ThaiPublica > เกาะกระแส > ‘วันน้ำโลก’ ชาวแม่สาย หวั่นน้ำท่วมซ้ำรอย 1 ปีไร้มาตรการรับมือ -เงินเยียวยาไม่ทั่วถึง

‘วันน้ำโลก’ ชาวแม่สาย หวั่นน้ำท่วมซ้ำรอย 1 ปีไร้มาตรการรับมือ -เงินเยียวยาไม่ทั่วถึง

22 มีนาคม 2025


สทนช.เตรียม 9 มาตรการ รับมือน้ำช่วงฤดูฝนปี2568 เสนอคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ 9 เม.ย. เผยสถานการณ์เอลนีโญ/ลานีญาในสภาวะที่เป็นกลางส่งผลให้ปริมาณน้ำอาจจะมากกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ ชาวแม่สาย หวั่นน้ำท่วมซ้ำรอย 1 ปี รัฐไร้มาตรการรับมือ  เงินเยียวยาไม่ทั่วถึง

นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 องค์การสหประชาชาติ(UN)กำหนดให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันน้ำโลก” (World Water Day) เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของน้ำต่อการดำรงชีวิตและการพัฒนาที่ยั่งยืน  โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ร่วมงานวันน้ำโลก ประจำปี 2568 ภายใต้หัวข้อ “Glacier Preservation” หรือ “การอนุรักษ์ธารน้ำแข็ง”

นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานเปิดงานวันน้ำโลก ประจำปี พ.ศ. 2568 กล่าวว่า วันน้ำโลกปีนี้อยู่ในสถานการณ์เอลนีโญ/ลานีญา ปัจจุบันอยู่ในสภาวะที่เป็นกลาง โดยฤดูฝนปีนี้จะมาเร็วตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป และแนวโน้มจะมีปริมาณมาก ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อยู่ระหว่างการจัดทำแผนรับมือน้ำช่วงฤดูฝนปี 2568 นำเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำ (กนช.) วันที่ 9 เม.ย. 2568 เพื่อออกมาตรการเพิ่มเติมและการขอใช้งบประมาณเพื่อรับมือ

ส่วนสถานการณ์ วันน้ำโลก ในปีนี้ได้เน้นให้เห็นถึงวิกฤติภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นกับธารน้ำแข็งซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำจืดธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของโลก ขณะนี้กำลังละลายอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศและการดำรงชีวิตของประชากรโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย

“การละลายของธารน้ำแข็งทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำ เช่น กรุงเทพมหานครและพื้นที่ชายฝั่งทะเลของไทย ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดทั้งภัยแล้งและอุทกภัยที่รุนแรงและถี่ขึ้น ส่งผลกระทบอย่างมากต่อทรัพยากรน้ำ การเกษตร และความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น การอนุรักษ์และบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนจึงเป็นวาระเร่งด่วนที่มีความสำคัญระดับโลก การจัดงานวันน้ำโลกจึงไม่ใช่แค่กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ แต่เป็นการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตระหนักและร่วมกันลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเพื่อสร้างแนวทางการใช้น้ำอย่างยั่งยืน”

นางสาวจิราพรกล่าวด้วยว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาเราเผชิญทั้งสภาวะน้ำท่วม/น้ำแล้ง ในอดีตสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เราเคยเจอปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ สร้างความเสียหายให้กับประชาชน รวมถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศ ฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาตั้งแต่อดีต ซึ่งเคยมีแผนที่จะทำโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบด้วยงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง แต่โครงการดังกล่าวก็ถูกพับไปจนเวลาล่วงเลยมาราวสิบปี การกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง จึงอยากจะให้การดูแลเรื่องน้ำท่วมน้ำท่วมน้ำแล้งให้เป็นระบบและยั่งยืน ดังนั้นจึงจะนำแนวทางเดิมที่เคยวางเอาไว้มาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทและสถานการณ์ ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อลดปัญหานี้ให้มากที่สุด

นอกจากนี้ก็ยังจะต้องมีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและความความร่วมมือระดับสากล เพราะปัญหานี้เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติเป็นหลัก รัฐบาลเองก็ต้องพยายามทำแผนมารับมือเพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด

