ปตท. มั่นใจกลยุทธ์ใหม่มาถูกทาง เน้นธุรกิจหลัก Hydrocarbon ที่ถนัดและเชี่ยวชาญ ทำให้ผลประกอบการแข็งแกร่ง โชว์กำไร 90,072 ล้านบาท กางแผนลงทุน 5 ปี 5 หมื่นล้าน พร้อมทุ่มงบลงทุนปีนี้ 2.5 หมื่นล้าน เร่งขยายโรงกลั่น-สำรวจปิโตรเลียมสร้างพันธมิตรที่เข้มแข็ง

วันที่21 กุมภาพันธ์ 2568 ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) แถลงผลการดำเนินงาน ปตท. ปี 2567 โดยระบุว่าในปีที่ผ่านมามีความท้าทายรอบด้าน ทั้งความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ การเติบโตเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ชะลอตัวลง ภาวะเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ความกังวลต่อนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และแรงกดดันจาก อุปสงค์ที่ลดลงและอุปทานที่มากเกินความต้องการในธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมี
ในปีที่ผ่านมา ปตท.ได้ดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ใหม่ที่กลับมาเน้นธุรกิจหลัก Hydrocarbon ที่ถนัดและเชี่ยวชาญ ทบทวนกลยุทธ์ Non-Hydrocarbon เน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มี Synergy ในกลุ่ม ปตท. เน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน บริหารต้นทุนด้วยการทำ Operational Excellence ทั้งกลุ่ม ปตท. นำ digital มาใช้ ทำให้มีรายได้กว่า 3 ล้านล้านบาท กำไรสุทธิ 90,072 ล้านบาท พร้อมจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2567 ที่ 2.10 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทนที่ร้อยละ 6.6 และมีส่วนช่วยภาครัฐในการบริหารจัดการต้นทุนในช่วงที่ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นจากสภาวะปกติ เพื่อลดผลกระทบให้แก่ประชาชน
“เราเชื่อว่ากลยุทธ์ใหม่ที่กลับไปหาธุรกิจหลัก และความเชี่ยวชาญของเรามาถูกทางแล้ว รวมไปถึงจากบริหารจัดการและรวมพลังในองค์กร ทำให้ผลประกอบการที่แข็งแกร่ง โดยกำไรหลักมาจากธุรกิจ Upstream แม้ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาครัฐ มาชดเชยกับธุรกิจ Downstream ที่ได้รับความกดดันจากปัจจัยด้านราคา แต่เรื่องสำคัญคือการบริหารต้นทุน และควบคุมค่าใช้จ่ายทั้งกลุ่ม ปตท. ในปีที่ผ่านมาเราลดรายจ่ายได้กว่าหมื่นล้านบาท รวมถึงการบริหารรายการพิเศษและบริหารผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนและเงินกู้ได้ดี”
ดร.คงกระพัน กล่าวอีกว่าสำหรับธุรกิจที่สร้างรายได้ในปี 2567 ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังเป็นธุรกิจ Hydrocarbon and Power ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่สร้างผลตอบแทนให้กับ ปตท. ประกอบด้วย การลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตผ่านบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) โดย ปตท.สผ. สามารถปรับเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) จากอ่าวไทยสู่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 10 ในโครงการสัมปทานกาชา (Ghasha Concession Project) หนึ่งในแหล่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ส่วนธุรกิจ LNG มีปริมาณการนำเข้า LNG ทั้งสัญญาระยะยาว และสัญญาแบบ Spot รวม 9.6 ล้านตันต่อปี เพื่อรองรับความต้องการพลังงานในประเทศ ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย สร้างมูลค่าเพิ่ม 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากความร่วมมือภายในกลุ่ม และโรงกลั่นได้ปรับการผลิตน้ำมันดีเซลให้ได้มาตรฐานยูโร 5 เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่น PM 2.5 ตามนโยบายของภาครัฐ ธุรกิจไฟฟ้า มีกำลังการผลิตเพิ่มเติม (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) รวมทั้งหมด 15 GW โดยหลักมาจากการลงทุนพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ
ด้านธุรกิจไฟฟ้า มีกำลังการผลิตเพิ่มเติม (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) รวมทั้งหมด 15 GW โดยหลักมาจากการลงทุนพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ สำหรับธุรกิจ Non-Hydrocarbon ได้ทบทวนกลยุทธ์ เน้นทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่ม ปตท. โดย EV ธุรกิจมุ่งเน้นการขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าร่วมกับ OR ที่มีความพร้อมของ Ecosystem
ส่วน Life Science เป็นธุรกิจที่ดี แต่ต้องขับเคลื่อนได้ด้วยธุรกิจเอง self-funding ซึ่งปีที่ผ่านมารับรู้รายได้จากการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัท Alvogen Malta (Out-licensing) Holding Ltd. มูลค่า 4,500 ล้านบาท ของบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด สำหรับ Logistics ออกจากธุรกิจไม่สอดคล้องกับ ปตท. มุ่งเน้นที่สามารถต่อยอดและมี Synergy ภายในกลุ่ม ปตท.

ดร.คงกระพันกล่าวต่อว่าในปี 2568 ปตท.ยังคงมุ่งกลยุทธ์การลงทุนที่คุ้มค่า ไม่ใช้เงินจำนวนมาก แต่สามารถสร้างผลกำไรได้ในระดับสูง โดยปตท.จะใช้เงินลงทุน 2.5หมื่นล้านบาท จากงบลงทุน 5 ปี(2568-72) ที่ตั้งไว้ 5.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่อก๊าซ ท่าเรือ เทรดดิ้ง เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับ ปตท. ในการประกอบธุรกิจ เชื่อว่าจะช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ รวมถึงดูแลนักลงทุน และประชาชนได้
นอกจากนี้ ปตท.ยังเสริมความแข็งแกร่งตามแผนงานใหม่ EBITDA Uplift มีแผนทั้งระสั้น,กลางและยาว เป็นไปตามกลยุทธ์สร้างการเติบโตควบคู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่ NET ZERO
แผนระยะสั้นปรับโครงสร้างธุรกิจตามแผนงาน, การเพิ่มมูลค่าต่อยอดความร่วมมือของบริษัทในเครือจาก P1 ที่ร่วมกันบริหารนำเข้าน้ำมัน ก็เป็นความร่วมมือบริหารจัดการด้านผลิตภันฑ์ภายในประเทศร่วมกัน โครงการ D1 ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่า 3,300 ล้านบาท/ปี ภายในปี 2570 , โครงการ Mission X การจัดการปรับปรุงการผลิตและอื่นๆของแต่ ละบริษัทตั้งเป้าหมาย เพิ่ม EBITDA ของของกลุ่มรวม 3 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นการดำเนินการของ ปตท. 1 หมื่นล้านบาท และโครงการ Digital Transformation เพิ่มประสิทธิภาพ รวม 2,000 ล้านบาท ภายในปี 2569
ส่วนแผนระยะกลาง คือปรับโครงสร้างหาพันธมิตร ธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น และโครงการ LNG HUP และระยะยาวพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage / CCS) รวมถึงการลงทุนธุรกิจไฮโดรเจน
สำหรับความคืบหน้าแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจนั้น ล่าสุดได้ ยุติธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) เพื่อนำเงินไปลงทุนเพิ่มศักยภาพธุรกิจที่มีความชำนาญ หรือเชี่ยวชาญ รวมถึงเพิ่มพันธมิตรในธุรกิจโรงกลั่น และสำรวจปิโตรเลียม ซึ่งปัจจุบันอยู่ขั้นตอนของการเจรจา เชื่อว่าจะได้ข้อสรุปในอีกไม่ช้า

ดร.คงกระพันกล่าวว่าปตท. มีกลยุทธ์สร้างการเติบโตควบคู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่ NET ZERO ผ่านแนวทาง C3 ได้แก่ C1 การปรับพอร์ทธุรกิจให้เติบโตควบคู่กับการลดการปล่อยคาร์บอน C2 การปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ และมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด C3 ประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage / CCS) รวมถึงเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติผ่านการปลูกป่า
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยสร้างสมดุลเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ช่วยสังคมอย่างต่อเนื่อง ปีที่ผ่านมาได้เปิดสวนเปรมประชาวนารักษ์ ณ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นแลนด์มาร์กสีเขียวแห่งใหม่ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ และยังเป็นการพัฒนาชุมชนในพื้นที่โดยรอบให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“ปีนี้ยังคงท้าทาย ปตท. มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างการเติบโตควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก ต้องสร้างความแข็งแรงภายในองค์กร ลดความเสี่ยง รักษาเสถียรภาพให้กับธุรกิจ พิจารณาการลงทุนด้วยความระมัดระวัง พร้อมดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน”
ผู้สื่อข่าวที่ถามถึง กรณี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีนโยบายการลดค่าไฟ โดยการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ (Pool Gas) เพื่อลดค่าไฟงวดพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 เพื่อลดค่าไฟลง 40 สตางค์ต่อหน่วย
ดร.คงกระพัน กล่าวว่าปตท. ยังไม่ได้รับการประสานงานเพื่อพูดคุยในประเด็นดังกล่าวจากกระทรวงพลังงาน แต่ในปี 2567 ปตท. ได้สนับสนุนราคาก๊าซฯในการลดค่าไฟ รวมถึงสนับสนุนราคาพลังงาน เช่น NGV และ LPG ประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท