ThaiPublica > เกาะกระแส > ‘กอบศักดิ์ ภูตระกูล’ ชวนวิเคราะห์ “ทรัมป์” ป่วนโลก จุดเริ่มสงครามการค้ารอบใหม่ (2)

‘กอบศักดิ์ ภูตระกูล’ ชวนวิเคราะห์ “ทรัมป์” ป่วนโลก จุดเริ่มสงครามการค้ารอบใหม่ (2)

21 กุมภาพันธ์ 2025


ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล วิเคราะห์ การกลับมาของทรัมป์คือจุดเริ่มต้นของสงครามการค้าโลก ยักษ์ใหญ่ 2 ประเทศ จีน อเมริกา ทำสงครามชิงเบอร์หนึ่งของโลก ไทยและอาเซียน อาจจะกลายเป็นประเทศส้มหล่น ได้ประโยชน์จากสงครามการค้ารอบใหม่

ต่อจากตอนที่1

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) วิเคราะห์การกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยที่สองของโดนัลด์ ทรัมป์ คือ จุดเริ่มต้นของสงครามการค้าโลก โดยวิเคราะห์ผ่านเพจ Bnomics by Bangkok Bank ในรายการทันเศรษฐกิจ EP 2. สงครามการค้าโลก, เพจ DrKob และเพจกอบศักดิ์ ภูตระกูล เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ดร.กอบศักดิ์ ได้วิเคราะห์ต่อว่าสงครามจีนและอเมริกาเพื่อเป็นเบอร์หนึ่งของโลก แต่สุดท้ายก็หวังว่าจะไม่จบอย่างที่ Ray Dalio บอกว่าไว้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกที่ผ่านมา คือการเปลี่ยนมือกันเป็นเบอร์หนึ่งของโลก แต่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนมือเบอร์หนึ่งของโลก ส่วนมากเบอร์หนึ่งและเบอร์สองจะทะเลาะกันรุนแรง จนเข้าสู่สงครามเพื่อแย่งชิงความเป็นเบอร์หนึ่ง

“การเปลี่ยนมือระหว่างเบอร์หนึ่งและเบอร์สองมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่ไม่เกิดสงคราม คือ ครั้งที่อังกฤษสูญเสียตำแหน่ง จนไทยต้องพลิกค่าเงินบาทจากที่ตรึงไว้กับเงินปอนด์สเตอร์ลิง ต่อมาก็เป็นเงินดอลลาร์ แต่ว่าตอนนั้นเป็นเพราะว่าผ่านจากสงครามโลกครั้งที่สอง อเมริกาไม่ถูกกระทบมากนัก แต่อังกฤษย่อยยับจากสงคราม ไม่สามารถที่จะรักษาความเป็นเบอร์หนึ่งได้ แต่ประคองมอบให้กับอเมริกาด้วยดี”

ดร.กอบศักดิ์ยังบอกอีกว่า หากดูเส้นกราฟของจีนจะพบว่า พุ่งขึ้นไปใกล้ชิดความเป็นเบอร์หนึ่งของอเมริกา ณ วันนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทําไมทั้งหน่วยความมั่นคง ทั้งนักธุรกิจ นักการทูตของอเมริกา ทุกคนมองว่าจีนคือคู่แข่งที่มีผลกระทบต่อความเป็นตายร้ายดีของอเมริกา

“ผมไม่แปลกใจเลยว่าเรื่องนี้ผูกโยงไปถึงเรื่องของปานามา ไม่ใช่แค่ 10% แต่ว่าปานามาต้องพยายามไปยึดจาก “ลี กาชิง” ที่ดำเนินการตัวท่าเรือ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ TikTok และเรื่องอื่นๆ ตามมา ขณะที่จีนก็ยังถือเงินของอเมริกาจํานวนมาก เพราะเป็นเจ้าหนี้ประมาณ 7 แสนกว่าล้านเกือบ 8 แสนล้าน ซึ่งใหญ่มากของความเป็นเจ้าหนี้อเมริกา ขณะเดียวกันก็ยังมีค่าเงินหยวนที่สามารถปรับปรุงได้ ผมคิดว่าทั้งหมดยังไม่จบง่ายๆ เพราะอเมริกาเองก็จะมีเรื่องของ FDI ที่อยู่ในเมืองจีนและเรื่องของสงครามเทคโนโลยี ที่ต้องดำเนินการต่อไป”

ดร.กอบศักดิ์มองว่า ระหว่างอเมริกาและจีน ยังคงเป็นหนังที่เพิ่งเริ่มขึ้น อยู่ในช่วงไตเติลเท่านั้น เพราะทรัมป์ยังเหลือเวลาอีก 4 ปี เราจะเห็นหนังเรื่องนี้หมุนต่อไป ความขัดแย้งสงครามการค้าระหว่างจีนและอเมริกา ขณะนี้ยังสมน้ำสมเนื้อ ส่วนสิ่งที่อเมริกาทำกับแคนาดาและเม็กซิโกคือรังแกเด็ก

ส่วนที่มีคนถามว่าหนังเรื่องนี้จะไปถึงไหน ดร.กอบศักดิ์ตอบว่าคงต้องดูกันต่อไป เพราะทรัมป์ที่บอกเสมอว่าต้องไม่เสียเปรียบใคร ขณะที่อเมริกาเสียเปรียบจีนมากที่สุด เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้ามากที่สุด แต่ไม่ใช่เป็นประเทศที่มีการค้ากับอเมริกาสูงที่สุด เป็นเบอร์สามแต่ได้ดุลมากที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทําไมอเมริกาถึงจับจ้อง และไม่มีทางจะยุติสงครามการค้ากับจีนแน่นอน

นอกจากนี้ อเมริกายังเห็นว่าสหภาพยุโรปก็ไม่แฟร์กับอเมริกาเช่นเดียวกัน เพราะว่าส่งสินค้าบางอย่างไปที่ยุโรปไม่ได้ แต่ยุโรปส่งสินค้าเข้ามาอเมริกาได้ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร จึงมีคำถามว่าความยุติธรรมอยู่ที่ไหน การค้าที่ยุติธรรม เป็นแฟร์เทรดอยู่ตรงไหน

“ผมมั่นใจเลยว่าหลังการจัดการกับแคนาดาและเม็กซิโกเริ่มคลี่คลายแล้ว ทรัมป์ก็ต้องสร้าง narative สร้างสตอรี่ไปจัดการกับยุโรป และตอนนี้ยุโรปกําลังเตรียมว่าจะตอบโต้ต่อสู้อย่างไร ซึ่งก็จะเป็นเรื่องการต่อสู้แบบสมน้ำสมเนื้อเช่นเดียวกับจีน”

“ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน)

เวียดนาม-ไทยอยู่ในเรดาร์ที่ต้องดำเนินการ

ส่วนอีกประเทศที่ทรัมป์จะดำเนินการถัดจากเม็กซิโกก็คือเวียดนาม เพราะเป็นประเทศในเอเชียอันดับ 2 ที่ได้ดุลการค้ากับอเมริกาจำนวนมาก และหลังจากนั้นก็ต่อด้วยเยอรมันที่อยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ตามมาด้วยเกาหลี ไต้หวัน และประเทศไทยประมาณเบอร์ 10 ซึ่งก็ถือว่าไทยยังอยู่ในเรดาร์ของอเมริกา แต่ถ้าเทียบกับสหภาพยุโรป เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีแล้ว ไทยยังห่างชั้น เพราะเวียดนามดุลการค้าอยู่ที่ประมาณแสนกว่าล้าน ขณะที่ประเทศไทยอยู่ประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านเท่านั้น

“ผมอยากบอกว่า ประเด็นเรื่องนี้มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง และต้องจับตามอง เพราะเวลาที่เราฟังประธานเฟด (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) บอกว่าการประเมินนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ เขาจับตามองอยู่ 4 เรื่อง คือ tariff ซึ่งทรัมป์พูดหนักมาก เขายกเป็นเบอร์หนึ่ง ที่ต้องดูว่าสงครามการค้าจะไปถึงไหน ส่วนเรื่องที่ 2 คือ คนอพยพเข้าเมือง เพราะว่าตลาดแรงงานเขาเงินเฟ้อ ค่าจ้างแรงงานมีปัญหาหรือไม่ ส่วนเรื่องที่ 3 คือนโยบายเรื่องภาษี การกระตุ้นเศรษฐกิจของอเมริกา และเรื่องที่ 4 คือเรื่องของ regulation ต่างๆ”

“แต่ที่สำคัญ คือมีคนถามประธานเฟดว่าเรื่องของการค้าเตรียมการอย่างไร ประธานเฟดบอกว่า ถ้าเกิดอยากจะรู้ว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร เราตามอยู่ประมาณสัก 5 ถึง 6 ประเด็น โดยประธานเฟดบอกว่าจะคิดเท่าไหร่ อัตราที่พูดถึง 10% 20% 60% เพราะแต่ละอัตราไม่เหมือนกัน แล้วครอบคลุมแค่ไหน อย่างกรณีของเม็กซิโก แคนาดา ครอบคลุมชุดสินค้า จีนก็ครอบคลุมชุดสินค้า รวมไปถึงสินค้าเล็กๆ ด้วย ขณะที่จีนเขาตอบโต้บางสินค้าเท่านั้นเอง แล้วมีคําถามว่า จะยาวนานแค่ไหน เพราะเมื่อมีสงครามทางการค้าเกิดขึ้นยาวนาน เช่น กรณี Great Depression ประมาณ ค.ศ. 1934 อเมริกาเริ่มเจรจาต่อรองเป็นทวิภาคี แล้วก็พยายามเจรจากับแต่ละประเทศ เพื่อปลดล็อกตัวนี้ออกไป”

ดร.กอบศักดิ์บอกว่า “สุดท้าย สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผ่านเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทางช่องทางไหนบ้าง คิดว่านี่คือคําถามที่ต้องจับตาดูในช่วงอย่างน้อยก็ 3 เดือนข้างหน้า และหลังจากนั้น ผมคิดว่าหลายประเทศเล็กๆ ต้องยอมความ เพราะว่าคนละชั้นกันเหลือเกิน เขาเอาปืนมาวาง คุณจะยอมไม่ยอมสุดท้ายก็ต้องยอม เพราะว่าถ้าเกิดส่งออกไปประเทศเขาไม่ได้ เราก็จะมีปัญหาตามมา เพราะฉะนั้น ก็จะมีเฉพาะยักษ์ใหญ่เท่านั้น ที่เขาจะสมน้ำสมเนื้อและสู้รบกันได้ เราต้องไปดูว่าระดับยักษ์ จะเป็นอย่างไร แต่สำหรับอังกฤษ อเมริกาบอกว่าอังกฤษอาจจะไม่เหมือนกับอียูก็ได้”

“ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน)

“ไทย” ต้องเตรียมรับมืออย่างไร

ส่วนประเทศไทย ถ้ายักษ์ 2 ประเทศสู้กันจะกระทบอย่างไรบ้าง ดร.กอบศักดิ์ วิเคราะห์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดเราต้องเตรียมประมาณ 5 ช่องทาง เพื่อให้ปกป้องไว้ได้ ด้านที่หนึ่งคือด้านการค้าที่มีหลากหลาย โดยสินค้าที่ส่งออกไปที่อเมริกา ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าโรงงานจีนที่มาตั้งที่ประเทศไทยจะเป็นเป้าหมายในการดำเนินการของอเมริกา คาดว่าโรงงานจีนที่ในไทย เวียดนาม น่าจะถูกดำเนินการไปด้วย

“ผมบอกเลยว่า ถ้าข้อขัดแย้งจะลุกลาม ถ้าไม่โดนเราตรงๆ ก็จะโดนสินค้าเล็กๆ จากจีนที่เคยส่งออกไปอเมริกาได้ ผมก็อยากจะเตือนเอสเอ็มอีไทยว่า ที่เราบอกว่าสินค้าจีนเข้ามาถล่มตลาด เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ในอนาคตการหมุนของสินค้าก็จะหมุนอีกแบบหนึ่ง จากที่จีนไปอเมริกาก็จะหมุนวนกลับมาที่เรา แล้วเราก็จะเป็นคนส่งออกไปที่อเมริกา อันนี้ก็จะกระทบกับผู้ผลิตในประเทศไทยอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน”

นอกจากนี้ การท่องเที่ยวไทยน่าจะได้รับผลกระทบ จากปัญหาของสงครามการค้า เพราะความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจจะทำให้คนท่องเที่ยวมากน้อยแค่ไหนเป็นเรื่องที่ต้องจับตา ส่วนเรื่องปัญหาเงินลงทุนเป็นประเด็นที่สําคัญ เพราะเงินลงทุนทั้งในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร หรือเงินลงทุนโดยตรงที่จะเข้ามาลงทุนที่ประเทศไทย อาจจะได้รับผลกระทบเช่นกัน

ดร.กอบศักดิ์เห็นว่า สุดท้ายแล้วมี 2 ประเด็นที่สําคัญ คือ ความผันผวนของสินทรัพย์ต่างๆ เนื่องจากปัญหาความเชื่อมั่น โดยเห็นได้จากในวันที่ทรัมป์ประกาศจะขึ้นภาษี 25% และยังไม่ประกาศชะลอออกไป ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตกระเนระนาด รวมถึงไทย

“ทรัมป์ยังไม่ได้ทำอะไรกับไทย แต่กระทบความเชื่อมั่นต่อตลาดของแล้ว เราไม่ใช่เม็กซิโก แคนาดา แต่ก็พลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดกําลังปรับตัวและกําลังผันผวน ซึ่งส่งผลกระทบกับสินทรัพย์อื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน”

ตัวอย่างที่เราคาดว่าจะมีผลกระทบไม่มาก แต่สุดท้ายแล้วมีผลกระทบจำนวนมาก คือกรณีของยูเครน เพราะเราเห็นว่าเป็นแค่การรบกับรัสเซีย แต่คิดไม่ถึงว่า 10% ของการส่งออกของไทยส่งไปยัง 2 ประเทศรวมกันแล้วมีจำนวนมาก ขณะที่ผลกระทบกับราคาน้ำมัน ราคาปุ๋ย ราคาสินทรัพย์ ราคาสินค้า และโภคภัณฑ์ต่างๆ ต่างได้รับผลกระทบจากกรณีของสงครามยูเครนและรัสเซีย

“สิ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกับทรัมป์ ซึ่งมักจะพูดเสมอว่า อเมริกาถูกเอาเปรียบ เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดไทยจะอยู่ร่วมกับอเมริกาได้ดี ต้องดูว่าเราได้เปรียบเขาตรงไหน และเขาได้เปรียบเราอย่างไร แล้วพยายามคลี่คลายปัญหาเหล่านั้นไป เช่น เรื่องดุลการค้า หรือกรณีจีนใช้เมืองไทยเป็นฐานในการส่งสินค้าออกไปที่อเมริกา เป็นอีกประเด็นที่เราต้องมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไร”

สงครามการค้า “อเมริกา-จีน” คือโอกาสของไทย

ส่วนอีกประเด็นที่ไทยอาจจะต้องพิจารณาคือ เราจะเป็นประโยชน์กับอเมริกาได้อย่างไร หากหลายคนจำได้ เมื่อหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยไปเยี่ยมทรัมป์ที่ทำเนียบขาว สิ่งที่เขาชอบที่สุดและพุดคุยกับไทยนานมากที่สุด คือ บริษัทไทยจะเลือกไปลงทุนในบางรัฐของอเมริกา เช่น กลุ่ม ปตท., บมจ.ไทยยูเนี่ยน, ผลิตภัณฑ์แช่แข็ง หรือทียูเอฟ หรือกลุ่มซีพี เพราะทรัมป์มักจะบอกว่า เฟิสต์ อินเวสต์ อิน อเมริกา ถ้าไทยสามารถรวบรวมแนวคิดหรือว่าพันธมิตรธุรกิจของเราไปลงทุนในอเมริกาได้บ้างก็จะเป็นแต้มต่อของไทย เพราะนั่นคือสิ่งที่ช่วยให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งได้

“อีกเรื่องที่สำคัญก็คือว่า อเมริกาอยากให้เราซื้อของของเขา ซึ่งในส่วนนี้หลายครั้งเขาชอบพูดถึงเรื่องเครื่องบินว่าเราจะซื้อโบอิงของเขาได้หรือเปล่า เพราะเครื่องบินธรรมดาเป็นเป้าหมายของเขาแน่นอน รวมไปถึงอุปกรณ์และสินค้าอื่น ผมว่าเรื่องนี้เราก็ต้องกลับมานั่งคิดว่า เราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง”

“ผมอยากเตือนทุกคนว่า ถ้าเกิดอเมริกาเริ่มขนาดนี้กับประเทศที่เป็นพันธมิตรและมิตรแท้ของเขา ประเทศคู่ค้าเล็กๆ อย่างไทย อาจจะต้อง เตรียมรับมือ เราจะทำอย่างไรให้ผ่านจุดนี้ไปได้ และผมอยากเทียบกับเกมโกโกวา แต่เปลี่ยนมาเรียกว่าโกโกวาทรัมป์ ถ้าเกิดคนไหนกระดุกกระดิกมาก เขาจะส่องเลเซอร์ใส่ แล้วสุดท้ายไทยก็จะเรียบร้อย ซึ่งผมมั่นใจว่าในอีก 4 ปีข้างหน้าเราต้องทำตัวให้เรียบร้อย อย่าเป็นเป้าสายตาของเขา เจรจากับเขาเงียบๆ แล้วจะเกิดความสําร็จในเรื่องสงครามการค้าโลกครั้งนี้ ซึ่งจะมาจากการที่ทุกประเทศปั่นป่วนหมด แต่ประเทศไทยอยู่นิ่งๆ อยู่ร่วมกับเขาได้แล้ว อันนั้นน่าจะเป็นเป้าหมายที่ดีกว่า”

ดร.กอบศักดิ์บอกว่า ท่ามกลางการค้าที่มีความปั่นป่วนผันผวนทั้งหมด ไทยอาจจะไปได้ดี เพราะในเดือนธันวาคมเราขยายตัวประมาณ 8.7% ตัวของยอดส่งออกของไทยและส่งออกไทยไปที่อเมริกาโต 17.5% ขณะที่ส่งออกของไทยไปจีนโตที่ 15% ซึ่งตีความได้ว่าเขาไม่ส่งออกไปหากันและกัน โดยส่งออกของจีนอาศัยไทยแฝงไปสู่อเมริกา และอเมริกาก็แฝงไทยกลับไปสู่เมืองจีน ซึ่งอันนี้อาจจะเป็นประโยชน์กับไทย

ขณะเดียวกันก็ยังมีกลุ่มประเทศ CLMV ที่การค้าเริ่มกลับมาดี 20% และที่ดีที่สุดคืออินเดียอยู่ 62.8% เพราะฉะนั้น ท่ามกลางความขัดแย้ง ถ้าเราสามารถยืนอยู่ได้จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย เพียงแต่ว่าไทยต้องไม่เข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสงคราม แล้วพยายามมองหาว่าโอกาสว่ามันอยู่ตรงไหน

“ผมคิดว่าท่ามกลางความทะเลาะเบาะแว้งที่เกี่ยวกับนโยบายทั้งหมด สิ่งที่ตามมาก็คือว่า FDI ที่เคยหลั่งไหลไปจีน ได้กลับมาสู่อาเซียนอีกรอบหนึ่ง โดยจะเห็นจากตัวเลขคําขอการลงทุนที่บีโอไอของไทยเมื่อปี 2022 สูงที่สุดในรอบ 10 ปี และในปี 2023 ดีขึ้นกว่าปีที่ที่ผ่านมา 43% และ ปี2024 ดีกว่าปี 2023 อีก 35% ปัจจุบันเราพูดถึงการลงทุนประมาณ 1.14 ล้านล้านบาท และถ้าทะเลาะกันขนาดนี้ ปีหน้า และปีต่อไปอาเซียนก็จะเป็นประตูที่สําคัญที่สุดในการเข้าสู่ตลาดที่ใหญ่ที่สุด เป็นกลางที่ดีสุดแล้ว นี่คือโอกาสของไทย ท่ามกลางสงครามการค้าโลก