งผลทางตรงจากการที่ไทยส่งออกตลาดสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับ 1 และผลทางอ้อม จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน รวมถึงการแข่งขันทางการค้าที่จะสูงขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศหลังทั่วโลกเร่งหาตลาดใหม่ ตลอดจนภาวะ Wait & See ของการลงทุนในไทย
  • รัฐบาลไทยควรเร่งเจรจาลดผลกระทบภาษีชุดใหญ่นี้ โดยเน้นสิ่งที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องสหรัฐฯ ระบุไว้ในรายงานอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศของ United States Trade Representative (USTR) เดือนมีนาคม 2025
    ใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ ลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ลดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และแก้ปัญหาสำคัญอื่น ๆ เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิเสรีภาพแรงงาน โดยพิจารณาผลประโยชน์ในภาพรวมและมีกลไกดูแลผลกระทบของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเหมาะสม
  • …….

    เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2025 ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ โดยจะขึ้นภาษีนำเข้าขั้นต่ำจากทุกประเทศ 10% (Universal Tariffs) กับสินค้าทุกประเภท เริ่มมีผล 5 เม.ย. พร้อมประกาศขึ้นภาษีเพิ่มเติม (Reciprocal Tariffs) กับ 60 ประเทศ/กลุ่มเศรษฐกิจที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ สูง เริ่มมีผล 9 เม.ย. ในอัตราภาษีที่แตกต่างกัน ขึ้นกับขนาดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศนั้น โดยเก็บเพิ่มอัตราสูงสุดที่ 50%

    สูตรคำนวณ Reciprocal Tariffs ของทำเนียบขาวสหรัฐฯ:

    Discounted Reciprocal Tariffs ของประเทศ A = 0.5 * (มูลค่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศ A)/(มูลค่าการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จากประเทศ A)

    Reciprocal Tariffs ที่ประกาศกับประเทศต่างๆ คำนวณจากสูตรนี้ ซึ่งถูกนำมาใช้วัดความเสียเปรียบของสหรัฐฯ จากการถูกกีดกันการค้าทุกรูปแบบ ซึ่งโดยรวมแล้วจะมีผลทำให้อัตราภาษีนำเข้าที่แท้จริงของสหรัฐฯ (Effective Tariff Rate) เพิ่มขึ้นมากถึง 18 – 22% (เทียบประมาณการเดิมของ SCB EIC ที่ 11.3%) SCB EIC มองว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกมากขึ้นอีก

    ในการขึ้นภาษีชุดใหญ่ของสหรัฐฯ รอบนี้ สหรัฐฯ เก็บภาษีประเทศในเอเชียสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก หากรวม Reciprocal Tariffs, Universal Tariffs และภาษีเฉพาะเจาะจง (Specific Tariffs) รายประเทศที่สหรัฐฯ เพิ่งประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากจีน 10% ติดต่อกัน 2 ครั้ง รวมเป็น 20% ในช่วงต้นปีนี้ จะพบว่า สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าประเทศเอเชียเพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากถึง 21% (ค่าเฉลี่ยโลก 16%) สาเหตุหลักเพราะประเทศเอเชียส่วนใหญ่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ มาก โดยเฉพาะประเทศอาเซียน ซึ่งเฉลี่ยแล้วโดนสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีมากถึง 33% (รูปที่ 1 ซ้าย) ประเทศเอเชียจึงได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ สูงกว่า สำหรับเม็กซิโกและแคนาดา แม้จัดว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงเพราะพึ่งพาสหรัฐฯ สูงและถูกสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีเฉพาะเจาะจงเอาไว้สูงถึง 25% ในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะสินค้าส่วนมากยังอยู่ภายใต้ข้อตกลง USMCA ซึ่งยังได้รับการยกเว้นภาษีนี้อยู่

    เหตุใดไทยอยู่กลุ่มประเทศโดนภาษีสูง ?

    สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีประเทศในทวีปเอเชียสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยหากพิจารณาทั้ง Reciprocal Tariffs และ Universal Tariffs ด้วยแล้ว พบว่าสหรัฐฯ ได้ตั้งกำแพงภาษีกับประเทศในเอเชียเพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากถึง 21% เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 16% เนื่องจากอัตรากำแพงภาษีตอบโต้ครั้งนี้ของสหรัฐฯ นั้นคำนวณมาจากการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศต่าง ๆ ซึ่งสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับประเทศในทวีปเอเชียอยู่มาก

    สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสำหรับไทยในเกณฑ์สูงอยู่ที่ 36% ติดอันดับ 20 จาก 185* เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลก และเป็นอันดับ 9 ของเอเชีย รองจากประเทศกลุ่ม CLMV ศรีลังกา อิรัก และ บังกลาเทศ (รูปที่ 1) อีกทั้งเกณฑ์ภาษีที่สหรัฐฯ ใช้กับไทยยังมากกว่าค่าเฉลี่ยโลก ค่าเฉลี่ยเอเชีย และค่าเฉลี่ยอาเซียน (รูปที่ 1 ซ้าย) เนื่องจากสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยสูง (รูปที่ 1 ขวา) โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ของไทย

    สหรัฐฯ ประเมินว่าการขาดดุลการค้ากับไทยที่อยู่ในระดับสูงเช่นนี้เป็นผลจากหลายปัจจัย เช่น ไทยตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ สูงเฉลี่ย 9.8% ขณะที่สหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทยเพียง 3.3% โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งไทยเก็บอัตราภาษีสหรัฐฯ เฉลี่ยสูงถึง 27% รวมถึงไทยยังใช้มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะสินค้าเกษตร นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังคำนึงถึงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา มาตรการกีดกันการค้าในภาคบริการ สิทธิเสรีภาพของแรงงานอีกด้วย

    *จำนวน 185 เศรษฐกิจ ยังไม่ได้รวมเม็กซิโกและแคนาดา เนื่องจาก ในปัจจุบันสองประเทศนี้ยังได้รับยกเว้นตามข้อตกลง USMCA อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงจะต้องเสียภาษีเพิ่มเติมที่อัตรา 25% แต่สินค้าพลังงานและโพแทชที่นำเข้าจากแคนาดาจะได้รับอัตราภาษีที่ 10%

    SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบสูงจากนโยบายภาษีของทรัมป์ 2.0 ทั้งผลกระทบทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการส่งออก สาเหตุจาก

    ผลกระทบทางตรง: ส่งออกไทยพึ่งสหรัฐฯ สูงถึง 18% สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 18.3% ในปี 2024 เพิ่มขึ้นมากจาก 12.7% ในปี 2019 หากเทียบกับประเทศในโลกที่มี GDP ใหญ่สุด 30 อันดับแรกและกลุ่มประเทศอาเซียน พบว่า ไทยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ต่อ GDP ค่อนข้างสูงกว่าอยู่ที่ราว 10% ขณะที่ไทยเองก็โดน Reciprocal rate ในอัตราสูงกว่าด้วยเช่นกัน (รูปที่ 2) ไทยจึงมีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูงผ่าน 2 ช่องทาง คือ

    1) Substitution Effect : สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ไทยสูงถึง 36% ขณะที่ประเทศต่าง ๆ โดนอัตราภาษีน้อยกว่ามาก (ส่วนมากถูกเก็บภาษีแค่ 10%) จึงอาจทำให้สหรัฐฯ หันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่แข่งที่ขายราคาถูกกว่าไทย

    2) Income Effect : สหรัฐฯ อาจนำเข้าสินค้าจากไทยและคู่ค้าอื่น ๆ น้อยลง เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ เองก็อาจชะลอลงมากจากนโยบายกำแพงภาษีของตัวเองครั้งนี้

    หากดูผลกระทบรายหมวดสินค้าส่งออก พบว่ากว่า 8 ใน 10 สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบมาก เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (8.2% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด) พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มากถึง 42.9% ของการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ทั้งหมด หรือผลิตภัณฑ์ยาง โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มากถึง 31.6% และ 58.5% ของการส่งออกสินค้ากลุ่มนั้นๆ ทั้งหมด ตามลำดับ (รูปที่ 3)

    ผลกระทบทางอ้อม: ส่งออกไทยกระจุกตัวในประเทศที่ถูกตั้งกำแพงภาษีสูง

    นอกจากไทยส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูงแล้ว ไทยยังส่งออกไปยังตลาดจีน อาเซียน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปในสัดส่วนที่สูงเช่นกัน ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านี้ถูกตั้งกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ ในอัตราสูงอยู่ที่ 54% 33% 24% 20% ตามลำดับ เทียบกับกำแพงภาษีที่สหรัฐ เก็บทั่วโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 16% ดังนั้นการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยกลุ่มนี้ จะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อความต้องการสินค้าส่งออกไทยผ่านหลายช่องทาง คือ

      1) ความต้องการสินค้าขั้นปลายของไทยลดลง เช่น เศรษฐกิจจีน (ตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย) คาดว่าจะชะลอตัวลงจากมาตรการกีดกันการค้ารอบนี้ ย่อมส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าไทยลดลงตาม โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ผักและผลไม้ อาหาร เครื่องดื่ม ซึ่งจีนเป็นผู้นำเข้าหลัก (เช่น ทุเรียนไทยส่งออกไปจีนในปี 2567 มีสัดส่วนมากถึง 97.4% ของมูลค่าการส่งออกทุเรียนไทยทั้งหมด)

      2) ความต้องการสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางของไทยในห่วงโซ่การผลิตลดลง เช่น ไม้ยางพารา ยางพารา ยางสังเคราะห์ เม็ดพลาสติก (โดยเฉพาะกลุ่ม Styrene และ Ethylene) และอะลูมิเนียมรีด (สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์หรือกระป๋องเครื่องดื่ม) ซึ่งพึ่งพาการส่งออกไปตลาดจีนสูง อาจถูกกระทบหากจีนส่งออกไปสหรัฐฯ น้อยลง

      3) การแข่งขันในตลาดส่งออกโลกสูงขึ้น บางประเทศอาจเผชิญปัญหาส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ได้น้อยลง แต่กำลังการผลิตในประเทศยังมีอยู่มาก ทำให้ต้องระบายสินค้าออกสู่ตลาดอื่นๆ มากขึ้น

      4) บางประเทศคู่ค้าอาจหันไปนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพื่อลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ จึงอาจนำเข้าสินค้าไทยน้อยลง

    ผลกระทบทางอ้อม: ภาวะ Wait & See ของการลงทุนในไทยจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีสหรัฐฯ ทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งที่ผ่านมาการลงทุนจากจีนส่วนหนึ่งเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อส่งออกสินค้าไปขายตลาดสหรัฐฯ และหลีกเลี่ยงการกีดกันสินค้าส่งออกจากจีนโดยตรง รวมถึงการลงทุนในประเทศที่อาจ Wait & See โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าไปตลาดสหรัฐฯ ที่อาจรอดูความชัดเจนของการเจรจาการค้าของรัฐบาลไทยเพื่อลดผลกระทบจากนโยบายภาษีครั้งนี้

    ความไม่แน่นอนของภาษีตอบโต้ยังสูง ขึ้นกับเจรจา

    SCB EIC ประเมินอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ไทยและประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ ทั่วโลกต้องเผชิญจะมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ทำเนียบขาวประกาศในวันที่ 2 เมษายน 2025 โดยในประกาศของทำเนียบขาวระบุชัดว่า ประธานาธิบดีทรัมป์อาจลดภาษีตอบโต้ให้ได้ หากประเทศนั้น ๆ สามารถแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางการค้ากับสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นได้ เช่น พยายามลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยให้สหรัฐฯ ลดอัตราภาษี Reciprocal Tariffs ได้บ้าง สำหรับประเทศนั้น ๆ ได้บ้าง อย่างไรก็ดี การเจรจาขอลด Universal Tariffs และ Specific Tariffs รายสินค้าจะดำเนินการได้ยากกว่า เพราะวัตถุประสงค์ของสหรัฐ ต้องการประกาศเป็นอัตราภาษีนำเข้าส่วนเพิ่มขั้นต่ำ และเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศบางประเภทโดยเฉพาะ

    แม้อัตราภาษีที่แท้จริงที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจริงกับประเทศไทยอาจลดลงหลังการต่อรองลดผลกระทบไม่ให้รุนแรงมาก SCB EIC ประเมินว่า การประกาศสงครามการค้าของสหรัฐฯ ครั้งนี้จะเป็นความเสี่ยงด้านต่ำสำคัญของเศรษฐกิจไทย จะส่งผลกดดันให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2025 ปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่ 2.4% อย่างมีนัยสำคัญ

    ประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญเร่งเจรจาลดผลกระทบครั้งนี้ โดยอาจเน้นจาก 3 ประเด็นหลักของไทย ซึ่งสะท้อนได้จากรายงานอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศของ United States Trade Representative (USTR) เผยแพร่เดือน มีนาคม 2025 ได้แก่ 1) ลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ โดยนำเข้าสินค้าบางประเภทจากสหรัฐฯ มากขึ้น หรือ ลดอัตราภาษีนำเข้าบางสินค้าของสหรัฐฯ 2) ลดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น เกณฑ์ห้ามนำเข้าสินค้าบางชนิด เกณฑ์มาตรฐานสินค้าเกษตร 3) แก้ไขปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ และไทยเองก็ได้ประโยชน์ด้วย เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิเสรีภาพของแรงงาน ตลอดจนการพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในสหรัฐฯ

    อย่างไรก็ดี การเจรจาต้องคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของประเทศอย่างสมดุล โดยนอกเหนือจากประเด็นจาก USTR ที่ระบุไว้ ไทยควรคำนึงถึงกลไกเพื่อดูแลผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการในภาคส่วนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา ทั้งการเตรียมตัวรับมือต่อการไหลเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศ ผ่านการบังคับใช้กฎหมายด้านคุณภาพสินค้า แนวทางป้องกันการทุ่มตลาดและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งพิจารณาขยายความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเพื่อขยายตลาดและโอกาสการค้า การลงทุนและสร้างห่วงโซ่การผลิตใหม่ได้อย่างเข้มแข็ง

    ทั้งนี้ SCB EIC จะติดตามแผนการรับมือของรัฐบาลไทย ท่าทีของสหรัฐฯ และมาตรการตอบสนองของประเทศต่าง ๆ หลังสหรัฐฯ ประกาศอิสรภาพจากความไม่เป็นธรรมทางการค้าครั้งใหญ่รอบนี้ เพื่อประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยละเอียดต่อไป

  • ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้กว่า 180 ประเทศ ยกระดับสงครามการค้าครั้งใหญ่