ThaiPublica > เกาะกระแส > สตง. ยกเคส ‘พระราม 2’ กรณีศึกษาปรับใช้ MIRA ตรวจสอบโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่

สตง. ยกเคส ‘พระราม 2’ กรณีศึกษาปรับใช้ MIRA ตรวจสอบโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่

18 มีนาคม 2025


(ซ้าย) นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และโฆษกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (ขวา) นายสุทธิ สุนทรานุรักษ์ รองโฆษกฯ

สตง. เตรียมเสนอใช้ MIRA ระบบประเมินความเสี่ยงโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ มูลค่ามากกว่า 700 ล้าน ยกโมเดล สตง. เนเธอร์แลนด์-อเมริกา-ออสเตรเลีย ปรับใช้กับไทย เน้นสอบประวัติผู้รับเหมา มาตรฐานความปลอดภัยและความเสี่ยงอุบัติเหตุ

นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า สตง. เก็บรวบรวมข้อมูลอุบัติเหตุใหญ่บนถนนพระรามสอง ตั้งแต่ปี 2565-2568 พบว่ามีอุบัติเหตุใหญ่ทั้งหมด 10 ครั้ง ได้แก่ (1) 31 ก.ค. 65 โครงสร้างสะพานพังระหว่างก่อสร้าง (2) 22 ม.ค. 66 แผ่นปูนตกใส่รถประชาชน (3) 7 มี.ค. 66 เครนล้ม (4) 8 พ.ค. 66 คานสะพานถล่ม (5) 15 ธ.ค. 66 เหล็กหล่นทับคนงาน (6) 14 เม.ย. 67 คานสะพานถล่ม (7) 29 ก.ค. 67 แผ่นปูนตกใส่รถประชาชน (8) 18 ม.ค. 67 เครนล้ม (9) 14 ต.ค. 67 สะเก็ดไฟจากการเชื่อมกระเด็นใส่รถยนต์ที่วิ่งผ่าน และ (10) 15 มี.ค. 68 โครงสร้างสะพานพังถล่ม

จากกรณีเหตุการณ์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนถนนพระราม 2 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2568 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยของโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ดังนั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และได้ศึกษาแนวทางการตรวจสอบด้านความปลอดภัยของโครงการขนาดใหญ่จากองค์กรตรวจเงินแผ่นดินในต่างประเทศ อาทิ สตง.เกาหลีใต้ (BAI) สตง.เนเธอร์แลนด์ (NCA) สตง.สหรัฐอเมริกา (GAO) และ สตง.ออสเตรเลีย (ANAO) ซึ่งมีแนวทางการตรวจสอบที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลความปลอดภัยในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของไทย สรุปได้ดังนี้

(1) การประเมินความเสี่ยงโครงการผ่านเครื่องมือที่เป็นระบบ สตง.เกาหลีใต้ได้พัฒนา Risk Analysis Model ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อคำนวณค่าความเสี่ยงและจัดระดับความเสี่ยงของโครงการขนาดใหญ่ โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความซับซ้อนของโครงการ ประวัติผู้รับเหมา ประวัติอุบัติเหตุ และการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย และปัจจุบัน สตง.ไทย ได้นำแนวทางนี้มาพัฒนาเป็น MIRA (Mega Project Integrity Risk Assessment) ซึ่งเป็นระบบประเมินความเสี่ยงที่สามารถช่วยกำหนดระดับความเข้มข้นในการตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่

นายสุทธิพงษ์ อธิบายว่า MIRA มีเกณฑ์ประเมินวัดระดับความเสี่ยง 3 ด้าน คือ

  • ความน่าจะเป็นที่จะเกิดความเสี่ยง (Probability Criteria) แบ่งเป็น 5 ระดับคะแนน ตั้งแต่ 1 ถึง 5 โดยระดับ 1 มีความถี่ในการเกิดเหตุการณ์ต่ำกว่า 20%, ระดับ 2 20-39%, ระดับ 3 40-59%, ระดับ 4 60-79% ส่วนระดับ 5 มีความถี่ในการเกิดเหตุการณ์มากกว่า 80%
  • การวัดผลกระทบจากความเสี่ยง (Impact Criteria) แบ่งเป็น 5 ระดับคะแนน ตั้งแต่ 1 ถึง 5 โดยเก็บข้อมูล 3 ส่วนคือผลกระทบทางการเงิน ผลกระทบต่อชื่อเสียงหรือความเชื่อมั่น และผลกระทบต่อความดำเนินโครงการ
  • การกำหนดน้ำหนักความเสี่ยง (Risk Weight Criteria) พิจารณาจากระดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ และลักษณะการเกิดเหตุการณ์ทุจริต

(2) การสอบทานคุณสมบัติของผู้รับเหมาอย่างละเอียด สตง.สหรัฐอเมริกาใช้แนวทาง Past Performance Review เพื่อช่วยหน่วยงานรัฐในการสอบทานประวัติของผู้รับเหมาก่อนอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการ โดยเน้นพิจารณาประวัติการทำงานก่อนหน้า อุบัติเหตุในอดีต และการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย

(3) การนำเทคโนโลยีมาช่วยประเมินความปลอดภัย สตง.เนเธอร์แลนด์ได้นำเทคโนโลยี 3D Modeling และ Simulation มาใช้ในการตรวจสอบความมั่นคงของโครงสร้างก่อนเริ่มการก่อสร้าง เพื่อจำลองสถานการณ์และระบุจุดเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ

(4) การส่งเสริมความโปร่งใสผ่านรายงานความปลอดภัย สตง.ออสเตรเลียแนะนำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่รายงานความคืบหน้าด้านความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า สตง. ให้ความสำคัญกับประเด็นความปลอดภัยในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ โดยเน้นการนำแนวทางสากลและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการตรวจสอบ พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นายสุทธิพงษ์ ทิ้งท้ายว่า สตง. จะนำ MIRA มาใช้กับโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าโครงการมากกว่า 700 ล้านบาท และจะเสนอให้ให้กระทรวงคมนาคมนำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้ต่อไป