IQAir ได้เผยแพร่รายงานคุณภาพอากาศโลกประจำปี หรือ World Air Quality Reportครั้งที่ 7 ซึ่งตอกย้ำถึงแนวโน้มที่น่าตกใจของประเทศ เขตพื้นที่ และภูมิภาคที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกในปี 2567
รายงานคุณภาพอากาศโลกประจำปี 2024(2024 World Air Quality Report) นักวิทยาศาสตร์ด้านคุณภาพอากาศของ IQAir บริษัทตรวจสอบคุณภาพอากาศของสวิตเซอร์แลนด์ ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ PM2.5 ที่รวบรวมจากกว่า 40,000 แห่งใน 8,954 แห่งใน 138 ประเทศ เขตพื้นที่ และภูมิภาค ซึ่งได้จากการใช้เซ็นเซอร์ราคาประหยัดที่ดำเนินการโดยหน่วยงานที่หลากหลาย รวมถึงหน่วยงานของรัฐ สถาบันวิจัย องค์กรไม่แสวงหากำไร โรงเรียน มหาวิทยาลัย บริษัทภาคเอกชน และนักวิทยาศาสตร์ภาคประชาชนที่ทุ่มเททั่วโลก
ค่าความเข้มข้นของ PM2.5 วัดเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (μg/m³) และเป็นไปเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศระดับโลกประจำปีขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization:WHO)การวัดคุณภาพอากาศที่อยู่ในรายงานประจำปี 2024 นี้มาจากแพลตฟอร์มตรวจสอบออนไลน์แบบเรียลไทม์ของ IQAir ซึ่งตรวจสอบ สอบเทียบ และประสานข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศทั่วโลกอย่างเป็นระบบ
มลพิษทางอากาศยังคงเป็นภัยคุกคามสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดต่อสุขภาพของมนุษย์ ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ประชากรโลก 99% อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศ มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับสองของโลกที่ทำให้เสียชีวิต และเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับสองที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบเสียชีวิต รองจากภาวะทุพโภชนาการ เนื่องมาจากมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพทางเดินหายใจและพัฒนาการ ในปี 2564 เพียงปีเดียว มีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศถึง 8.1 ล้านราย โดย 58% ของผู้เสียชีวิตเหล่านี้เกิดจากมลพิษทางอากาศ PM2.5 ในชั้นบรรยากาศ
องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้การเข้าถึงอากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิมนุษยชนสากล การสัมผัส PM2.5 ก่อให้เกิดและทำให้ปัญหาสุขภาพต่างๆ รุนแรงขึ้น ทั้งโรคหอบหืด โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคปอด นอกจากนี้ การสัมผัสกับอนุภาคขนาดเล็กในระดับสูงระหว่างตั้งครรภ์และวัยเด็กยังเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด กลากและโรคภูมิแพ้ ความบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการทางปัญญาช้า ความผิดปกติของพัฒนาการทางระบบประสาท และความผิดปกติทางสุขภาพจิต
ในปี 2567 สถานที่ในการเก็บข้อมูลเพิ่มขึ้นจาก 7,812 แห่งใน 134 ประเทศ ภูมิภาค และเขตปกครองรายงานคุณภาพอากาศโลกประจำปี 2566 และได้ขยายขอบเขตไปยังแอฟริกาเพื่อรวมชาด ซึ่งเป็นประเทศที่มีมลพิษมากที่สุดในปี 2567 ควบคู่มกับจิบูตีและโมซัมบิก ประเทศอิหร่าน อัฟกานิสถาน และบูร์กินาฟาโซ (อยู่ในอันดับ 5 ประเทศที่มีมลพิษมากที่สุดในปี 2566) ไม่อยู่ในรายงานประจำปี 2567 เนื่องจากขาดข้อมูล
มีเพียง 12 ประเทศ ภูมิภาค และเขตปกครองเท่านั้นที่มีค่าความเข้มข้นของ PM2.5 ต่ำกว่าเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศระดับโลกประจำปีของ WHO ที่ไม่เกิน 5.0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียนหรือโอเชียเนีย
ผลการวิจัยที่สำคัญจากรายงานคุณภาพอากาศโลกประจำปี 2024 พบว่า เมืองต่างๆ ทั่วโลกเพียง 17% เท่านั้นที่ปฏิบัติตามกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศระดับโลกประจำปีของ WHO เพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2566 แม้ว่าจะถือเป็นความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง แต่ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำเพื่อปกป้องสุขภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก
มี 7 ประเทศที่คุณภาพอากาศเป็นไปตามเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศระดับโลกประจำปีเฉลี่ยรายปีของ WHO ที่ค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ได้แก่ ออสเตรเลีย บาฮามาส บาร์เบโดส เอสโตเนีย เกรเนดา ไอซ์แลนด์ และนิวซีแลนด์
สำหรับ 5 ประเทศที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดในปี 2024 ได้แก่ ชาด (91.8 µg/m3) สูงกว่าเกณฑ์ค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ประจำปีของ WHO กว่า 18 เท่า บังกลาเทศ (78.0 µg/m3)สูงกว่าเกณฑ์ค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ประจำปีของ WHO กว่า 15 เท่า ปากีสถาน (73.7 µg/m3)สูงกว่าเกณฑ์ค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ประจำปีของ WHO กว่า 14 เท่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (58.2 µg/m3) สูงกว่าเกณฑ์ค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ประจำปีของ WHO กว่า 11 เท่า และอินเดีย (50.6 µg/m3)สูงกว่าเกณฑ์ค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ประจำปีของ WHO กว่า 10 เท่า
จาก 138 ประเทศและภูมิภาค มีทั้งหมด 126 ประเทศ (91.3%) ที่มีค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐานประจำปี 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ของ WHO ที่ โดยเมืองเบอร์นิหัต (Byrnihat) ประเทศอินเดียเป็นเขตมหานครที่มีมลพิษมากที่สุดในปี 2024 โดยมีความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 128.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภูมิภาคเอเชียกลางและเอเชียใต้เป็นที่ตั้งของเมืองที่มีมลพิษสูงสุด 7 อันดับแรกของโลก อินเดียเป็นที่ตั้งของเมืองที่มีมลพิษสูงสุด 6 ใน 9 เมืองของโลก
เมืองใหญ่ของสหรัฐฯ ที่มีมลพิษมากที่สุดคือ ลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย เมืองออนแทรีโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา ซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน เป็นเมืองใหญ่ที่สะอาดที่สุดในสหรัฐอเมริกา
เมืองมายาเกซ เปอร์โตริโก เป็นเขตมหานครที่สะอาดที่สุดในปี 2024 โดยมีความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 1.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ความเข้มข้นของ PM2.5 ลดลงในทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าหมอกควันข้ามพรมแดนและปรากฏการณ์เอลนีโญที่ยังมีอยู่ยังคงเป็นปัจจัยหลัก

ในแอฟริกา ข้อมูลการตรวจสอบคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ที่เข้าถึงได้โดยสาธารณะมีน้อยมากจนมีสถานีตรวจสอบเพียงแห่งเดียวต่อประชากร 3.7 ล้านคน
ไฟป่าในป่าฝนแอมะซอนส่งผลกระทบต่อพื้นที่ขนาดใหญ่ในละตินอเมริกาในปี 2024 โดยระดับ PM2.5 ในบางเมืองในรัฐรอนโดเนียและรัฐอาครีของบราซิลเพิ่มขึ้น 4 เท่าในเดือนกันยายน
โอเชียเนียเป็นภูมิภาคที่สะอาดที่สุดในโลก โดย 57% ของเมืองในภูมิภาคนี้มีค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ตรงตามเกณฑ์ประจำปีของ WHO ที่ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

รายงานระบุว่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีความคืบหน้าอย่างเห็นได้ชัดในการขยายขอบเขตการติดตามคุณภาพอากาศในประเทศ ภูมิภาค และเขตการปกครองต่างๆ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีช่องว่างอีกมากในระบบการกำกับดูแลที่ดำเนินการโดยรัฐบาลในหลายส่วนของโลก เครื่องตรวจสอบคุณภาพอากาศราคาประหยัดซึ่งใช้โดยนักวิทยาศาสตร์ภาคประชาชน นักวิจัย ผู้สนับสนุนชุมชน และองค์กรในท้องถิ่น ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขช่องว่างข้อมูลเหล่านี้ เครื่องตรวจสอบเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยเพิ่มความพร้อมใช้งานของข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับระดับมลพิษทางอากาศทั่วโลก
แฟรงก์ แฮมเมส ซีอีโอระดับโลกของ IQAir กล่าวว่า “มลพิษทางอากาศยังคงเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์และเสถียรภาพของสิ่งแวดล้อม แต่ประชากรจำนวนมากยังไม่รับรู้ถึงระดับการได้รับมลพิษ ข้อมูลคุณภาพอากาศช่วยชีวิตผู้คนได้ ข้อมูลเหล่านี้ช่วยสร้างความตระหนักรู้ที่จำเป็นอย่างยิ่ง ช่วยเป็นข้อมูลในการตัดสินใจด้านนโยบาย ช่วยเป็นแนวทางการดำเนินการด้านสาธารณสุข และส่งเสริมให้ชุมชนดำเนินการเพื่อลดมลพิษทางอากาศและปกป้องคนรุ่นต่อไป”
โครงการใหม่ Schools4Earth ของ IQAir ตระหนักถึงผลกระทบมหาศาลต่อโรงเรียนจึงได้ขยายเครือข่ายการตรวจสอบคุณภาพอากาศทั่วโลก และมุ่งมั่นที่จะจัดหาเครื่องตรวจสอบคุณภาพอากาศให้กับโรงเรียนมากกว่า 1 ล้านแห่ง IQAir ประมาณการว่าในปัจจุบันมีเพียง 21% ของประชากรโลกเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ในพื้นที่ ในกรณีที่โรงเรียนทุกแห่งทั่วโลกสามารถตรวจสอบคุณภาพอากาศ IQAir ประมาณการว่าประชากรโลกมากกว่า 94% จะสามารถเข้าถึงข้อมูลมลพิษแบบเรียลไทม์ได้ ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างข้อมูลที่สำคัญและปรับปรุงการตอบสนองด้านสาธารณสุข
“โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของชุมชน ทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการตรวจสอบคุณภาพอากาศ การจัดหาเครื่องตรวจสอบคุณภาพอากาศราคาประหยัดให้กับโรงเรียนทั่วโลก จะทำให้ผู้คนมากกว่า 7 พันล้านคนเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ในพื้นที่ ซึ่งก่อให้เกิดกระแสการรณรงค์เพื่ออากาศที่สะอาดขึ้นทั่วโลก” แฮมเมสกล่าว
รายงานคุณภาพอากาศโลกเน้นย้ำว่าแนวทางเร่งด่วนที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันการปรับเปลี่ยนนโยบายและความพยายามร่วมกันเพื่อลดมลพิษสำหรับคนรุ่นต่อไป