ThaiPublica > เกาะกระแส > Moody’s ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตไทยเป็น Negative จาก Stable

Moody’s ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตไทยเป็น Negative จาก Stable

29 เมษายน 2025


Moody’s Ratings ปรับมุมมองอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยเป็นเชิงลบ (Negative Outlook) จากเดิมที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) และคงอันดับเครดิตของรัฐบาลไทยที่ Baa1

วันที่ 29 เมษายน 2568 สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดีส์ เรตติงส์ (Moody’s Ratings) เผยแพร่รายงานการดำเนินการจัดอันดับเครดิต (Ratings Action) ประเทศไทย โดยคงอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยและตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิโดยทั่วไป (senior unsecured bond) สกุลเงินท้องถิ่นที่ระดับ Baa1 รวมทั้งปรับแนวโน้มเป็นเชิงลบจากเดิมมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ มูดีส์ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะสั้น (commercial paper) สกุลเงินต่างประเทศของไทยที่ระดับ P-2 อีกด้วย

รายงานระบุว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2025 ได้มีการประชุมคณะกรรมการจัดอันดับเครดิตเพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดอันดับเครดิตประเทศไทย ของรัฐบาลไทย

ประเด็นหลักที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในการหารือ ได้แก่ ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของผู้ออกหลักทรัพย์ รวมถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ สถาบันและความแข็งแกร่งในการกำกับดูแลของผู้ออกหลักทรัพย์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ความแข็งแกร่งทางการคลังหรือการเงินของผู้ออกหลักทรัพย์ รวมถึงโครงสร้างหนี้นั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงจากเหตุการณ์ต่างๆ ของผู้ออกหลักทรัพย์นั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

การตัดสินใจปรับแนวโน้มเป็นเชิงลบจากมีเสถียรภาพนั้น สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการคลังของไทยจะอ่อนแอลงอีก ภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ที่ประกาศไปแล้วน่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการค้าโลกและการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแบบเปิดของไทย นอกจากนี้ ยังคงมีความไม่แน่นอนอย่างมากว่าสหรัฐฯ จะจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมกับไทยและประเทศอื่นๆ อีกหรือไม่ หลังจากระงับการเรียกเก็บภาษี 90 วันสิ้นสุดลง ผลกระทบดังกล่าวทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่ซบเซาอยู่แล้วหลังการระบาดใหญ่เลวร้ายลง และมีความเสี่ยงที่จะกระทบการเติบโตตามศักยภาพของประเทศที่มีแนวโน้มลดลงอยู่แล้ว แรงกดดันด้านลบที่สำคัญต่อการเติบโตของไทยเพิ่มความเสี่ยงที่ฐานะการคลังของรัฐบาลซึ่งได้ถดถอยลงแล้วนับตั้งแต่การระบาดใหญ่จะอ่อนแอลงอีก

การคงอันดับเครดิตที่ Baa1 สะท้อนถึงสถาบันและธรรมาภิบาลของประเทศที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ซึ่งสนับสนุนนโยบายการเงินและเศรษฐกิจมหภาคที่มั่นคง อันดับเครดิต Baa1 ยังได้คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของไทยที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แม้หนี้ของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ โดยได้รับแรงหนุนจากตลาดภายในประเทศที่แข็งแกร่งและหนี้ของรัฐบาลเกือบทั้งหมดเป็นสกุลเงินท้องถิ่น นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีสถานะต่างประเทศที่แข็งแกร่ง โดยมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก

เหตุผลในการปรับมุมมองเป็นเชิงลบจากมีเสถียรภาพ

ความเสี่ยงที่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการคลังจะอ่อนแอลงอีกนั้นเพิ่มขึ้น
ภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯ ประกาศไปแล้วมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการค้าโลกและการเติบโตของโลก โดยส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อไทย ทำให้ความเสี่ยงที่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการคลังของไทยจะอ่อนแอลงอีกนั้นเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนอย่างมากว่าสหรัฐฯ จะจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมกับไทยและประเทศอื่นๆ หรือไม่ หลังจากช่วงระงับการบังคับใช้ 90 วันสิ้นสุดลง

การเติบโตของไทยในระยะสั้นมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบอย่างมากโดยตรงจากความเสี่ยงด้านการส่งออกสูงไปยังสหรัฐฯ ข้อมูล OECD ล่าสุดที่มีอยู่แสดงให้เห็นว่ามูลค่าเพิ่มภายในประเทศของไทยในการส่งออกรวมไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณ 3% ของ GDP ในปี 2563 นอกจากนี้ ไทยยังได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นแหล่งจัดหาปัจจัยการผลิตสำหรับการส่งออกของประเทศอื่นๆ แรงกดดันการเติบโตของไทยจะเพิ่มมากขึ้นอีกหากการส่งออกส่วนเกินของจีนถูกหันเหมาที่ไทยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในประเทศ

เราคาดว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายการค้าของสหรัฐฯ จะทำให้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลง ส่งผลให้การลงทุนในหลายประเทศรวมถึงไทยได้รับผลกระทบไปด้วย ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนทวีความรุนแรงขึ้นในปี 2561-2562 การเติบโตของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการลงทุนในสินทรัพย์ที่จำเป็นรวม (gross fixed capital investment) ของไทยในปี 2562 ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2561 ความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ “จีน+1” หรือชะลอการกระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน ซึ่งจะทำให้การลงทุนในไทยอ่อนแอลงด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น แผ่นดินไหวที่เมียนมาเมื่อไม่นานนี้ซึ่งส่งผลกระทบต่อไทย ทำให้การเติบโตของไทยมีความเสี่ยงด้านลบเพิ่มขึ้น ความกังวลด้านความปลอดภัยอาจส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงชั่วคราว ทำให้การชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวเมื่อไม่นานนี้ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีนี้เลวร้ายลง

เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว…

การเติบโตที่อ่อนตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะสั้นของไทยอาจทำให้ความท้าทายเชิงโครงสร้างที่มีอยู่ของไทยเลวร้ายลง ส่งผลให้การเติบโตตามศักยภาพของไทยลดลงอีก โดยรวมแล้ว เราปรับลดการเติบโตของ GDP จริง (real GDP growth) ของไทยลงเหลือประมาณ 2% ในปี 2568 จาก 2.9% ที่คาดการณ์ไว้เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว การปรับคาดการณ์ของเรานั้นมาจากความเสี่ยงด้านลบ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังคงเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง

แรงกดดันด้านลบที่สำคัญต่อการเติบโตของไทย เพิ่มความเสี่ยงที่สถานะทางการคลังของไทยจะอ่อนแอลงอีก ซึ่งถดถอยลงแล้วตั้งแต่เกิดการระบาด ภาระหนี้ของรัฐบาลไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 22% เป็นประมาณ 56% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2567 จากปีงบประมาณ 2562 การฟื้นตัวที่ช้าของประเทศกำลังเป็นอุปสรรคด้านการลดการขาดดุลทางการคลังและภาระหนี้อยู่แล้ว กรอบการคลังระยะกลางของรัฐบาล (MTFF) ซึ่งเผยแพร่ในเดือนธันวาคม 2567 (ก่อนการประกาศภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้) ได้ส่งสัญญาณถึงความล่าช้าขึ้นอีกในการลดการขาดดุลทางการคลังและภาระหนี้ เมื่อเทียบกับกรอบการคลังระยะกลางที่เผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม 2567

โดยรวมแล้ว เราคาดว่าการเติบโตที่ชะลอตัวลงของไทยจะเพิ่มแรงกดดันต่อภาระหนี้ของรัฐบาล ความเสี่ยงต่อสถานะทางการคลังของประเทศสามารถบรรเทาได้ด้วยมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มรายได้ของรัฐบาลและกระตุ้นการเติบโตในระยะยาว

เหตุผลในการคงอันดับเครดิต Baa1

การคงอันดับเครดิต Baa1 สะท้อนถึงสถาบันและธรรมาภิบาลของประเทศที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ซึ่งสนับสนุนนโยบายการเงินและเศรษฐกิจมหภาคที่มีความมั่นคง ประเทศไทยมีผลงานในการดูแลราคาให้อยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพ และสามารถยึดเหนี่ยวการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อได้ดี ซึ่งเป็นสัญญาณของประสิทธิผลของนโยบายการเงินที่แข็งแกร่ง

อันดับเครดิต Baa1 ยังได้คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศไทยที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากตลาดทุนในประเทศที่เข้มแข็งและโครงสร้างหนี้ที่เอื้ออำนวย แม้สัดส่วนการชำระดอกเบี้ยต่อรายได้ของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นจากภาระหนี้ของรัฐบาลที่สูงขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่เกิดการระบาดก็ตาม การชำระดอกเบี้ยคิดเป็นประมาณ 6% ของรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งต่ำกว่าค่ามัธยฐานที่ประมาณ 10% สำหรับประเทศที่ได้รับอันดับเครดิต Baa

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีสถานะต่างประเทศที่แข็งแกร่ง โดยมีเงินสำรองเงินตราต่างประเทศสำรองเพียงพอ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทยอยู่ที่ 215 พันล้านดอลลาร์ ณ เดือนมีนาคม 2568 (มีนาคม 2567: 200 พันล้านดอลลาร์) เพียงพอสำหรับรองรับการนำเข้าประมาณ 7 เดือน เราประมาณการดัชนีความเสี่ยงภายนอก (External Vulnerability Indicator) ของไทย ซึ่งเป็นอัตราส่วนหนี้ระยะสั้นและระยะยาวที่ครบกำหนดต่อทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ อยู่ที่ประมาณ 50% สำหรับปี 2568 ซึ่งบ่งชี้ถึงยังมีพื้นที่อีกมากก่อนที่ความเพียงพอของทุนสำรองจะกลายเป็นแหล่งที่มาของความเสี่ยง

การประเมิน ESG ต่ออันดับเครดิต

คะแนนผลกระทบด้าน ESG ต่ออันดับเครดิต (ESG Credit Impact Score) ของประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ CIS-3 ของไทยสะท้อนถึงความท้าทายด้านประชากรของประเทศ โดยเฉพาะประชากรสูงอายุ และความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมและความเครียดจากความร้อน ความเสี่ยงเหล่านี้ได้รับการบรรเทาลงจากประวัติการดำเนินการที่มั่นคงและความแข็งแกร่งของสถาบันของไทย ซึ่งมีส่วนสนับสนุนเสถียรภาพโดยรวมในการเติบโตทางเศรษฐกิจมหภาค และสนับสนุนความสามารถของรัฐบาลในการตอบสนองต่อความท้าทายด้านประชากรและสิ่งแวดล้อม

ส่วนการวัดระดับความเสี่ยงของผู้ออกตราสารตามมิติด้าน ESG หรือ Issuer Profile Score (IPS) ซึ่งไทยได้คะแนน E-3 นั้นมาจากความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำในปริมาณมาก น้ำท่วม และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม ซึ่งภาคที่มีการจ้างงานขนาดใหญ่ ความเสี่ยงของไทยต่อสภาพภูมิอากาศทางกายภาพและความเสี่ยงด้านทุนธรรมชาติอยู่ในระดับปานกลาง โดยส่วนใหญ่เกิดจากความเครียดจากความร้อน และการปกป้องทรัพยากรทุนธรรมชาติในระดับจำกัด

(IPS แต่ละมิติมีระดับคะแนนตั้งแต่ 1-3 โดยระดับ E-1, S-1 และ G-1 มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ขณะที่ E-3, S-3 และ E-3 มีความเสี่ยงมากที่สุด)

คะแนน IPS ของไทยในด้านความเสี่ยงทางสังคมที่อยู่ในระดับ S-4 นั้นมาจากประชากรสูงอายุเป็นหลัก ส่งผลให้การมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสักยภาพการเติบโต ความสามารถในการแข่งขันในระดับปานกลางของไทย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากช่องว่างในทักษะแรงงานที่มีมูลค่าเพิ่มนั้นสูงขึ้น ก่อให้เกิดการฉุดรั้งศักยภาพการเติบโต ความมั่งคั่งและความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ที่สูงยังส่งผลต่อความเสี่ยงทางสังคมอีกด้วย

คะแนน IPS ของไทยในด้านความเสี่ยงในการกำกับดูแลในระดับ G-2 สะท้อนให้เห็นถึงสถาบันที่แข็งแกร่งของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีการกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิผล อย่างไรก็ตาม มีโอกาสปานกลางที่ความเครียดทางการเมืองในประเทศจะเกิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิผลของการกำหนดนโยบายลดลง

  • Moody’s ส่งสัญญาน Downgrade ไทย ถ้าความเสี่ยงทางการเมืองกัดเซาะความแข็งแกร่งทางการคลัง
  • ปัจจัยที่อาจนำไปสู่การปรับเพิ่มหรือลดอันดับเรตติ้ง

    ปัจจัยที่อาจนำไปสู่การปรับเพิ่ม
    เมื่อพิจารณาจากมุมมองเชิงลบของเรตติงแล้ว ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่เรตติงจะได้รับการปรับเพิ่มในระยะใกล้ แนวโน้มดังกล่าวอาจเปลี่ยนไปเป็นเสถียรภาพ หากประเทศไทยมีความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกได้ดีกว่าที่คาดไว้ ซึ่งอาจมาจากการเติบโตที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับที่เราคาดไว้ ซึ่งจะส่งผลให้ผลลัพธ์ทางการคลังดีขึ้นด้วย

    ปัจจัยที่อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิต
    อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดหากความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทยถูกกัดกร่อนลง ซึ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ลดลงอยู่แล้ว นับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ ซึ่งอาจมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง อันเนื่องจากความท้าทายเชิงโครงสร้าง หรือปัจจัยนอกเหนือการควบคุมของรัฐบาล เช่น ภาษีศุลกากรทั่วโลก นอกจากนี้ อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดหากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นว่าภาระหนี้ของรัฐบาลไทยจะยังคงสูงขึ้นต่อไปอีกหลายปี ซึ่งอาจมาจากการเติบโตเชิงลบที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาล แรงกดดันให้อันดับเครดิตลดลงอาจเกิดขึ้นได้เช่นกันหากความตึงเครียดทางการเมืองเพิ่มขึ้น จนสถาบันต่างๆ อ่อนแอลงอย่างมากและขัดขวางการกำหนดนโยบายอย่างมาก