รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีตอบโต้กับเวียดนาม 46% บวกกับภาษีพื้นฐานอีก 10% ทำให้สินค้าที่ติดป้าย “Made in Vietnam” กลายเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาขึ้นมาทันที รองเท้า Nike ขายในอเมริกาเดิมราคาคู่ละ 100 ดอลลาร์ คงจะมีราคาแพงขึ้น เพราะ 30 ปีที่ผ่านมา Nike ลงทุนเพื่ออาศัยเวียดนามเป็นศูนย์กลางการผลิตรองเท้า มากกว่า 50% ของทั้งหมด
Nike เป็นตัวอย่างบริษัทที่อาศัยเทคโนโลยีการผลิตก้าวหน้าคือจากสหรัฐฯ บูรณาการกับการผลิตต่อหน่วยที่มีต้นทุนต่ำ คือจากประเทศกำลังพัฒนา ปี 1982 Nike อาศัยการผลิตรองเท้าจากเกาหลีใต้ถึง 70% ปี 2002 ทำการผลิตในจีน 40% การผลิตในเวียดนามเริ่มต้นในปี 1995 เมื่อถึงปี 2023 การผลิตในเวียดนามเพิ่มเป็น 50% นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า ตัวอย่างของ Nike ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐฯที่มีเทคโนโลยีการผลิตมีประสิทธิภาพมากสุด ไม่จำเป็นจะต้องผลิตสินค้าสำเร็จรูป และส่งออกอย่างรองเท้ากีฬา
อเมริกากลายเป็นตลาด “หลังม่านเหล็ก”
โรงงานผลิตรองเท้ากีฬา Nike เป็นนักลงทุนต่างประเทศกลุ่มแรก ที่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม และมีส่วนสร้างอุตสาหกรรมการส่งออกและการเติบโตเศรษฐกิจ Nike มีโรงงานทำรองเท้า 5 แห่ง ทุกวันนี้ Nike มีโรงงานซับพลายเออร์ผู้ผลิต 130 แห่งในเวียดนาม ที่ผลิตรองเท้า เสื้อผ้า และอุปกรณ์กีฬาของ Nike
นักวิเคราะห์ Global Supply Chain ของ S&P Global Market Intelligence กล่าวกับ Financial Times ว่า การย้ายห่วงโซ่อุปทานของรองเท้า จะใช้เวลา 2 ปี บริษัทต่างๆมักมีแผนการย้ายห่วงโซ่ดั่งกล่าวในวงจร 5 ปี ส่วนนักวิเคราะห์ของ Deutsche Bank กล่าวว่า เม็กซิโก บราซิล ตุรกี และอียิปต์ สามารถเป็นทางเลือกแทนเวียดนาม ในการเป็นศูนย์กลางการผลิต
แต่นักวิเคราะห์ Deutsche Bank กล่าวอีกว่า ในสหรัฐฯ 99% ของรองเท้ามาจากการนำเข้า ทำให้ตลาดสหรัฐฯคล้ายกับตลาดสินค้าของอดีตสหภาพโซเวียต คนรัสเซียสมัยนั้นต้องเสียเงินพิเศษในจำนวนมากกว่าราคาปกติ เมื่อซื้อกางเกงยีนลีวาย จากคนต่างชาติที่นำเข้ามา “เรากำลังอยู่หลังม่านเหล็ก”
กระทบเป้าหมายเป็น “ชาติพัฒนาแล้ว”
นโยบายภาษีทรัมป์กระทบอย่างมากต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ต้องอาศัยการส่งออกเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ การส่งออกของเวียดนามไปสหรัฐฯ มีสัดส่วน 30% ของ GDP แต่ถูกเก็บภาษีทรัมป์ 46% ส่วนกัมพูชา การส่งออกไปสหรัฐฯมีสัดส่วน 25% ถูกเก็บภาษีทรัมป์ 49%
เวียดนามภายใต้การนำของโต ลัม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2045 เวียดนามจะเป็นประเทศรายได้สูง เศรษฐกิจมีพื้นฐานจากความรู้และเทคโนโลยี โดยอาศัยการเติบโตของเศรษฐกิจ ที่ปีหนึ่งขยายตัวมากกว่า 8% การส่งออกของเวียดนามไปสหรัฐฯ คือหัวใจสำคัญของแผนการบรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจนี้
เวียดนามประกาศว่า จะยกเลิกภาษีนำเข้าทั้งหมดแก่สินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ แต่รัฐบาลทรัมป์แสดงท่าทีไม่ประณีประนอม ปีเตอร์ นาวาร์โร (Peter Navarro) ที่ปรึกษาด้านการค้าและอุตสาหกรรมการผลิตของทรัมป์ให้สัมภาษณ์ว่า ข้อเสนอภาษีอัตราศูนย์ของเวียดนาม ไม่มีความหมายอะไร เพราะไม่ได้แก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ โดยเวียดนามขายให้สหรัฐฯทุก 15 ดอลลาร์ แต่จะซื้อจากสหรัฐฯแค่ 1 ดอลลาร์ นอกจากนี้ 1 ใน 3 การส่งออกของเวียดนาม เป็นสินค้าจีนที่สวมสิทธิ์การส่งออกจากเวียดนาม

