ความคืบหน้าไปสู่ความยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในเอเชียและแปซิฟิกยังคงห่างไกลจากเป้าหมายอย่างมาก โดยเป้าหมายส่วนใหญ่คืบหน้าช้ามากหรือย่ำอยู่กับที่ แม้จะมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการดำเนินการตามวาระปี 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
รายงานความคืบหน้าของการพัฒนาที่ยั่งยืน 2025 ในเอเชีย หรือ Asia and the Pacific SDG Progress Report 2025 จัดทำโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific:UNESCAP) นำเสนอข้อมูลล่าสุดและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความคืบหน้าและอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อและเป้าหมายย่อย 169 ข้อ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากการประเมินอย่างครอบคลุม โดยยังเน้นย้ำถึงความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ และช่องว่างของข้อมูลซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและติดตามความก้าวหน้าของ SDGs โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผลกระทบในกลุ่มชุมชนชายขอบ
รายงานฉบับนี้ยังนำเสนอตัวอย่างความร่วมมือระดับชุมชน เพื่อแสดงถึงความพยายามในระดับท้องถิ่นที่ช่วยลดช่องว่างของข้อมูลหลักฐาน และทำให้มั่นใจได้ว่าการพัฒนาเพื่อการบรรลุเป้าหมาย SDGs นั้นครอบคลุมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

รายงานระบุว่า ความคืบหน้าไปสู่เป้าหมายหลายข้อช้าไปมาก โดยเฉพาะในด้านการบริโภคและการผลิตอย่างรับผิดชอบ (เป้าหมาย 12) การศึกษาที่มีคุณภาพ (เป้าหมาย 4) และการมีงานที่เหมาะสมและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (เป้าหมายที่ 8)
ปัจจัยหลักที่ทำให้ย่ำอยู่กับที่ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล สมรรถนะที่่อ่อนด้อยในด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ และรูปแบบการผลิตที่ไม่ยั่งยืน นอกจากนี้ แนวโน้มเชิงลบต่อตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการประมงที่ยั่งยืนและระดับของการเสื่อมโทรมของที่ดิน ฉุดรั้งความคืบหน้าในด้านอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนชีวิตใต้ท้องทะเล (เป้าหมายที่ 14) และปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน (เป้าหมายที่ 15)

การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (เป้าหมายที่ 13)ถดถอยอย่างน่าตกใจ เป็นผลจากความเปราะบางของภูมิภาคต่อภัยพิบัติและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของมลพิษดังกล่าวทั่วโลก
ในทางกลับกัน ภูมิภาคนี้มีความก้าวหน้าที่โดดเด่นในด้านอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน (เป้าหมาย 9) และสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (เป้าหมาย 3) โดยมาจากการขยายการเข้าถึงเครือข่ายมือถือ และการยกระดับสุขภาพแม่และเด็กอย่างยอดเยี่ยม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการลงทุนแบบกำหนดเป้าหมายและนโยบายที่มีประสิทธิผลสามารถให้ผลตอบแทนอย่างมีนัยสำคัญ

การขาดความคืบหน้าไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอุปสรรคสำคัญต่อภูมิภาคที่จะคืบหน้าไปสู่การบรรลุเป้าหมายปี 2573
ในบรรดาเป้าหมาย 117 เป้าหมายที่มีข้อมูลเพียงพอ มีเพียง 16 เป้าหมายที่จะบรรลุได้ภายในปี 2573 และ 18 เป้าหมายมีแนวโน้มเชิงลบที่ต้องพลิกฟื้นกลับอย่างเร่งด่วน เป้าหมายส่วนใหญ่จาก 18 เป้าหมายเป็นความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

เมื่อเปรียบเทียบกับส่วนอื่นๆ ของโลก ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแสดงให้เห็นผลการดำเนินงานที่โดดเด่นในเป้าหมายหลักและเป้าหมายย่อยหลายด้าน
ตัวอย่างเช่น ภูมิภาคนี้เป็นผู้นำในความคืบหน้าตามเป้าหมายที่ 1 (ความคืบหน้าในการลดความยากจนด้านรายได้เป็นหลัก) เป้าหมายที่ 2 (ที่ลดความชุกของภาวะโภชนาการไม่เพียงพอ) เป้าหมายที่ 9 (มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับคนและการขนส่งสินค้า และอุตสาหกรรมขนาดเล็กเข้าถึงเงินกู้หรือวงเงินสินเชื่อ) เป้าหมาย 12 (สำหรับการลดขยะอันตราย) เป้าหมาย 15 (ที่ดินเสื่อมโทรมช้าลง) และเป้าหมาย 16 (ได้ลดจำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์และการฆาตกรรมโดยเจตนาที่ตรวจพบ) อย่างไรก็ตามภูมิภาคนี้ตามหลังส่วนอื่นๆ ทั่วโลกอย่างมากในการบรรลุเป้าหมายที่ 8, 13, 14 และ 17

