ThaiPublica > Sustainability > Contributor > โจรสลัด ดาต้าเซ็นเตอร์ และโลกร้อน : เรื่อง (ไม่) ต่าง ที่ (อาจ) พาโลกพัง

โจรสลัด ดาต้าเซ็นเตอร์ และโลกร้อน : เรื่อง (ไม่) ต่าง ที่ (อาจ) พาโลกพัง

25 กุมภาพันธ์ 2025


ปิติคุณ นิลถนอม

ที่มาภาพ – ผู้เขียนใช้ ChatGPT สร้างภาพนี้ขึ้นมา ซึ่งตามงานวิจัยน่าจะใช้น้ำไปราว 48 มิลลิลิตร

โลกนี้อยู่ยากขึ้นทุกวัน คำนี้คงไม่เกินเลยความเป็นจริงไป เพราะธรรมชาติที่ครั้งหนึ่งเคยโอบอุ้มพวกเราทุกคนไว้ กลับมาทำร้ายมนุษย์อย่างเราๆ ไม่ใช่ว่าธรรมชาติใจร้ายกับเรา แต่เป็นผลพวงมาจากน้ำมือมนุษย์ที่ครั้งหนึ่งเราเคยสร้างสิ่งต่างๆ โดยมุ่งผลทางเศรษฐกิจแต่ละเลยมิติของสิ่งแวดล้อมไป

ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบในวงกว้าง ทุกวันนี้ในหลายๆ พื้นที่ต้องเสี่ยงกับไฟป่า น้ำท่วม หรือคลื่นความร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พืชผลทางการเกษตรก็ลดลง ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร อย่างผักกาดลดลงจนเกิดวิกฤติ “กิมจิ” ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติของเกาหลีใต้ แม้แต่เบียร์ที่อาจรสชาติผิดเพี้ยนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะวัตถุดิบหลักอย่างฮอปส์ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

พูดถึงเรื่องโลกร้อนแล้ว ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า โจรสลัดที่อยู่โพ้นทะเล หรือเรื่อง “ใกล้ไม้ใกล้มือ” อย่างการหยิบสมาร์ทโฟนมาใช้ข้อมมูลบนโลกดิจิทัล ล้วนเชื่อมโยงกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศอย่างแยกไม่ออก เรื่องราวที่ดูเหมือนจะเป็นคนละเรื่อง แต่กลับเกี่ยวพันกันอีนุงตุงนัง ซึ่งหากแก้ไขแบบสุ่มสี่สุ่มห้าอาจจะเป็นลิงแก้แห จนอาจนำไปสู่หายนะของโลกก็เป็นได้

เมื่อ “โลกร้อน” ผลักชาวประมงสู่เส้นทางโจรสลัด

โลกร้อนขึ้น น้ำทะเลก็อุ่นขึ้น ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่สำหรับชาวประมงในโซมาเลียแล้ว นี่คือจุดเริ่มต้นของหายนะ เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ปลาที่เคยชุกชุมก็อพยพย้ายถิ่นหรือลดจำนวนลง ทำให้ชาวประมงที่เคยหาเลี้ยงชีพด้วยการจับปลาต้องเผชิญกับความยากลำบาก ขาดรายได้ จนอาจถูกผลักดันให้เลือกทางเดินที่ผิด หันไปจับอาวุธออกปล้นเรือสินค้ากลางทะเลเพื่อความอยู่รอด ทั้งนี้ มีงานวิจัยที่ยืนยันความสัมพันธ์นี้ระบุข้อมูลการโจมตีของโจรสลัดโซมาเลียในช่วงปี 2005-2012 พบว่าการโจมตีมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่น้ำทะเลนอกชายฝั่งแอฟริกาตะวันออกอุ่นขึ้น แม้ปัญหาโจรสลัดนี้จะหนักหนาสาหัสในช่วงทศวรรษก่อน และได้ซาลงหลังจากนานาชาติ (รวมถึงไทยด้วย) ส่งกำลังทหารไปช่วยปราบปราม แต่รายงานข่าวล่าสุดระบุว่า เมื่อปีกลายเหล่าโจรสลัดก็เริ่มออกปล้นอีกแล้ว

โลกร้อน-โจรสลัด-โลกร้อน ซ้ำๆ วนๆ

เมื่อโจรสลัดออกอาละวาด เรือสินค้าก็ต้องเปลี่ยนเส้นทางไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮปในแอฟริกาใต้ แทนที่จะลัดเลาะคลองสุเอซ เส้นทางอ้อมโลกที่ยาวขึ้นหมายถึงการเผาผลาญเชื้อเพลิงที่มากขึ้น ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมหาศาล ค่าขนส่งสินค้าก็แพงขึ้นตามไปด้วย ไม่นับรวมค่าประกันภัยและต้นทุนการจ้างทีม รปภ. ที่ขยับเพิ่มขึ้นเช่นกัน สุดท้ายผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แถมยังต้องเผชิญกับผลกระทบจากโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นอีก

อาจกล่าวได้ว่า โลกร้อนทำให้เกิดโจรสลัด และโจรสลัดก็ยิ่งทำให้โลกร้อนขึ้นไปอีก ปัญหาต่างๆ ซ้ำเติมกันไปมา กลายเป็นวิกฤติที่แก้ไขได้ยากขึ้น

ดาต้าเซ็นเตอร์… โลกดิจิทัลที่ซ่อน “ภัยร้าย” ไว้ข้างใน

กลับมาที่เรื่องใกล้ตัวเรามากๆ ที่ในยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างเชื่อมต่อกันผ่านอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่การส่งอีเมล ประชุมออนไลน์ จนถึงการใช้งาน generative AI อย่าง ChatGPT เบื้องหลังความสะดวกสบายเหล่านี้ คือดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดมหึมาที่ทำงานหนักตลอด 24 ชั่วโมง แต่สิ่งที่หลายคนมองข้าม คือ “ต้นทุน” ทางสิ่งแวดล้อม ที่ดาต้าเซ็นเตอร์เหล่านี้ก่อขึ้น

เพราะดาต้าเซ็นเตอร์ต้องใช้น้ำมหาศาล เพื่อระบายความร้อนให้กับเซิร์ฟเวอร์จำนวนมาก ซึ่งงานวิจัยเรื่อง Making AI Less “Thirsty” ของ Pengfei Li และคณะระบุว่า การพูดคุย หรือ prompt กับ generative AI โดยใช้คำถาม 20-50 ข้อ อาจใช้น้ำเฉลี่ยราวครึ่งลิตรเลย!

เรื่องนี้สร้างปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่แห้งแล้ง ทำให้ประชานชนในประเทศแถบละตินอเมริกาเริ่มตื่นตัว และชุมนุมประท้วงโครงการก่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่ๆ ในพื้นที่ เพราะกลัวว่าจะมาแย่งน้ำกินน้ำใช้ โดยเฉพาะประชาชนที่ต้องยังชีพโดยการประกอบกสิกรรม

นอกจากนี้ ดาต้าเซ็นเตอร์ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะพลังงานหลักที่ใช้ในดาต้าเซ็นเตอร์ยังคงมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การใช้งานอินเทอร์เน็ตของเรา จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโดยไม่รู้ตัว

Wicked Problems ปัญหาโลกแตก… ที่แก้ไม่ง่าย

ทั้งปัญหาโจรสลัดและดาต้าเซ็นเตอร์ ล้วนเป็น “ปัญหาโลกแตก” ที่ซับซ้อน เกี่ยวพันกันหลายมิติ แก้ไขได้ยาก

การปราบปรามโจรสลัด อาจช่วยเรื่องความมั่นคงทางทะเล แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้โดยตรง เช่นเดียวกับการลดการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ อาจกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัล

ดังนั้นจึงไม่มี “สูตรสำเร็จ” การแก้ไขปัญหาต้องมองแบบองค์รวม ผ่านนโยบายที่สอดคล้องกัน และการบูรณาการการทำงานร่วมกัน

หาทางออกร่วมกัน… ก่อนที่โลกจะพัง

จัดการโจรสลัดอย่างยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในโซมาเลีย ลดแรงจูงใจในการเป็นโจรสลัด (เหมือนที่คิโยชิ คิมูระ ชายชาวญี่ปุ่นที่สอนโจรสลัดโซมาเลียจับปลาทูน่าเป็นอาชีพจนสำเร็จมาแล้ว) พร้อมกับสนับสนุนการลาดตระเวนทางทะเลระหว่างประเทศ

สร้างดาต้าเซ็นเตอร์สีเขียว ผลักดันให้บริษัทเทคโนโลยีหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน พัฒนาเทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงานและลดการใช้น้ำ กำหนดนโยบายและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์

โจรสลัด ดาต้าเซ็นเตอร์ และโลกร้อน สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของปัญหาต่างๆ ในโลกยุคใหม่ การแก้ปัญหาแบบแยกส่วน ไม่สามารถตอบโจทย์ความท้าทายที่ซับซ้อนเหล่านี้ได้

…การมองภาพใหญ่ วิเคราะห์ปัญหาแบบองค์รวม เพื่อร่วมกันหาทางออกอย่างยั่งยืน น่าจะเป็นหนทางที่ควรทำก่อนที่โลกใบนี้จะ “พัง” ลงต่อหน้าต่อตา…

ข้อมูลประกอบการเขียน
https://www.bbc.com/news/articles/cz0mlrx0jxno
https://dig.watch/updates/making-ai-less-thirsty
https://tna.mcot.net/world-1338649
https://www.halallifemag.com/kiyoshi-kimura/
Brander, K. (2007). Global fish production and climate change. Proceedings of the National Academy of Sciences.
Shortland, A., & Varese, F. (2016). The Somali piracy problem: A global solution. Routledge.