สิ้นสุด “ยุคมหัศจรรย์เศรษฐกิจ”
Dani Rodrik นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาของฮาร์วาร์ด เขียนบทความชื่อ The Age of Miraculous Growth Is Over โดยกล่าวว่า เป็นเวลากว่า 70 ปี ประเทศจำนวนมากเดินตามเส้นทางการพัฒนาแบบเดียวกัน ที่ออกจากความยากจน คือผลิตสินค้า และขายในต่างประเทศ ยุทธศาสตร์นี้รู้จักกันในนาม “การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก” ยุทธศาสตร์นี้มาจากการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ได้รับแรงหนุนจากการเปิดกว้างเศรษฐกิจโลก ที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำ นับจากหลังสงครามโลกเป็นต้นมา
โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจที่ประเทศยากจนอาศัยการเติบโตสู่ความมั่งคั่ง บุกเบิกโดยเสือเศรษฐกิจเอเชีย 4 ประเทศ คือไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ในทศวรรษ 1950 ประเทศเหล่านี้ยากจนเหมือนประเทศแอฟริกา มีเศรษฐกิจอาศัยการเกษตรและแร่วัตถุดิบ การค้าทำให้ 4 ประเทศสามารถพัฒนาความชำนาญในอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อขายในตลาดโลก เช่นของเด็กเล่น เสื้อผ้า เหล็ก รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ การผลิตส่งออกทำให้เข้าถึงเทคโนโลยีและเครื่องจักรกล
จีนพัฒนาเลียนแบบเสือเศรษฐกิจเอเชีย และปรับปรุงยุทธศาสตร์การผลิตเพื่อส่งออก จนกลายเป็นมหาอำนาจผู้ประกอบการผลิตของโลก ช่วยปรับปรุงชีวิตคนจีน 800 ล้านคนออกจากความยากจน และก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของสหรัฐฯ หลังจากค่าแรงจีนสูงขึ้น การลงทุนต่างประเทศย้ายมาเวียดนาม ซึ่งอาจเป็นประเทศสุดท้ายที่ประสบความสำเร็จจากโมเดลการผลิตเพื่อส่งออก
Dani Rodrik กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่มั่งคั่งขึ้นมา ของประเทศที่ใช้ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเพื่อส่งออก ทำให้ประเทศยากจนพยายามเลียนแบบ แต่นับจากทศวรรษ 1990 การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ทำให้ยุทธศาสตร์นี้ได้ผลน้อยลง การผลิตแบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และการพิมพ์ 3 มิติ (3-D Printing) ทำให้เครื่องจักรเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ ลดสิ่งที่เป็นความได้เปรียบของประเทศยากจน ที่เคยมีแรงงานอยู่มากมาย
ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศที่เติบโตรวดเร็ว ก็ไม่ได้เกิดจาการผลิตเพื่อส่งออก ในอดีตเคยคาดการณ์กันว่า เอธิโอเปียจะเป็นคลื่นลูกใหม่ของประเทศที่อาศัยการส่งออกเป็นตัวนำ มีการดึงจีนเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ในที่สุด การจ้างงานจากโรงงานการผลิตมีไม่มาก เอธิโอเปียจึงหันไปสร้างการเติบโต จากการลงทุนในระบบขนส่ง และการปรับปรุงระบบชลประทาน ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีพลังชีวิตชีวามากขึ้น
เอธิโอเปียอาจมีปัญหาการเข้าถึงตลาดโลก ทำให้ไม่สามารถเป็นยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมการผลิตในแอฟริกา แต่เม็กซิโกเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นประเทศที่มีชายแดนติดตลาดใหญ่สุดของโลก หลังข้อตกลง NAFTA การลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก แต่ประโยชน์ที่ได้จำกัดอยู่ในภาคส่วนแคบๆของเม็กซิโก ขณะที่ภาคส่วนเศรษฐกิจอื่นๆชะงักงัน การเติบโตโดยรวมต่ำ เพราะโรงงานทำการผลิตสนองตลาดสหรัฐฯ แต่ห่วงโซ่การผลิตไม่ได้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจท้องถิ่น ทำให้ไม่สามารถสร้างงานมากพอ

โมเดลใหม่การพ้น “ดับดักรายได้ฯ”
Dani Rodrik กล่าวถึงตัวอย่างเม็กซิโกว่า หากประเทศที่สามารถเข้าถึงตลาดสหรัฐฯได้อย่างไม่มีจำกัด แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จในการยกระดับเศรษฐกิจโดยรวม แสดงให้เห็นว่า การส่งออกสินค้าไปประเทศร่ำรวย อาจไม่ใช่โอกาสทองของประเทศกำลังพัฒนาอีกต่อไป
ถ้าไม่ใช่การส่งออกแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาจะอาศัยอะไร มายกระดับฐานะเศรษฐกิจตัวเองให้สูงขึ้น Dani Rodrik เสนอว่า การที่จะจุดประกายไฟการเติบโตขึ้นมา ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องทุ่มเทมาจัดการปัญหาท้าทาย ที่ฝังลึกที่ตัวเองประสบอยู่ คือการพัฒนาตลาดภายในประเทศ พัฒนาคนชั้นกลาง และพัฒนาภาคบริการ ที่จะสร้างงานที่ดีมีคุณภาพขึ้นมา
แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิตยังมีความสำคัญ ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องยกระดับภาคบริการในประเทศ เช่น การค้าปลีก งานบริการด้านการดูแล อุตสาหกรรมบริการต้อนรับ (hospitality) ที่มีงานอยู่มากมาย ปัญหาท้าทายของประเทศกำลังพัฒนาคือการสร้างเศรษฐกิจคนชั้นกลาง โดยการสร้างงานในภาคบริการที่ดีกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่า สิ่งนี้เป็นภาระที่น่ากังวล เพราะอดีตที่ผ่านมา ผลิตภาพของงานบริการในประเทศจะก้าวเดินช้ากว่าผลิตภาพงานอุตสาหกรรมการผลิต
สรุปแนวคิดของ Dani Rodrik ในยุคสิ้นสุดโลกาภิวัตน์ “โมเดลการพัฒนาแบบใหม่” ของประเทศกำลังพัฒนา ประกอบด้วย
(1)อุตสาหกรรมการผลิตยังมความสำคัญ แต่การส่งเสริมสนับสนุนการลงทุน จะต้องทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโดยรวมมากขึ้น เช่นการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในประเทศ
(2)การสิ้นสุดยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้ประเทศกำลังพัฒนามีโอกาสที่จะสร้างเศรษฐกิจคนชั้นกลางที่มีคุณภาพขึ้นมา โดยการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะ สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานภาคบริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อุตสาหกรรมการผลิตยังจะดึงงานภาคบริการให้มีคุณภาพมากขึ้น เช่น งานบัญชี การวิจัยตลาด หรืองานที่ปรึกษา
สำหรับประเทศที่ยากจน หนทางสู่ความมั่งคั่งอาจจะแตกต่างจากอดีตในสมัยของเสือเศรษฐกิจเอเชีย ยุคความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจกำลังสิ้นสุดลง เมื่อถึงตอนนี้ ชะตากรรมของประเทศกำลังพัฒนาอยู่ในมือของพวกเขาแล้ว
เอกสารประกอบ
Sports shoes’ supply chain is pain point in Trump’s tariff war, April 6, 2025, The Financial Times
Trump’s tariffs are a huge blow to Vietnam’s economic ambition, 9 April 2025, bbc.com
The Age of Miraculous Growth Is Over, Dani Rodrik, April 6, 2025, nytimes.com