ประเทศที่อยู่ในสถานการณ์พิเศษมีแนวโน้มที่จะมีความถดถอยด้านการบริโภคและการผลิตอย่างรับผิดชอบ (เป้าหมาย 12) การมีงานที่เหมาะสมและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (เป้าหมาย 8) และเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 11)
ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะเล็กๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องใส่ใจเป็นพิเศษเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และอาจได้รับประโยชน์จากการดำเนินการในอนาคตตามเป้าหมาย 12 หรือด้านที่มีความสำคัญอันดับต้นอื่นๆร่วมกัน เช่น การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (เป้าหมาย 13)
การประเมินความคืบหน้าในระดับชาติเผยให้เห็นถึงความคืบหน้าที่หลากหลายทั่วทั้งภูมิภาค ทั้งที่เกิดขึ้นใหม่และแนวโน้มการถดถอยนับว่าเป็นสัญญานเตือนที่สำคัญสำหรับผู้กำหนดนโยบาย แม้เห็นถึงความคืบหน้าที่แข็งแกร่งได้ชัดเจนโดยรวมในเป้าหมาย 9 และเป้าหมาย 3 แต่บางประเทศยังตามไม่ทันและต้องให้ความสนใจอย่างมีเป้าหมายเพื่อเร่งความคืบหน้า ในทางกลับกัน แม้ว่าภูมิภาคนี้จะมีความถดถอยหรือย่ำอยู่กับที่ในเป้าหมายที่ 12 และ 13 แต่บางประเทศก็เป็นผู้นำในด้านเหล่านี้และใช้บทเรียนอันมีค่าให้ประเทศอื่นปฏิบัติตามได้ แนวโน้มถดถอยที่เกิดขึ้นชัดเป็นพิเศษในด้านที่ประสบความสำเร็จสูง ในขณะเดียวกันการปกป้องการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ได้ทำมามากก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ
ผลประโยชน์จากการพัฒนามักจะไปไม่ถึงกลุ่มเปราะบาง จากการที่มีปัจจัยร่วมอื่นๆด้วย เช่น อายุ เพศ การศึกษา พื้นที่ และความมั่งคั่งทำให้ความไม่เท่าเทียมกันรุนแรงขึ้น
ข้อมูลการสำรวจครัวเรือนพบว่าความยากจนเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของโอกาส ระดับการศึกษาถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอันดับสอง ทั้งสองปัจจัยนี้มักจะทับซ้อนกับปัจจัยอื่นๆ เช่น พื้นที่ เพศ และอายุ ซึ่งทำให้ความไม่เท่าเทียมกันรุนแรงขึ้น ตัวอย่างเช่น ครัวเรือนที่ยากจนกว่าอยู่ในพื้นที่ชนบท และมีระดับการศึกษาต่ำกว่า เป็นกลุ่มที่ด้อยโอกาสมากที่สุดในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน เช่น น้ำ สุขาภิบาล และพลังงานสะอาด ผู้กำหนดนโยบายต้องอาศัยข้อมูลที่มีความละเอียดเพื่อจับความเป็นจริงของกลุ่มประชากรเฉพาะ

ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล พันธมิตรด้านการพัฒนา และชุมชนท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ปรับใช้แนวทางเชิงนวัตกรรมเพื่อปิดช่องว่างของข้อมูลและปรับปรุงการติดตาม SDG
โครงการริเริ่มเหล่านี้ได้ทำให้กระบวนการตัดสินใจรับฟังความเห็นของกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่หลากหลายมากขึ้น และทำให้กลุ่มเหล่านี้มีบทบาทในการสร้างข้อมูล เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้ดีขึ้น ตัวอย่างจากทั่วภูมิภาคมุ่งเน้นไปที่ประเด็นเฉพาะเรื่องและกลุ่มประชากรที่หลากหลาย รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ การศึกษา สุขภาพ เยาวชน สตรี และเด็กหญิง และผู้ลี้ภัย

ความพร้อมของข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ช้าแต่เป็นบวก โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 54% ของตัวชี้วัดที่มีจุดข้อมูลอย่างน้อยสองจุดในปี 2567 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า
ที่น่าสนใจ ภูมิภาคนี้แซงหน้าส่วนอื่นๆ ของโลกถึง 6% อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องว่างของข้อมูลจำนวนมากในมิติการแยกย่อยที่สำคัญ รวมถึงอายุ สถานะการย้ายถิ่น ความทุพพลภาพ เพศ และพื้นที่ (เมือง/ชนบท)
การบรรลุเป้าหมาย SDGs สำหรับทุกคนและทุกที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบสถิติ ซึ่งรวมถึงส่งเสริมความเป็นผู้นำทางการเมืองที่เข้มแข็ง ระดมการลงทุน และเสริมสร้างความร่วมมือ รัฐบาลในเอเชีย-ภูมิภาคแปซิฟิกสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงนี้ได้โดยใช้แนวทางที่ไม่ซ้ำใครในสังคม และลงทุนในการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของระบบสถิติ