ThaiPublica > เกาะกระแส > ทีทีบีชี้ “ไทยป่วยเรื้อรัง อยู่ยากขึ้น” รายจ่ายสูงกว่ารายได้ ปรับกลยุทธ์ “ปีแห่งการช่วยปลดหนี้” มีชีวิตการเงินที่ดีขึ้น

ทีทีบีชี้ “ไทยป่วยเรื้อรัง อยู่ยากขึ้น” รายจ่ายสูงกว่ารายได้ ปรับกลยุทธ์ “ปีแห่งการช่วยปลดหนี้” มีชีวิตการเงินที่ดีขึ้น

12 มีนาคม 2025


นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต

ทีทีบีชี้ “ไทยป่วยเรื้อรัง อยู่ยากขึ้น” รายจ่ายสูงกว่ารายได้ ประกาศกลยุทธ์ ปี 2568 “The MEANINGFUL Change” ปีแห่งการช่วยลูกหนี้ทุกกลุ่ม ปลดหนี้ได้ไวขึ้น และให้ลูกค้ามากกว่าด้วยดิจิทัลโซลูชันที่มีความหมาย

วันที่ 12 มีนาคม 2568 ทีเอ็มบีธนชาตจัดงานแถลงกลยุทธ์และแผน ปี 2568 ภายใต้แนวคิด “The MEANINGFUL Change” โดยนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ

ไทยอยู่ยากขึ้นครัวเรือนมีปัญหารายได้

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เริ่มด้วยการกล่าวว่า “ความตั้งใจของการแถลงในวันนี้ อยากจะแชร์สิ่งที่เราเห็นสถานการณ์ของประเทศไทยวันนี้ แล้วมาแชร์แนวคิดกันว่า เราอยากจะทําอะไรเพื่อจะตอบโจทย์ของประเทศ ตอบโจทย์ของลูกค้า ซึ่งแผนกลยุทธ์นี้เป็นแนวคิดหรือสิ่งที่เราอยากที่จะทําในรอบนี้ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง(customer-centric) อย่างมาก มองจากโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่มเป็นหลัก รวมทั้งมองระยะยาวว่าประเทศไทยจะเผชิญกับอะไร ที่แบงก์เล็กๆ แบงก์หนึ่งอย่างเราอยากจะทำอะไร”

นายปิติกล่าวว่า ประเทศกำลังมีปัญหา เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญแรงกดดันจากหลายปัจจัย ทั้งความขัดแย้งทางการเมืองที่ทวีความรุนแรง โดยตัวชี้วัดด้านภูมิรัฐศาสตร์หรือ geopolitical risk index เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 20 ปี มีการขึ้นภาษีนำเข้า สงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจ การค้าทั้งโลกได้รับผลกระทบใบนี้ ประเทศไทยซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของโลกก็เช่นกัน สินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาและธุรกิจ SME ของไทยก็แข่งขันได้ยากอยู่แล้ว ปัจจุบันได้ลุกลามไปยังบริษัทบริษัทขนาดใหญ่ที่จะแข่งขันกับจีนได้ลำบาก เพราะการผลิตในประเทศจีนต้นทุนต่อหน่วยถูกมาก สินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐนั้น 20% นำเข้าจากจีน การขึ้นภาษีก็จะมีผลต่อเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยก็ลงยากนะครับ เมื่อเป็ยแบบนี้ประเทศที่พึ่งการท่องเที่ยวและการส่งออกอย่างไทยเหนื่อยแน่นอน

สำหรับประเทศไทยปัญหาเชิงโครงสร้างยังคงเรื้อรัง คนไทยเผชิญภาวะ “แก่แต่ยังเป็นหนี้” รายได้ไม่เพิ่มแต่ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 16.3 ล้านล้านบาท หรือ 89% ของ GDP ธุรกิจ SME ถูกดิสรัป เข้าถึงแหล่งทุนได้ยากขึ้น และธุรกิจต้องปิดตัวลงมากขึ้น สถานการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการมีมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถกลับมาตั้งหลักทางการเงินได้อีกครั้ง

“ที่สำคัญรายได้ของคนไทยโตเฉลี่ยปีละ2% แต่หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นปีละ 6% เพราะว่าค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ ด้านธุรกิจ SME นั้น 77% ปิดตัวใน 3 ปีแรก นอกจากนี้ตลาดหุ้นของไทยมีความน่าสนใจน้อยลง เพราะว่าเรายังอยู่ในเศรษฐกิจแบบเดิม old economy มีแค่ 10% ของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่จัดว่าเป็น tech-related เพราะฉะนั้นสัดส่วนใหญ่ของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แข่งขันในโลกได้ยาก”

“จากตรงนี้เห็นได้ว่าเราอยู่ยากขึ้น รายได้ครัวเรือนและธุรกิจโตตามค่าใช้จ่ายไม่ทัน รายได้ครัวเดือนโตน้อยแต่ค่าใช้จ่ายโตแซงหน้า แปลว่าต้องกู้มาใช้จ่าย ผมพูดหลายครั้ง ไม่ใช่ปัญหาหนี้ครัวเรือนทุกวันนี้ แต่คือปัญหารายได้ครัวเรือนเพราะรายได้ครัวเรือนไม่เพียงพอสําหรับค่าใช้จ่าย จึงเกิดหนี้ครัวเรือน ไม่ว่า SME หรือบุคคลธรรมดา เมื่อรายได้ไม่พอ SME ก็ต้องกู้มาใช้จ่ายทั้งค่าน้ำค่าไฟค่าพนักงาน จึงเห็นว่าสัดส่วนหนี้เสียหรือกําลังจะเสีย หรือเสียแล้วของภาคครัวเรือนมีประมาณ 11% แต่ของ SME อยู่ที่ 20% เห็นอย่างนี้ แล้วหน้าที่ของแบงก์คืออะไร เราเห็นโจทย์ว่าคืออะไร แล้วเราอยากที่จะทําอะไร เป้าหมายหลักของเรา คือ เราอยากเห็นลูกค้าของเราไม่ว่าธุรกิจหรือภาคประชาชนมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น” นายปิติกล่าว

นายปิติกล่าวว่าธนาคารตระหนักถึงปัญหาหนี้สินของคนไทยมาโดยตลอด และมุ่งมั่นให้ความสำคัญกับการช่วยแก้ปัญหาหนี้อย่างจริงจัง ผ่านมาตรการที่เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2563 ที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 ด้วยมาตรการตั้งหลักเพื่อให้ช่วงนั้นที่ขาดรายได้ยังไปต่อได้ และยังคงเดินหน้าพัฒนาโซลูชันทางการเงินที่ช่วยให้ลูกค้าจัดการภาระหนี้ได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ผ่านบริการรวบหนี้ที่ช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้ลูกค้าไปแล้วกว่า 2,240 ล้านบาท สินเชื่อสวัสดิการอเนกประสงค์ที่ให้พนักงานเงินเดือนองค์กรเข้าถึงสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า โดยปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือแล้วกว่า 8,800 ล้านบาท อีกทั้งยังมีโปรแกรม Financial Literacy ที่ประกอบด้วยแพลตฟอร์มตรวจสุขภาพการเงินออนไลน์ที่มีลูกค้าเข้าร่วมวัดระดับหนี้กว่า 96,000 ครั้ง คอร์สให้ความรู้ทางการเงินออนไลน์และบริการให้คำปรึกษาโค้ชปลดหนี้ โดยทั้งหมดนี้ให้บริการฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย จนกระทั่งล่าสุดกับโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ที่ทีทีบีเข้าไปเป็นแกนหลักในสมาคมธนาคารไทยช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าสามารถตั้งหลักใหม่ได้

ออกแบบโปรแกรมช่วยเหลือตอบโจทย์เฉพาะกลุ่ม

นายปิติกล่าวว่า สิ่งที่ธนาคารได้ดำเนินการมาเห็นความสําเร็จเกิดขึ้นจริง แต่จะมุ่งเน้นมากขึ้นไปอีก กลยุทธ์ที่นำมาแถลงวันนี้เอาลูกค้าเป็นศูนย์กลางที่สุด ตั้งแต่มีการจัดทำกลยุทธ์ เพื่อเดินหน้าช่วยลูกค้าทุกกลุ่มปลดหนี้และสร้างเสถียรภาพทางการเงิน ทีทีบีเชื่อว่าการช่วยลูกค้าต้องเริ่มจากความเข้าใจพฤติกรรมทางการเงินของแต่ละกลุ่ม

“ลูกหนี้มี 4 ประเภทกลุ่มแรกก็คือกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่ต้องมีมาตรการและเครื่องมือทําให้เขาสามารถลุกขึ้นกลับมาสู้ได้ ต่อมากลุ่มลูกค้าผ่อนชำระดีสิ่งที่เราอยากที่จะให้สังคม เป็นสังคมที่น่าอยู่มากขึ้นไม่ใช่น้อยลง คือคนเดือดร้อน เราช่วยเหลือคนดี เราควรที่จะมีรางวัล เราอยากที่จะเริ่มทําอะไรให้กับลูกค้าที่ดี กลุ่มต่อมาคือลูกหนี้ที่อยากจะเข้าระบบ ซึ่งก็จะมีเครื่องมือให้เข้าสู่ระบบมากขึ้น เพื่อให้แบงก์นำสิ่งเหล่านี้ไปเป็นของมาให้สินเชื่อเขาได้ หรือให้เครื่องมือให้เขาทําธุรกิจได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนกลุ่มสุดท้าย ลูกหนี้พร้อมเท ภาวะภัยทางศีลธรรมหรือ Moral Hazard การที่มีคนเทตลอด หรือคนกลุ่มนี้มาสอนให้เท ภาระจะตกอยู่ลูกค้าอื่น เพราะว่าแบงก์ก็ต้องเอาสิ่งที่สามารถให้ลูกค้าที่ดีได้ไปบริหารจัดการกลุ่มหนึ่งซึ่งพร้อมเท ถ้าสังคมยังมีเครื่องมือให้คนเท จะไม่มีเครื่องมือให้คนดี จนเราคงไม่มีที่ยืนให้ลูกหนี้ดี หรือลูกหนี้ที่รู้สึกการกลับมาสู้เป็นสิ่งที่ควรทํามากกว่า” นายปิติกล่าว

นายปิติกล่าวว่า สถานการณ์หนี้ปัจจุบันนี้พบว่ากลุ่มคนมีรถ 80% ไม่สู้แล้ว และไม่ส่งรถคืน นี่คือ ภาระทางสังคม มีประมาณ 20% ที่จะกลับมาสู้ ลูกค้าประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งไม่ได้เท แต่ไม่เก็บสถานประกอบการไว้เพราะธุรกิจยังไม่ดี และนำเงินที่เหลืออยู่ไปจัดการปัจจัย 4 ดีกว่า ส่วนกลุ่มลูกค้าสินเชื่อบุคคลไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยและมีการ haircut เงินต้นเพื่อให้ล้างประวัติเครดิตบูโรหนี้ มีแค่ 13% คนมีบ้านที่อยากเก็บบ้านไว้มีประมาณ 60% อีก 40% ยอมปล่อยซึ่งอาจจะมาจากการซื้อเก็งกําไร หรือไม่มีความสามารถที่จะผ่อนต่อ

สำหรับลูกค้าสินเชื่อสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ซึ่งมีปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกันทีทีบีจึงออกแบบโปรแกรมช่วยเหลือที่ตอบโจทย์เฉพาะกลุ่ม ได้แก่

กลุ่มแรก คือ ลูกหนี้ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งเริ่มค้างชำระหรือสะสมหนี้จนไม่สามารถชำระได้ตามปกติ ทีทีบี ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยเหลืออย่างเต็มที่ผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ที่ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ยกเว้นการเก็บดอกเบี้ย พร้อมกับลดค่างวดให้ตลอด 3 ปี เพื่อให้โอกาสลูกค้าที่ต้องการสู้กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าทีทีบีกว่า 21% จากลูกค้าเป้าหมายลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ

กลุ่มที่สอง คือ ลูกหนี้ที่ผ่อนชำระดี ซึ่งให้ความสำคัญกับเครดิตของตนเองและพยายามชำระหนี้ตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งกลุ่มนี้กลับเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยได้รับความช่วยเหลือและถูกลืม ในปีนี้ทีทีบีจึงต้องการเข้าไปช่วยเหลือดูแลกลุ่มนี้เป็นพิเศษ ด้วยการเปิดตัวโปรแกรม “ผ่อนดี…มีรางวัล” ที่มอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าสินเชื่อกลุ่มคนมีรถ คนมีบ้าน พนักงานเงินเดือน เช่น หากลูกค้ามีประวัติผ่อนดีจะได้รับข้อเสนอรีไฟแนนซ์ที่ดอกเบี้ยต่ำกว่า และยังได้รับรางวัลเป็นส่วนลดดอกเบี้ย หรือสิทธิพิเศษต่าง ๆ และยังรวมถึงลูกค้าเอสเอ็มอี และผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง

กลุ่มที่สาม คือ ลูกหนี้ที่อยากเข้าระบบ ได้แก่ ลูกค้าเจ้าของกิจการขนาดเล็กที่อาจจะถูกกันออกจากระบบ อันเนื่องมาจากข้อจำกัดต่าง ๆ และต้องการที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงิน โดยทีทีบีพร้อมช่วยเหลือผ่านโซลูชันทางการเงินสำหรับลูกค้าผู้ประกอบการกลุ่มนี้เพื่อให้เกิด Financial Inclusion

นายปิติ กล่าวเสริมว่า “ปี 2568 เป็นปีที่ทีทีบีจะสร้าง ‘The MEANINGFUL Change’ ให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม เราไม่ได้เป็นเพียงธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อ แต่ต้องการสร้างเครื่องมือที่ช่วยให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง และพร้อมดูแลและช่วยเหลือให้ลูกค้าสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง”

ลูกค้ากลุ่มที่ไม่ได้กู้-กลุ่มที่ใช้ดิจิทัลได้สิทธิประโยชน์มากกว่า

และในปีนี้ทีทีบียังมุ่งที่จะส่งมอบประสบการณ์ทางการเงินและดิจิทัลโซลูชันที่สะดวกกว่า ประหยัดกว่า คุ้มค่ากว่า และให้สิทธิประโยชน์มากกว่าเพื่อรองรับพฤติกรรมของลูกค้ายุคใหม่ที่เน้นการทำธุรกรรมด้วยตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีจำนวนธุรกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง “สำหรับลูกค้ากลุ่มที่ไม่ได้กู้ ลูกค้ากลุ่มที่ใช้ดิจิทัล ไม่ได้ใช้บริการสาขามีต้นทุนที่ถูกกว่า เราก็อยากที่จะให้รางวัลเรากับคนกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน ในเมื่อเขาใช้ดิจิทัลที่ทำให้ต้นทุนแบงก์ถูกลง”

โดย 92% ของธุรกรรมวันนี้เกิดขึ้นบนช่องทางแอป ttb touch แล้ว ซึ่งลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ที่เรียกว่า “ทำเอง ได้มากกว่า” เช่น

  • สะดวกกว่า วันนี้ลูกค้าสามารถประเมินวงเงินสินเชื่อได้ภายใน 2 นาที ผ่านฟีเจอร์ My Credit และสมัครสินเชื่อได้ทันทีบนแอป ttb touch นอกจากนี้ ยังสามารถสอบถามข้อมูลต่าง ๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่าน “ยินดี” Chatbot AI อัจฉริยะ บนแอป ttb touch ไม่ต้องเสียเวลารอสายกับ Contact Center
  • ประหยัดกว่า ลูกค้าสามารถขอ E-statement สำหรับยื่นขอวีซ่าผ่านแอป ttb touch ได้ฟรี ไม่มีค่าธรรมเนียม หรือเลือกใช้บัตร ttb all free digital ที่ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี แต่ยังสามารถใช้ช้อปปิ้งออนไลน์และถอนเงินแบบไร้บัตรผ่านตู้ ATM
  • คุ้มค่ากว่า รับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกับบัญชีดิจิทัล ttb ME Save หรือ บัญชีดิจิทัลเพื่อธุรกิจที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับลูกค้ากลุ่มธุรกิจ
  • สิทธิประโยชน์ที่มากกว่า ทีทีบีจะเป็นธนาคารแรกที่มอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่ลูกค้าที่มีวินัยทางการเงิน แต่รวมถึงลูกค้าที่ใช้บริการและทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจะได้รับสิทธิพิเศษเพิ่มเติมผ่าน Loyalty Program ตัวใหม่ ซึ่งจะเปิดตัวในเดือนเมษายนนี้

    นายปิติกล่าวว่า โดยสรุปสิ่งที่แบงก์อยากจะทำคือเป็นแนวคิดที่ custome-centric และแบ่งลูกค้าออกเป็นกลุ่มที่มีปัญหาต่างกัน ลูกหนี้ที่เดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือ มีคุณสู้เราช่วยและมีโปรแกรมอื่นๆที่แตกต่างกัน พอที่จะช่วยคนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ลูกหนี้ที่ดีก็อยากที่จะมีรางวัลให้เพื่อให้รู้สึกว่าสังคมไทยยังมีความหวัง คนล้มคนพลาดมีการช่วยเหลือ คนดีได้รางวัลจากการเป็นคนดี ที่ช่วยให้แบงก์ต้นทุนลดลง ช่วยให้สังคมไม่ต้องแบกภาระ ลูกหนี้ที่อยากเข้าระบบ อยากจะเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ อยากเก็บข้อมูลมากขึ้น ก็จะมีเครื่องมือให้

    “ที่กล่าวมาทั้งหมดอยากจะแชร์ให้ได้เห็นว่า ต้องทําอีกเยอะมากกว่าการลดดอกเบี้ย เราหวังว่าสิ่งที่เราทําคือการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มันจะก่อให้เกิดในความยั่งยืนในสังคม และเป็นโจทย์สําคัญจริง” นายปิติกล่าว

    นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ทีเอ็มบีธนชาต

    ปีแห่งการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้

    นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า “ที่มาของกลยุทธ์ในวันนี้ เรารู้ว่าถ้าพวกเราร่วมมือกัน เราจะสามารถช่วยกันคนไทย คนที่มีปัญหาทางการเงิน คนที่มีภาระหนี้หลุดพ้นจากบ่วงนี้ได้ ผมบอกทีมงานทุกคนว่าปีนี้เรามาตั้งเป้าหมายกันใหม่ เราจะช่วยลูกหนี้ช่วยคนที่มีปัญหาจะช่วยให้ลดภาระ ดังนั้นปีนี้จะเป็นปีแห่งการช่วยเหลือลูกหนี้”

    ทีทีบีต้องการทําให้ชีวิตทางการเงินของคนไทยดีขึ้น ตลอด 3 ปีกว่าๆที่ผ่านมา นับว่าประสบความสำเร็จ โดยจากข้อมูล ลูกค้ากว่า 2.2 ล้านรายรับความคุ้มครองฟรีผ่านบัญชี All Free ช่วยลูกค้าเคลมประกัน PA กว่า 17,00 ราย และดูแลค่ารักษาพยาบาลและครอบครัวลูกค้าล้านกว่า 230 ล้านบาท นอกจากนี้ช่วยลูกค้ารวบหนี้ผ่านสินเชื่อสำหรับรวบหนี้ /โอนยอดหนี้ กว่า 46,000 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวมกว่า 15,000 ล้านบาท ช่วยลูกค้าแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยกว่า 2,240 ล้านบาท

    นายฐากรกล่าวถึงสถานการณ์สินเชื่อว่า สินเชื่อบ้านเผชิญวิกฤติในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากอสังหาฯหดตัวคุณภาพหนี้ถดถอย มียูนิตสะสมค่อนข้างเยอะ ผู้บริโภคชะลอการก่อหนี้ก้อนใหญ่ จากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี คนที่กู้บ้านระดับ 3 ล้านบาทเป็นกลุุ่มเปราะบางที่จะเป็นปัญหานี้ที่ต้องแก้ ส่วนสินเชื่อรถยนต์ก็เจอแรงกดดันค่อนข้างเยอะเช้นกันใน 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะรถกระบะ อาจจะเป็นเพราะการทำธุรกิจค้าขาย SME เศรษฐกิจไม่ดีจึงมีปัญหา กลุ่มนี้เป็นกลุ่มเปราะบางค่อนข้างมาก รถที่ยึดมาและนำออกประมูลได้ราคาที่ไม่สูง ส่งผลกระทบต่อราคารถมือสองให้ลดลง อย่างไรก็ตามตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นมาจนถึง 2 เดือนที่ผ่านมาเริ่มเห็นอัตราการยึดรถและนำออกประมูลลดลง การปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้นทั้งระบบ และการยึดรถที่น้อยลง ราคารถมือสองเริ่มปรับตัวดีขึ้น

    ในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิตมีผลกระทบจากการปรับยอดชำระขั้นต่ำ(minimum payment) ในช่วงปีกว่าที่ผ่านมาจาก 5% เป็น 7% แต่ก็มีการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ให้ปรับโครงสร้างยืดระยะเวลาชำระหนี้เป็นระยะยาว 5 ปี ผ่อนดอกเบี้ยกว่า 10% เท่านั้นเอง แต๋ก็ยังเป็นจุดที่ต้องจับตาม เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีมีผลต่อสถานการณ์สินเชื่อ

    “ทีทีบีไม่ได้หยุดในการที่จะช่วยลูกค้า 2-3 ปีที่ผ่านมาได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ปี 2566 จำนวนไม่มากนัก แต่ปี 2567 ได้เร่งให้ความช่วยเหลือ ทําให้ภาระหนี้ของลูกค้าน้อยลง ลูกค้าที่ไปต่อได้จะไม่กลับไปเป็น NPLs ลูกค้าที่เป็น NPLs แล้วยังมีความรู้สึกที่อยากจะสู้ก็กลับมาแล้วพูดคุยกัน ปีนี้เป็นปีที่เราทําต่อเนื่อง เริ่มจากคุณสู้เราช่วยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เราเร่งระดับในการที่จะพยายามติดต่อลูกค้า” นายฐากรกล่าว

    นายฐากรให้ข้อมูลว่า ในโครงการคุณสู้เราช่วย ทีทีมีมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายซึ่งบางส่วนเป็น NPLs สำหรับสินเชื่อบ้านแล้วจำนวน 12,500 คน แต่จากการพยายามติดต่อ ทั้งส่งผ่านโมบายแอป ส่งจดหมายไปที่บ้านเชิญชวนมาเข้าโครงการ ไม่มีการตอบรับจำนวน 3,100 คนหรือประมาณ 26% ลูกค้า 900 คนหรือ 8% บอกไม่สนใจ ซึ่งไม่แน่ใจว่าการไม่สนใจของลูกค้ามีเหตุผลอะไร อย่างไรก็ตามทีทีบีจะติดตามต่อเนื่อง ส่วนอีกกลุ่มที่กําลังตัดสินใจมีจำนวน 1,000 คน เนื่องจากกำลังประเมินว่าเข้าโครงการแล้วจะปัญหาตึงตัวในอนาคตหรือไม่ สำหรับลูกค้าที่ลงทะเบียนสําเร็จมีจำนวน 7,000 คนหรือ 60% ที่เป็นข้อมูล ณ วันนี้

    “เรายังมีเวลาอีก เราก็มีความคาดหวังว่ากลุ่มที่ยังไม่รับการติดต่อ และกลุ่มที่กําลังตัดสินใจ เราอยากจะเห็นตัวเลขที่ประมาณ 70% ซึ่งถือว่าน่าจะประสบความสําเร็จสําหรับโครงการนี้ ถ้าเราช่วยลูกค้าบ้านเราได้ประมาณ 70%” นายฐากรกล่าว

    ส่วนสินเชื่อรถยนต์มีกลุ่มเป้าหมาย 180,000 คน ซึ่ง 90,000 คน ไม่รับการติดต่อหรือ 50% ลูกค้าที่ไม่สนใจ 26,000 หรือ 14% ซึ่งไม่สนใจจริง หรือยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีปัญหา หรือว่ายังไม่เข้าใจโครงการ แต่มีอีก 17% หรือประมาณ 30,000 คน กําลังตัดสินใจ ส่วนที่ลงทะเบียนสำเร็จ 34,000 คน

    มีรางวัลสำหรับลูกค้าผ่อนดี

    นายฐากรกล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ทีทีบีมุ่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความมีวินัยทางการเงินอย่างจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมาลูกค้ากลุ่มนี้อาจจะยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ทั้งที่มีประวัติผ่อนดี ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ หรือค้างชำระหนี้ ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับพัฒนาขึ้นจากความเข้าใจลูกค้า โดยในสินเชื่อบ้านเมื่อผ่อนมา 3 ปีเข้าปีที่ 4 ดอกเบี้ยโดดขึ้นสูง ตัดเงินต้นได้น้อยลง หรือลืมว่าถึงเวลารีไฟแนนซ์ ต้องเตรียมเอกสารยุ่งยาก ส่วนลูกค้าสินเชื่อรถแลกเงินก็มีความรู้สึกว่าดอกเบี้ยธนาคารแพงและใช้เวลาในอนุมัตินานไม่ทันต่อความต้องการเร่งด่วน รวมไปถึงการมีไม่สลิปเงินเดือน ทางด้านสินเชื่อบุคคลนั้นจ่ายหนี้หลายที่ ดอกแพง ผ่อนต่อเดือนสูง ไม่รู้ว่าสินเชื่อบุคคลก็รีไฟฟแนนซ์ได้

    ทีทีบีมองเห็นความสำคัญของคนกลุ่มนี้จึงวางแนวทางการให้ที่มากกว่าผ่านโปรแกรม “ผ่อนดี…มีรางวัล” สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ผ่อนดีจะได้รับสิทธิประโยชน์และความคุ้มค่าที่มากกว่า ได้แก่

  • สินเชื่อบ้าน ลูกค้ารีไฟแนนซ์ ผ่อนดีดอกเบี้ยคงที่ตลอดสัญญา No Step Up Rate 3.39% ต่อปี* (*MRR-4.215% ต่อปี) ดอกเบี้ยปีที่ 4 ไม่มีกระโดด โดยไม่ต้องไปรีไฟแนนซ์ทุก ๆ 3 ปี และหากผ่อนดีต่อเนื่อง มีดอกเบี้ยพิเศษ 5.45% ต่อปี* (*MRR-2.155% ต่อปี) เมื่อต้องการวงเงิน Top Up หรือเลือก Undo ค่าโปะได้ เมื่อต้องการเงินฉุกเฉิน ถอนเงินที่โปะมาใช้ได้ทันที ผ่านบัตรกดเงินสด พร้อมฟรีค่าประเมิน และค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย

  • สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ลูกค้าที่ผ่อนดี รีไฟแนนซ์มาที่ทีทีบี ลดดอกเบี้ยทันที เริ่มต้นเพียง 13% ต่อปี พร้อมรับเงินคืน 5% ของดอกเบี้ยปีแรก เมื่อผ่อนดีต่อเนื่องครบ 12 เดือน

  • สินเชื่อบุคคล เมื่อรีไฟแนนซ์ผ่านบัตรกดเงินสด ทีทีบี แฟลช ลดภาระดอกเบี้ยทันที เริ่มต้นเพียง 17% ต่อปี (จากปกติสูงสุด 25% ต่อปี) พร้อมส่วนลดดอกเบี้ยผ่อนดี สูงสุด 2% ทุกปี (เหลือต่ำสุด 13% ต่อปี) และหากผ่อนตามแผนที่แนะนำการันตีปิดหนี้ได้ใน 3 ปี

    โปรแกรมผ่อนดี…มีรางวัลนี้จะเปิดให้เข้าร่วมตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน – 31 สิงหาคม 2568 โดยลูกค้าทีทีบีปัจจุบันที่เป็นกลุ่มผ่อนดีก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เช่นกัน โดยธนาคารจะมีแผนการสื่อสารรายละเอียดของโปรแกรมอีกครั้ง

    นอกจากนี้ ทีทีบียังส่งเสริมให้ลูกค้าทุกคนมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นได้ในทุกมิติอย่างแท้จริง ด้วยการเปิดตัวโปรแกรม “ttb loyalty program” ครั้งแรกของวงการธนาคารไทยผ่านแอป ttb touch ที่มีการกำหนด Status Tier ให้กับลูกค้า ttb touch 5.5 ล้านราย ได้ร่วมสนุกกับการพิชิตภารกิจที่ได้รับมอบหมายจนสำเร็จ เพื่อรับสิทธิประโยชน์ที่จะตอบโจทย์ด้านไลฟ์สไตล์และด้านการเงิน และรับสิทธิสุดพิเศษเพิ่มขึ้นอีกในแต่ละช่วงเวลาสำคัญของชีวิต ลูกค้าสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมและร่วมสนุกกันได้ทางแอป ttb touch

    นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต

    ติดอาวุธผู้ประกอบการ

    นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ปีนี้ผู้ประกอบการธุรกิจไทยต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ไม่ว่าเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำและผันผวน ต้นทุนที่สูงขึ้น และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามท่ามกลางเศรษฐกิจดังกล่าวยังมีธุรกิจบางกลุ่มที่เติบโตได้ดี ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนที่ดีก็จะเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้มากขึ้น ทีทีบีพร้อมช่วยให้ลูกค้าเอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดกลางก้าวผ่านความท้าทายนี้และเติบโตได้มากกว่า ด้วยโซลูชันที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมและสนับสนุนเครื่องมือการเงินที่ไม่ใช่แค่เรื่องของเงินทุน แต่ช่วยแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน

    นอกจากนี้ ทีทีบียังพัฒนาซัพพลายเชนโซลูชันที่ช่วยเอสเอ็มอีเพิ่มประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ รวมทั้งช่วยติดอาวุธให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนทางธุรกิจได้เหมือนธุรกิจรายใหญ่ ผ่านโซลูชันสำหรับร้านค้าอย่าง ttb smart shop ที่เป็นมากกว่าเครื่องมือรับเงินเพราะจะมาพร้อมกับรายงานเชิงลึกที่ช่วยต่อยอดและวางแผนการขายในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้นยังเสริมศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและเอสเอ็มอี ด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์มการเงินครบวงจรอย่าง ttb business one ที่มาพร้อมกับฟีเจอร์ใหม่ที่ผู้ประกอบการสามารถสมัครและเปิดบัญชีได้ด้วยตนเอง โดยในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้จะมีการเปิดตัวบัญชีดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่ออกแบบเพื่อให้สิทธิประโยชน์ที่คุ้มค่าสำหรับเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ พร้อมกันนั้นทีทีบียังให้ความสำคัญด้านการสนับสนุนลูกค้าธุรกิจให้ก้าวผ่านสู่มาตรฐานการทำธุรกิจใหม่ที่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมผ่าน Green Transition Solution และ ปันบุญ โดย ทีทีบี

    นายปิติ กล่าวสรุปว่า “สำหรับทีทีบีการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับลูกค้าเป็น ‘พันธกิจ’ ที่เรายึดมั่นมาโดยตลอด เราต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายให้กับชีวิตลูกค้าอย่างแท้จริง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นจะมีความหมายก็ต่อเมื่อมันสามารถตอบโจทย์และช่วยแก้ไขปัญหาลูกค้าที่กำลังเผชิญ และเราเชื่อว่าสิ่งที่เราตั้งใจทำในปีนี้จะเป็นการสร้าง MEANINGFUL Change ให้กับลูกค้าและพร้อมเคียงข้างคนไทย จนทำให้มีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นได้ผ่านโซลูชัน รางวัล และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ทีทีบีตั้งใจส่งมอบให้ตลอดทั้งปี”