เตรียม 9 มาตรการรับมือน้ำฤดูฝน

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ในช่วงปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยต้องประสบกับสภาวะเอลนีโญและลานีญาที่ส่งผลต่อการเกิดภัยแล้งและอุทกภัยอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น เช่น การเกิดภัยแล้งรุนแรงในปี 2557 การตรวจค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาที่พบสถิติสูงสุดเท่าที่เคยเกิดในปี 2564 จากน้ำทะเลหนุน

นอกจากนี้ในปีนี้ที่ประเทศไทยยังคงประสบกับสภาวะลานีญาและคาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องจนถึงเดือนเมษายนนี้ด้วย สทนช. จึงได้กำหนดแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี สำหรับเป็นกรอบแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมมาตรการประจำปีเพื่อบรรเทาภัยที่อาจเกิดขึ้นจากบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป

สำหรับฤดูแล้งนี้ สทนช. ร่วมกับทุกภาคส่วนได้ขับเคลื่อน 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568 อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งดำเนินการตาม 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ล่วงหน้า โดยเน้นการทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังได้ขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำระหว่างประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ลุ่มน้ำโก–ลก รวมทั้งได้สร้างความร่วมมือด้านน้ำระหว่างประเทศ องค์กรระดับโลกและภูมิภาคที่สำคัญ จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาบุคลากรและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านน้ำในระดับภูมิภาคด้วย

“ยอมรับว่าสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้การคาดการณ์ปริมาณฝนยากมากขึ้น ขณะนี้สถานการณ์เข้าสู่ความเป็นกลาง ดังนั้นในช่วงเมษายนจะมีฝนตกมากกว่าค่าปกติ ส่วนในเดือนพฤษภาคมก็จะมีฝนตกมากกว่าค่าปกติเช่นกัน ดังนั้นหน้าฝนปีนี้อาจจะมี ปริมาณฝนใกล้เคียงหรือมากกว่าปกติเล็กน้อย ซึ่ง สทนช. ได้เตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องของเครื่องมือและระบบระบายน้ำ ตลอดจนกลไกแจ้งเตือน เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น และนอกจากนี้จะมีการเพิ่มภาษาถิ่นเข้าไปในระบบแจ้งเตือนด้วย” เลขาฯ สทนช.

เสวนา Climate Change Adaptation “การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

คนแม่สาย เชียงรายชี้ 1 ปี เยียวยาน้ำท่วมยังไม่ทั่วถึง

อย่างไรก็ตามภายในงานวันน้ำโลกได้จัดเสวนา Climate Change Adaptation “การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยมี ร.ต.อ. เด่นวุฒิ จันต๊ะขันติ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะช้าง เชียงราย ได้กล่าวถึงบทเรียนน้ำท่วมเชียงราย ปี 2567 ที่ผ่านมา ว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา เมื่อถึงเวลาฝนตกก็จะวิตกกังวล ว่าจะน้ำจะท่วมหรือไม่ มาจนถึงทุกวันนี้ พี่น้องแม่สาย ยังคงวิตกไม่หาย เพราะน้ำท่วมทำให้เปลี่ยนเส้นทางน้ำ  และจนถึงวันนี้จะครบ 1 ปี การดำเนินการของภาครัฐยังไม่คืบหน้า โดยเฉพาะการประสานงานกับเมียนมา เรื่องการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำ แม่น้ำสาย และแม่น้ำลวกยาวกว่า 50 กิโลเมตร ยังไม่ได้รื้อถอน การขุดลอกแม่น้ำฝั่งเมียนมาเริ่มทำ แต่ฝั่งไทยยังนิ่ง แต่พึ่งทราบว่าจะดำเนินการในเดือนมีนาคม แต่ยังไม่เห็นดำเนินการใดๆ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาทำให้เกิดความเสียหาย กว่า 6,046 ล้านบาท  แบ่งเป็นความเสียหายทางด้านการค้าประมาณ 3,300 ล้านบาท  และความเสียหายด้านเยียวยา 566 ล้านบาท  ขณะที่ความช่วยเหลือไม่ทั่วถึง โดยขณะนี้มีชาวบ้านได้รับความช่วยเหลือเยียวยาจากงบกลางแค่ 200 ล้านบาท จากองค์การบริหารส่วนจังหวัด 50 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือกว่า 300 ล้านบาท ส่วนเรื่องที่รัฐบาลรับปากว่าจะช่วยค่าล้างโคลนอีก 10,000 บาทตอนนี้ยังไม่ได้รับเงินเลยแม้แต่บาทเดียว

“ผมลงพื้นที่ไปทุกครั้ง ชาวบ้านจะถามตลอดเวลาว่า เมื่อไหรจะได้เงินชดเชย  ผมต้องบอกว่าได้แน่นอนใจเย็นๆ ตอนนี้เกือบจะถึง 1 ปีความช่วยเหลือก็ยังไม่ทั่วถึง และฝนก็เริ่มตกอีกแล้ว แล้วเราจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนได้อย่างไร เพราะในพื้นที่แม่สาย น้ำท่วมทุกปี เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำจากแม่น้ำสาย แม่น้ำลวกฝั่งเมียนมา และมีน้ำหนุนจากน้ำโขง แต่เรายังไม่มีแผนแก้ปัญหาที่ชัดเจน”

ร.ต.อ. เด่นวุฒิกล่าวอีกว่า ในเรื่องความช่วยเหลือและการแก้ปัญหาน้ำท่วม งบประมาณของท้องถิ่นมีน้อยไม่เพียงพอ แม้ว่าเราจะใกล้ชิดกับประชาชน รู้ปัญหาดี แต่ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะมีแต่อำนาจ ไม่มีเงิน เนื่องจากงบหลักของท้องถิ่นคือ งบผู้สูงอายุ งบเงินโรงเรียน ส่วนงบในการพัฒนามีประมาณ 6-7 ล้านบาทเท่านั้น

“ผมเองเคยสงสัยว่างบประมาณโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ โครงการละหมื่นล้านบาท แต่มีงบให้ท้องถิ่นเหลือแค่ 6-7 ล้าน เราทำอะไรไม่ได้  ผมจึงอยากฝากทุกท่านถึงเวลาที่จะให้ความสำคัญเรื่องน้ำ ถ้าหากยังช้า ทั้งเรื่องขุดลอก การทำตลิ่งถาวร ผมคิดว่าปีนี้ท่วมอีกแน่นอน โดยเฉพาะต้นน้ำในเมียนมา เราทำอะไรไม่ได้เลยจะแสวงหาความร่วมมือกับเพื่อนบ้านก็ยาก จึงอยากให้ภาครัฐช่วยงบประมาณให้ทันท่วงทีในปี 2568 ด้วย”

  • ถอดบทเรียนภัยพิบัติซ้ำซาก ปัญหาเดิม เสียงเตือนปี2568 มาอีกแน่…ป้องกันดีกว่าเยียวยาไหม!!
  • บทเรียนจาก ‘ไมตรี จงไกรจักร์’ ชี้ “ภัยพิบัติการบริหารที่ล้มเหลว” ซ้ำเติม “ภัยพิบัติ” ให้หายนะหนักขึ้น
  • เรียกร้องหน่วยงานบูรณาการ “เตือนภัย”

    ด้านนายสมปอง รัศมิทัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางยอ สมุทรปราการ กล่าวว่าในพื้นที่บางกระเจ้า มีปัญหาเรื่องน้ำทะเลหนุน ซึ่งปัจจุบันมีน้ำทะเลหนุนประมาณ 5 เดือน และบางปี 8 เดือนติดกัน ทำให้ทั้งมะม่วงน้ำดอกไม้ และชมพู ได้รับความเสียหาย แม้ว่าปัจจุบันเราจะมีประตูระบายน้ำ 34 ประตู แต่ยังไม่มีการบริหารจัดการที่ดี เพราะพึ่งมีการส่งมอบประตูระบายน้ำให้ท้องถิ่นบริหารจัดการ แต่ก็ยังไม่เป็นทางการ ปีนี้จึงอยากให้การเตรียมการบริหารจัดการที่ดีเพื่อรับมือ

    ด้านนายดอเลาะอาลี สาแม ประธานเครือข่ายเตือนภัยพิบัติเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ชายแดนใต้ กล่าวว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัด มีปัญหาเรื่องพื้นที่ป่าไม้หายไป มีการบุกรุกป่าไม้ ทำให้ในปี 2566 น้ำท่วม และมีการแจ้งเตือนภัยมีการคาดการณ์ล่วงหน้า 3 วัน 7 วัน โดยการตรวจสอบข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน) และแจ้งเตือนภัยให้กับชาวบ้านผ่านเครือข่ายทางไลน์ และเสียงตามสาย

    “ผมตรวจสอบข้อมูลและแจ้งเตือนภัยในเครือข่าย เวลาแจ้งเตือนภัย เราก็ดูข้อมูลการคาดการณ์ล่วงหน้า 7 วัน และ 3 วัน และมีการทำข้อมูลฝนตกระดับตำบล ข้อมูลเหล่านี้เครือข่ายประชาชนรู้หมด แต่หน่วยงานไม่ค่อยสนใจ ถ้าไม่มีหนังสือจากอุตุนิยมฯก็ไม่มีการดำเนินการแต่เครือข่ายประชาชนแจ้งกลุ่มไลน์และออกเสียงตามสาย แต่พอเราแจ้งเตือนก็โดนตำหนิ เพราะถ้าไม่มาจริงแล้วจะเดือดร้อน แต่ก็พบว่าสิ่งที่ผมเตือนเกิดขึ้นจริง ปีนี้ผมจึงอยากให้มีการบูรณาการจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องเรื่องการเตือนภัยให้ทุกคนสนใจข้อมูลและดำเนินการ ผมอยากทำให้เกิดขึ้นจริง”

    ด้านนายปวิช  เกศววงศ์  รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม  กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงภาพอากาศทุกคนได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น และรัฐบาลให้ความสำคัญกับโลกร้อน และมีมาตรการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัว โดยกรมโลกร้อนได้มีการทำแผนการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ  โดยทำข้อตกลง 7 หน่วยงาน เพื่อการขับเคลื่อนแผนฯต้องบูรณาการทำงานระหว่างหน่วยงานร่วม โดยจะดำเนินการทุกด้าน ทั้งเรื่อง น้ำ การเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร และการย้ายถิ่นฐาน และการเตือนภัยล่วงหน้า

    “หลังจากลงนามข้อตกลงการทำงานร่วมกันใน 7 หน่วยงาน เราจะทำแผนงานปฏิบัติการทำงานร่วมกัน และจะมีการประชุมระดับผู้เชี่ยวชาญเพื่อดูตัวชี้วัดในการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงเพื่อทำมีแผนรูปธรรมในการดำเนินการ”

    ด้านนางสาวเข็มอัปสร  สิริสุขะ ผู้แทนประชาสัมพันธ์ด้านการบริหารทรัพยากรน้ำ สทนช.กล่าวว่า เคยมีประสบการณ์ในสมัยเด็กตอน 10 ขวบ บ้านน้ำท่วมจนพ่อต้องย้ายบ้าน เหตุการณ์น้ำท่วมอยู่ในชีวิตของเรา กระทั่งในปี2554 เกิดน้ำท่วมและได้เป็นอาสาสมัครลงพื้นที่ไปช่วยเหลือ จนในปี 2559 เริ่มรู้สึกว่าไม่ได้แล้ว เราในฐานะประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง จึงลงพื้นที่และพบว่าการตัดไม้ทำลายป่าคือสาเหตุใหญ่ จึงเริ่มทำโครงการปลูกป่าที่ไม่ใช่ปลูกวันเดียวเสร็จ แต่ปลูกป่าแบบมีระบบติดตามว่าพื้นที่ปลูกป่าอยู่รอดได้

    “โลกร้อนขึ้นพื้นที่ป่าไม้ลดลง จนส่งผลกระบเป็นวัฏจักรให้รุนแรง เพราะฉะนั้นการเข้าถึงข้อมูล ความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่พลเมืองควรจะมี เพราะถ้าเราไม่สนใจ เราจะไม่รู้ว่าจะปรับตัวเพื่อรับมืออย่างไร และถ้าเรารับรู้ข้อมูล ผลกระทบ ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของเราจะรับผิดชอบมากขึ้น ว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร”